พฤกษาในเมืองใหญ่ รัก (ษ์) ต้นไม้ใหญ่ ใช้ศาสตร์ “รักขกรรม”

…ต้นไม้ใหญ่ เอาขวานมาสับ ฉับฉับให้ลึก

ไม้ค่อยสึก ค่อยทรุด จนโค่นลงพลัน

แต่ใจเธอถูกคมลิ้นฉันเกี่ยวทุกวัน

อัศจรรย์ไม่เคยสะท้านฤดี…ฯลฯ

 เป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงที่เคยนำมาประกอบคอลัมน์พฤกษากับเสียงเพลง ในหัวข้อ “พฤกษาหมอต้นไม้ แต่…คนไข้ไม่เคยมาหา” ลงในฉบับที่ 596 วันที่ 1 เมษายน 2558 ชื่อเพลง “รอนาทีสมรัก” ขับร้องโดย คุณมนูญ เทพประทาน จึงอยากจะประชดต้นไม้ใหญ่ แม้ไม่ทราบว่าเป็นไม้เนื้ออ่อนหรือเนื้อแข็ง แต่เมื่อไม้ถูกคมมีด คมขวาน สับ ยังค่อยๆ ทรุดโค่นลงได้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งเลื่อยไฟฟ้าหรือเลื่อยยนต์ ต่อให้ใหญ่กี่คนโอบ มีหรือจะต้านน้ำมือมนุษย์ สงสัยอยู่เพียงว่าปุ่มปมของต้นไม้ใหญ่นั้น ใหญ่กว่าหัวใจมนุษย์ที่มีขนาดเพียงกำปั้นเท่านั้น ทำไมถึงทนคมลิ้นเกี้ยวได้โดยไม่สะท้านใจ แสดงว่าใจคนแกร่งกว่าต้นไม้ใหญ่กระนั้นหรือ ก็ต้องรอให้ถึงนาทีที่จะได้สมรัก น่าจะพนันกันว่า ต้นไม้หรือใจคน ไหนจะ “ทรุด” หรือ “ยอม” ก่อนกัน

เมื่อฉบับที่ผ่านมาได้กล่าวถึงวิชารุกขกรรม และรุกขกร ที่น่าจะเป็นผู้ “อารักษ์” ต้นไม้ได้ เพราะช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม มีพายุฝน ลมแรง ทำให้ต้นไม้ใหญ่หลายสิบต้นโค่นล้มทำความเสียหายแก่บ้านเรือน สถานที่ต่างๆ รวมทั้งด้านการจราจรหลายที่ ทั้งในเมืองใหญ่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้กล่าวถึงรุกขกรรม (Arboriculture) วิชาที่นักวิชาการเสนอว่าควรเปิดการเรียนการสอนสร้างองค์ความรู้ด้านต้นไม้ใหญ่ และรุกขกร (Arborist) ผู้ปฏิบัติการเป็นอารักษ์ ที่จะช่วยให้ต้นไม้ต่างๆ คงอยู่ร่วมกับสังคมทั้งรักและกลัวต้นไม้ใหญ่ ประสานสถานการณ์ให้คำตอบและสนองมิตรแห่งสิ่งแวดล้อมในฉบับนั้น สิ่งที่ได้นำเสนอไว้มากที่สุดคือความคิดเห็น และคำพูดของนักวิชาการหลายท่าน ซึ่งตีพิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ รายสัปดาห์ BLT BANGKOK//June 15-21, 2017 หน้า Cover Strong 06-07 หัวข้อเรื่อง ต้นไม้ทับคน – คนตัดต้นไม้ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว โดย คุณเสมอใจ มณีโชติ มีนักวิชาการกล่าวไว้พอจะสรุป ได้แก่

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน ท่านมีนโยบายในปี 2562 ให้สำนักงานเขตส่งเจ้าหน้าที่รุกขกรให้ความรู้ทั่วไป

ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. จะประสานกับสำนักงานเขตทำงานเชิงรุก ที่จะตรวจสอบพิจารณาต้นไม้ที่ควรตัดหรือควรย้าย

ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า ในงานวิจัยเกี่ยวกับป่าในเมือง พบว่าคนเมืองต้องการพื้นที่ป่าในเมืองสูงขึ้น

โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องทำการตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในจุดเสี่ยงประชาชนสัญจร ต้องปรับสมดุลความปลอดภัย

ผู้แทนกลุ่ม Big Tree Project โดย คุณจักรพันธ์ ตรวจมรคา ได้เสนอการทำทีโออาร์ ในการจ้างตัดต้นไม้ให้ถูกต้อง โดยมีข้อกำหนดสำหรับผู้รับจ้างตัดต้นไม้

สรุปว่าผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานต่างก็ตระหนักถึงผลพวงจากต้นไม้ใหญ่ ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์ตามต้องการ และในส่วนที่อาจจะเกิดอันตรายต่อประชากร จึงถือเป็น “ภาระ” ที่ทุกคน ทุกหน่วยงาน ที่ควรจะต้องรับทราบและร่วมมือรักษาดูแล

จากข้อสรุปที่ได้กล่าวในฉบับที่แล้วมานั้น เรื่องราวของ “ต้นไม้ทับคน – คนตัดต้นไม้ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ซึ่งคุณเสมอใจ มณีโชติ ได้เขียนไว้ใน BLT BANGKOK ฉบับที่กล่าวไว้นั้นยังมีเรื่องราวของต้นไม้ใหญ่กับประชากร และเขตต่างๆ ในเมืองกรุงที่มีต้นไม้ใหญ่อีกมากมาย ซึ่งเป็นข้อคิด ข้อเสนอ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปวิเคราะห์ พิจารณา ข้อพึงปฏิบัติสำหรับการมีต้นไม้ใหญ่ในเมืองใหญ่ทุกแห่งที่ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น จึงขออนุญาตนำมาสรุปเสนอเป็นประโยชน์โดยทั่วกัน จากข้อมูลเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประชากร บ้านพัก และต้นไม้ใหญ่ในเมือง รวมทั้งในท้องที่เขตต่างๆ ที่มีต้นไม้ใหญ่อายุมาก ต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการโค่นล้มและข้อมูลที่จะต้องร่วมมือ ดูแลรักษาอนุรักษ์ร่วมกันทุกกลุ่มบุคคล และทุกองค์กรต่อเนื่องจากฉบับที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อมูลจาก “BLT BANGKOK June 15-21, 2017 ฉบับเดียวกัน ที่พอจะสรุปดังนี้

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม กล่าวถึงต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่สาธารณะ เป็นหน้าที่ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตในพื้นที่ดูแลรักษา ซึ่งต้นไม้ใหญ่ในกทม.ส่วนมากรากจะลงไม่ลึก เนื่องจากปลูกหลังจากการก่อสร้างถนน ซึ่งมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อยู่ใต้ดิน ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่ไม่มีรากแก้ว จึงไม่แข็งแรง ทนแรงลมฝนกระหน่ำโค่นล้มได้ง่าย จากการสำรวจต้นไม้ทั้งหมดในพื้นที่ กทม. มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นมากกว่า 3 ล้านต้น อยู่ในกลุ่มต้นเสี่ยงที่จะต้องค้ำยัน 1,811 ต้น ต้องขุดล้อมย้ายหรือขุดออก 1,129 ต้น ต้องตัดทอนลดความสูง 175 ต้น อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. ต้นไม้ใหญ่ซึ่งปลูกกระจายทั่ว 50 เขตในกทม. ถูกตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในการสัญจรไปมาของประชาชน ตามถนน ริมฟุตปาธ และในพื้นที่สาธารณะทั่วๆ ไป ซึ่งกทม.ต้องเร่งแก้ปัญหาหรือให้คำตอบเรื่องนี้

จำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร เชื่อว่ามีตัวเลขไม่น้อยกว่าสิบล้าน แต่หากจะยึดตัวเลขที่เป็นทางการไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน ขณะที่จำนวนบ้านมีเกือบ 3 ล้านหลัง จำนวนใกล้เคียงกับต้นไม้ใหญ่ แต่มีอยู่ 5 เขต ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ อายุมาก และเสี่ยงต่อการโค่นล้ม ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตวัฒนา เขตพระนคร เขตดุสิต และเขตบางซื่อ จึงมีเครือข่ายต้นไม้ในเมืองเรียกร้องให้จัดการต้นไม้อย่างเป็นระบบ

เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านต้นไม้ในเมือง จำนวน 5 องค์กรใหญ่ ประกอบไปด้วย เครือข่ายต้นไม้ในเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มบิ๊กทรี สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และโครงการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ สถาบันวิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ยินดีให้ความร่วมมือในด้านข้อมูล ปฏิบัติการและสื่อสารกับภาคประชาชน ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อร่วมงานให้เกิดการร่วมกันสร้าง “ระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง” เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากต้นไม้ในทุกมิติ และประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในเมือง

สำหรับ “เครือข่ายบิ๊กทรี” (BIG TREES) หรือกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ วิเคราะห์ว่าการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนต้องเน้นการจัดวางผังเมืองให้เป็นระบบ รู้จักสภาพพื้นที่แต่ละจุด การทำพื้นที่สีเขียวไม่ใช่เพียงแค่สร้างสวนสาธารณะ การปลูกต้นไม้ใหญ่ต้องรู้จักดูแลด้วย ไม่เห็นด้วยที่จะผลักภาระให้กทม. ฝ่ายเดียว แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันประสานความเข้าใจการดูแลอย่างถูกวิธี มีการเสนอให้เปิดโรงเรียนต้นไม้ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ ในงานภูมิทัศน์เมือง ให้แก่ผู้สนใจทำอาชีพรุกขกร หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแล

เครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 5 องค์กร มีการออกแถลงการณ์เรื่อง “ข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ ให้เกิดระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง” โดยเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานดูแลต้นไม้ในเมือง คือ กทม. กฟน. กฟภ. ฯลฯ จัดการต้นไม้ในเมืองอย่างเป็นระบบ เป็นระยะ ลำดับ คือ

  1. อย่าด่วนตัดต้นไม้ทิ้งทั้งหมด ตามที่มีบางกระแสเรียกร้อง ซึ่งเป็นการตัดสินใจด้วยความกลัวอันตราย แต่สิ่งที่ควรทำคือการแก้ปัญหาด้วย “ความรู้” โ“ยใช้ศาส”ร์ “รุกขกรรม”
  2. 2. จัดทีมรุกขกร และนักวิชาการ เร่งสำรวจต้นไม้อันตราย (ต้นไม้ป่วย) พร้อมทั้งทำสัญลักษณ์ให้ประชาชนทราบ กำหนดแนวทางแก้ปัญหาให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
  3. จัดทีมตรวจรักษาต้นไม้อันตราย โดยมีรุกขกรทำหน้าที่ “หมอต้นไม้” ในการประเมินระดับการรักษา บางต้นอาจต้องค้ำยัน ตัดแต่ง ขุดย้ายหรือตัดทิ้ง
  4. จัดตั้งบริษัทรุกขกรรมนครหลวง โดยการบูรณาการร่วมกันของภาครัฐเพื่อให้เกิดองค์กรที่มีความรู้ ทักษะ และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ในระดับสากล
  5. กำหนดระเบียบปฏิบัติ ให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลต้นไม้ในเมืองต้องมีรุกขกรที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมการฝึกอบรม พัฒนาการควบคุม ออกใบรับรอง ความรู้ของรุกขกรทำหน้าที่กำกับ ดูแล ตัดแต่งต้นไม้ของหน่วยงาน
  6. ควรออกกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในเมือง ทั้งที่อยู่ในการดูแลของภาครัฐ หรือเอกชน โดยกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ปฏิบัติตามหลักสากล

สำหรับหน่วยงานพัฒนาเมือง หรือองค์กรที่มีการปรับปรุงเมือง เช่น การขุดถนน การวางท่อประปา ท่อระบายน้ำ ร้อยสายโทรศัพท์สายใยแก้วโทรคมนาคม การสร้างรถไฟลอยฟ้า รถไฟใต้ดิน การสร้างตึก สร้างสะพาน ความแข็งแรง ความแน่นหรือโปร่งของดินที่มีผลต่อรากต้นไม้ใหญ่

BLT BANGKOK ฉบับที่กล่าวมานี้ ยังแนะสถานที่ต้นแบบที่ใช้คุณค่าต้นไม้ได้มากกว่า แค่เป็นไม้ประดับเมือง เช่น ถ้ามีต้นไม้ใหญ่หน้าร้านอาหาร โรงแรม หรือในชุมชน ให้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์เข้าช่วยในการออกแบบให้มีความสวยงาม กลมกลืน เป็นจุดเสริมการท่องเที่ยว หรือสร้างเป็นแลนด์มาร์คในย่านชุมชนได้ เช่น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ที่ใช้ต้นไม้ช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ทำให้ผ่อนคลาย ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเทคนิคทางการแพทย์ หรือ เดอะ แจม แฟคตอรี่ อยู่ใกล้กับท่าเรือคลองสาน ที่ปรับปรุงโกดังของโรงงานเก่า โดยทำต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในโครงการเป็นเอกลักษณ์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ

มีตัวอย่างของป่าไม้ในเมืองสำคัญในต่างประเทศ เช่น

ประเทศอังกฤษ สำนักผังเมืองท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งอนุรักษ์ต้นไม้ได้

ประเทศเกาหลี เมื่อปี คศ. 1995 รัฐบาลมีแผนที่จะสร้างเขื่อน แต่พบว่าในพื้นที่มีต้นไม้อายุหลายร้อยปียืนต้นอยู่ 1 ต้น จึงดำเนินการโดยใช้เงิน ประมาณ 60 ล้านบาท ในการก่อสร้างเกาะกลางน้ำเพื่อให้กับต้นไม้นั้นอยู่ต่อไป

ประเทศญี่ปุ่น มีการห้ามตัดต้นไม้สูงเกิน 10 เมตร โดยเด็ดขาด มีบันทึกจากช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ผลจากแรงระเบิดทำให้ต้นไม้ในกรุงโตเกียว จาก 105,000 ต้น เหลือเพียง 42,000 ต้น แต่ด้วยความร่วมมืออนุรักษ์และปลูกขึ้นใหม่  ทำให้ปัจจุบัน กรุงโตเกียวมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอันดับต้นๆ ของโลก

ประเทศสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว กำหนดผังเมืองชัดเจน ประกอบกับแนวคิดเมืองในสวน (Garden City) ที่ยึดหลักการพัฒนาเมือง ต้องเอาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง  มีบทลงโทษคนตัดต้นไม้ด้วยการปรับเงินสูงมาก มีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ที่ถือเป็นสมบัติชาติ มีรุกขกรประจำเขตดูแลต้นไม้ เพื่อจะทำให้เป็นประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก

ถ้าหากจะหาคำตอบโดยไม่ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องมีต้นไม้ใหญ่ หรือมีต้นไม้ใหญ่ในเมืองดีอย่างไร ข้อมูล BLT ฉบับที่กล่าวไว้ เขียนไว้ว่า

– ต้นไม้ขนาดใหญ่มากๆ 1 ต้น ช่วยดูดซับพลังงานความร้อนได้เท่ากับเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก 2 เครื่อง

– ต้นไม้ใหญ่โตเต็มที่ 1 ต้น สามารถผลิตออกซิเจนให้มนุษย์หายใจได้ 8-10 คน/วัน

ต้องขอขอบพระคุณ คุณเสมอใจ มณีโชติ ที่เผยแพร่ข้อคิด พึงคำนึงถึงบทบาทของศาสตร์แห่ง “รุกขกรรม” และบริบทที่ “รุกขกร” พึงปฏิบัติ ใน BLT BANGKOK ฉบับ June 15-21, 2017 นี้ อันจะเป็นแนวทางปฏิบัติในเมืองใหญ่ๆ ทุกภูมิภาค ซึ่งอาจจะมีต้นไม้ใหญ่มากกว่าเมืองกรุงเทพฯ อีกมากมาย และต่อไปเมืองไทยอาจจะมี “ศัลยแพทย์พฤกษา” ก็เป็นได้

 

เพลง ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ

ขับร้องหมู่-ร้องนำโดย ครูนคร ถนอมทรัพย์

คำร้อง-ทำนอง ครูสง่า อรัมภีร ครูนคร ถนอมทรัพย์

 

     เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม                    พวกเราพร้อมใจกันปลูกป่า

ปลูกด้วยมือของชาวประชา                    คืนผืนป่าให้แก่แผ่นดิน

ปลูกต้นไม้ไว้ปราบมลพิษ                       เพื่อชีวิตสมบูรณ์ทั่วถิ่น

ได้หายใจไร้ไอมลทิน                              ชีวิตโสภิณ แผ่นดินโสภี

     ปลูกป่าถวายองค์พระภูธร                 ปลูกป่าถาวรถวายเป็นราชพลี

เฉลิมพระเกียรติ ทรงครองราชย์แผ่บารมี ลุห้าสิบปีเป็นมงคลสมัย

ปักกิ่งไม้ให้แตกแขนง                            ที่ใดแล้งขอแรงเพื่อนไทย

ช่วยแต้มสี สีอันไฉไล                             สีน้ำพระทัย แห่งพระภูมิพล

 

ปลูกต้นไม้ให้เป็นป่า เกิดป่าได้ทั้งป่านอกเมืองและในเมือง ปลูกไว้ก็กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ผืนป่าจะกว้างไกล เพราะเราร่วมใจปลูกมวลแมกไม้สร้างผืนป่า ช่วยกันปลูกตอนนี้เพื่อวันข้างหน้า แม้ไม่ได้เรียนวิชา “รักขกรรม” ก็เป็น “รุกขกร” ประจำบ้านได้ ผืนดินทั้งป่าจริงและป่าในเมือง ย่อมกลายเป็นมหาพงไพร หากร่วมใจและตั้งใจด้วยตนเอง

สำหรับ “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ” เชื่อว่าคงจะสอดคล้องกับบทกลอน ในคู่มือโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ

     แผ่นดินแม่ จะดีเพราะมีป่า       สายธาราไหลไปไม่สิ้นสูญ

มีป่าดีเหมือนมีทรัพย์นับเพิ่มพูน     ชาติสมบูรณ์วัฒนาเพราะป่างาม