พฤกษาองค์ราชินี ในพระราชเสาวนีย์ มีกล้วยไม้ดีทรงอนุรักษ์

“กล้วยไม้ไทยมีความงามมากและมีกลิ่นหอมมาก ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากและใกล้สูญพันธุ์ไปทุกขณะ ขอให้ช่วยกันหาทางรวบรวมและอนุรักษ์ไว้ พร้อมกับการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณมากพอที่จะคืนสู่ป่าธรรมชาติ”

พระราชดำรัส พระราชทานในงานประชุมกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 4 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 22 มกราคม 2535

“…เพราะว่า ทราบว่ารองเท้านารีชนิดนี้ไม่ขึ้นที่ไหน นอกจากบนภูหลวงไม่พบที่ไหนในประเทศไทย แล้วก็บนภูหลวงเรานี่ มีฤดูใบไม้ร่วงด้วย อย่างจะเห็นใบเมเปิ้ลสีแดงฉานก่อนที่เขาจะร่วงลงมา และน้ำตกนี่แหละคือคุณสมบัติที่เราต้องมีป่าเอาไว้ก็เพื่อช่วยบรรยากาศให้มีความสมดุลกัน ฝนลงถูกต้องตามฤดูกาล การที่เราจะตัดต้นไม้กันหมดนี่ ไม่ใช่ทำให้ไม้หมดจากป่าไปเท่านั้นนะ มันหมายถึงเราทำลายบรรยากาศข้างบนด้วย”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันที่ 11 สิงหาคม 2546

พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทาน 26 ปีผ่านมาแล้ว แต่ก็ยังทรงคุณค่าและให้ความหมายที่ทุกคนจะได้มีความตระหนักถึงการอนุรักษ์พฤกษาไม้ป่า ไม้ไทย ให้ยั่งยืนซึ่งก็ยังผลให้กับทุกคนในชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพยั่งยืนด้วยเช่นกัน

ที่มาในการอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสทั้ง 2 มาขึ้นต้นไว้ เนื่องจากได้อ่านวารสาร “สลค.สาร” ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2558 ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยมีเรื่องราวหลากหลายทั้งต้องรู้ ควรรู้ และน่ารู้ เป็นอย่างยิ่งอยู่ในฉบับนี้ ซึ่งน่าจะเผยแพร่ประจักษ์แก่มวลชนทั่วไป และจากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวนั้น เป็นบทความพิเศษซึ่งเรียบเรียงไว้โดย นายวีระชัย ณ นคร จากหัวข้อเรื่อง “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับการอนุรักษ์กล้วยไม้ไทย” โดยคัดลอกมาจากวารสารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2547 ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงขออนุญาตนำมาสรุปเผยแพร่ทราบ เป็นมงคลในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานับประการ แก่มวลพสกนิกรทั้งปวงให้รู้สึกปลื้มปิติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างเปี่ยมล้นโดยทั่วกัน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อสนองพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อเสด็จฯ ไปทรงงาน ณ พื้นที่แห่งใด ก็จะทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในธรรมชาติรอบพระวรกายอยู่เสมอ ทั้งป่าเขาลำเนาไพร ต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่าและพันธุ์ไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้ไทย ซึ่งทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษอย่างยิ่ง โปรดที่จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพรรณไม้แปลกๆ และที่หายากนานาพันธุ์ แม้ว่าเส้นทางชมธรรมชาติจะค่อนข้างยากลำบาก ต้องลัดเลี้ยวไปตามโขดหินก็มิได้ทรงย่อท้อเลย

ครั้งเมื่อเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพรรณไม้ป่า ณ บริเวณโคกนกกะบา และลานสุริยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย ในเดือนมีนาคม 2534 ได้ทอดพระเนตรกล้วยไม้ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายมากบริเวณนั้น มีกล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่กำลังให้ดอกสวยงาม และยังไม่มีชื่อเรียกภาษาไทย อีกทั้งยังเป็นกล้วยไม้ป่าหายาก และพบไม่บ่อยนัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eria amica Rchb.f ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “นิมมานรดี” ซึ่งมีข้อมูลทางพฤกษศาสตร์คือ เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วย รูปทรงกระบอกในรูปขอบขนานแกมรี ดอกออกเป็นช่อยาว ดอกย่อยสีขาว มีขีดตามยาวสีแดงเข้ม กลีบปากที่ตอนปลายมีสีเหลืองเข้ม และมีแต้มสีแดงเข้มที่โคนกลีบด้านใน ดอกบานเต็มที่ กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ และพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ตลอดมา จนเป็นที่ประจักษ์เลื่องลือกันโดยทั่วไปไกลถึงต่างประเทศ ดังที่บริษัท Black and Flory Ltd. ประเทศอังกฤษ ได้ผสมกล้วยไม้สายพันธุ์ Cattleya Bow Bells และ Cattleya O’brieniana var. alba ได้ลูกผสมที่มีความสวยงามมากเป็นพิเศษ และจดทะเบียนไว้ภายใต้ชื่อพันธุ์ ว่า Exquisite เมื่อปี พ.ศ. 2501 เมื่อนำเข้าประกวด ก็ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม A.M./RHS. จาก the Royal Horticultural Society แห่งประเทศอังกฤษ จึงมีการขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย ใช้เรียกชื่อกล้วยไม้พันธุ์ดังกล่าวว่า “แคทลียาควีนสิริกิติ์ ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีการปรับปรุงและคัดพันธุ์ที่ทนร้อนมาปลูกในประเทศไทย เรียกชื่อสายพันธุ์ว้า Diamond Crown และได้รับรางวัลยอดเยี่ยม A.M./RSPC. จากสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

แคทลียาควีนสิริกิติ์ เป็นกล้วยไม้ที่มีดอกใหญ่ สีขาวนวล กลีบดอกและกลีบปากแผ่กว้าง ขอบกลีบย่นเป็นลอนคลื่น กลีบปากส่วนกลางมีหยักเว้าลึก และมีแต้มสีเหลืองทองด้านในเด่นชัดเจน ดอกบานเต็มที่ กว้าง 12-14 เซนติเมตร

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดความงามของธรรมชาติ การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร รวมถึงชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ต่างๆ เพื่อให้วัฏจักรแห่งธรรมชาติได้เป็นไปอย่างสมดุล พระองค์เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรป่าเขาลำเนาไพรพฤกษ์ ชื่นชมพรรณไม้ป่าของไทย และมีพระราชดำรัสในหลายโอกาสกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกคนได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น รวมถึงการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนให้ตระหนักในความสำคัญ รู้จักคุณค่า เกิดความรักและหวงแหนในพืชพันธุ์ต่างๆ อันจะเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญต่อไปภายหน้า

ในหลายโอกาสยังได้มีพระราชดำรัสให้ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันช่วยดูแลปกปักษ์รักษากล้วยไม้ไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้กล้วยไม้ของไทยที่สวยงามและหายาก ได้คงอยู่เป็นมรดกทางธรรมชาติอันล้ำค่าสืบไป

หลายหน่วยงานจึงได้ร่วมกันสนองพระราชดำริ บังเกิดโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ไทยหลายโครงการ อาทิ

– โครงการคืนชีวิตกล้วยไม้ไทยสู่ไพรพฤกษ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกองทัพภาคที่ 3

– โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมวิชาการเกษตร

– โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

– โครงการขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทยหายากเพื่อการอนุรักษ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่

– โครงการขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลสำเภางาม สถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซม ตำบลเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

ประเทศไทย จัดเป็นศูนย์กลางการกระจายของพรรณพืชที่หลากหลายที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล้วยไม้ป่าที่สวยงามและทรงคุณค่านานาชนิด จึงพบขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้ กล้วยไม้ไทยที่นักพฤกษศาสตร์ได้สำรวจพบไว้แล้วในขณะนี้ มีจำนวนถึง 178 สกุล รวม 1,128 ชนิด เป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันมานาน มีบันทึกไว้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงการเก็บหาและปลูกเลี้ยงเอื้องชนิดต่างๆ ที่ให้ดอกสวยงาม แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กล้วยไม้ไทยหลายชนิดได้สูญหายไปจากแหล่งกำเนิดจนสังเกตได้ และไม่พบว่าได้มีการนำไปปลูกเลี้ยงอยู่ ณ ที่ใด จึงอาจสันนิษฐานได้ว่ากล้วยไม้ไทยเหล่านี้หลงเหลืออยู่น้อยในธรรมชาติ หรืออาจสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย นับว่าเป็นเรื่องสำคัญและน่าศึกษาข้อมูลเรื่องนี้จึงทรงให้ความสำคัญ และความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2541 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานของสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนั้นได้เสด็จไปทอดพระเนตรพันธุ์ไม้ตามเส้นทางชมธรรมชาติเลียบน้ำตกแม่สาน้อย และสวนหิน ไปยังเรือนรวมพรรณกล้วยไม้ไทย ที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ ได้รวบรวมกล้วยไม้ป่าพื้นบ้านที่หลากหลายต่างๆ ไว้เพื่อการอนุรักษ์และได้ทอดพระเนตรการปลูกเลี้ยงและดูแลรักษากล้วยไม้ที่ทางสวนพฤกษศาสตร์ฯ ได้รวบรวมไว้ และตรวจสอบรายชื่อไว้ถูกต้องแล้วประมาณได้ถึง 400 ชนิด พร้อมข้อมูลนิเวศวิทยาอย่างสมบูรณ์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านกล้วยไม้ไทย ให้ได้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป

วันที่ 30 มกราคม 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (ทรงดำรงพระอิสริยยศ ขณะนั้น) ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานของสวนพฤกษศาสตร์ฯ จังหวัดเชียงใหม่ และในโอกาสอันเป็นมหามงคลฤกษ์นี้ ทั้งสองพระองค์ได้ทรงปล่อยเอื้องแซะ (Dendrobium scabrilingue Lindl.) คืนสู่ไพรพฤกษ์บนคาคบไม้ป่าในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ ซึ่งกล้วยไม้พระราชทานทั้งสองกอนี้ ยังคงเจริญเติบโตเป็นอย่างดี และเป็นตัวอย่างการกระตุ้นจิตสำนึกที่สำคัญ ที่จะช่วยกันอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเพื่อความงามและคุณค่าของทรัพยากรพืชที่หลากหลาย จะได้ดำรงอยู่เป็นสมบัติมรดกตกทอดสู่ลูกหลานไทยต่อไป

“เอื้องแซะ” เป็นกล้วยไม้ไทยสกุลหวาย พบมากเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ดอกที่มีกลิ่นหอมหวานชื่นใจ บานนานประมาณเกือบ 1 เดือน และยังมีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ หากสามารถสกัดทำน้ำหอมจากดอกเอื้องแซะได้ ในการนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่คณะอาจารย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ดำเนินการทดลองสกัดสารหอมระเหยจากเอื้องแซะ เพื่อพัฒนาเพิ่มคุณค่าให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ในวันที่ 1 มีนาคม 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ไทยของสวนพฤกษศาสตร์ฯ อีกครั้งหนึ่งด้วยความสนพระราชหฤทัยและทรงพระเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยปรากฏว่าพันธุ์กล้วยไม้ไทยที่หายากและสวยงาม ได้รับการรวบรวมไว้เพื่อการขยายพันธุ์และนำมาจัดแสดงให้ทอดพระเนตร

พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่เปรียบมิได้ต่อทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและพรรณพืช อันเป็นสมบัติทางธรรมชาติที่ล้ำค่าของประเทศ เชื่อว่าคนไทยทุกคนได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญ คุณค่าความงามของทรัพยากรธรรมชาติ และมีส่วนร่วมที่จะอนุรักษ์พันธุ์พืชของไทยทุกชนิด โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่าหายากให้คงอยู่สู่อนุชนรุ่นต่อไปได้เห็นชื่นชม เป็นสมบัติสืบทอดคู่แผ่นดินตราบนานต่อไป

บทเพลงเกี่ยวกับกล้วยไม้มีมากมาย ทั้งชื่อเพลงและผู้ขับร้อง หากจะกล่าวถึงเพลง “กล้วยไม้” ที่ท่านปรมาจารย์พรานบูรพ์ได้ประพันธ์ไว้ คงต้องย้อนไปดูประวัติตั้งแต่ พ.ศ. 2477 หรือถ้าหากกล่าวถึงท่านผู้ขับร้องก็คงจะต้องกล่าวถึง คุณอารีย์ นักดนตรี ซึ่งบันทึกเสียงครั้งแรกไว้เมื่อ พ.ศ. 2508 ดังนั้น คงไม่ต้องเอ่ยถึงปัจจุบันที่มีนักร้องมากมายได้ฝากผลงานอมตะยอดนิยมนี้ไว้

ด้วยวาระที่จะได้ร่วมอนุรักษ์พืชพันธุ์กล้วยไม้ ทำให้ระลึกถึงบทกลอนที่ได้เขียนไว้ใน “โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้ไทย วันคืนกล้วยไม้สู่ธรรมชาติ ในราชภัฏจันทรเกษม” เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 เพื่ออ่านประกอบโครงการ

จาก “เอื้องไพร” อยู่…ใน “เอื้องจันทร์” (หมายถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม)

หนึ่งคณะในบทบาทราชภัฏ

หนึ่งเจนจัดบทเกษตร เขตการสอน

หนึ่งความคิด กูลเกื้อ เอื้ออาทร

หนึ่งสังวร อนุรักษ์ฯ รักพงไพร

     ด้วยงานสอน เกษตรและชีวภาพ

ด้วยอยากทราบ ธรรมชาติ หายไปไหน

รวมพฤกษา กล้วยไม้ป่า ในเมืองไทย

อนุรักษ์ “เอื้องไพร” เป็น “เอื้องจันทร์”

     ออกจากขวดเนื้อเยื่อเหลือหลากหลาย

แวนด้า-หวาย-แคทลียา-นารี-สรร

ไอยเรศ-แพะ-แกะ-ช้าง วางครบครัน

ผูกให้มั่น กับต้นไม้ เรียงรายทาง

     ลดภาวะโลกร้อน ก่อนวิกฤติ

สำนึกจิต สัมพันธ์มิตร คิดสะสาง

เติม “น้ำจริง” ด้วย “น้ำใจ” ไม้รายทาง

จะปลูกวาง หรือห้อยแขวน แทนทำลาย

     “เอื้องจันทร์” รอบขอบขันธ์ จันทรเกษม

ร่วมปรีดิ์เปรม ดั่งใจหวัง ยังไม่สาย

ราชินีกล้วยไม้ หอมกระจาย

น้อมถวาย “ราชินี” ศรีแผ่นดิน

     โดยเสด็จใน “วันแม่” แท้ใจภักดิ์

ด้วยใจรักษ์ฯ ดั่งอารมณ์ สมถวิล

ได้ร่วมปลูก ได้กุศล ได้ยลยิน

ให้แผ่นดินได้ธรรมชาติ สะอาดตา

     มีคนมาก มียานมาก มีมลพิษ

มีกล้วยไม้ ไว้พิชิต ไว้รักษา

มีภู-มิ ทัศนีย์ มีบุญตา

มีพนา มีธรรมชาติ “ราชภัฏจันทร์”

     เพื่อนอาจารย์ บุคลา มาถึงศิษย์

ช่วยกันคิด ช่วยจัดการ งานสร้างสรรค์

อนุรักษ์ฯ “เอื้องจันทร์” สร้างไพรวัลย์

จากวันนี้ถึง…วันนั้น “จันทรเกษม” เรือง