เทคนิคการปลูกบัวประดับให้ได้ดอกสวยงาม

หลายคนชื่นชอบการปลูกบัวประดับ แต่หลังจากซื้อบัวประดับจากร้านค้ากลับมาเลี้ยงที่บ้านต้นบัวประดับให้ดอกสวยงามแค่เพียงระยะแรก หลังจากเลี้ยงไปได้ 3 เดือน ดอกเริ่มเล็กลง และไม่ค่อยมีดอกแถมต้นทรุดโทรมลงอีกต่างหาก หากใครเจอปัญหาแบบนี้ ไม่ต้องกังวล “ เทคโนโลยีชาวบ้าน ” มีเทคนิควิธีดูแลบัวประดับอย่างถูกวิธี ที่จะช่วยให้บัวประดับของท่านมีดอกสวยงามเหมือนเดิม

บัวไทยมี  3 สกุล

ก่อนอื่นอยากแนะนำให้รู้จักสกุลบัวที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยว่า มีอยู่ 3 สกุล คือ สกุลบัวหลวงหรือปทุมชาติ   สกุลบัวสาย หรือ อุบลชาติ  และ  สกุลวิกตอเรีย หรือ บัวกระด้ง

1.สกุลบัวหลวงนิยมเรียกชื่อว่า ปทุมชาติ หรือ บัวหลวง มีถิ่นกำเนิดอยู่ใน จีน อินเดีย และประเทศไทย บัวเป็นพืชที่มีต้นใต้ดิน หรือเหง้า และมีไหลเมื่อวัยอ่อน มีลักษณะเรียวยาว เลื้อยไปใต้พื้นดินเล็กน้อย เมื่อโตเต็มที่จะอวบอ้วน เพราะมีการสะสมอาหารเอาไว้ ต่อมาพัฒนาเป็นข้อปล้อง ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของต้นอ่อนและราก เมื่อเติบโตขึ้นจะยืดตัวส่งใบและดอกโผล่ขึ้นเหนือน้ำ ก้านใบและก้านดอกมีหนาม

ดอกเป็นชนิดดอกเดี่ยว รูปทรงมีทั้งป้อมและแหลม ดอกจะบานในเวลากลางวัน กลิ่นหอมมีกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ กลีบด้านนอกสีเขียว สีกลีบดอกมีทั้งสีขาว ชมพู และเหลือง ดอกมีขนาดใหญ่ นิยมนำไปบูชาพระ เหง้า ไหล และเมล็ดนำมาทำอาหารได้

2.สกุลบัวสาย หรือ อุบลชาติ บัวชนิดนี้มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เจริญเติบโตแบบแตกหน่อ ต่อมาพัฒนาเป็นใบและดอก ก้านดอกจะยืดขึ้นเหนือผิวน้ำ บางสายพันธุ์มีใบอยู่ใต้น้ำ ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ผิวบนเป็นมัน ด้านล่างส่วนใหญ่มีขน ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีทั้งชนิดบานกลางวัน และกลางคืน มีหลากสีสัน

3.สกุลวิกตอเรียหรือ บัวกระด้ง เป็นบัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นหัวใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 80-120 เซนติเมตร ขอบใบตั้งฉากกับผิวใบ ด้านบนสีเขียวเรียบ ด้านใต้สีม่วงมีหนามแหลมใช้ป้องกันปลาและสัตว์น้ำอื่นกัดกินหรือทำลาย ดอกมีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ก้านดอกและกลีบดอกด้านนอกมีหนามแหลม  ดอกบานในเวลาค่ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ดอกมีกลีบประดับ 4 กลีบ แรกแย้มกลีบดอกมีสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพู

ธรรมชาติของบัว

บัวเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจ้า และต้องได้รับแสงอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง หากปลูกในร่มบัวจะให้ดอกน้อยหรือไม่ให้ดอกเลยก็มี ดินปลูก ต้องใช้ดินเหนียว มีธาตุฟอสฟอรัสสูง ไม่แนะนำให้ใช้ดินที่มีอินทรียวัตถุที่ยังไม่สลายตัวดีเป็นวัสดุปลูก น้ำ ต้องสะอาดมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 5.5-8.0 ส่วนระดับน้ำที่พอเหมาะกับบัวแต่ละสายพันธุ์ให้สังเกตจากก้านใบหรือก้านดอกที่ยืดตรงตั้งฉากกับผิวน้ำ สิ่งสำคัญไม่ควรให้ก้านใบแผ่กว้างรอบกอทำมุม 45 องศากับผิวดิน

บัวทรุดโทรมเพราะขาดปุ๋ย

บัวเริ่มทรุดโทรม เนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์หรือพูดง่ายๆ ว่าดินจืดนั่นละครับ บัวจะแสดงอาการชะงักการเจริญเติบโต ใบมีขนาดเล็กลง ผิวใบบนไม่มันวาว สีซีด เหลืองและแก่เร็ว จึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ย อย่างไรก็ตาม ก่อนให้ปุ๋ยต้องตัดสางหรือนำเอาก้านใบด้านดอกและใบแก่ทิ้งไป แล้วใส่ปุ๋ย สูตร 10-10-10 หรือ 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนชา ห่อด้วยดินเหนียว ผึ่งให้แห้ง เรียกว่าปุ๋ยลูกกลอน แต่ถ้าหากปลูกเพียง 2-3 กระถาง ให้ห่อปุ๋ยเคมีด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ 2-3 ชั้น เป็นก้อนกลม ฝังลงดินตื้นๆ ห่างจากโคนต้น 5-8 เซนติเมตร

โรคและแมลง

“โรคใบจุด ” เป็นโรคสำคัญที่พบเสมอ โรคใบจุดเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง มักระบาดในช่วงฤดูฝน มีอากาศชื้น โดยเฉพาะใบแก่ อาการของโรคพบรอยแผลเป็นจุดวงกลมสีเหลือง ต่อมาขยายวงกว้างขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แผลตอนกลางจะแห้ง เมื่อพบอาการดังกล่าวให้ตัดใบที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้ง พร้อมล้างมือและอุปกรณ์ให้สะอาดก่อนนำไปใช้งานต่อไป

“ หนอนชอนใบ” เป็นศัตรูสำคัญของบัวประดับ หนอนชอนใบ เป็นหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง หลังจากแม่ผีเสื้อวางไข่ไว้ใต้ใบหรือขอบใบ เมื่อฟักออกเป็นตัวจะเจาะเข้าไประหว่างชั้นใบดูดกินน้ำเลี้ยง มองเห็นจากภายนอกเป็นเส้นคดโค้งวาวเป็นมัน    วิธีกำจัด คือ  ตัดใบที่พบการเข้าทำลาย เผาหรือฝังดิน เพื่อทำลายไข่และตัวอ่อนของแมลง หากระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยโมโนโครโตฟอส หรือมาลาไทออน อัตรา 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว 2 ครั้ง ทุกสัปดาห์ การระบาดของหนอนชอนใบจะหมดไป

การขยายพันธุ์บัว

บัวประดับสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การแยกหน่อหรือเหง้า  การแยกไหล และ การเพาะเมล็ด

1.การแยกหน่อหรือเหง้า เหมาะสำหรับบัวชนิดที่มีเหง้า โดยตัดแยกหน่ออ่อนยาว 8-10 เซนติเมตร ตัดสางรากออกบ้าง นำปลูกลงในกระถาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20-25 เซนติเมตร ปลูกลงในดินที่เตรียมไว้ลึก 4-5 เซนติเมตร อัดดินโดยรอบพอแน่นให้ตั้งตัวได้ เติมน้ำลึก 5-10 เซนติเมตร เมื่อเห็นว่าต้นสมบูรณ์และเติบโตดีจึงนำลงปลูกในภาชนะที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้

2.วิธีแยกไหล ใช้กับบัวชนิดที่มีไหล ส่วนใหญ่เป็นบัวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน ด้วยวิธีตัดไหลที่มีต้นอ่อนเกิดขึ้นแล้วให้มี 2-3 ข้อ นำปลูกลงดินในกระถางลึก 3-5 เซนติเมตร รอจนเติบโตแข็งแรงดีจึงนำลงปลูกในแหล่งที่ต้องการได้

3.วิธีการเพาะเมล็ด โดยทั่วไปไม่นิยมนำมาปฏิบัติกัน เนื่องจากยุ่งยาก ซับซ้อน ยกเว้น กรณีที่มีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อต้องการลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ เริ่มจากเลือกต้นพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่น เช่น รูปทรงของดอก สีของดอก และความทนทานต่อโรคโดยธรรมชาติของบัว ดอกจะเป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรเพศเมียจะพร้อมให้การผสมเกสรก่อนเพศผู้ 1-2 วัน ให้สังเกตเกสรเพศเมียจะอยู่วงในของดอก เมื่อดอกเริ่มบานให้ขลิบตัดเกสรเพศผู้ทิ้ง แล้วคลุมด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาล นำเกสรเพศผู้จากดอกอื่นที่บานแล้ว 2 วัน โดยใช้พู่กันแตะเกสรเพศผู้แล้วนำไปป้ายลงบนเกสรเพศเมียของดอกที่เตรียมไว้ แล้วคลุมด้วยถุงกระดาษเช่นเดิม ดอกที่ผสมติดจะพัฒนาเป็นฝักในเวลาต่อมา

เมื่อเมล็ดแก่จึงนำไปเพาะลงในภาชนะใส่ดินเหนียวที่สะอาด ไม่มีเศษซากพืชและกลิ่นเหม็น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25-30 เซนติเมตร มีดินในกระถางปริมาตรครึ่งหนึ่งของกระถาง ปรับผิวหน้าดินให้เรียบ วางเมล็ดลง กดให้จมลงดินตื้นๆ ป้องกันเมล็ดลอยขึ้น เติมน้ำลงในกระถางให้มีระดับน้ำลึก 7-10 เซนติเมตร เก็บกระถางในร่มรำไร เปลี่ยนน้ำทุก 5-7 วัน ป้องกันน้ำเน่าใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน เมล็ดบัวจะงอกเป็นต้นอ่อน ดูแลจนมีใบ 2-3 ใบ ให้แยกปลูกในภาชนะ หรือสถานที่ต้องการ คัดเลือกต้นที่ให้ดอกที่มีดอกสีสดสวยไว้ นำไปจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ที่กองคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561