สถานการณ์การผลิตการตลาดไม้ดอกไม้ประดับของไทย

คุณพิสมัย พึ่งวิกรัย ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมไม้ดอกและไม้ประดับ กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของไม้ดอกไม้ประดับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกลุ่มหนึ่ง และมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตมาโดยตลอด ซึ่งปี 2559 ไม้ดอกไม้ประดับมีพื้นที่การผลิต 70,000 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกกว่า 16,000 ครัวเรือน คาดการณ์ว่า ปี 2560 พื้นที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย

ชนิดไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญ ได้แก่ กล้วยไม้ตัดดอก พื้นที่ปลูก 20,629 ไร่ มะลิเด็ดดอก พื้นที่ปลูก 9,500 ไร่ ดาวเรือง พื้นที่ปลูก 9,500 ไร่ รัก พื้นที่ปลูก 5,339 ไร่ บัวหลวง พื้นที่ปลูก 3,048 ไร่ จำปี-จำปา พื้นที่ปลูก 2,143 ไร่ กุหลาบ พื้นที่ปลูก 4,500 ไร่ บัว พื้นที่ปลูก 5,500 ไร่ เบญจมาศ พื้นที่ปลูก 2,000 ไร่ สำหรับไม้ประดับ ซึ่งประกอบด้วย ไม้ดอกกระถาง ไม้ใบกระถาง ไม้จัดสวน ไม้ชำถุง มีพื้นที่ปลูกรวม 23,962 ไร่ และไม้ตัดใบมีพื้นที่ปลูก 1,038 ไร่

คุณพิสมัย พึ่งวิกรัย ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมไม้ดอกและไม้ประดับ

แหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับกระจายในทั่วทุกภาคของไทย ซึ่งในแต่ละภูมิภาคมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมต่อการปลูกไม้ดอกไม้ประดับแต่ละชนิดต่างกันไป คือ

– ภาคเหนือ จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ผลิตไม้ตัดดอกเมืองหนาว ได้แก่ กุหลาบ เบญจมาศ คาร์เนชั่น ส่วนภาคเหนือตอนล่าง มีการผลิตไม้เด็ดดอก เช่น มะลิ ดาวเรือง ที่จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร

– ภาคกลาง ได้แก่ นนทบุรี กรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี มีการปลูก กล้วยไม้ หน้าวัว บัว ดาหลา ธรรมรักษา ขิงแดง และไม้ประดับ เช่น อโกลนีมา ชวนชม บอนสี ฟิโลเดนดรอน พุทธรักษา ปาล์ม ลีลาวดี หมากแดง

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หนองคาย ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา นครพนม ปลูกไม้ดอกเมืองร้อน เช่น ดาวเรือง มะลิ บัว

– ภาคตะวันตก ได้แก่ สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ปลูกกล้วยไม้ บัว ดาหลา ธรรมรักษา ขิงแดง ไม้ตัดใบที่ผลิต ได้แก่ เฟิน โปร่งฟ้า หมากผู้หมากเมีย ฟิโลเดนดรอน เต่าร้าง

– ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ปลูกไม้ประดับชำถุง ไม้ขุดล้อม และกล้วยไม้

– ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ พัทลุง ปลูก กล้วยไม้ หน้าวัว บัว ส่วนจังหวัดยะลา มีการปลูกเบญจมาศ บนเทือกเขาในอำเภอเบตง

“ไม้ดอกไม้ประดับ ในเชิงของไม้เด็ดดอกภายในประเทศ ปริมาณการผลิตค่อนข้างคงตัว เพราะส่วนมากจะเน้นใช้เพื่อบูชาและเทศกาลงานต่างๆ ก็ทำให้จำนวนของไม้ตัดดอกหรือเด็ดดอกในเรื่องของการตลาดไม่ผันผวนมาก และอย่างไม้ดอกที่ผ่านมาอย่างดาวเรือง เมื่อปี 59 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการปลูกเพิ่มและตลาดค่อนข้างมาก จึงทำให้หลายพื้นที่หันมาปลูกดาวเรืองเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการถาวร เป็นการปลูกเพื่อสร้างรายได้ระยะสั้นเท่านั้น” คุณพิสมัย กล่าว

ด้านการส่งออก

ไม้ดอกไม้ประดับของไทย

คุณพิสมัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงปี 2560 ที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกของไม้ดอกไม้ประดับมีมูลค่าลดลงกว่าปี 2559 เล็กน้อย อันเกิดมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยได้รับจากการสำรวจจากเกษตรกรผู้ที่เป็นโลกค้าจากต่างประเทศ มาติดต่อดูสินค้าน้อยลงกว่าที่เคยเป็น จึงทำให้การส่งออกค่อนข้างชะลอตัวลงไปบ้าง โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น สภาพเศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน

สำหรับปี 2559 ประเทศไทยมีผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับกว่า 300 ราย มีมูลค่าส่งออกไม้ดอกไม้ประดับรวม 3,760 ล้านบาท ประกอบด้วย กล้วยไม้ 2,582 ล้านบาท (กล้วยไม้ตัดดอก 2,312 ล้านบาท กิ่งชำ ต้นกล้า ต้นกล้วยไม้ 270 ล้านบาท) ไม้ประดับอื่นๆ 674 ล้านบาท ไม้ตัดใบ 236 ล้านบาท ไม้ตัดดอกอื่นๆ 167 ล้านบาท ไม้หัว 86 ล้านบาท เมล็ดไม้ดอก 15 ล้านบาท ตลาดที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และอินเดีย สำหรับปี 2560 (ข้อมูลเดือนมกราคม – ตุลาคม 2560 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ ปี 2559) คาดว่ามูลค่าลดลงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย

การนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับของไทย

ปี 2559 ประเทศไทยนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับรวมมูลค่า 1,214 ล้านบาท ประกอบด้วย กล้วยไม้ 16.3 ล้านบาท (กิ่งชำ ต้นกล้า ต้นกล้วยไม้ 15.8 ล้านบาท กล้วยไม้ตัดดอก 0.5 ล้านบาท) ไม้ประดับอื่นๆ 180 ล้านบาท ไม้ตัดดอกอื่นๆ 943 ล้านบาท ไม้ตัดใบ 12 ล้านบาท ไม้หัว 20 ล้านบาท เมล็ดไม้ดอก 42 ล้านบาท ประเทศที่ไทยนำเข้ามากลำดับแรกๆ คือ มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน คอสตาริกา ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์ โดยส่วนใหญ่นำเข้าดอกเบญจมาศจากมาเลเซีย ดอกไม้สดอื่นๆ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เนเธอร์แลนด์ ไม้ประดับจากคอสตาริกา ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ ไม้หัวจากเนเธอร์แลนด์ เมล็ดไม้ดอกจากแทนซาเนียและกัวเตมาลา

ปัญหาการผลิต

และตลาดไม้ดอกไม้ประดับ

  1. ด้านการผลิต

– เกษตรกร ขาดการวางแผนการผลิต และศึกษาความต้องการของตลาด ทำให้ปริมาณผลผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

– แรงงานเริ่มหายากและมีค่าจ้างสูงขึ้น

– ปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ย สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีราคาสูงขึ้น ในขณะที่ราคาผลผลิตยังคงที่หรือต่ำลง

– มีปริมาณและคุณภาพไม่สม่ำเสมอ

– ขาดไม้ดอกพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค

  1. ด้านการตลาดภายในประเทศ

– ขาดตลาดกลางไม้ดอกไม้ประดับที่มีมาตรฐาน ทำให้ผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับเสื่อมคุณภาพเร็ว มีผลทำให้ราคาตกต่ำ

– ระบบขนส่งและการบรรจุหีบห่อจากสวนมายังตลาดขายส่ง และจากตลาดขายส่งไปยังผู้ใช้ปลายทางไม่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำเมื่อถึงปลายทาง

– เกษตรกรยังไม่ให้ความสำคัญในการนำเสนอสินค้าให้สวยงาม มีคุณค่า เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนใหญ่จำหน่ายผลผลิตในลักษณะคละเกรด กรณีเป็นไม้ดอกกระถาง ไม้ถุง ภาชนะบรรจุไม่สวยงาม

– ขาดข้อมูลความต้องการของตลาดไม้ดอกไม้ประดับภายในประเทศที่แท้จริงทั้งในด้านปริมาณซื้อ-ขาย ราคา ชนิด และคุณภาพที่ลูกค้าต้องการทำให้ไม่สามารถวางแผนการผลิตและขยายตลาดได้

  1. ด้านการส่งออก

– ผลผลิตมีไม่พอกับความต้องการของตลาดในบางช่วง เช่น ในช่วงฤดูแล้งที่มีผลผลิตน้อย แต่มีเทศกาลที่ต้องใช้ไม้ดอกไม้ประดับ ทำให้เสียโอกาสในการส่งออก

– ผู้ส่งออกบางรายขาดความรู้และประสบการณ์ ทำให้ผลผลิตที่ส่งออกเสียหาย และเสียภาพลักษณ์ไม้ดอกไม้ประดับไทยโดยรวม

– ผู้ส่งออกมีการแข่งขันตัดราคา ทำให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับส่งออกของไทยขายได้ราคาต่ำลง

– ขาดการส่งเสริมการตลาดไม้ดอกไม้ประดับไทยในต่างประเทศอย่างจริงจัง รวมทั้งยังไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาในตลาดเดิม และแนวทางในการพัฒนาตลาดใหม่ๆ อย่างจริงจัง

– ผู้ส่งออกส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายย่อย จึงขาดอำนาจในการต่อรองตลาด และไม่มีกำลังความสามารถไปแนะนำสินค้าหรือเจาะตลาดใหม่ๆ ด้วยตนเอง รวมทั้งไม่มีกำลังสนับสนุนการพัฒนาการผลิตของเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยเช่นกัน

– ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การสั่งซื้อลดลง

แนวทางการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ

  1. ด้านการผลิต

– ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน เช่น ระบบแขนกลฉีดพ่นสารเคมีในกล้วยไม้

– ส่งเสริมเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิต เช่น การผสมปุ๋ยใช้เอง การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ใช้สารเคมีอย่างเหมาะสมและถูกวิธี รวมทั้งใช้ชีวภัณฑ์เพื่อลดการใช้สารเคมี

– ถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตไม้ดอกไม้ประดับคุณภาพ และปลอดภัย

– ส่งเสริมการบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยใช้ตลาดนำการผลิต เช่น การผลิตไม้ดอกไม้ประดับนอกฤดู

– สนับสนุนการรวมกลุ่มขององค์กรเกษตรกร และคลัสเตอร์กล้วยไม้ไทย เพื่อเชื่อมโยงความรู้ ข้อมูล ประสบการณ์ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกล้วยไม้ไทย

  1. ด้านการตลาดภายในประเทศ

– ถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา รวมทั้งการคัดคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าและคงคุณภาพไม้ดอกไม้ประดับก่อนถึงมือพ่อค้า/ผู้บริโภค

– เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการใช้ไม้ดอกไม้ประดับให้แพร่หลาย เช่น การจัดงานประกวดและแสดงไม้ดอกไม้ประดับในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ

– ส่งเสริมให้เกษตรกรเป็น Smart farmer สามารถวิเคราะห์และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มรายได้

  1. ด้านการส่งออก

– เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไม้ดอกไม้ประดับในต่างประเทศ เช่น การจัด Road Show ในประเทศต่างๆ โดยนำสินค้าไม้ดอกไม้ประดับที่มีศักยภาพของไทยไปจัดแสดง รวมทั้งนำผู้ส่งออก และเกษตรกร ไปร่วมงานเพื่อสนับสนุนให้มีการเจรจาธุรกิจ ศึกษาการผลิตการตลาด เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

– ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดส่งออกใหม่ และรักษาตลาดเดิม

โครงการปีงบประมาณ 2561

ของกรมส่งเสริมการเกษตร

  1. โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (ไม้ดอกไม้ประดับ) ดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัด 35 แปลง แบ่งเป็น กล้วยไม้ 4 จังหวัด (กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร) รวม 11 แปลง ไม้ดอกไม้ประดับอื่น 19 จังหวัด (กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตรัง นครปฐม นครนายก นครสวรรค์ นนทบุรี นครราชสีมา ปทุมธานี ปราจีนบุรี ราชบุรี เลย ยะลา สุพรรณบุรี สมุทรปราการ อุดรธานี อุบลราชธานี อ่างทอง รวม 23 แปลง
  2. โครงการเพิ่มศักยภาพไม้ดอกไม้ประดับครบวงจร (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กิจกรรมส่งเสริมแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ ดำเนินการในพื้นที่ 9 จังหวัด (ขอนแก่น นครราชสีมา เลย อุดรธานี อุบลราชธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ สกลนคร) รวมเกษตรกร 450 ราย
  3. โครงการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน กิจกรรม บริหารจัดการตามยุทธศาสตร์กล้วยไม้ โดยพัฒนาการผลิตการตลาดกล้วยไม้ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกล้วยไม้แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะจับอาชีพทางไม้ดอกไม้ประดับ คุณพิสมัย ให้คำแนะนำว่า

  1. ควรคำนึงถึงชนิดของไม้ให้เหมาะสมกับพืชพื้นที่ เพราะสภาพอากาศนับว่ามีความสำคัญต่อพืช เพราะไม้ดอกไม้ประดับแต่ละชนิดมีอุปนิสัยที่ชอบสภาพอากาศที่แตกต่างกัน หากดูแลให้เข้ากับสภาพแวดล้อมนั้นๆ ก็จะทำให้ผลผลิตออกมาดีมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่ตลาดกำหนด
  2. ต้องมองในเรื่องของทิศทางตลาด โดยเกษตรกรผู้ปลูกต้องอ่านในเรื่องของการทำตลาดให้ชัดเจน ว่าต้องการผลิตให้กับตลาดด้านไหน เพราะตลาดของไม้ดอกไม้ประดับจะมีความต้องการของไม้ที่แตกต่างกัน และ
  3. ในเรื่องของการขนส่ง ต้องมองให้เป็นหลักสำคัญว่าสินค้าที่จะส่งไปยังปลายทาง จะเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด ดังนั้น จึงต้องจัดการในเรื่องนี้ให้มาก ก็จะเป็นการช่วยให้สินค้าไม่เกิดความเสียหาย และจำหน่ายสินค้าได้ราคาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

“อนาคตเราก็อยากให้เกษตรกร มีการบริหารจัดการให้ครบวงจร โดยอาจจะมีการมองการปลูกไม้ดอกไม้ประดับแบบผู้ประกอบการว่า ในเมื่อมีการผลิตสินค้าออกมามีจำนวนมากแล้ว อยากให้มองในเรื่องของคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การขายไปยังตลาดเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตัวเกษตรกรเอง และตอนนี้เราก็ได้มีการรวมตัวของเกษตรกรมากขึ้น เพื่อส่งเสริมรวมเกษตรกรในการผลิตไม้ดอกไม้ประดับแปลงใหญ่ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต แบบลดต้นทุนให้ต่ำลง และที่สำคัญการทำไม้ดอกไม้ประดับแปลงใหญ่ก็จะช่วยให้มีการผลิตสินค้าให้สมดุลกับสภาพของการตลาดด้วย” คุณพิสมัย กล่าว