หม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นพืชยุคไดโนเสาร์

ความฝันของมนุษย์เงินเดือนคือได้ไปเที่ยวสูดอากาศบริสุทธิ์ในป่าธรรมชาติยามเมื่อมีวันหยุดยาว หลังจากที่ผจญกับชีวิตซ้ำซากและอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษในเมืองใหญ่ บ้านเราถ้าหน้าหนาวก็จะไปเที่ยวภาคเหนือ ภาคอีสาน เพื่อสัมผัสลมหนาว ถ้าเป็นหน้าร้อนต้องนึกชายทะเลภาคตะวันออกหรือภาคใต้ ถ้าอย่างนั้นเราลงภาคใต้กันเลยนะครับ

ช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หนุ่มๆ ขบวนการท่องเที่ยวของผมได้ชักชวนไปเที่ยวเกาะคอเขา ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เกาะคอเขาตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ราบเรียบคล้ายสันทราย ด้านฝั่งตะวันตกของเกาะหันหน้าสู่ทะเลอันดามัน ส่วนด้านฝั่งตะวันตกเป็นป่าโกงกาง เกาะยาวประมาณ 15 กิโลเมตร กว้าง 5 กิโลเมตร ที่นี่เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ เมื่อหลายร้อยปีก่อนมีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก สันนิษฐานว่าอาจเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือแห่งหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย เพราะพบซากตึกโบราณก่อด้วยอิฐ เศษเครื่องแก้วของเปอร์เซีย เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ถัง และลูกปัดสมัยโบราณ เรื่องนี้ไว้วันหลังค่อยมาเล่าสู่กันฟัง

เพราะจุดประสงค์สำคัญไม่ได้มาเกาะคอเขาเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์แต่มาเพื่อดูธรรมชาติ แต่เนื่องจากเรามาในช่วงบ่ายทำให้มีเวลาบนเกาะคอเขาไม่นานนัก ฝนยังคงปรอยๆ และทะเลมีคลื่นทำให้เราไม่อยากข้ามฟากตอนกลางคืนสักเท่าไร เราจอดรถไว้ที่ท่าเรือข้ามเรือขนาดเล็กที่บรรทุกคนและรถเครื่อง (รถจักรยานยนต์) เท่านั้น ผมนั่งไปด้วยความไม่สบายใจนักเพราะแทบจะเหมือนกันทุกที่ของเรือโดยสาร ตามมาตรฐานในประเทศไทยคือไม่มีเสื้อชูชีพและห่วงยาง

คุณณรงค์

ใช้เวลา 10-15 นาทีก็ถึงเกาะ เห็นชาวบ้านและนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกไม่กี่คน ขอบอกว่าเหมาะกับการพักผ่อนเป็นส่วนตัวจริงๆ เราเหมารถเข้าไปถนนเส้นกลางเกาะ แล้วให้ปล่อยเราลงตรงที่หมายตามที่นักพฤกษศาสตร์อิสระเพื่อนเราที่ชื่อ คุณณรงค์ ครองชนม์ หรือ คุณเล็ก กำหนด เพราะคุณเล็กชอบปลูกกล้วยไม้และหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาก และมีความเชี่ยวชาญหม้อข้าวหม้อแกงลิงบริเวณภาคใต้แทบทั้งหมด ด้วยความเป็นลูกเกษตรแม่โจ้ที่รักต้นไม้และธรรมชาติเราจึงมาดูหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้วันนี้

สภาพพื้นที่บนเกาะคอเขาวันนั้นที่เราไปเป็นช่วงปลายปี ก็ยังฝนตกโปรยปรายเล็กน้อย มอสส์เขียวที่กระจายอยู่ตามใต้ต้นไม้พุ่มเล็กๆ ก็ยังมีให้เห็น ต้นหยาดน้ำค้าง เริ่มเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นหย่อมๆ ตามพื้นทรายละเอียดชั้นบน ดูขาวโพลนไปหมด ต้นหยาดน้ำค้างเล็กๆ กำลังผลิต้นเหมือนผลิดอก ต้นสีแดงสดเหมือนใครมาบ้วนน้ำหมากกระเซ็นทั่วไป จัดกับพื้นทรายสีขาวยิ่งดูชัดเจนมาก พืชบ้างต้นไม่รู้จักแต่มีขนาดเล็กมากกำลังออกดอกสีสวย แต่บังเอิญกล้องที่เอาไปไม่สามารถบันทึกภาพได้เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก จำเป็นต้องใช้กล้องที่มีคุณภาพและเลนส์ซูม จึงสามารถดึงภาพออกมาได้เป็นที่น่าเสียดาย

 

ทุ่งหญ้าสะวันนาบนเกาะคอเขา

จุดประสงค์ที่ไปวันนี้คือไปดูต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่อยู่ในธรรมชาติที่บนเกาะคอเขา จากจุดบนถนนที่รถเช่าปล่อยเราลงเดินเข้าไปก็เห็นสภาพธรรมชาติไปเรื่อยๆ บนเกาะคอเขาเป็นพื้นที่คล้ายกับสภาพทุ่งหญ้าสะวันนา เพียงแต่พื้นของเราเป็นทรายบนหน้าส่วนลึกลงไปเป็นดินดำ พบทุ่งหญ้าและต้นไม้พุ่มเตี้ยประปราย อยู่เป็นกลุ่มห่างๆ กัน ทุ่งหญ้าแบบนี้พบได้ในทวีปแอฟริกาและออสเตรเลีย ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พอมีให้เห็น ในแผนที่ของประเทศไทยมักระบุว่าเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

ในป่าโปร่งแถบนี้เป็นป่าไม้เบญจพรรณ ซึ่งมี ต้นเสม็ด ต้นพะยอม ต้นยางนาเป็นไม้ใหญ่ของที่นี่ ต้นลูกธูปกำลังออกดอกสีม่วงแดงสวยงาม ต้นลูกธูปเป็นชื่อเรียกภาษาท้องถิ่น ในภาษากลางอาจเป็นต้นโคลงเคลงช้าง ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจ ต้นชบาช้างซึ่งมีใบขนาดใหญ่แต่ตอนเราไปดอกโรยแล้วเหลือแต่ผล จึงไม่สามารถถ่ายรูปมาให้ดูได้

ไลเคนใต้ต้นไม้
หยาดน้ำค้าง

บนต้นไม้ขนาดย่อมนี้ยังมีกล้วยไม้หลายชนิดให้ดู เช่น แส้พระอินทร์หรือหวายตะมอย dendrobium crumenatum เป็นกล้วยไม้สกุลหวายพื้นเมืองที่จังหวัดพังงามีอยู่ทั่วไป กล้วยไม้ชนิดนี้ดอกสีขาวเล็กๆ มีกลิ่นหอมมาก ถ้าดอกบานจะได้กลิ่นทันทีเวลาเดินป่า แต่เสียดายกล้วยไม้ชนิดนี้บานเพียงแค่วันเดียว วันที่ไปเจอแต่ต้น ดอกไม่มีบาน แต่โชคดีเจอกล้วยไม้สกุลสิงโตรวงข้าว Bulbophyllum ชนิดหนึ่ง แต่ไม่กล้าฟันธงว่าเป็นชนิดไหนเพราะคล้ายๆ กันมาก

ส่วนหม้อข้าวหม้อแกงลิงพระเอกของเรื่องนี้ต้องเข้าไปไกลกว่านี้ตามทางได้แต่ชมต้นไม้ไปเรื่อยๆ มาถึงบริเวณหนึ่ง คุณเล็กบอกว่ามีรอยเสือ เป็นต้องสะดุ้ง แต่เป็นเสือปลาดูรอยเท้าแล้วมีขนาดแค่ตัวเท่าหมาเท่านั้นเองค่อยคลายใจหน่อย หลังจากนั้นก็เริ่มเห็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงประปราย จนเดินลึกเข้าไปเรื่อยจึงเห็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้หนองน้ำจึงพบเป็นจำนวนมาก

 

หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชยุคไดโนเสาร์

หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชยุคไดโนเสาร์ ถ้าอยู่ที่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมีอายุได้เป็นหลายสิบปี คุณเล็ก บอกว่า “ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีเหง้ารากสะสมอาหารเป็นเถาเลื้อย ถ้าพื้นที่มีสภาพแห้งแล้งต้นจะตาย เมื่อความชื้นเหมาะสมก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ ต้นที่มีอายุมากจะเป็นเถาเลื้อยเกาะกับสิ่งที่อยู่ใกล้ไต่ขึ้นไปบนยอด ต้นเป็นพืชชนิดไม่สมบูรณ์เพศ ต้นตัวเมียกับต้นตัวผู้อยู่คนละต้นกัน แต่ทั้งสองต้นจะมีหม้อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของใบ ต้นตัวเมียช่อดอกจะมีรังไข่ ส่วนต้นตัวผู้จะมีอับเรณูที่เก็บเกสรตัวผู้ จึงจำเป็นต้องมีพาหะในการผสมพันธุ์ ซึ่งได้แก่แมลงเกือบทุกชนิดในบริเวณนั้น พืชกินแมลงจะมีถิ่นกำเนิดในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งและดินไม่ดี การได้ธาตุอาหารอย่างเดียวโดยทางรากนั้นไม่พอเพียงเนื่องจากดินไม่ค่อยมีสารอาหารจึงจำเป็นต้องมีหม้อขึ้นมาเพื่อดักแมลงมาเพื่อใช้สังเคราะห์อาหารอีกด้วย”   หม้อของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง มีหม้อสองหม้อ หม้อล่างจะสังเกตว่ามีสายดิ่งอยู่หน้าหม้อ ปากหม้อจะผลิตน้ำตาลล่อแมลงเดินดินที่อยู่พื้นล่างเข้ามากิน ส่วนหม้อบนจะมีสายดิ่งอยู่ด้านหลัง และผลิตน้ำตาลและกลิ่นเหม็นหรือหอมแตกต่างกันเพื่อล่อแมลงปีกบินเข้ามากิน หลังจากนั้น หม้อก็จะปล่อยสารย่อยสลายซากแมลงเหล่านั้นเพื่อดูดกลืนสารอาหาร อายุหม้อใบหนึ่งจะมีอายุประมาณ 4 เดือน

 

ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง 3 สายพันธุ์ ของเกาะคอเขา

  1. มิลาบิลิส (Mirabilis) หม้อบนจะมีสีเขียวอมชมพู หม้อล่างมีสีชมพูแดง หม้อมีเอวกิ่ว ไม่มีจุด ขนาดเล็ก พบทั่วไปเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย

    อมาบิลิส
  2. ไวกิ้ง (Viking) พบที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา และจังหวัดตรัง ทรงกลมคล้ายเรือไวกิ้ง มีสีแดง แต่หม้อบนจะยาวกว่าและสีอ่อนกว่าหม้อล่าง
  3. อันดามันนา (Andamana) พบที่เกาะคอเขาแห่งเดียว หม้อบนจะยาวสีเขียวอมเหลือง หม้อล่างมีสีแดง ปากเขียวหรือลาย

เกาะคอเขาเป็นสถานที่ที่ยังมีธรรมชาติหลงเหลืออยู่มาก เนื่องจากความเจริญยังรุกเข้าไม่ถึง สภาพพื้นที่ยังรกร้างว่างเปล่าเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนที่อยู่อาศัยค่อนข้างเบาบาง มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาพักบ้าง เมื่อพบความเป็นส่วนตัว ไม่มีคนพลุกพล่านก็อยากกลับมาเที่ยวใหม่ บนเกาะมีโรงแรมที่ทันสมัยไว้บริการนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ

สำหรับวันที่ไปนั้นเนื่องจากเวลากระชั้นชิดมาก ไม่มีโอกาสสัมผัสหาดทรายบนเกาะเลย จึงไม่สามารถบรรยายบรรยากาศหาดทรายบนเกาะคอเขาให้ฟังได้ แต่วันหลังมีโอกาสจะไปหาเรื่องมาเล่าให้ฟังอีกโดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ของเกาะคอเขาที่เป็นท่าเรือในสมัยโบราณ และหวังว่าการเขียนเรื่องนี้คงไม่ได้ชี้เป้าให้นักทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปเสาะแสวงหาหม้อข้าวหม้อแกงลิงจากธรรมชาติมาเป็นของส่วนตัว เพราะปัจจุบันเราสามารถขยายพันธุ์ในโรงเรือนได้แล้วและมีการผสมข้ามชนิดเป็นต้นใหม่ๆ ได้แล้ว

สำหรับท่านที่สนใจเรื่องการปลูกเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงและการปรับปรุงพันธุ์ สามารถติดต่อ คุณณรงค์ ครองชนม์ ได้ทางเฟซบุ๊กชื่อเดียวกันนี้ และโทรศัพท์ (084) 101-1385