พฤกษามาลีแดนสรวง เพียงใบไม้ร่วงก็เป็นบุปผาสวรรค์

เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน

เหมือนอย่างนางเชิญ

พระแสงสำอางข้างเคียง

เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง      

เริงร้องซ้องเสียง

สำเนียงน่าฟังวังเวง

กลางไพรไก่ขันบรรเลง

ฟังเสียงเพียงเพลง

ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง

ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง

เพียงฆ้องกลองระฆัง

แตรสังข์กังสดาลขานเสียง

กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง

พญาลอคลอเคียง

แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง

ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง

เพลินฟังวังเวง

อีเก้งเริงร้องลองเชิง

ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง

ค่างแข็งแรงเริง

ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง

ป่าสูงยูงยางช้างโขลง

อึงคะนึงผึงโผง

โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป

 

เป็นบทอาขยาน ตัดตอนส่วนหนึ่งมาจากแบบเรียนภาษาไทย ในเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา โดยท่านสุนทรภู่ ซึ่งหาอ่านได้ในหนังสือ มูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ตั้งแต่ตำราเรียนภาษาไทยยังไม่มากอย่างนี้ และเชื่อว่าท่านผู้ใดที่ผ่าน “ป.3 หรือ ป.4” มาแล้วมากกว่า 40 ปี ต้องได้เคยท่องอาขยานบทนี้ทั้งชั้นในห้องเรียนก่อนกลับบ้าน แล้วปิดด้วยบทไหว้พระสวดมนต์ ซึ่งเชื่ออีกว่าเด็กนักเรียนสมัยนั้นมีจิตใจความรู้สึกละเอียดอ่อนจากวรรณกรรมอักษรที่ร้อยเรียงอารมณ์พรรณนาโวหารยิ่งนัก

จากบรรยากาศที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนยังรำลึกและรู้สึกถึงคำว่า “อาลัย” เหมือนกัน โดยไม่ต้องมีคำจำกัดความ และยังคงมีจินตนาการย้อนทวิภพทิพยพิมานสรวงสวรรค์ โดยเฉพาะในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ภาพที่เห็นจากสื่อต่างๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ และสื่อดิจิตอลออนไลน์ เรามองเห็นพระเมรุมาศเหมือนล่องลอยอยู่ ณ แดนสรวงสวรรค์ จึงเป็นภาพติดตาที่ผสมผสานกันกับจินตนาการที่เคยได้ยินเรื่องราวในจินตนิยายเรื่องเล่าจากไตรภูมิกถา ราวกับว่ามองเห็นทิพยสถาน ภูมิจักรวาลภาคสวรรค์

เมื่อได้อ่านบทอาขยานที่ได้ขึ้นต้นไว้ จึงมีความรู้สึกว่าคงจะยากที่จะได้สัมผัสเห็นบนผืนป่าจริงๆ หรือบนพื้นโลก ณ ที่นี้ นอกจากจะร่วมจินตนาการถึงห้วงสวรรค์ หรือผืนป่าหิมพานต์ เขาไกรลาส เขาพระสุเมรุ ดังที่เคยเริ่มต้นไว้ในฉบับที่ผ่านมา ที่ได้กล่าวถึง “ป่าหิมพานต์ ลานสระอโนดาต” โดยเชื่อว่าสรรพสัตว์ที่กล่าวถึงในบทอาขยานคงจะอยู่ร่วมและชุมนุมกันได้อย่างมีความสุขสามัคคี เพียงแต่ว่าสรรพสัตว์ในภูมิจักรวาลนั้นมีชื่อนามตามภาษาในพิภพภูมิเรียกเป็นชื่อสัตว์ในป่าหิมพานต์ เช่น ทักทอ (ตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นช้าง) เหมราช ไกรสรปักษา เหมราอัสดร สิทธพกุญชร เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในภูมิภพป่าหิมพานต์ หรือผืนป่าในพื้นโลก ณ ที่แห่งใดก็คงปรารถนาที่จะเห็นความชุ่มชื้นเขียวขจีครอบคลุมด้วยไอหมอก ถูกลมพัดกระจายผ่านหลากหลายพันธุ์ไม้ ยามลมพัดใบแกว่งก็ร่วงหล่นปลิดปลิวราวกับมีเทวดาโปรยปรายใบไม้ให้ทับถมหลากสี หรือคลุมพื้นปิดผืนดิน เป็นเหมือนบ้านที่นอน แหล่งอาหารให้เหล่าสรรพสัตว์อาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน จึงชวนให้คิดถึงบทกลอนของ “สะเลเต” เขียนไว้เมื่อ 27-2-2012 ในสัตว์สวยป่างาม

เขียวชะอุ่มชุ่มชื่นผืนไพรสัณฑ์

สัตว์น้อยใหญ่อยู่กันสุขหรรษา

ยามวสันต์นั้นเยือนกาลเคลื่อนพา

มวลบุปผาผลิแย้มแต่งแต้มไพร

     กลิ่นเจ้าเอยอบอวลชวนลุ่มหลง

ผืนป่าพงวิลาวัณย์อันกว้างใหญ่

ความชื่นฉ่ำธรรมชาติพิลาสพิไล

สัตว์พึ่งพาอาศัยไม่จากจร

ก็น่าจะเป็นพฤกษ์ไพรในจินตนาการกลางขุนเขาที่ปกคลุมด้วยบุปผาสวรรค์ เป็นสวรรค์ของจินตนารมย์ตักตวงหาความสุขด้วยจินตนาการ ไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นมิตรกับนิเวศน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะทำให้ “มาลีในแดนสรวง” นี้ยั่งยืนตลอดไป แต่หากว่าท่านผู้ใดจะคิดว่าไกลเกินที่จะไขว่คว้ามาลีแห่งสรวงสวรรค์ยากนัก ก็สบายใจได้ ถ้าหากไปด้วย “พฤกษากับเสียงเพลง” เพราะมีเพลงบทหนึ่งเขียนคำร้อง-ทำนอง โดย “เนรัญชรา” ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ด้วยบทเพลงที่ชื่อว่า “เขตฟ้าเขตฝัน”

     เพลง เขตฟ้าเขตฝัน

เขตฟ้าเขาเคยว่าไกล หาใครจะไปได้ถึง แต่ฉันไม่เคยพรั่นพรึง เพียงพริบตาหนึ่งไปถึงด้วยใจ

     เขตนั้นขอพรรณนา โสภากว่าความเขตไหน กลีบฟ้าร่วงมาเกลื่อนไป สอดสีวิไลโรยไว้ต่างพรม

     กลิ่นกรุ่นอุรา หนักหนา ดอกฟ้าเร้าในอารมณ์ สุดจะหักใจไม่เด็ดดม ขอเพียงเชยชมไว้แซมผมจอมขวัญใจ

     ไขว่คว้ารั้งมาโดยแรง โถลมอย่าแกล้งกวัดไกว สุดแขนเสียวแกนแก่นใจ เขตฟ้าเลือนไป ใจฟื้นจากฝัน!

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกที่จะไปถึงได้ด้วยใจ ดังนั้น เราก็คงเลือกไปตามที่เราฝันสัมผัสยามนั้น ความสุขก็ไม่แพ้ยามตื่น “กลีบฟ้าร่วงมาเกลื่อนไป สอดสีวิไลโรยไว้อย่างพรม” มองภาพฝันนั้นได้ชัดเจน ใบไม้ดอกฟ้าที่ร่วงหล่นจากฟ้ามาเป็น “บุปผาสวรรค์” ก็ยังสุดที่จะหักใจไม่เด็ดดม

ดอกไม้ทิพย์จากสรวงสวรรค์มีตำนานเล่าขานไว้มากมาย ส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับพุทธประวัติ เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน คุณชวพงค์ ชำนิประศาสน์ เขียนไว้ใน ข่าวสด ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 ถึง “ดอกมณฑารพ” ดอกไม้สวรรค์ ไม่มีในโลกมนุษย์ จะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า เช่น ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน วันจาตุรงคสันนิบาต และวันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเทวดาจะบันดาลให้ดอกมณฑารพตกลงมาจากเทวโลก ดังที่ในบาลีบันทึกไว้เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน และนอนระหว่างต้นสาละคู่ ณ เมืองกุสินารา เมื่อประทับสีหไสยาสแล้ว “มีอัศจรรย์ดอกสาละผลิผิดฤดูกาล โปรยลงมาบนพระสรีระ ดอกมณฑารพ จุรณ์จันทร์ไม้จันทร์ ดนตรีล้วน” ดอกมณฑารพ ตามพระพุทธประวัติ ส่วนนี้อาจจะเป็นดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่มากจนนำมาทำเป็นร่มกันแดดได้

สำหรับในเรื่องทางพฤกษศาสตร์ ได้จัดดอกไม้กลุ่มหนึ่งว่า ดอกมณฑารพ หรือดอกมณฑา ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียว หรือวงศ์เดียวกันกับดอกจำปา จำปี และยี่หุบ มีบางแห่งเรียกว่า ดอกไข่ไก่ ดอกมีขนาดใหญ่ เป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ หรือส่วนยอดลำต้น มีสีเหลืองนวล กลิ่นหอมแรงช่วงเช้า กลีบดอกแข็ง นอกจากในพุทธประวัติแล้ว ยังเป็นดอกไม้ของนางสงกรานต์ ประจำวันพฤหัสบดี นามว่า กิริณีเทวี

มีต้นไม้แห่งความสมปรารถนาอีกต้นหนึ่งซึ่งมีดอก ชื่อว่า ดอกปาริชาติ หรือ ปาริฉัตร มีข้อมูลเรียบเรียงโดย “กระปุกดอทคอม” บันทึกไว้ว่า ดอกปาริชาติ หรือ ปาริฉัตร ที่ตั้งชื่อกันแพร่หลายนั้น ในเมืองไทยคือ ดอกทองหลาง นั่นเอง แต่ในเรื่องเล่าขานตำนานดอกไม้แห่งสวรรค์ หากใครได้ดมดอกปาริชาติ ก็จะระลึกชาติได้ ได้รู้ได้เห็นอดีตชาติของตนเอง ในตำนานมีกล่าวถึงพระอินทร์นำไปปลูกไว้ในสวนของพระองค์บนสวรรคโลก (Svargaloka) ลักษณะเป็นไม้พุ่ม มีดอกสีขาวแต้มแดง กลิ่นหอมอบอวล

กลิ่นดอกปาริชาติจะทำให้ผู้ที่สูดดมเข้าไปเกิดอาการวิงเวียน และสามารถระลึกชาติได้ สำหรับในวรรณคดีทางพุทธศาสนา เช่น เตภูมิกถา และกามนิตวาสิฏฐี กล่าวว่า ต้นปาริชาติคือต้นทองหลาง อยู่ในปุณฑริกวันบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ มีดอกสีแดงฉาน ร้อยปีจึงจะบานครั้ง ทุกครั้งที่บานจะส่งกลิ่นหอม และมีแสงสว่างทั่วไป เหล่าเทพบุตร เทพธิดา จะมาร่วมฉลองกันที่ใต้ต้นปาริชาติ ในขณะที่ดอกปาริชาติในอินเดีย คือดอกกรรณิการ์ของไทย เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีของหญิงสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่ และเป็นดอกไม้สำหรับบูชาพระกฤษณะ

เรื่องราวของดอกไม้แห่งสวรรค์มีมากมาย อาจจะเรียกกันว่า ทิพยพฤกษ์ หรือปัญจพฤกษ์ โดยได้กล่าวถึง กัลปพฤกษ์ มณฑา รวมทั้ง อสาพตี ซึ่งแต่ละชื่อหรือแต่ละดอกก็มีอยู่ในสวรรค์ประจำชั้นต่างๆ แต่ละระดับชั้นๆ กันไป

ในฉบับที่ผ่านมาได้กล่าวถึง “ป่าหิมพานต์” ที่อยู่บนสรวงสวรรค์ รวมทั้งสวรรค์บนพื้นดินที่ได้กล่าวถึง “สวนป่าหิมพานต์” สถานที่สัมผัสได้จริงเหมือนสร้างสรรค์สวรรค์จำลองตัวแทนป่าหิมพานต์มาไว้ ณ เชิงเขาผาซ่อนแก้ว บ้านทุ่งตีนผา ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยผืนป่าในพื้นที่ 700 ไร่ กับพรรณไม้นานา 2,000 ชนิด และจำลองสัตว์ป่าหิมพานต์ในเทพนิยายมาสถิตอยู่ด้วย ผสมผสานสัตว์ป่าจริงๆ จากธรรมชาติ เช่น นกยูง ผีเสื้อกลางวัน กลางคืน สระน้ำ น้ำตก ดังบทอาขยานที่ว่า “เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสียง” สอดคล้องกับของจริงในสวนป่าหิมพานต์ คือ “ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง” มีโอกาสสัมผัสตัวเป็นๆ ณ สวนป่าหิมพานต์แห่งนี้

สำหรับสัตว์ป่าหิมพานต์ที่กล่าวถึงในตอนต้นตามชื่อในเทพนิยาย ก็มีตัวปูนปั้นลงสีสันตามจินตนาการไว้ให้สานต่อความคิดฝันสู่พิภพแดนสรวง ดังภาพที่นำเสนอไว้ ทั้งเหมราช มังกรวิหค กรินทปักษา นกหัสดิน เป็นต้น

มีอีกหนึ่งอย่างในสวนป่าหิมพานต์ที่ถูกนำออกมาแชร์กันสนั่นในโลกโซเชียล คือต้นไม้ที่ออกดอกผล “เป็นคน” ห้อยเต็มต้น จากต้น “มักกะลีผล หรือ ต้นนารีผล” ต้นไม้ในเทพนิยายออกผลคล้ายกับหญิงสาวเปลือยกาย ว่ามีอยู่จริงในสวนป่าหิมพานต์ กลายเป็นกระแสวิพากษ์ และแชร์ต่อๆ กันไป และทำให้มีทั้งผู้ที่เชื่อว่ามีจริงและเชื่อว่าไม่มีของจริง รวมทั้งบางความคิดเห็นยังกล่าวกันว่ามีอยู่จริง แต่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ เราเอง

เกือบยี่สิบปีแล้วที่ต้นมักกะลีผลนี้เจริญเติบโตยืนต้นอยู่ในพื้นที่ “สวนป่าหิมพานต์” แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งปฏิบัติธรรม ที่มีผู้เข้าไปเยี่ยมชมและพักผ่อน ทั้งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากมาย ชมกินรีผลห้อยบนต้นตามกิ่งก้าน กว่า 50 นาง แม้จะถูกมือดีแอบสอยไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีพอให้ชมไม่ร่วงหล่นตามวัย เพื่อรอให้ทุกท่านได้พิสูจน์ด้วยสายตาตนเองว่า กลาง ณ แดนเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็มี “สวรรค์บนดิน” เช่นกัน

 

เพลง มาลีแดนสรวง

คำร้อง สุรัส พุกกะเวส

ขับร้อง มัณฑนา โมรากุล

ฉันเพลินวิญญาณสำราญฤทัย ชมสวนเพลินใจ วิไลชวนชื่นหนักหนัก ลำดวนอังกาบ กุหลาบมณฑา บุหงาเฟื่องฟ้า บุปผางามซึ้งตรึงใจ

     ลัดดายี่สุ่น พิกุลฉันชม กาหลงลั่นทม นิยมชมช่อกล้วยไม้ จำปียี่เข่งเร้าเร่งฤทัย ขจรสดใส บานชื่นสั่นไหวตามลม

     คัดเค้าสายหยุดพุดซ้อน อโศกเร่าร้อน รักซ้อนชื่นชม ดาวเรืองเอื้องฟ้ากรรณิการ์น่าชม ภิรมย์สุขสันต์

     สารภีจำปีสวยสิ้น ยามเช้าซ่อนกลิ่น สวยงามดังถิ่นสวรรค์ นมแมวประดู่นั้นคู่อัญชัน ประยงค์บาหยัน สวยงามเฉิดฉันจริงเอย

 

บทเพลงพรรณนาชื่อดอกไม้ไว้ถึง 31 ชนิด ชื่อดอกไม้ล้วนแต่มีทั้งสีสันสวย ดอกสวย กลิ่นหอม และคุณสมบัติที่ประทับใจผู้ได้พบเห็น “บนโลกแห่งความเป็นจริง” ทดแทนบุปผาสวรรค์ ทั้งมณฑารพ และปาริชาติ เพราะกว่าเราจะได้ขึ้นไปชื่นชมบนสวรรค์ก็คงอีกนาน…ขอให้เป็นเช่นนั้นทุกท่าน เราจึงชื่นชม “ดอกไม้ใกล้มือ” ไปก่อน

หากว่าไม่อยากจะอดใจรอ สูดดม “กลิ่นปาริชาติ” ก็ยังมีทางเลี่ยงเพลินชมสวรรค์บนดิน ณ “สวนป่าหิมพานต์” เขาค้อ เพชรบูรณ์ เพราะว่ายังมี “มักกะลีผล” หรือ “นารีผล” รอทักทายไม่มีหายไปจากต้นแน่นอน เผื่อมีคนอยากทราบว่าทำไมนางฟ้านารีผลเหล่านั้นไม่แก่ ไม่เหี่ยวย่น ร่วงหล่น นั่นแหละคือ “สาวสองพันปี” ตัวจริง

แต่สิ่งที่น่าเชิดชูครูเพลงอย่างยิ่งคือ ท่านผู้แต่งเพลงนี้ ครูสุรัฐ พุกกะเวส และผู้แต่งเพลง “อุทยานดอกไม้” คือ ครูสกนธ์ มิตรานนท์ มีชื่อดอกไม้ถึง 49 ดอก รวมกันแล้ว (ซ้ำชื่อดอก) มากกว่าร้อยดอก และแต่งมาแล้วรวมปีที่แต่งมาทั้งสองท่านก็มากกว่าร้อยปีเช่นกัน ยังไม่มีดอกไหนเหี่ยวร่วงหล่นเลย