พฤกษาปฏิบัติการ งานรุกขกรรม นำรุกขกร รักษ์รุกขมูล

หนึ่งใบผลิยอด

ถ่ายทอดเผ่าพันธุ์

สืบชั่วกัลปาวสาน

ดาษดารดำรง

     หนึ่งมือมั่นหมาย

ทำลายปลิดปลง

ร้อยร่วมพันหลง

เหลือคงสิ่งใด…?

บทวรรณกรรมรำพึง ลงท้ายบรรทัดไว้ว่า “ภราดร” ผมพบข้อความนี้ในหนังสือเก่าๆ เนื้อกระดาษกรอบ เหลือง ต้องค่อยๆ เปิด เพราะอาจจะขาดได้ง่าย พยายามจับความจากหน้าปก มีชื่อหนังสือตัวเล็กๆ อ่านได้ว่า “แพรว” และมีตัวเขียนใหญ่ๆ ว่า “สุดสัปดาห์” แต่มีความชัดเจนอยู่ที่สันปก ระบุว่า “222 ปีที่ 10, 1 พฤษภาคม 2535” ค่อยๆ เปิดดูเนื้อหาภายใน ได้สัมผัสกลิ่นกระดาษเก่าๆ ชัดเจน แต่ภาพสีภายในเล่มยังถือว่าสดใสด้วยภาพอดีตนางสาวไทยหลาย พ.ศ. ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2510 และอีกหลายพ.ศ. รวมทั้งมีภาพและเรื่องราวของอดีตดารา นักร้อง นักเขียน นักจัดรายการ วิทยุ ทีวี อีกหลายท่านพร้อมเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นที่มาของชื่อเสียงของท่านเหล่านั้น แต่สิ่งที่ได้หยุดอ่านอย่างตั้งใจก็คือ “บทวรรณกรรมรำพึง” ที่ผมได้ตั้งชื่อให้เอง ดังที่ได้ขึ้นต้นไว้ และยังมีบทกลอนอีกหลายบท ซึ่งมีชื่อว่า ต้นไม้ โดย “ธิราพร” พายุ ต้นหญ้า และไม้ใหญ่ โดย “บุหงายาวี” ทั้งหมดอยู่ท้ายเล่มในคอลัมน์ “บันทึกจากธรรมชาติ” โดย ดวงดาว

แรงบันดาลใจที่ได้อ่านบทรำพึงที่กล่าวถึงนี้ ทำให้คิดไปถึงนิทานชั้นประถมศึกษา เรื่อง “เทพารักษ์ กับคนตัดไม้” แล้วก็ระลึกถึงบทโคลงโลกนิติ ลำดับที่ 386 พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร กล่าวไว้ว่า

อารักษ์มีทั่วไม้           รุกขมูล

ที่ศักดิ์สิทธิ์บริบูรณ์           เครื่องเส้น

ที่ไป่ศักดิ์สิทธิ์สูญ             สงัดลาภ

ดุจดั่งเสวกเว้น               ว่าถ้อยความเมือง

ได้ค้นหาความหมายของคำหลายคำในโคลงบทนี้ จึงเข้าใจถ่องแท้ว่าเป็นโคลงที่น่าจะกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้เข้าใจความหมายมีใจรักต้นไม้ และอนุรักษ์พงไพรได้มากขึ้น เพราะคำว่า “อารักษ์” หมายถึง เทวดาผู้พิทักษ์รักษา “รุกขมูล” หมายถึง โคนต้นไม้ “เครื่องเส้น” ในที่นี้คือ เครื่องเซ่น (คำโทโทษ) “เสวก” คือ ข้าราชการในสำนัก อำมาตย์ “ว่าถ้อยความเมือง” หมายถึง ว่าราชการแผ่นดิน

ได้เคยกล่าวถึงเรื่องราวของ “รุกขกรรม” และ “รุกขกร” มาแล้ว 2 ฉบับ ในฉบับที่ 654 และ 655 และเคยกล่าวถึง “หมอต้นไม้” ในฉบับที่ 596 ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เป็นทั้งเรื่องราวของคนตัดต้นไม้ และหมอรักษาต้นไม้ ปัจจุบัน คำเหล่านี้ถูกนำมาใช้มากขึ้น คนรุ่นเก่าอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “รุกขเทวดา” จุดธูปเทียนขอขมาเมื่อจะต้องตัดโค่น หรือเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่บางต้น ต้นไม้ที่มีประวัติ แต่ปัจจุบันอาจจะเริ่มได้ยิน “รุกขมูล” “รุกขกร” มากขึ้น หรือมีการโทรศัพท์เรียก “หมอต้นไม้” เผื่อว่าจะได้มีคำศัพท์ “ศัลยแพทย์พฤกษา” อีกคำ

จากวารสารแจกฟรี ทุกวันพฤหัสบดีทั่วกรุงเทพฯ BLT ฉบับ Issue 58 January 4-10, 2018 ได้เขียนถึงเรื่อง กทม.หันมาดูแลต้นไม้ในเมือง ใช้หลักรุกขกรรม คาดเห็นผลภายใน 1 ปี โดยให้ความหมายถึงคำศัพท์เฉพาะ 2 คำ รุกขกรรม และ รุกขกร โดย คุณเสมอใจ มณีโชติ

รุกขกรรม (Arboriculture) คือวิชาชีพว่าด้วยการปลูกและจัดการเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ ในงานภูมิทัศน์ งานรุกขกรรมเกี่ยวข้องกับการดูแลต้นไม้ ดูแลตั้งแต่การคัดเลือก การปลูก การเจริญเติบโต การศัลยกรรม การตัดโค่น การควบคุมโรคและแมลง และรวมถึงการจัดการเกี่ยวกับอันตราย และการพิจารณาในด้านสุนทรียภาพ

รุกขกร (Arborist) หรือนักศัลยกรรมต้นไม้ใหญ่ คือนักวิชาชีพดูแลต้นไม้ใหญ่ (ในเมืองและในอาคารสถานที่) ซึ่งรวมถึงงานปลูก งานตัดแต่ง งานค้ำจุน งานป้องกัน และรักษาโรคและแมลง หรือโรคพืชอื่นๆ งานป้องกันการถูกฟ้าผ่า และงานโค่นต้นไม้ นอกจากนี้ ยังรวมงานวางแผน งานให้คำปรึกษา การทำรายงานและการเป็นพยานศาล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากต้นไม้ใหญ่มีคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์มาก ต้นไม้ใหญ่ในเมืองจึงต้องการการเฝ้าระมัดระวัง และการดูแล

ในการกล่าวถึงการใช้หลักรุกขกรรมมาดูแลต้นไม้ในเมือง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในกรุงเทพมหานคร เป็นจุดนำร่องนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาการตัดแต่งต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปัญหาที่ได้รับการแก้ไขโดยขาดองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์มาตลอด ก่อให้เกิดข้อพิพาท ระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ผิดวิธี การปลูกต้นไม้ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเมือง ทำให้ต้นไม้ไม่แข็งแรง หมดความสวยงาม และเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมีความหวังว่านับจากนี้ไปอีก 1 ปี คงจะได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นข้อคิดที่จะนำไปใช้เป็นแบบอย่าง สำหรับเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมือง โดยขยายวิชารุกขกรรมนี้ให้มีวิชาชีพรุกขกรให้มากขึ้น

ในการนำร่องใช้หลักรุกขกรรมดูแลต้นไม้ กรุงเทพมหานคร ได้ยึดวันที่ 10 ธันวาคม 2560 เป็นวันดีเดย์เริ่มต้นจุดเปลี่ยนการดูแลต้นไม้ในเมืองให้เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยร่วมมือกับ การไฟฟ้านครหลวง กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มบิ๊กทรีส์ (BIG Trees Project) เครือข่ายต้นไม้ในเมือง รุกขกรอิสระ และนักวิชาการจากสวนสาธารณะ จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลต้นไม้ของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต

มีคำปรารภจากประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร. วัลลภ สุวรรณดี กล่าวไว้ว่า “ถือเป็นการเริ่มต้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลและตัดแต่งต้นไม้ ให้เป็นไปตามวิธีที่ถูกต้องตามหลักรุกขกรรม และสิ่งที่สำคัญคือ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องการให้พี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของต้นไม้โดยตรง ได้มีส่วนสำคัญในการที่จะเฝ้าระวังให้กับกทม. ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพของต้นไม้ หรืออันตรายจากกิ่งแห้งที่หักแล้วยังไม่ได้รับการดูแล หลังจากนี้จะจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลต้นไม้ของกทม. อย่างจริงจัง โดยจะจัดอบรมให้ครบทั้ง 6 กลุ่มโซน กลุ่มโซนละ 30 คน ใช้เวลาในการอบรม กลุ่มละ 6 วัน พร้อมขยายที่ดำเนินการในถนนเส้นอื่นๆ ทั้งในเส้นทางที่มีการนำสายไฟฟ้า และสายสื่อสารลงใต้ดินแล้ว และส่วนที่ยังไม่ลงดินด้วย”

จากวารสาร MEA life plus ของการไฟฟ้านครหลวง ฉบับ 14/2560 ได้กล่าวถึงการจัดระบบไฟฟ้าที่มั่นคงด้วยนวัตกรรมอันล้ำสมัย เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคใหม่ ผ่านการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน และรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกทั้งหมด เพื่อจะได้เห็นทัศนียภาพใหม่ของมหานครไร้เสา ซึ่งดำเนินการแล้วจากโครงการถนนพหลโยธิน ที่ปราศจากเสาไฟฟ้า และอีกหลายเส้นทางที่กำลังดำเนินการหลายช่วงถนน ซึ่งต่อไปเราก็คงได้สัมผัสสายตากับต้นไม้ริมฟุตปาธ โดยไม่เห็นสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ หรือสายอื่นๆ พาดผ่านบนยอดไม้ หรือผูกไว้ที่กิ่งก้านให้สมกับความตั้งใจจากหน่วยงานที่จะให้เป็น “ถนนสายไร้เสาสาย” เมื่อนั้นต้นไม้ริมถนนก็จะไม่ต้องเป็น “ต้นไม้เสาไฟสายโทรศัพท์”

ขอย้อนกลับมาที่ คุณเสมอใจ มณีโชติ ที่ได้นำเสนอเรื่องราวของกทม. จะใช้หลักรุกขกรรม มาดูแลต้นไม้ในเมือง มีการตั้งกรรมการรุกขกรรมร่วมดูแลต้นไม้ทั่วกทม. เพื่อยกระดับคุณภาพการตัดแต่งต้นไม้ขนาดใหญ่ในเมือง ร่วมกับตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายต่างๆ เพื่อร่วมกำหนดมาตรฐานในการดูแลต้นไม้ในพื้นที่เมืองให้มีความยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีรุกขกรเป็นอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ดี รวมถึงการจัดตั้งชมรมจิตอาสาที่มีใจรักต้นไม้เป็นทรัพย์สินของทุกคน ที่จะได้ช่วยกันดูแล ให้การอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนและต้นไม้เป็นไปได้อย่างลงตัว

สำหรับการร่วมเรียนรู้วิธีการตัดต้นไม้แบบรุกขกรมืออาชีพ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เริ่มนำร่องที่บริเวณถนนสุขุมวิท และอุทยานเบญจสิริ โดยดำเนินการตัดแต่ง และบำรุงรักษาต้นโพธิ์ ภายในอุทยานเบญจสิริ ต้นไม้บริเวณถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 20-21 และต้นประดู่แดง ต้นไม้ทรงปลูกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยมีการวินิจฉัยตามอาการ และลักษณะของต้นไม้แต่ละต้น

หากจะกล่าวถึง “หมอต้นไม้” ก็คงจะต้องคิดถึง อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ตำแหน่งบริหารขณะนั้น ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2558) ซึ่งได้กล่าวว่า ต้นไม้ไปหาหมอไม่ได้ หมอต้นไม้ต้องไปหาผู้ป่วยเอง โดยอาจารย์ปั่นจักรยานพร้อมกระเป๋าร่วมยาพร้อมที่จะปฐมพยาบาลต้นไม้ตามสถานการณ์นั้นๆ จะทำศัลยกรรม หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็พร้อมที่จะหยิบจับมีด ค้อน สิ่ว ขวาน เลื่อย หรือแม้แต่การทำศัลยกรรมบาดแผล เปลือก โพลงต้นใหญ่ๆ ก็จะใช้หลักการทางเทคนิควิชาการ มีวัสดุวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทเติมเต็มโพรง โดย “โฟม” ฉีดอัด แล้วเทน้ำยาตัวทำละลายให้โฟมพองตัวขึ้นเต็ม ปล่อยให้แห้ง แล้วตัดแต่งตามต้องการ กลุ่มคณะทำงานของอาจารย์ยังมีการสำรวจทำบันทึก บรรยายอาการผิดปกติของต้นไม้ใหญ่ แม้กระทั่งการวินิจฉัยโดยใช้ค้อนยาง หรือไฟเบอร์เคาะฟังเสียง ว่าเป็นโพรงในลำต้น กิ่งก้านหรือไม่ ก็จะได้เยียวยา หรือหากพบโพรงหลืบที่มีปลวกซ่อนตัวอยู่ภายในก็จะถูกเชิญออกแน่นอน แล้วปิดทับ หากเป็นโพรงน้ำขังก็ดูดซับออก ก็ทำให้จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็น “วนานคร” ที่มี “เทพาพฤกษาอารักษ์” ทั่วเมือง

จากเอกสารของสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ “ต้นไม้ป่วย…เราช่วยได้” ได้แนะนำคลินิกตรวจโรคหรือปรึกษาให้คำแนะนำ วินิจฉัยอาการผิดปกติของต้นไม้ไว้หลายแห่ง เช่น

– ศูนย์หมอต้นไม้กรุงเทพมหานคร ภายในสวนสราญรมย์

– ส่วนบริหารศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร

– คลินิกพืช กลุ่มวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร

– ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

– คลินิกสุขภาพพืช คณะวิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ถ้าหากท่านผู้ใดได้ชมรายการ “กบนอกกะลา” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 คงจะได้ดูปฏิบัติการจาก “โรงเรียนต้นไม้” URBAN TREE CARE ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ก็คงจะได้ทราบและเข้าใจดีกับคำว่า รุกขกร ผู้ซึ่ง “ไต่ ตัด แต่ง” ห้อยตัวอยู่บนต้นไม้ แต่ช่วยให้ทัศนียภาพน่าชื่นชม ดำรงรักษาสภาพความสมบูรณ์ของต้นไม้ในเขตเมืองใหญ่ ผสมผสานกลมกลืนได้อย่างดี ระหว่างความเจริญทางวัตถุแห่งเมือง และความเขียวชะอุ่มของพฤกษา

 

เพลง ต้นไม้

ศิลปิน สุรสีห์ อิทธิกุล

 

     เกิดบนดินหยัดยืนพื้นพสุธาขึ้นมาจนเป็นต้นไม้ อิ่มอาหารมีน้ำเลี้ยงร่างกายกิ่งใบงอกงามแข็งแรง อยู่ห่างไกลดินแดนพฤกษ์พงพนานกกาพึ่งพาอาศัย ร่มเงาบังใบมีชีวิตในพงไพรไม่เคยทำใครให้เดือดร้อน

      เกิดบนดินแดนทดแทนกลับคืน ให้กับพื้นดิน ถิ่นฐานบ้านเดิม จวบจนวันตายขอตายกับดินผุพังละลายกลับกลายเป็นพื้นดิน

     เกิดมานานจนวันที่โตใหญ่จนกิ่งก้านใบเสียดฟ้า แกร่งกำยำมองเห็นชัดเจนในป่าอยู่ในสายตาผู้คน บุกบั่นมาตามหาถึงกลางไพรเข้าตัดทำลายโค่นลง เสียดายเวลาเติบโตมาในแดนดง ต้องมาตายลงในวันนี้

     เกิดบนดินแดนทดแทนมากมายแต่กลับต้องตายให้กับความรุ่งเรือง ถูกคนทำลายเพื่อไปสร้างเมือง นี่คือเรื่องราว เหล่าพันธุ์พืชไพร

***ซ้ำ 3 ครั้ง

 

บทเพลงสะท้อนอารมณ์ต้นไม้ที่ต้องยอมตายเพื่อความรุ่งเรืองของคนเมือง ด้วยการถูกโค่นทำลาย ทั้งๆ ที่ต้นไม้เองต้องการตายด้วยการผุพังสลายกับผืนดินที่เกิดขึ้นมา

แต่ต่อนี้ไป อาจจะไม่ต้องตรอมใจกับการถูกทำลาย เพราะมีทั้ง “หมอศัลย์” และ “หมอเสริม” พร้อมที่จะช่วยแต่งเติมให้พุ่มพฤกษ์ยืนหยัดอยู่คู่พสุธา เป็นไม้ใหญ่ให้นก กา และ “มนุษโส” ได้อาศัยประโยชน์ยั่งยืน

อ้อ! แต่หากรักที่จะ “รักษ์” ต้นไม้ใหญ่แล้ว อยากให้มี รุกขกร อาชีพอีกสักฝีมือ เผื่อท่านผู้ใดจะได้รับสมญานามว่า “พฤกษากัลบก” หัวอกต้นไม้ก็ชื่นใจ

ต้นไม้กฤษณา ขอบคุณภาพจาก httpsmedthai.com

ทำแผลต้นไม้

ทำแผลต้นไม้

หมอต้นไม้ที่สูง