เกษตรกรยุคใหม่ ดีกรีปริญญาโท ปลูกแค็กตัส ขายผ่านออนไลน์ ส่งทั่วประเทศ งานสร้างรายได้หลังว่างจากงานประจำ

คุณสุนทรียา ฮวบดี เจ้าของสวน แคคตัสลุงเหน่

ในบรรดาไม้ดอกไม้ประดับของบ้านเราที่ผู้คนนิยมปลูกเพื่อความสวยงามนั้น ต้นกระบองเพชร (Cactus) เป็นหนึ่งในนั้นด้วย และหลายคนที่ปลูกขายเป็นล่ำเป็นสันในเวลานี้ มักเริ่มต้นจากความชอบเลยซื้อมาประดับบ้าน พร้อมลองขยายพันธุ์ดู จากนั้นก็พัฒนาจากผู้ซื้อมาเป็นผู้เพาะเลี้ยงขายเสียเอง ส่วนหนึ่งเพราะกระบองเพชรเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ไม่ยากนัก และเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง ที่สำคัญผู้คนนิยมปลูกกันทุกยุคทุกสมัย ขึ้นอยู่กับว่าในห้วงเวลานั้นพันธุ์ไหนเป็นที่นิยมชมชอบ

ขายผ่านออนไลน์

คุณสุนทรียา ฮวบดี มีปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ่วงท้าย ปัจจุบัน เป็นพนักงานบริษัทเอกชนย่านประชานิเวศน์ 1 กรุงเทพฯ ก็เป็นสาวกของแค็กตัสอีกคนที่เริ่มต้นในแบบที่ว่าชอบเลยซื้อมาลองปลูกดู กระทั่งเวลานี้เป็นเจ้าของสวน “แคคตัสลุงเหน่” อยู่แถวถนนท่าข้าม พระราม 2 เยื้องสถานีตำรวจท่าข้าม ซึ่งนอกจากจะมีหน้าร้านแล้ว ยังขายผ่านออนไลน์ด้วย ทำให้มีรายได้เสริมจากงานประจำหลักหลายพันบาทต่อเดือน

คุณสุนทรียา ฮวบดี เจ้าของสวน แคคตัสลุงเหน่

เธอย้อนเล่าให้ฟังว่า เริ่มสนใจกระบองเพชรมาตั้งแต่ปี 2535 โดยซื้อจากตลาดนัดจตุจักรมาเลี้ยงเล่นๆ ช่วงแรกๆ ตายบ้างรอดบ้าง และได้เริ่มศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง พร้อมสอบถามจากคนขายเวลาไปซื้อหรือไปที่สวน จากนั้นกลับมาลองทำดู แต่ช่วงนั้นเลี้ยงแบบไม่จริงจัง หยุดเลี้ยงไปช่วงปี 2548 เพราะไม่ค่อยมีเวลา เนื่องจากต้องทำงานประจำ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีใจรักและชอบเลี้ยงจริงๆ จึงกลับมาเริ่มต้นเลี้ยงใหม่อีกครั้ง จากที่มีอยู่เดิมไม่ถึงร้อยต้น กลายเป็นพันต้น จนมาปัจจุบันมีหลายหมื่นต้นแล้ว และหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนหนึ่งเพราะสะสมมาเรื่อยๆ

คุณสุนทรียา เล่าว่า สมัยก่อนพื้นฐานครอบครัวรุ่นปู่รุ่นย่า เคยทำสวนส้มมาก่อน แต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ไม่ได้ทำการเกษตรกันแล้ว ขณะที่ตนเองชื่นชอบการปลูกต้นไม้ จึงมีความคิดที่จะทำร้านต้นไม้ เพื่อรองรับชีวิตวัยเกษียณของพ่อ เลยเปิดร้านเล็กๆ ขายหน้าบ้านแถวถนนท่าข้าม พระราม 2 อยู่เยื้องสถานีตำรวจท่าข้าม ส่วนสวนอยู่ในซอยอนามัยงามเจริญ 21 เป็นทั้งบ้านและสวน โดยทำขายกระบองเพชรอย่างจริงจังเมื่อปีเศษๆ นี้เอง

“พื้นที่ที่ใช้ทำโรงเรือนแค็กตัสเป็นพื้นที่ข้างๆ บ้าน ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่เน้นโล่งเพราะต้องให้แดดส่องถึงตลอด โชคดีที่หน้าบ้านติดถนน ถึงจะเป็นถนนในซอย แต่ก็มีรถและคนพลุกพล่าน ทำให้คนรู้จักสวนที่ใช้ชื่อว่าสวน “แคคตัสลุงเหน่” เป็นชื่อของพ่อมาจากคำว่าเสน่ห์”

แม้คุณสุนทรียาจะไม่ได้เรียนจบทางด้านการเกษตร แต่ด้วยใจรักจึงศึกษาค้นคว้าเรื่องแค็กตัสด้วยตัวเอง จนสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก และบางครั้งเธอก็สั่งซื้อแค็กตัสเจ้าอื่นทางออนไลน์ เพื่อนำมาเลี้ยงต่อก่อนที่จะขายต่อไป โดยเธอใช้เวลาว่างจากงานประจำมาดูแลต้นกระบองเพชรทั้งหลาย ขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ห่อพัสดุส่งแค็กตัสไปทางไปรษณีย์ตามที่ลูกค้าสั่ง

เธอมองว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบองเพชรได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อของคนไทยโบราณที่ว่า บ้านใดปลูกต้นกระบองเพชรไว้ประจำบ้าน แล้วทำให้เกิดดอกได้มากและสวยงาม แสดงว่าผู้นั้นจะมีโชคลาภ ดังนั้น คนไทยโบราณจึงถือว่ากระบองเพชรเป็นไม้เสี่ยงทายชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเชื่ออีกว่ากระบองเพชรป้องกันศัตรูจากภายนอกได้ เพราะต้นกระบองเพชรมีหนามและความคงทนแข็งแรง

ดังนั้น คนไทยโบราณจึงนิยมปลูกตามแนวรั้วบ้าน เพื่อให้เป็นที่กลัวเกรงของศัตรูภายนอก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นกระบองเพชรไว้ทางทิศตะวันตก ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์

กำลังนิยมยิมโนสี

อย่างที่เกริ่นไปแต่แรก คุณสุนทรียาใช้วิธีศึกษาหาความรู้เรื่องการขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง เธอจึงมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ อย่างที่เจ้าตัวแจกแจงว่า เริ่มจากการซื้อต้นแม่พันธุ์และซื้อเมล็ดพันธุ์ ทั้งหมดสั่งจากอินเตอร์เน็ต แล้วซื้อต้นเล็กๆ จากร้านไม้หนาม ของ พี่ตูน กับ พี่ต้อม ที่ย่านบางแค แถวถนนกาญจนาภิเษกมาขายต่อ

ดอกสีชมพูสวยแบบนี้ชื่อพันธุ์ “ไทยช้าง”

“พอแค็กตัสมีดอกก็เริ่มผสมเกสรด้วยตัวเอง โดยเฉพาะพันธุ์ยิมโนฯ แอสโตร แมม เนื่องจากพันธุ์พวกนี้มีหน่อช้า การเพาะเมล็ดเองจึงเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้เราได้ลูกไม้ใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก และยังประหยัดเงินด้วย ขณะที่วิธีเพาะเมล็ดใช้เวลานาน กว่าจะได้แค็กตัสที่โตพอจะขายได้ แต่เราจะได้ต้นจำนวนมาก และอาจได้ลูกไม้แปลกๆ สวยๆ เพิ่มขึ้นมาก็ได้ และเมื่อเราได้เมล็ดจำนวนมากขึ้น จากการเพาะพันธุ์เอง ช่วงหลังมานี้ทางสวนจึงแบ่งขายเมล็ดด้วย”

เจ้าของสวน “แคคตัสลุงเหน่” พูดถึงกลุ่มลูกค้าว่า ส่วนใหญ่ที่มาซื้อเป็นขาจร มีทุกเพศทุกวัย บางคนกลายมาเป็นขาประจำ และบางคนเป็นมือใหม่ เพราะที่สวนขายไม่แพง 3 ต้น 100 บาท แต่ต้นใหญ่มากๆ เท่ากับที่ร้านในตลาดนัดจตุจักรขายต้นละ 50 บาท และถ้าใครซื้อเยอะทางสวนก็แถมกันแบบอุตลุด

“บางครั้งมีนักเรียนมาซื้อ ทางสวนขายแบบถูกๆ เพื่อให้ไปทำโครงงานส่งครู ช่วงหลังมีลูกค้ามาซื้อทางเพจมากขึ้น จากการที่ทางสวนอัพรูปลงขายบ้าง โชว์บ้าง ก็มีคนสอบถามมาเยอะ ขายได้เรื่อยๆ บางคนมาสอบถามวิธีเลี้ยง เราก็ยินดีตอบ ไม่ซื้อไม่ว่ากัน ตอนนี้มีแค็กตัสปริมาณมากพอที่จะขายส่งได้แล้ว มีลูกค้าหลายคนสั่งไปตกแต่งสถานที่จัดงานอีเว้นต์บ้าง ซื้อไปเป็นของชำร่วย ของที่ระลึกบ้าง ถ้าใครอยากให้ไปจัดสวนถาด ทางสวนก็ยินดีให้บริการ”

ส่วนเรื่องการขายทางเพจนั้น ในการจัดส่งทางไปรษณีย์ ทางสวนจะบวกค่าจัดส่งอีเอ็มเอส บางครั้งขายเหมาส่งฟรีก็มี โดยการแพ็กของส่งมี 2 แบบ ส่งแบบล้างรากกับส่งแบบทั้งกระถาง คิดค่าส่งเหมาครั้งละ 50-60 บาท

คุณสุนทรียา ระบุว่า กระบองเพชรพันธุ์ที่ขายดีคือ แอสโตไพรตัน เริ่มต้นจากต้นเล็กๆ ขนาด 2 เซนติเมตร ราคา 50 บาท ถ้ามีลายสวยๆ ก็แพงขึ้น อย่างพวกซุปเปอร์ ลายขาวๆ 500 บาท ลายตัววี (V) เริ่มต้นที่ 800 บาท

ที่ผ่านมา เคยขายได้สูงสุด ต้นละ 3,000-4,000 บาท เป็นพวกยิมโนสี ช่วงนี้ในวงการกระบองเพชรกำลังนิยมยิมโนสี ซึ่งแต่ละช่วงความนิยมก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่กระแสในช่วงนั้นๆ ส่วนราคาขายต่ำสุดต้นละ 20 บาท เป็นพันธุ์พื้นบ้านทั่วไป อย่างยิมโนหัวเขียว อิซินอฟ

เทคนิคการดูแลแต่ละสายพันธุ์

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องแค็กตัสคนหนึ่ง เธออธิบายให้ฟังว่า กระบองเพชรสายพันธุ์หลักๆ ที่นิยมกันมีหลากหลาย และแต่ละสายพันธุ์ต้องการแสงและน้ำมากน้อยต่างกัน เช่น

แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) เลี้ยงแดดแรงได้ รดน้ำอย่าให้โดนต้น ดินต้องคอยเปลี่ยนอย่าให้แน่น เป็นแค็กตัสที่ออกดอกบ่อย ชอบแสงแดด ต้องการน้ำเพียงเล็กน้อย ขยายพันธุ์โดยใช้วิธีผสมเกสร

แมมมิลลาเรีย (Mammillaria) พวกแมมชอบแดดจัดๆ ยิ่งได้แดดมากยิ่งงาม ไม่ค่อยชอบน้ำ ควรรดน้ำประมาณ 3-10 วันครั้ง ถ้าโดนน้ำมากๆ เน่าได้ และเน่าง่าย เช่น แมมขนนก แมมนิ้วทอง

อิชินอปซิส (Echinopsis) พวกนี้ต้องการแดดจัดๆ ถ้าไม่ได้แสง ต้นจะยืด จนต้นเสียทรง ถ้าได้แดดจัดๆ แรงๆ ต้นจะกลมสวย พวกนี้ต้องการน้ำ 3-7 วัน ต่อครั้ง

ยิมโนคาไลเซียม (gymnocalycium) พวกนี้เลี้ยงง่าย ตายยาก ชอบแดด ยิมโนต้นที่มีสีจะราคาแพง คือพวกหัวสี หรือเรียกกันว่า ยิมโนสี ราคามีตั้งแต่หลักร้อยถึงแสนก็มี ยิ่งเป็นคริสตาต้า (cristata) ยิ่งแพง เพราะหายากและโตช้า

โอพันเทีย (opuntia) เรียกประสาชาวบ้านว่า หูกระต่าย พวกนี้ปลูกลงดินได้ ทนมาก และนำมาทำเป็นรั้วบ้านได้ ทนทานต่อโรคต่างๆ

โลบิเวีย (Lobivia cactus) โลบิเวียเป็นไม้ที่ค่อนข้างชอบแดดดีๆ ถ้าเลี้ยงแบบให้ได้รับแดดต่อวันเยอะๆ เขาจะเจริญเติบโตดีมาก ออกดอกเก่ง ออกดอกบ่อย แต่ถ้าร่มจนเกินไป จะไม่ค่อยยอมออกดอก และต้นจะยืดจนเสียทรงอีกต่างหาก เพราะฉะนั้น ควรจะเลี้ยงในสถานที่ซึ่งได้รับแดดต่อวันเยอะหน่อย

ฮาโวเทีย (Haworthia) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือ พวกใบแข็ง เช่น attenuate, limifolia, fasciata, reinwardtii และ pumila เป็นต้น กลุ่มนี้ชอบแดด 80-100 เปอร์เซ็นต์ ทนแดดได้ดี

กลุ่มที่สองคือ พวกใบอ่อน เช่น cooperi, turgida, retusa และ obtusa กลุ่มนี้ชอบแสงรำไร 50-80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ชอบฝนและแดดแรง ควรรดน้ำทุก 3-5 วัน ต่อครั้ง ในฤดูร้อนและฤดูหนาว 3 วันครั้ง และฤดูฝน 5 วันครั้ง พรมน้ำโดยใช้ฟ็อกกี้ หรือสายยาง เพื่อเพิ่มความชื้น แต่ควรรดในเวลาเช้าเท่านั้น รดในเวลากลางคืนอาจจะทำให้เน่าได้ง่าย

 

ประโยชน์การเลี้ยงในโรงเรือน

เธอว่าการเลี้ยงแค็กตัสจำเป็นต้องมีโรงเรือน เพื่อป้องกันแสงแดดที่มากเกินไป ซึ่งแม้แค็กตัสอยู่ได้ในกลางแจ้งที่มีแดดจัดเต็มที่ แต่เมื่ออยู่กลางแจ้งจะมีผิวที่กร้านแดด ไม่สวย (บางต้นอาจไหม้) นอกจากนี้ ยังเพื่อป้องกันฝนที่มากเกินไป อาจทำให้เน่าตายได้

สำหรับสวน “แคคตัสลุงเหน่” นั้น ทำโรงเรือนเล็กๆ โดยใช้พลาสติกกัน UV ชนิดใส ใช้ซาแรนสีเทาคลุมพรางแสงสัก 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ไม่ต้องลงทุนมาก และสามารถเปลี่ยนแผ่นพลาสติกได้ง่ายด้วย

ถามถึงเทคนิคการเลี้ยงแค็กตัสของสวน “แคคตัสลุงเหน่” คุณสุนทรียาแจกแจงว่า แค็กตัสเป็นไม้เลี้ยงง่าย ต้องการแสงแดดจัดทั้งวัน แต่ก็ไม่ชอบน้ำมาก ดังนั้น วัสดุปลูกจึงต้องระบายน้ำได้ดี ดินที่สวนใช้เป็นสูตรที่ผสมเอง โดยหาความรู้จากการไปซื้อที่สวนใหญ่ๆ ว่าใช้ดินอย่างไร สอบถามจากผู้รู้ที่ชำนาญการเลี้ยง แล้วลองมาปรับใช้กับสวน

วัสดุทั่วไปที่ใช้คือ ดินผสมทราย ใบก้ามปู ถ่านป่น แกลบดำ แต่ถ้าเป็นไม้ราคาสูง หายาก อาจใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติดีหน่อย เช่น หินภูเขาไฟและเพอร์ไลท์ ส่วนการรดน้ำ 4-5 วันครั้ง และรดด้วยปุ๋ยกล้วยไม้สูตรเสมอ 1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร อาทิตย์เว้นอาทิตย์ รดยาฆ่าแมลง หรือยาป้องกันเชื้อราต่างๆ 2-3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง แต่ทางสวนใช้น้ำส้มควันไม้กันเชื้อราแทนสารเคมี

เธอให้คำแนะนำ กรณีที่มนุษย์เงินเดือนชอบเลี้ยงแค็กตัสประดับบนโต๊ะทำงาน โต๊ะคอมพิวเตอร์ หรือห้องรับแขกว่า ควรนำมาตากแดดช่วงเช้าบ้าง เพราะต้นไม้ทุกชนิดต้องการแสงแดดเพื่อสังเคราะห์อาหาร แค็กตัสก็เหมือนกัน แค่ต้องการแดดมากหน่อย น้ำน้อยหน่อย

“การเลี้ยงแค็กตัสมีวิธีแตกต่างจากการเลี้ยงต้นไม้อื่นๆ คือ ไม่ต้องรดน้ำเช้าเย็น เพราะพืชชนิดนี้เก็บน้ำสำรองไว้ใช้เป็นจำนวนมาก จึงอดน้ำได้หลายวัน บางคนรดน้ำทั้งเช้า ทั้งเย็น ผลที่ตามมาคือรากเน่า บางคนกลัวตาย ไม่กล้ารดเลยแห้งโทรม ไม่สวย ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเลี้ยงต้นไม้ชนิดไหนก็ตาม ควรศึกษาเกี่ยวกับต้นไม้ที่เลี้ยง เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ชนิดนั้น”

สนใจเข้าชมสวน “แคคตัสลุงเหน่” หรือจะเข้าไปอุดหนุนที่ร้าน ลองเข้าไปดูได้ที่เฟซบุ๊ก แคคตัสลุงเหน่ หรือโทร. สอบถามรายละเอียดที่ 081-401-7921 ซึ่งเจ้าของสวนรับประกันว่าราคาเบาจริงๆ แถมซื้อมากๆ ลดราคาให้อีกต่างหาก

เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 24 ก.ค. 2017