“ชวนชมบอนไซ ” ผลงานศิลปะที่น่าทึ่ง ของ “ชมรมคนรักชวนชม จ.นครปฐม”

“ชวนชม” หรือที่เรียกในภาษาจีน “ปู้กุ้ยฮวย” แปลว่า ดอกไม้แห่งความร่ำรวย  คงจะเป็นหนึ่งในพรรณไม้ที่โปรดปรานของผู้อ่านหลายๆ คน เพราะชวนชม เป็นไม้ดอกที่มีสีสันสวยงาม รูปทรงโขดสวย ปลูกเลี้ยงง่ายให้ดอกทั้งปี มีโอกาสขยายตลาดได้กว้างเพราะเป็นสินค้าที่มีราคาไม่ค่อยแพง เชื่อว่า เมื่อเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี ) อย่างเต็มตัวในปี2558  ชวนชม จะกลายเป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นที่มีลู่ทางส่งออกแจ่มใสไม่แพ้สินค้าเกษตรประเภทอื่นๆ

ปัจจุบันชวนชม นับเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้เข้าจังหวัดจังหวัดนครปฐม  เกษตรกรผู้ปลูกชวนชมเชิงการค้าและเป็นงานอดิเรก รวมตัวกันจัดตั้ง  “ ชมรมคนรักชวนชม จ.นครปฐม ” เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลการปลูกเลี้ยงชวนชมให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ชวนชม และเผยแพร่ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงพันธุ์ไม้ชวนชม ให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปหันมาสนใจการเพาะเลี้ยงต้นชวนชมเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้สนใจจากทั่วประเทศสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรมฯ แห่งนี้แล้วกว่า  200 ราย

พันตรี ธนกฤต โพธฺลา ประธานชมรมคนรักชวนชม จ.นครปฐม

พันตรี ธนกฤต โพธิลา ประธานชมรมคนรักชวนชม จ.นครปฐม  เล่าให้ฟังว่า  ทางชมรมฯ ต้องการเผยแพร่ทักษะการดูแลชวนชมในลักษณะไม้บอนไซต้นสวยให้แก่ผู้สนใจ เพราะสมาชิกชมรมฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการเข้าลวด  การทำรากสวย และมีเทคนิคเลี้ยงไม้เล็กเก่ง ที่ผ่านมา ทางชมรมฯ ร่วมกับวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร และหอการค้าจังหวัดนครปฐม จัดงาน “ชวนชมไม้งาม อร่ามปฐมเจดีย์” ในงานเทศกาลอาหารผลไม้และของดีจังหวัดนครปฐม  และจัดประกวดชวนชมทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่  ที่รักชอบต้นชวนชมได้มีเวทีพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป  ประเภทไม้ที่เข้าประกวด ได้แก่ อาราบิคัม ไทยโซโค ราชินีเพาะเม็ด ราชินีกิ่งตอน ไม้สีเสียบยอด ลูกผสมเพาะเม็ด ชวนชมเลียนแบบบอนไซ และเพรชบ้านนาเพาะเมล็ด

ปัจจุบันสายพันธุ์ชวนชม ยอดนิยม ที่เกษตรกรนิยมเล่น แบ่งออกได้เป็น  3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่  สายพันธุ์โซโคทรานัม   ( Socotranum ) เอกลักษณ์เฉพาะตัวคือลำต้นจะขึ้นเป็นแท่งๆ เดียว  ดูคล้ายบอนไซหรือต้นไม้ที่มีรากชี้ฟ้า  ส่วนโขดจะมีรากที่ใหญ่บิดงอซับซ้อนสวยงามมาก  ดอกดก ออกดอกประมาณปีละ 2 ครั้ง  ในฤดูหนาวและฤดูร้อน  ดอกสีชมพูมีขนาดเล็ก  เวลาออกดอกมักทิ้งใบ ใบมันไม่มีขน  สีเขียวเข้ม มีสีเส้นกลางใบชัดเจน ที่ปลูกเลี้ยงในไทยได้แก่ เพชรบ้านนา  เขาหินซ้อน บางคล้า เอส 1  ชฏาทอง    ชฏาเพชร   มงกุฏทอง  มงกุฎเพชร  เพชรกาญจนา

ชวนชมสายพันธ์อาลาบิคัม  ( Arabicum )  สามารถแบ่งลักษณะลำต้นออกเป็น  2  ลักษณะคือ  1.  ลำต้นสูงแบบไม้ยืนต้น  จะมีลำต้นที่สูงชะลูด  ลำต้นจะแตกออกจากฐานโขดหลายลำ  ลำต้นชี้ขึ้นตรงมักเจริญติบโตในแนวสูง บางต้นอาจสูงได้ถึง  4  เมตร  เช่น  ยักษ์หน้าวัง  ฯลฯ  อาลาบิคัม ชนิดที่ 2. จะมีลักษณะลำต้นเตี้ย  ขึ้นเป็นแท่งหลายแท่งจากฐานโขด  มักเจริญเติบโตในแนวราบ ฐานโขดมักมีขนาดใหญ่  โขดอาจมีขนาดใหญ่ถึง 1 เมตร  สูงประมาณ 2.50 เมตร  เช่น  ยักษ์เยเมน ฯลฯ

ชวนชมต้นนี้งามทุกมุม… น่าจับจองเป็นเจ้าของ

ชวนชมยอดนิยมอีกชนิดคือ  กลุ่มไม้สี  ที่เน้นการพัฒนายอด ให้มีหลากสีสันต่างๆ และพัฒนาเป็นดอกซ้อน บางต้นมีดอกสวยกว่ากุหลาบและมีจำนวนดอกนับพัน ตอนนี้ยังขาดการพัฒนาเรื่องกลิ่นหอมเพียงอย่างเดียว

ส่วนทิศทางตลาดส่งออก  ผู้พันธนกฤต บอกว่า   ในอดีตมาเลเซียนิยมเล่นต้นชวนชมประเภทไม้สี แต่ปัจจุบันตลาดมาเลเซียหันมานิยมชวนชมสายพันธ์อาลาบิคัมและสายพันธุ์โซโคทรานัมมากขึ้น ขายดีมากคือ  โซโคทรานัม เพราะมีรากมาก รูปทรงสวยงาม ขณะนี้เริ่มมีการผสมข้ามสายพันธุ์ได้แล้ว ชาวมาเลเซียนิยมหันมาปลูกเลี้ยงบ้างแล้ว ทำให้มีคำสั่งซื้อพันธุ์ไม้ดังกล่าวมาที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชวนชมของไทยมีโอกาสที่จะขยายตลาดส่งออกไปยังมาเลเซียได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

เนื่องจากชวนชม เป็นพืชที่มีความสวยงามทั้งดอก พุ่มกิ่ง ลำต้น และราก โดยทุกองค์ประกอบของต้นชวนชม ผู้เลี้ยงสามารถใส่จินตนาการ ตกแต่งในทรวดทรงให้เกิดความแปลกตาสวยงามตามใจชอบได้ จึงเป็นที่ต้องการของนักปลูกเลี้ยงและสะสม ทำให้เกษตรกรมือใหม่หลายคนอยากเรียนรู้เทคนิคการผลิตชวนชมให้เจริญเติบโตได้เร็วและมีรูปทรงที่สวยงาม

“การเลี้ยงชวนชมให้มีมูลค่าได้สักต้นนั้น ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ที่มีความยุ่งยากอยู่พอสมควร องค์ประกอบสำคัญของการปลูกชวนชม  คือ ต้องมีดินดี  น้ำดี  แสงดี ป้องกันโรคดี ปุ๋ยดี และ มีการดูแลเอาใส่ใจอย่างดีควบคู่กันไปด้วย  ทั้งนี้  วัสดุการปลูกเลี้ยงชวนชม ต้องมีลักษณะโปร่ง ร่วน ระบายน้ำได้เป็นอย่างดี ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายคือ มะพร้าวสับ และ ใบก้ามปู ที่ผ่านการหมักด้วยน้ำจนผุ (มีลักษณะสีดำ) นำมาผสมให้เข้ากัน ในอัตราส่วน มะพร้าวสับหนึ่งส่วน ต่อใบก้ามปูหมักสองส่วน คลุกให้เข้ากัน พร้อมกับรดน้ำที่มีส่วนผสมน้ำยาเร่งราก B1 พอหมาดๆ แล้วใช้กระสอบคลุมไว้เพื่อให้น้ำซึมเข้าไปในส่วนต่างๆ ของวัสดุปลูก ประมาณ 3 – 5 วัน แล้วจึงสามารถนำมาใช้ปลูก ”  ผู้พันธนกฤต กล่าว

อย่างไรก็ตามก่อนปลูกควรใช้ตะกร้าพลาสติกที่มีรูระบายที่ก้นตะกร้าขนาดประมาณ 1 ซม. แยกไว้ต่างหากเพื่อใช้ในการแต่งหน้าดินหลังจากปลูกเสร็จ ส่วนที่ละเอียดนี้จะช่วยในการคลุมดินไม่ให้มีการระเหยของความชื้นในวัสดุปลูกชั้นล่าง จะช่วยให้ชวนชมมีการแตกรากได้ดี และเมื่อปลูกเสร็จแล้วก็รดด้วยน้ำที่มีส่วนผสมของยากันราอีกที เพราะชวนชมก่อนปลูกจะมีการตัดแต่งราก จึงทำให้เกิดแผล และต้นอ่อนแอทำให้เชื้อราที่มีอยู่ในวัสดุปลูกซึมเข้าไปทำลายไม้ได้

ด้านน้ำ  ต้องเลือกใช้น้ำสะอาดเพียงอย่างเดียว หากใช้น้ำประปา ควรระวังน้ำที่มีค่าคลอรีนสูงเพราะจะทำให้ปลายรากที่กำลังแตกฝ่อ การให้น้ำก็ถือว่าสำคัญ เพราะชวนชมเป็นไม้ประเภทอวบน้ำ มีความต้องการน้ำ แต่ไม่ต้องการดินแฉะหรือน้ำขัง ปริมาณน้ำที่ให้แต่ละวันจึงจะต้องพอดีกับความต้องการของพืช ควรรดน้ำบางๆในช่วงเย็น แค่พอให้หน้าดินชื้นนิดหน่อย เนื่องจากรากชวนชมจะเจริญเติบโตดีในช่วงกลางคืน และให้น้ำอีกครั้งในช่วงเช้าเพื่อให้ชวนชมได้เก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงกลางวันที่มีแดดแรง

ต้นชวนชมกำลังเข้าลวด โดยใช้ลวดบังคับกิ่ง เพื่อให้เกิดความสวยงาม

ชวนชมเป็นพืชที่มีความต้องการแสงแดดเกือบ 100% เพื่อใช้ปรุงอาหารเลี้ยงลำต้นจึงควรเลือกปลูกในพื้นที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ตลอดเวลา คุณธนกฤตบอกว่า ศัตรูสำคัญของชวนชมมีหลายอย่าง เช่น ไรแดง หนอน ไส้เดือน รา  เทคนิคที่ดีที่สุดในการดูแลต้นชวนชมคือ ควรดูแลป้องกันโรคและแมลงล่วงหน้า    สำหรับไรแดง  มีขนาดตัวเล็ก และมักอาศัยอยู่ใต้ใบ ยากแก่การมองเห็น  ไรแดงมักดูดกินน้ำเลี้ยงของชวนชมจนทำให้ต้นโทรม ผู้พันธนกฤต แนะนำให้ฉีดยาป้องไรแดงทุกเดือน

ส่วนหนอนที่เข้ามาเกาะกินใบชวนชม ส่วนใหญ่เกิดจากไข่ของผีเสื้อกลางคืน หากปล่อยไว้หนอนจะกัดกินใบหมดอย่างรวดเร็วภายในวันสองวัน แนวทางป้องกันคือ ทำลายไข่ของผีเสื้อ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า ไข่ผีเสื้อจะมีลักษณะกลมๆ สีเขียว หากพบว่า มีจำนวนมากจึงค่อยใช้สารเคมีกำจัดแมลง

แมลงศัตรูพืชที่พบได้ง่าย คือ ไส้เดือนและด้วง  ผู้พันธนกฤต กล่าวว่า  บอกว่า ทั้งสองชนิดนี้ นับเป็นตัวอันตรายอย่างมาก เพราะมักแอบเข้ามาอาศัยอยู่ในกระถางปลูก และย่อยสลายวัสดุปลูกอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งเดือนทำให้วัสดุปลูกกลายเป็นดินแน่น ระบายน้ำไม่ได้ จึงควรใช้สารเคมีกำจัดแมลงฉีดพ่นรดเดือนละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ “ เชื้อรา”ยังเป็นศัตรูสำคัญอีกชนิดที่เข้าทำลายชวนชมได้ง่าย ทำให้ต้นไม้เน่าตายภายในระยะเวลาไม่กี่วันเท่านั้น ส่วนใหญ่เชื้อราเกิดได้จากหลายแนวทาง เช่น วัสดุปลูก ต้นชวนชมมักมีปัญหารากเน่า นอกจากนี้ ฝนจากเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเชื้อรา ทำให้เกิดอาการเน่าทางใบและยอด  เกษตรกรจึงควรฉีดพ่นสารกันเชื้อราเดือนละ 1  ครั้ง

ชวนชมต้นนี้ เน้นโชว์โขดที่มีรากใหญ่สวยงาม

“ ชวนชมเป็นไม้ที่มีลักษณะอวบน้ำ รากจึงอ่อนแอไวต่อความรู้สึก ปุ๋ยที่จะเสริมให้กับชวนชมควรจะเป็นชนิดจืด หรือปลดปล่อยช้า หรือเป็นชนิดที่ให้ทางใบ  หากท่านผู้อ่านเข้าใจวิธีการเลี้ยง และป้องกันตามที่กล่าวมาแล้ว นั้นยังเหลือปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือ การใส่ใจดี เพราะว่า ชวนชมจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน หลายปีกว่า ต้นจะเติบใหญ่ได้ขนาด จะต้องถอนต้นและเปลี่ยนดินใหม่ทุกๆ 6 เดือน เพราะชวนชมที่ปลูกลงกระถางไปแล้วนั้น จะเจริญเติบโตอย่างเต็มที่เพียง 4-5 เดือนเท่านั้น  ” ผู้พันธนกฤต กล่าว

การจัดรากแบบมีมิติ

หลังจากนั้นใบชวนชมจะเริ่มแก่ตัวและหลุดร่วง ก่อนออกดอก นอกจากนี้ วัสดุปลูกที่ใช้ก็จะเริ่มเสื่อมสภาพ หมดสารอาหาร จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวัสดุปลูกใหม่  หากไม่เปลี่ยนดินชุดเดิมออกไป ต้นชวนชมก็หยุดการเจริญเติบโต ไม่มีการแตกรากฝอยหากิน โดยทั่วไป ต้นชวนชมจะดูดกินอาหารที่สะสมอยู่ในรากและลำต้นออกมาใช้เลี้ยงใบและส่วนต่างๆ จึงทำให้ผิวแกร็น ชะงักการเจริญเติบโตได้  หากผู้ปลูกชวนชมขยันเปลี่ยนดินใหม่เมื่อครบวาระ ก็จะช่วยให้ต้นชวนชมมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง รากไม่แคะแกร็น ตารากสดและแตกใหม่ได้เสมอเมื่อได้รับการเปลี่ยนดินครั้งต่อไป

ระหว่างที่เปลี่ยนดินปลูกใหม่นั้น เกษตรกรสามารถตกแต่งรูปทรงให้กับชวนชมต้นโปรดได้เช่นเดียว กับการแต่งราก จัดรากใหม่ เข้าลวด (ใช้ลวดบังคับกิ่ง) เพื่อให้เกิดความสวยงาม ซึ่งจะต้องอาศัยความชำนาญและการเรียนรู้ในขั้นสูงต่อไป

หากผู้อ่านท่านใด อยากได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าชวนชม สามารถสอบถามข้อมูลจากคุณธนกฤต  ได้ที่บ้านเลขที่ 94/263 ม.3 ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ. นครปฐม  73000 โทร.081-7369202 ได้ตลอดเวลา

ชมรมคนรักชวนชม จ.นครปฐม