พฤกษาสหสี มีมาลีดอกเหลือง รุ่งเรืองส่งปีเก่า

มวลมาลีสีเหลืองในเมืองร้อน

ดอกสลอน ตรึงฤดี สีสลวย

ทุกแหล่งหล้า มีพฤกษามาอำนวย

เมืองไทยรวยไม้ดอกออกทั้งปี

     ขอเทิดชูหนึ่งมาลีสีดอกเหลือง

คือดาวเรือง เรืองรุ่งพุ่งศักดิ์ศรี

เป็นตัวแทนความจงรักความภักดี

น้อมชีวี ปลูกถวาย เทิดไท้องค์

     ทานตะวันนั้นฉายพรายแสงแดด

เหลืองทั้งแปดโป๊ยเซียนเหมือนเทียนสงฆ์

เบญจมาศ ถวายบาตร ห้าพระองค์

น้อมธำรง พุทธประดับ ประทับทรง

     เหลืองบัวตอง เนืองนองสองไหล่เขา

บานยามเช้า หรือบานเย็นเห็นแล้วหลง

ทรงบาดาลบันดาลมาบูชาองค์

นนทรีส่งเหลืองสะพรั่งทั้งตูมบาน

     พุทธรักษา ห้าธันวามาวางน้อม

บูชาพร้อมเพลงถวายได้ขับขาน

ไม้ดอกเหลืองคณาเห็นเป็นตำนาน

แทนดอกผ่านหว่านดอกลงส่งท้ายปี

 

แรงบันดาลใจที่กล่าวถึงมวลมาลีดอกสีเหลือง เนื่องจากที่ผ่านมาเราคงคุ้นตากับดอกไม้สีเหลือง อันเป็นสีมงคลที่เราได้ปลูกน้อมถวายส่งบ่งบอกความจงรักภักดี ของมวลประชาที่บูชาด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ โดยเฉพาะดอกดาวเรืองที่บานสะพรั่งเหลืองอร่ามทั่วแผ่นดิน ก็ให้ระลึกถึงดอกไม้สีเหลืองอื่นๆ ที่นำมาเสนอเป็นตัวแทนเพื่อจะได้สัมผัสความเหลืองอร่ามพอเพียงอิ่มตา

ดาวเรือง ไม้ดอกล้มลุก อายุอยู่ได้นานถึงปี ชื่อมีความหมายทั้ง “ดาว” ที่อยู่สูงบนฟากฟ้า และ “เรือง” ที่หมายถึงแสงสว่างซึ่งมองเห็นได้ เมื่อ 2 อย่างมารวมกันก็กลายเป็นความเจริญรุ่งเรืองที่สูงส่ง นำพาความเป็นสิริมงคลมาให้ มีเอกลักษณ์ของสีที่เหลืองอร่ามบ่งบอกความโอ่อ่า หรูหรา สูงค่า และเปี่ยมไปด้วยความสุข ความมั่งคั่ง จึงนิยมนำมาใช้ในวาระต่างๆ หลากหลายสถานภาพ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไปในสิ่งที่ดีมีมงคลทั้งผู้ให้และผู้รับ ดังบทกลอนที่ “เมย์วิสาข์” เขียนไว้ว่า

เรื่องสีสด ดุจดาวพราวท้องฟ้า

ซ้อนกลีบท้าแสงตะวันอันเฉิดฉาย

ดอกหลากสีท้าแสงจันทร์พรรณราย

ดาวหลบหายอาย “ดาวเรือง” ชำเลืองแล

ดาวเรืองดอกไม้สีเหลือง มีทั้งเหลืองทอง เหลืองสด และเหลืองแสด ส้ม มีบทบาทเชิงสัญลักษณ์กับนักการเมืองเมืองไทย และในอินเดียที่นิยมนำมาคล้องคอ เพราะให้ความรู้สึกถึงความหมายที่จะผ่านอุปสรรคสู่ความรุ่งเรือง เริ่มมาตั้งแต่สมัยมี “ไฮปาร์ค” ประท้วง หรือโดยเฉพาะช่วงหาเสียงบนเวที จะมีคนนำดอกไม้เป็นมาลัยคล้องคอ อาจจะเป็นดอกอะไรก็ได้ ต่อมาสันนิษฐานว่า จุดกำเนิดที่เห็นชัดเจนน่าจะเป็นช่วงประมาณปี พ.ศ. 2533 ก็มีการนำดอกดาวเรืองมาร้อยเป็นมาลัยคล้องคอ บางคนได้รับการคล้องเกือบถึงศีรษะ ในช่วงหาเสียงปี พ.ศ. 2554 มีผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรพบว่า ดอกดาวเรืองสร้างรายได้ทำให้ธุรกิจเม็ดเงินสะพัดได้มากกว่า 50 ล้านบาท

ดอกดาวเรืองอยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งบูชาพระ จัดแจกัน จัดสวนหย่อม โดยเฉพาะที่ผ่านมาทุกๆ ปี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนต่อตลอดเดือนธันวาคม สถานที่ต่างๆ จะมีต้นดอกดาวเรืองสีเหลืองประดับสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะแปลงปลูกต้นไม้รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เกาะกลางถนนต่างๆ เช่น ถนนราชดำเนิน ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยเฉพาะในปีนี้ในพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง

ย้อนหลังไปพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2555 มีการนำดอกดาวเรือง จำนวน 4 แสนต้น มาประดับบริเวณรอบใน โดยเน้นสีเหลืองแสดเป็นพิเศษ รวมทั้งใช้ดาวเรืองฝรั่งเศสซึ่งมีสีส้ม และดาวเรืองอเมริกันสีเหลือง จำนวน 4 แสนต้น ประดับภูมิทัศน์พระเมรุ

สารสีเหลืองจากดอกสามารถนำมาโขลกให้แหลก กรองได้น้ำสีเหลืองใช้เป็นสีผสมอาหารแต่งสีขนมได้ ดอกดาวเรืองบานทนนานได้ถึง 7 วัน โดยแช่น้ำธรรมดา แต่หากใช้ตัวช่วยเป็นสาร เช่น น้ำตาล ยาแอสไพริน หรือโซเดียมไนเตรต เติมลงในน้ำแช่ดอกก็จะบานได้นานถึง 10 วัน หากบานในกระถางหรือแปลงก็ได้นานมากกว่าครึ่งเดือน บทเพลงที่กล่าวถึงดอกดาวเรืองมีมากมาย แต่ที่รู้จักได้รับฟังเป็นเพลงฮิตติดอันดับ คงจะจำเพลงที่คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ขับร้อง เพลง “ดาวเรืองดาวโรย” ตอนหนึ่งว่า “นามดาวเรือง หรือนางแววดาว สิ้นสุดหมดสาวกลายเป็นข่าวกลับนา นางดาวเรืองโดนไอ้หนุ่มแซวมา เออ…เออ…เอิง…เอย เรียกอีหม่าดาวโรย!” ดังนั้น เราจะเริ่มปลูกดาวเรืองให้เป็นดาวเด่นนำสู่ดาวรุ่ง

แล้วเราจะไม่รู้จัก ไม่ได้ยินคำว่า “ดาวโรย”

ทานตะวัน “ดอกทานตะวันของขวัญที่ฝากจากฟากฟ้า” นานมามากแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศง 2551 ได้เคยเขียนถึงดอกทานตะวัน ดอกไม้แห่งดวงตะวัน และความรักอันมั่นคง ตามตำนานเทพนิยายกรีก ที่กล่าวถึง “ธิดาไคลที” สาวน้อยเจ้าสมุทรแห่งโลกใต้น้ำที่หลงใหลพระอาทิตย์ เฝ้ามองไม่คลาดสายตาจนใบหน้าเป็นดอกทานตะวัน และตัวกลายเป็นต้น ขาหยั่งลึกเป็นราก ผมจึงให้สมญาดังที่ขึ้นต้นไว้ หากความฝันและหวังนั้นเป็นจริง ก็คงจะเป็นของขวัญจากฟ้าแน่นอน “เมย์วิสาข์” เขียนไว้ว่า ทานตะวัน บุปผาปริศนา…กล้าท้าตะวัน

ตะวันฉายพรายแสงแหล่งบุปผา

ดอกไม้กล้าหาญสู้ดูผยอง

“ทานตะวัน” ท้าตะวัน หันหน้ามอง

ดอกเหลืองทอง จ้องตะวัน พลันตะลึง!

ณ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ต่อเดือนธันวาคม หรือบางปีอาจต่อถึงต้นปีใหม่ ดอกสีเหลืองทองเป็นระลอกโบกไหว บนพื้นต้นใบสีเขียวหนาทึบ เป็นท้องทุ่งสีเหลืองอร่ามของทานตะวันสุดสายตา บรรยากาศดังกล่าวมานี้ หากท่านผู้ใดมีโอกาสนั่งรถไฟ ไม่จำเป็นต้องมองจากโบกี้สุดท้าย แล่นผ่านเส้นทางกลางเวิ้งน้ำกว้างใหญ่เหมือนรถไฟลอยน้ำ (รถไฟที่แล่นผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) พาหายเข้าไปในท้องทุ่งสีเหลืองทองของ “ทะเลดอกทานตะวัน” ลึกสุดตาที่จังหวัดลพบุรี หรือจังหวัดสระบุรี ในช่วงจัดเป็นงานเทศกาลชมทุ่งทานตะวัน

หรือสำหรับอีกเส้นทางอาจจะเป็นทุ่งเล็กลงมาอีกหน่อย ก็อาจจะแวะชมที่หัวหิน หรือในจังหวัดสุพรรณบุรี แต่หากหลายท่านที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่อยากออกไปชื่นชมต่างจังหวัดก็อาจจะไปสัมผัสบนเส้นทางสายเกษตร-นวมินทร์ (ถนนประเสริฐมนูกิจ) ช่วงตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทย์ 2 ก็มีแปลงดอกทานตะวันให้ “เซลฟี” กันจนเมื่อยแขน แต่ขอแสดงความเสียใจเล็กน้อยสำหรับปีนี้ (2560) พื้นที่ดังกล่าวเป็นแปลง “เหลืองดาวเรือง” เต็มแปลงชั่วคราว

ครั้งหนึ่งดอกทานตะวันก็เคยเป็นสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ชูสโลแกนให้มีความหวังใหม่ในใจผู้คน ตั้งแต่พ.ศ. 2533 แต่ดอกทานตะวันใหญ่เกินกว่าจะมาร้อยทำพวงมาลัยคล้องคอได้ถนัด ก็จึงได้เปลี่ยนมานิยมใช้ดอกดาวเรืองแทน กลายเป็นดอกไม้โชว์เชียร์ของผู้หาเสียง หรือผู้ที่ออกหาผู้สนับสนุนคะแนนทุกรูปแบบไปแล้ว

คุณค่าของดอกทานตะวัน “พืชน้ำมัน” สารพัดประโยชน์ เมล็ดที่ไม่เพียงแต่นกหลายชนิดชอบ คนเราก็กะเทาะเมล็ดจนลืมเบรก แต่สิ่งประทับใจจากต้นทานตะวันที่เป็นสัญลักษณ์ของความหวังการฟื้นฟูคือ ชำระดินขจัดการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี และลดก๊าซพิษในอากาศได้ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นได้ผลแล้ว

มีบทเพลงจากคุณทูล ทองใจ ขับร้องไว้ในตอนหนึ่งว่า “ดอกทานตะวัน เช้าขึ้นพลันรอรุ่งอุษา รอรับจูบจากสุริยา ดูช่างน่ารัก…น่านิยมเจ้าสู้ตะวัน ฯลฯ”

หากยึดดอกทานตะวันเป็น “ไอดอล” ก็มีทางเลือกคือ “ต้านตะวัน” และ “ตามตะวัน”

ได้กล่าวแล้วว่า ดอกไม้สีเหลืองมีมากมายเกินที่จะนำมาเรียงร้อยในเนื้อที่จำกัด ก็ขอเพียงนำตัวแทนมาเป็นสีสันแห่งสีมงคลจากมวลพฤกษาดอกเหลืองอร่ามบ่งบอกถึงความประทับใจในความงาม ความหอม และความภูมิใจในพื้นที่ปลูก เพียงเตือนความจำ สัญลักษณ์ เอกลักษณ์ของมวลพฤกษาตัวแทนเหล่านี้

เบญจมาศ ดอกไม้สีเหลืองแห่งความโชคดี สง่า สมดั่งทองแท้ 5 ประการ “เมย์วิสาข์” ให้อารมณ์ชมดอกนี้ ว่า

สวยสะพรั่ง ดั่งทองส่องแสงวับ

งามประดับสง่าสมกลางลมหนาว

ในม่านหมอก ดอกเด่นเห็นแพรวพราว

ทองสกาวห้าประการบานกลางใจ

ดอกไม้แห่งความรื่นเริงและความบริสุทธิ์ใจ เหมาะสำหรับคารวะผู้หลักผู้ใหญ่ และจุดเด่นที่เป็นงานวิจัยมาแล้วมากกว่า 30 ปี มีในหนังสือ “ไม้ประดับที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

บัวตอง เมื่อลมหนาวจะมาเยือน ก็จะนึกถึง “บัวกลางดอย เฝ้าคอยเหมันต์” “เมย์วิสาข์” พรรณาถึง ภู-ดอย ที่ถูกคลุมด้วยสีเหลืองแกว่งไกวโต้ลมหนาว ว่า

เหลืองอร่ามกลางดอยคอยลมหนาว

ก้านดอกยาวใบเดี่ยวเขียวสดใส

ดอกเดี่ยวเดี่ยว ปลายยอดทอดแกว่งไกว

ตรึงตาใจดั่งสาวงามนามบัวตอง

หากจะท่องดอยคอยจับสายหมอก คงต้องเอ่ยถึงดอย “แม่อูคอ” จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ดอกบัวตองบานสะพรั่ง ส่งสีเหลืองส้มปกคลุมเต็มเทือกดอย เพียงแต่ขณะนี้มีข้อคิดว่า ความสวยงามของบัวตองที่จรรโลงใจด้านสุขภาพจิตกำลังขัดแย้งกับข้อถกเถียงที่ว่า บัวตองเป็น “วัชพืช” หรือไม่? เพราะในพื้นที่ไม่มีพืชอื่นขึ้นได้เลย

พุทธรักษา ถึงวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ก็จะระลึกถึง “พุทธพฤกษาบานสะพรั่ง ดั่งบิดาคุ้มครอง” โดย “เมย์วิสาข์” สาธุการไว้ว่า

คือพุทธะดุจบิดามาป้องปก

เทิดยอยกเป็นพฤกษามาสนอง

ต้นดอกใบในกอขอคุ้มครอง

รับสนองพรพิสุทธิ์ “พุทธรักษา”

ไม้ดอกหลากสี แต่พุทธรักษาดอกเหลืองเป็นไม้มงคลแทนสำนึกบูชาองค์ราชัน ปฏิบัติบูชากันมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 ที่ถือกันว่าเป็น “สัญลักษณ์วันพ่อ” ความความแห่งสีสันของดอก ปฏิบัติการโดยการใช้เทคนิคเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา โดยการนำเหง้าและหน่อเข้ารับการฉายรังสี ปริมาณ 15-30 เกรย์

เรื่องของดอกไม้สีเหลือง ทั้งชนิด จำนวน ปริมาณ และเฉดสี มีอีกมากมายเป็นร้อยชนิดดอก เพียงแต่นำมาเป็นตัวอย่างของดอกไม้เหลืองนามดี สีเป็นมงคล เพื่อจะได้ร่วมกันปลูกและอนุรักษ์ ให้คงอยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยได้ตลอดไป

 

เพลง ดอกดาวเรือง รักยิ่งกว่ารัก

คำร้อง-ทำนอง ศิลป์สร้าง จนทุกชาติ

ขับร้อง ถิรพร ทรงดอน

 ดอกดาวเรืองเติบโตบนผืนดินไทย ผลิดอกสีเหลืองสดใสอิ่มอวลกลิ่นหอม ชวนชาติชูบูชาเลิศ ค่ายามพิศมอง กลีบดอกสีทอง รุ่งเรืองดั่งดวงตะวัน

ดอกดาวเรืองเบ่งบานด้วยมือผองชน ส่งความหมายฝากเมฆฝนไปบนสวรรค์ คิดถึงความดีงามของพ่อ พ่อมองเราอยู่บนนั้น อยู่บนสวรรค์ เฝ้ามองลูกทั้งแผ่นดิน

รักยิ่งกว่าความรัก คือเมตตาที่สุดใดหาประมาณมิสิ้น รักคนทั้งแผ่นดิน กราบด้วยรักจวบสิ้นชีวินสุดลมหายใจ

ดอกดาวเรืองเบ่งบานเต็มผืนดินไทย รวบรวมกายรวมพลังให้เป็นหนึ่งรัก เพียรสร้างคุณความดีถวาย ให้พ่อได้เห็นเป็นประจักษ์ ให้ความดีงามคู่ควรเช่นดอกดาวเรือง

ความจริงบทเพลงเกี่ยวกับพฤกษามาลีสีเหลือง มีอยู่หลายบทเพลง เพียงแต่ว่ายังรอโอกาสที่จะนำเสนอในโอกาสต่อไป โดยเฉพาะมีบทเพลงชื่อ “เพลงดอกไม้สีเหลือง” สรรสร้างวจีทำนองโดย คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ซึ่งมีความหมายส่งเสริมให้ดอกไม้สีเหลืองทรงคุณค่ามากขึ้น และจะนำมาประกอบมาลีดอกเหลืองในโอกาสต่อไปเช่นกัน

ในบรรยากาศแห่งเดือนธันวาคม ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาเราก็คงรำลึกถึงวัน “เฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม” จึงขอนำตอนหนึ่งของบทเพลงชื่อ “เพลงพุทธรักษาบูชาพ่อ” โดย “จินดามัย” 2553 เรียงร้อยในตอนแรก ว่า

“เหลืองอร่ามนามพุทธรักษา                      สมชื่นชูบูชา สิ่งสูงค่า สูงสุด

น้อมคำนึงถึงองค์พระสัมพุทธ                     บริสุทธิ์พุทธศาสน์ปราศราคี

สีแสนงามนามเพราะเหมาะจริงเหนอ          สัญลักษณ์วันพ่อเหลืองละออทุกที่

เหมือนมีพ่อ มีพระ ปกป้องปราณี                พุทธรักษามีความหมายเป็นมิ่งมงคล ฯลฯ”

รักทั้งพุทธรักษาและดาวเรือง ไม้ดอกเหลืองที่เป็นมิ่งมงคล ส่งผลบุญให้ผู้ปลูกโดยทั่วกัน