ผู้เขียน | ศิริประภา เย็นยอดวิชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
“นิอร ปฏิทิน” เกษตรกรรุ่นใหม่วัยเพียง 41 ปี ประสบความสำเร็จปลูกดาวเรืองขาย สร้างเม็ดเงินหลักแสนบาทต่อเดือน ใช้วิชาเก่าจากอาชีพชาวนาของครอบครัว ประยุกต์เทคโนโลยีการเกษตรมาใช้กับสวนดาวเรือง 10 ไร่ ที่ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
“ดาวเรือง” ดอกไม้เศรษฐกิจ
การมีอาชีพ “เกษตร” ของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถยืนได้ด้วยผลกำไรจากการค้าขายผลผลิตทางเกษตรนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสำหรับคุณนิอร ก้าวเข้ามาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกดอกดาวเรืองอย่างเต็มตัวเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งเวลานั้นเธออายุเพียง 34 ปี และอยู่ในจังหวะหมดหน้าที่จากการเป็นเลขานุการของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในแวดวงวิชาการด้านการกีฬา จึงใช้โอกาสนั้นผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว
“ตอนนั้นอายุ 30 กว่าๆ ทำงานกับเจ้านาย พอดีเจ้านายเกษียณ และพ่อก็ไม่ทำนาแล้ว เพราะราคาข้าวไม่ดี ก็ดูเฟซบุ๊กอยู่เฟซบุ๊กหนึ่ง ไปเจอเขาทำไร่ดาวเรืองที่โคราช ก็เริ่มศึกษามาเรื่อยๆ ดูจากเฟซบุ๊กมา และค่อยๆ ศึกษาไป เจ้านายก็แนะนำให้หาตลาดก่อน ก่อนจะทำอะไร เพราะเจ้านายเป็นคนชอบต้นไม้ มาก และพอเรามาเป็นเกษตรกรเต็มตัวดีกว่า ก็เป็นนายตัวเอง อยู่ที่ความขยัน ความใส่ใจ เราขยัน เราใส่ใจ มันได้ผลผลิตที่ดีแน่นอน อาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง ผิดบ้าง พลาดบ้าง ก็คือประสบการณ์ที่ดีค่ะ เพราะตอนนี้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าแสนบาทต่อ 1 เดือน” คุณนิอร เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
นอกจากนี้ ด้วยพื้นฐานครอบครัวของคุณนิอรที่มีอาชีพทำนา ทำให้เมื่อมีอุปสรรคในเรื่องการใช้เครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรที่ต้องใช้กับสวนดาวเรือง เช่น อุปกรณ์ไถดินและเครื่องทำน้ำหยด เธอจะปรึกษาหารือกับคุณพ่อ คือ คุณสิงห์ ปฏิทิน ซึ่งปัจจุบันได้เลิกอาชีพชาวนา และลงเล่นการเมืองท้องถิ่น จนได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองท่าโขลง (สท.ท่าโขลง)
“ระบบน้ำหยด จะประหยัดค่าคนงาน ใส่ปุ๋ย และยาค่าเชื้อราลงดินได้หมด เทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ เราก็เอามาดัดแปลง อาจจะเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ เราก็เอาเกษตรกรสมัยเก่ามาดัดแปลง อย่างเราไม่รู้อะไรก็จะถามพ่อ” คุณนิอรเล่าด้วยสีหน้าที่มีความสุขเมื่อเอ่ยถึงคุณพ่อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้คุณ นิอรประสบความสำเร็จกับเส้นทางเกษตรกรผู้ปลูกดอกดาวเรืองในจังหวัดปทุมธานี
ลงทุนครั้งแรก จ่ายหนัก วางระบบเทคโนโลยีการเกษตร
ถ้าถามว่าหากลงทุนปลูกดอกดาวเรือง 1,000 ต้น จะใช้เงินลงทุนราว 3,000 บาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่ยังไม่รวมระบบการจัดการเรื่องน้ำและเทคโนโลยีทางการเกษตร แต่หากต้องการทำเพื่อเดินอยู่ในเส้นทางอาชีพเกษตร จำเป็นอย่างมากที่จะต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี อาทิ อุปกรณ์การจัดการดิน และระบบน้ำหยด
“การลงทุนครั้งแรกใช้เงินเยอะค่ะ โดยเฉพาะค่าอุปกรณ์ เช่น สายปั๊ม เครื่องปั๊ม และระบบน้ำ อย่างที่สวนดาวเรืองใช้ระบบน้ำหยด ลงทุนใหม่ทั้งหมด แต่บางอย่างไม่ต้องซื้อ เช่น เครื่องไถนาของพ่อ เราทำแปลงใหญ่ๆ เราต้องใช้เครื่องพ่น ซึ่งของพ่อก็มีอยู่แล้ว เราใช้ของที่เขามีอยู่แล้ว การลงทุนครั้งแรก ก็ใช้เงินลงทุนเกือบ 50,000 บาท ทั้งพลิกดินมาใหม่หมด หว่านปุ๋ย หว่านขี้วัว แล้วก็เตรียมแป๊บเดินสายใหม่ทั้งหมด ยังไม่รวมค่าเช่าที่ดิน ค่าแรง ส่วนระบบน้ำเราใช้น้ำในคลอง ใช้เครื่องรถไถนา เรียกปั๊มหอยโข่ง ใช้เครื่องฉุดโดยไม่ต้องใช้น้ำประปา แรงดันน้ำจะหนักหรือเบา อยู่ที่เราเร่งเครื่อง” คุณนิอร เล่าถึงการลงทุนครั้งแรกและการใช้เทคโนโลยีการเกษตรมาใช้กับการปลูกดอกดาวเรือง
คุณนิอร เล่าย้อนไปถึงการลงทุนปลูกดาวเรืองครั้งแรกว่า เป็นช่วงจังหวะตรุษจีน ทำให้มีตลาดที่ปากคลองตลาดรับซื้อทันที และการปลูก 4 ครั้งแรก ก็คืนทุนได้แล้ว ซึ่งดาวเรืองรุ่นแรกเก็บดอกได้ 15 ครั้ง ต่อรุ่น ทำให้มีกำลังใจทำต่อไป
“จากคนดูถูกเยอะมาก ทำไม่ได้หรอก ไม่เคยทำ จะทำได้เหรอ คนอื่นเขาทำมาเจ๊งกันเยอะแยะไป เราเองก็ยังบอกกับแม่ว่า แม่อย่าฟังใครเขา หนูเชื่อว่าหนูทำได้ ถ้าไม่ลองแล้วจะรู้เหรอ และยังไม่เคยร้องไห้เพราะดาวเรือง ที่สำคัญไม่เคยท้อ เพราะชาวบ้านเห็นเราทำได้ และตอนนี้ก็มีคนอยากทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่เข้ามาเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังมีจากชลบุรีและปราจีนบุรีก็ติดต่อเข้ามาเพื่อดูงาน” คุณนิอร เล่าด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมกับบอกอีกว่า ทุกวันนี้ภูมิใจมากที่ทำสวนดาวเรือง เพราะอย่างน้อยก็มีรายได้เข้าบ้านและคนในชุมชนที่ไม่มีงานก็ยังมีงานจากเรา
“อย่างน้อยป้าๆ 10 คนที่ลูกหลานไปเรียนก็มาทำงานกับเรา พอเย็นกลับบ้าน ก็ได้เงินค่าแรงแล้ว 350 บาท ถ้าทำงานเลยเวลาบวกเงินเพิ่มให้ โดยเฉพาะช่วงที่ยอดขายดาวเรืองชุกมากๆ ก็ให้ค่าแรง 400 บาท หรืออย่างบางครั้งงานเสร็จเร็ว ได้กลับบ่าย 2 ถึงบ่าย 3 เราก็ให้ค่าแรง 350 บาท เพื่อให้เกิดรายได้ในชุมชน ซึ่งก็เป็นการแบ่งปันรายได้กัน ป้าได้บ้าง เราได้บ้าง แต่ถ้าไปเจอจังหวะที่ดาวเรืองตาย คือจังหวะราคาดาวเรืองในตลาดมีราคาไม่ค่อยแรง ก็คือ หนึ่งค่าแรงได้แน่นอน อาจจะเหลือบ้างนิดหน่อย แต่เราไม่ได้ซีเรียส แต่พอดาวเรืองมีราคา คนงานก็ได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามราคาในท้องตลาด” คุณนิอร เล่าให้ฟัง
แนะเกษตรกรรุ่นใหม่ หาตลาดให้ได้ก่อนลงทุน
สิ่งที่คุณนิอรย้ำตลอดระหว่างการให้สัมภาษณ์ คือการทำเกษตรของคนรุ่นใหม่ ก่อนจะลงทุนปลูกอะไรสักอย่างควรจะหาตลาดที่รับซื้อให้ได้ชัดเจน แล้วค่อยลงทุน ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงลดลงมาก และนำมาซึ่งความสำเร็จนั่นเอง
สำหรับคุณนิอรนั้นเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกดาวเรือง ด้วยการไปเดินหาตลาดรับซื้อดาวเรือง ก่อนที่จะลงทุนปลูกอย่างจริงจังเป็นหลักหมื่นต้น
“ไปหาตลาดเอง เดินตั้งแต่ตลาดไท สี่มุมเมือง ปากคลองตลาด ตอนนั้นอายุ 34 ปี ไปตรงไหนก็ไม่รับซื้อ เขาพูดว่า มีดอกแล้วค่อยมา บางเจ้าก็พูดว่า ถ้าไม่ซื้อเมล็ดจากเขา เขาก็ไม่รับซื้อ จนมาเจอรายหนึ่งที่ปากคลองตลาด พูดดีแนะนำดี และเราพอใจที่จะซื้อเมล็ดจากเขา คือมองแล้วสายพันธุ์เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งเวลานั้นเราเดินสำรวจจากตลาดไทถึงสี่มุมเมือง พันธุ์ที่ต้องการอย่างมากคือ ทองเฉลิม” คุณนิอร บอกถึงการหาตลาดรับซื้อก่อนลงทุน พร้อมกับบอกว่า สำหรับคนอยากทำสวนดาวเรืองเป็นอาชีพ ขึ้นอยู่กับการใส่ใจ ความอดทน และความรักที่จะปลูกดอกดาวเรือง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการปลูกดอกดาวเรือง
“ดอกเล็กไหม หรือดอกเล็กไป ดาวเรืองถ้าไม่บำรุง หรือไม่ใส่ใจ กว่าจะออกดอกใช้เวลานานมากกว่าไม้ดอกชนิดอื่น ซึ่งธรรมชาติของดาวเรืองแค่ 50 กว่าวันออกดอกเลย ถ้าได้อยู่เมืองหนาว แต่ที่ปทุมธานีให้ 50 วัน ยังไม่ออกดอก ต้องรอ และดาวเรืองรอบหนึ่งตัดดอกได้ 15-30 ครั้ง โดยใช้วิธีตัดดอกไป ใส่ปุ๋ยบำรุงไป” คุณนิอร เล่าถึงธรรมชาติของดอกดาวเรือง
“อยากจะทำสวนดาวเรืองให้มากขึ้น เพราะมีแต่คนพูดว่า แถวบ้านเราทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ส่วนมากดาวเรืองจะไม่ปลูกย่านนี้ ส่วนใหญ่จะขึ้นไปทางสุพรรณบุรี นครสวรรค์ เชียงใหม่ และที่พบพระ จังหวัดตาก ซึ่งที่พบพระเป็นแหล่งใหญ่ เรียกว่า ดาวแม่สอด แต่ว่าคุณภาพจะสู้ดาวบ้านไม่ได้ แต่ข้อดีของดาวแม่สอด คือดอกใหญ่ สีสด ส่วนวิธีการปลูกดาวแม่สอด คือ เขาทำดาวเรือง ทำทีแสนต้น ทำเยอะ ค่าแรงถูก ผู้ชาย 70 บาท ผู้หญิง 60 บาท แต่ของเราค่าแรงวันละ 350 บาท ต่อคน ต่อวัน และจ้างวันละ 10 คน ในการตัดรอบดาวเรืองแต่ละครั้ง ซึ่งในท้องตลาดถ้าของเราไม่มี ดาวแม่สอดจะมีลงมา แต่คุณภาพสู้ดาวบ้านไม่ได้ ดาวบ้านจะมาจากสภาพการปลูกบนพื้นที่ดินเหนียว ดินร่วน และข้อดีของดาวบ้านจากปทุมธานี คือขนส่งเราใกล้ ทำให้แม่ค้าชอบ” คุณนิอร เล่าให้ฟัง
ผลจากการวิเคราะห์ตลาดรับซื้อดาวเรืองก่อนลงทุน ทำให้วันนี้สวนดาวเรืองของคุณนิอร มีรอบการตัดดอกไปขายยังปากคลองตลาด ไม่ต่ำว่า 20,000 ดอก ในแต่ละรอบมักจะได้ถึง 40,000-50,000 ดอก โดยมีระยะเวลาการตัดดอกทุกๆ 2 วัน ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ขณะที่ในช่วงราคาดาวเรืองมีราคาดี จะมีการตัดดอกดาวเรืองขายแทบทุกวัน จนออกดอกไม่ทัน และบางรอบตัดจนดาวเรืองยืนต้นตาย โดยคุณนิอร บอกว่า ราคาดาวเรืองขยับขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม (เป็นเวลา 2 เดือน)
สำหรับไซซ์ดอกดาวเรืองที่ตัดดอกแล้วและได้รับความนิยมในท้องตลาด ได้แก่ ไซซ์จัมโบ้ชุดแรก เรียกว่า โบ้บิ๊ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9.5 เซนติเมตร หรือขนาดดอกเท่ากับแผ่นซีดี 1 แผ่น ซึ่งขนาดนี้มีราคาขายหน้าแผงดอกละ 2.50 บาท ราคาขายจากสวนดอกละเกือบ 2 บาท รองลงมา คือ ขนาด 2, 3 และ ขนาด 4 ซึ่งเรียกว่า ไซซ์จิ๋ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร
“วันหนึ่งได้โบ้บิ๊ก 20,000 บาท ก็สบายแล้ว แต่พ่อค้าคนกลางทำให้ชาวสวนอยู่ไม่ได้ อย่างโบ้บิ๊ก เขากิน 50 สตางค์ ไม่ต้องลงทุนเลย ทำให้คนรุ่นใหม่เจาะตลาดเอง ซึ่งในอนาคตก็ยังอยากทำดาวเรืองส่งออกนอก ไปประเทศสิงคโปร์ และตลาดที่เป็นเมืองพุทธ อาทิ ลาว และเมียนมา เพราะดาวเรืองเป็นพืชเศรษฐกิจที่ดี” คุณนิอร เล่าให้ฟัง
บางคนทำแล้วเจ๊ง ช่วงนี้ดาวเรืองล้นตลาดก็ถอย ไม่สู้ คือปีหนึ่ง ทุกผักทุกพืช มีช่วงเวลาตาย แต่อย่างเราตอนดาวเรืองราคาตายเราก็ทำ ต้องอดทนกับราคา กับสิ่งที่เราเจอ ถ้าเราทนได้อยู่ได้ ต้องมั่นคงกับมัน ต้องมีความอดทน และเป็นคนที่รักดาวเรืองมาก ไปไหนมา เย็นแค่ไหนก็ไปดูสวน คือเรามองเขาทุกวัน ถ้าดอกดาวเรืองเป็นโรค ดอกจะยุบเลย เช่น ถ้าเชื้อรากิน คือจะมีแมลงหวี่จากน้ำเลี้ยง และคืนเดียว ยุบหมด ทำให้ต้นข้างๆ เน่าหมด ต้องตัดทิ้งทั้งสวน และถ้าเป็นดาวลายขึ้นที่ดอก คือขายไม่ได้เลย เพราะใส่ถุงสักพักจะเน่าทันที ทำให้ต้องฉีดพ่นยาทุกๆ 3 วัน เพื่อป้องกันโรคและศัตรูพืช
หากมองย้อนไปถึงเบื้องหลังความสำเร็จของคุณนิอรที่ประสบความสำเร็จด้วยวัยเพียง 41 ปี แล้วก็พบว่าเธอต้องเจอกับอุปสรรคอย่างมากในการก้าวเข้ามาเป็นรายแรกๆ ของการปลูกดอกดาวเรืองในจังหวัดปทุมธานี จนสามารถติดอันดับหนึ่งของจังหวัด ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้ข้อมูลการปลูกดอกดาวเรืองและสวนดอกดาวเรือง 10 ไร่ ยังเป็นสถานที่ศึกษาของเกษตรกรที่อยากปลูกดอกดาวเรืองในจังหวัดปทุมธานีด้วย
คุณนิอร ทิ้งท้ายว่า สำหรับใครที่สนใจ ก็เป็นพืชที่ดีพืชหนึ่ง แต่ต้องใช้ความอดทน สิ่งแรกที่อยากให้ทำคือ อยากให้ทำตลาดดูก่อน หาแหล่งรับซื้อให้ได้ ถ้าคุณมีแล้ว เป็นพืชที่ดีตัวหนึ่ง สำหรับรายได้ ถ้าใครสนใจก็ติดต่อสอบถามได้ ยินดีให้คำปรึกษา คำแนะนำ ที่เบอร์โทรศัพท์สายตรง 097-018-6457 หรือแวะชมสวนดาวเรืองของคุณนิอร ได้ที่ เลขที่ 34/2 หมู่ที่ 15 ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
………………..
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ
Update 9/5/2022