ผู้เขียน | เมย์วิสาข์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ kalanchoe laciniata (L.) DC.
ชื่อวงศ์ CRASSULACEAE
ชื่ออื่นๆ โพเพะ (โคราช) ฆ้องสามย่าน (ภาคกลาง) เถาไฟ ฮอมแฮม (แม่ฮ่องสอน)ส้นเส้า มือตะเฆ้ ใบทาจีน คะซีคู่ซัวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
หนูเชื่อว่าพอเอ่ยถึง “ทอง” ทุกคนคงรู้จักและอยากเป็นเจ้าของ นั่นหมายถึง “ทองคำ”
แน่นอนก็ต้องคิดไปถึงร้านหรือห้าง “ทองเยาวราช” แต่คงแปลกใจซินะ เพราะหนูกลับพูดถึง “ทองสามย่าน” ถ้าย้อนหลังสิบปียี่สิบปีใครๆ ที่ผ่าน “ย่านสามย่าน” ย่อมจะพบและกลัว “รถติด” ตั้งแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสุดถนนพญาไทแยกซ้ายไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แยกขวาไปหัวลำโพงตรงไปก็ย่านสุรวงศ์
สมัยนั้นรถเมล์โดยสารเป็นรถเมล์ร้อนธรรมดา เรียกว่ารถติดมากร้อนระดับ “ทองละลาย” แต่ “สามย่าน” ปัจจุบันถ้าเอ่ยถึง CU Centenary Park ย่านจุฬาฯ กลายเป็น “ป่ากลางเมือง” แล้ว มีอุทยาน 100 ปี บ้างก็เรียก Park@Siam เป็น “สวนหลวง-สามย่าน” สัมผัสพื้นที่สีเขียวพัฒนาเป็น Green&Clean City มีสิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วย Green Area และ Big Tree กว่า 1,000 ต้น ภาพรวมทั้งหมดนี้ มีจุดเด่น Check-in ของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ Samyan Mitrtown “สามย่านมิตรทาวน์” นี้ มีทุกอย่างที่คนรุ่นใหม่อยากสัมผัส รวมทุกห้างสรรพสินค้า วิชาการศึกษา และ IT มาชุมนุม อยากจะเรียกว่า “ขุมทองแห่งสามย่าน”
แล้วลืมคำว่า “รถติด” ได้เลย เนื่องจากหากใช้เส้นทาง “อุโมงค์” เป็นประตูสู่ทางเชื่อมไปยังรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสามย่านจะไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือผ่านหัวลำโพง เพื่อไป “ห้างทองเยาวราช” ก็ไม่ต้องเจอรถติดแน่นอน อ้อ…! หากเดินผ่านอุโมงค์ อย่าลืมเมื่อถึงกลางอุโมงค์จะมีกระจกใสที่มองทะลุลงด้านล่างได้ จะได้ “วัดใจ” ว่าใคร “ขาสั่น” หรือไม่ และบางช่วงเวลาอาจมีดนตรีบรรเลงให้ฟังด้วย
หนูแปลกใจอยู่ที่ว่า มีคนชอบเรียกชื่อหนูว่า “ฆ้องสามย่าน” ทำไม? จาก “ทอง” จึงกลายเป็น “ฆ้อง” หนูคิดถึงฆ้องที่เขาแขวนไว้ในวัดต่างๆ จำได้ว่า จากสถานี MRT สามย่านผ่านสถานีหัวลำโพงไปถึงสถานี “วัดมังกร” ก็เห็นฆ้อง เมื่อขึ้นถนนไปเดินดูร้านทองเยาวราช ก็เห็นฆ้องหลายร้าน เอาเป็นว่าที่เยาวราชมีขายทั้งฆ้องและร้านทองมีมากมาย โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ 2566 และตรุษจีนปีนี้ ตลาดซื้อขายทองแถวเยาวราช คึกคักเป็นพิเศษ หลังโควิด-19 หนูภูมิใจแม้ว่าหนูจะไม่ใช่ “ทองเยาวราช” เพราะ “สามย่าน” ก็มีดีดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว แต่ก็พอจะรู้ว่าทำไมต้อง “แบรนด์เยาวราช” จากชื่อเสียงที่สะสมความมั่นใจว่าเป็น ของดีร้อยเปอร์เซ็นต์จากทองคำบริสุทธิ์ คือทอง 99.99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทองคำแท่ง หรือเหรียญทอง แต่ถ้าเป็นทองรูปพรรณ สร้อย แหวน จะใช้ค่าความบริสุทธิ์ทองคำ 96.5 เปอร์เซ็นต์ โดยผสมโลหะอื่น เช่น เงิน ทองเหลือง ตามสูตรแต่ละร้าน เพื่อเนื้อทองคำมีความแกร่ง พอที่จะรักษารูปทรงไม่บิดงอ และสีสันความวาววับ
สำหรับส่วนผสมที่นำมาประกอบเป็นโครงสร้างทองรูปพรรณนี้เรียกว่า “ทองประสาน” โดยเนื้อทองประสานนี้จะใช้เทคนิคและฝีมือรวมทั้งวัสดุประกอบประสานและใช้ทั้งความซื่อสัตย์ เพื่อการกำหนด การคิดค่า “กำเหน็จ” ที่ต่างกันของแต่ละร้าน ซึ่งมักจะตอกรอยสัญลักษณ์ของร้านไว้รับประกันเมื่อขายคืนหรือแลกเปลี่ยน
หนูเพลินกับ Green Area Samyan Mitrtown ที่เป็น Clean City แล้วมาถึง “เยาวราช” ที่เปล่งประกายด้วยแสงทองแห่งร้านทอง กับความขวักไขว่ของผู้คนมาซื้อขายทองคำตั้งแต่ปีใหม่ ตรุษจีน เชื่อไหมคะหลายร้านให้หนูประจำอยู่หน้าร้านหรือมุมร้าน เพียงแต่หนูต้อง “อยู่ในกระถาง” บ้างก็เป็นกระถางลายคราม โอ่งมังกร หรือโถแจกันใหญ่ เพราะหนูโตเต็มที่ได้ประมาณ 50 เซนติเมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 150 เซนติเมตร ไม่ค่อยมีกิ่งก้านมากนัก ทั้งลำต้นและใบ มีลักษณะฉ่ำ-อวบน้ำ ถ้ากิ่งสดหักจะมีกลิ่นคล้ายการบูรกับผิวส้ม ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม รูปใบมีหลายรูปแบบ ปลายใบแหลมขอบใบเป็นจักรฟันเลื่อยซี่หยาบๆ มีสีเขียวและมีไขเคลือบ ก้านใบยาว 3-4 เซนติเมตร เนื้อใบเรียบหนา ก้านใบโอบลำต้น ออกดอกเป็นช่อมีลักษณะเฉพาะ มีขนาดเล็ก กลีบรองดอกปลายกลีบแหลมออกบริเวณยอดลำต้น กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายกลีบแยกจากกัน ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ราว 8 อัน และเกสรตัวเมียเป็นเส้นยาวอยู่รวมกัน ผลมีลักษณะยาวรีส่วนปลายแหลมออกติดกันเป็นพวงเป็นผลแห้ง ใช้ปลูกขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด มีนิเวศวิทยาจากถิ่นไกลกำเนิดกระจายพันธุ์ ตั้งแต่เอธิโอเปีย เคนยา โมซัมบิก ซูดาน ถึงจีนตะวันออกเฉียงใต้
สิ่งที่เปรียบดั่งทองในตัวหนูคือ สรรพคุณทางสมุนไพรทั้งส่วนลำต้นและใบ ซึ่งลำต้นใช้เป็นยาบรรเทาอาการฟกช้ำ บวม ห้ามเลือด สำหรับใบใช้ได้ทั้งสดและแปรรูป เพราะมีรสเย็น ตำรายาพื้นบ้านล้านนา นำมาตำพอกรักษาแผลสด แผลฟกช้ำ ไหม้ เรื้อรัง รวมทั้งแผลฝี มีหนอง เป็นยาถอนพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน พิษสัตว์กัดต่อย นำใบสดตำละเอียด คั้นเอาน้ำเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย แก้อหิวาตกโรค ต้มน้ำดื่มแก้อ่อนเพลีย ใช้ผสมกับดีปลี จันทน์ทั้งสอง ใบน้ำเต้า ดอกบัวหลวง ละลายน้ำดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกแคแดง น้ำตำลึง ตามแต่เลือก
ดื่มเป็นยาแก้ไข้หัวลม ไข้เพื่อโลหิต ไข้เพื่อเสมหะ จะทำให้ตัวเย็น ดับพิษร้อนไข้ร้อนใน ใบใช้เป็นยาแก้พิษงูกัดด้วยการใช้ใบสด 5 กรัม ผสมกับต้นฟ้าทะลายโจร 15 กรัม (Andrographis paniculate Nees) นำไปชงด้วยเหล้าหมักจากข้าว หรือเหล้าขาว 1 แก้ว ดื่มครั้งเดียวให้หมด สำหรับรักษาโรคเท้าช้างให้ทุเลาหรือชะงัก ใช้ใบคั้นเอาน้ำมาผสมปรุงกับน้ำมันมะพร้าว เป็นยาถูนวด รักษาอวัยวะส่วนที่พองโตผิดปกติได้ จะเห็นว่าหนูเป็นเหมือน “ทอง” ที่นิยมปลูกกันตามบ้านหมอยา หรือสวนยาจีน และเป็นไม้ประดับ จึงอย่าแปลกใจนะจ๊ะ ที่พบเห็นหนูอยู่ในกระถางตามร้านทอง…!
ทองแท่ง 1 บาท หนัก 15.244 กรัม ทองรูปพรรณ 1 บาท หนัก 15.16 กรัม จะเลือกซื้อหรือขายที่ “สามย่าน” หรือ “เยาวราช” มาตรฐานของเนื้อทองประสานมีอยู่เหมือนกัน แต่เทคนิคกับฝีมือและ “ค่ากำเหน็จ” อาจไม่เท่ากัน สำหรับหนูขอเป็น ผ้าขี้ริ้วห่อทอง ไม่ใช่กิ้งก่าได้ทอง หนูชอบปิดทองหลังพระ ใครที่รักชอบหนู หนูก็ยอมเป็นทองแผ่นเดียวกัน มีอยู่อย่างเดียวที่หนูท่องผิดประจำคือ “ไม่ยอมเสียทองเท่าหัว แต่ยอมเสียผัวให้ใครก็ได้”
ขอบคุณรูปจาก : medthai และ samunpri.com