“หลากหลายพรรณไม้ในวัดในกรุงเทพมหานคร” ผลงานวิจัยทรงคุณค่า ให้คนไทยอนุรักษ์ต้นไม้

ผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยอีกเรื่องหนึ่งที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ทั้งเกษตรกรรวมทั้งบุคคลทั่วไป ได้แก่ ผลงานวิจัยชื่อ “การสำรวจพรรณไม้ในวัดในกรุงเทพมหานคร” ซึ่งทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2551-2552 และ “พรรณไม้เด่นในวัดในกรุงเทพมหานคร” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างปี 2553-2555 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ หรือ อาจารย์วิชัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งท่านยังเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สถาบันดังกล่าวด้วย ในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

นอกจากนี้ อาจารย์วิชัยได้จัดทำงานวิจัยขึ้นโดยได้รับการพระบรมราชานุเคราะห์จัดพิมพ์งานวิจัยขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ อาจารย์วิชัยได้ทำการสำรวจพรรณไม้ในวัดในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 238 วัด โดยใช้ชื่อเอกสารเผยแพร่ว่า “หลากหลายพรรณไม้ในวัดในกรุงเทพมหานคร”

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพบปะพูดคุยขอความรู้กับอาจารย์วิชัย ซึ่งก็ได้รับความเมตตาจากท่านเล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่ท่านชอบศึกษาเรื่องต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก ทำให้ท่านมีข้อมูลเรื่องพันธุ์ไม้ต่างๆ และเมื่อเห็นก็บอกได้ทันทีว่า ต้นไม้ต้นนี้คือต้นอะไร ซึ่งแรงบันดาลใจที่ผลิตงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมาก็เพราะความชอบส่วนตัว ประกอบกับมองว่า ต้นไม้ในวัดต่างๆ ยังไม่เคยมีใครรวบรวมว่ามีพันธุ์ไม้อะไรบ้าง

“วันหนึ่งผมได้มีโอกาสไปร่วมปฏิบัติธรรมที่วัดปัญญานันทาราม ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ก็พบหลวงพี่ซึ่งมีหน้าที่วิทยากรนำชมบริเวณวัดเพื่อศึกษาคำคม คำพังเพย และ สุภาษิตต่างๆ ที่ทางวัดและหน่วยงานนำมาติดไว้ เห็นว่าผมทราบเรื่องต้นไม้ในวัด คือมองไปทางไหนผมก็บอกได้ว่าต้นอะไร และมีสมาชิกสูงวัยท่านหนึ่งแนะนำว่า ให้รวบรวมชื่อต้นไม้ถวายวัด เพื่อใช้ตอบผู้เข้าเยี่ยมชม จึงเป็นคำพูดที่จุดประกายให้ทำงานวิจัยสำรวจพรรณไม้ในวัดขึ้นมา” อาจารย์วิชัย เล่าให้ฟัง

นับเป็นความสามารถบวกกับพรสวรรค์ของอาจารย์วิชัยที่มีมาตั้งแต่เยาว์วัย และนับเป็นบุคลากรที่หายากในประเทศไทยที่จะทราบเรื่องต้นไม้เกือบทุกสายพันธุ์ด้วยการดูด้วยตาเปล่า

สำหรับเนื้อหาในงานวิจัยนั้นระบุว่า วัดในกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากถึง 433 วัด ทุกวัดต่างก็ปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณวัดไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับพื้นที่และวัตถุประสงค์ในการเลือกปลูกพรรณไม้ที่คล้ายกัน เช่น พรรณไม้เกี่ยวกับพุทธประวัติ พรรณไม้สมุนไพร พรรณไม้มงคล พรรณไม้ในวรรณคดี พรรณไม้หอม พรรณไม้ให้ร่มเงา พรรณไม้ที่ให้ความสวยงาม และพรรณไม้ที่เป็นผักผลไม้ เป็นต้น

ส่วนพรรณไม้ที่นำมาปลูกในวัดก็แตกต่างกัน โดยอาจารย์วิชัยระบุว่า ความแตกต่างนี้ทำให้หลายๆ วัดเป็นแหล่งสะสมพรรณไม้หลากหลายชนิด ซึ่งพรรณไม้ที่ทางวัดดูแลเอาใจใส่ในการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี ก็จะเจริญเติบโตได้ดีอยู่ในสภาพที่สวยงาม มีนกกาและสัตว์ต่างๆ มาอาศัยอยู่จำนวนมาก จนทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติได้

ขณะเดียวกัน ยังมีพรรณไม้ที่พบในวัดจำนวน 100 วัด ในกรุงเทพมหานครที่เป็นพรรณไม้ต้น (tree) จำนวนมากถึง 277 ชนิด จากทั้งหมด 64 วงศ์ พรรณไม้ที่สำรวจพบบางชนิดเป็นพืชหายากและพบเพียงต้นเดียวใน 100 วัด!

นับเป็นข้อมูลที่มีค่ามากสำหรับประเทศไทย ในฐานะที่เป็นเมืองแห่งพุทธศาสนาสืบทอดกันมาช้านาน ผลงานวิจัยของอาจารย์วิชัยจึงเป็นมรดกตกทอดให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป

ข้อมูลจากงานวิจัยยังพบว่า ผลการสำรวจพรรณไม้เด่นในวัดในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 238 วัด แบ่งตามเขตการปกครองได้ 33 เขต พบพรรณไม้เด่น (outstanding plants) จำนวน 162 ชนิด โดยมีพืชหายาก (rare plant) ตามประกาศของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช 9 ชนิด ได้แก่ กฤษณา ขยัน (หญ้านางแดง) คำมอกหลวง จำปีสิรินธร ใบสีทอง มหาพรหม สะตือ อรพิม และอโศกศรียะลา

นอกจากนี้ ยังมีพรรณไม้เด่นหลายชนิด ที่แม้ไม่ได้เป็นพืชหายากแต่ก็หาดูได้ยาก และพบอยู่เพียงวัดเดียว ซึ่งมีมากถึง 49 ชนิด ได้แก่ กระบก, กระบาก, การบูร, กระท่อม, กล้วยเทพนมไข่ดาว, คนทีเขมา, เจ้าหญิงสีชมพู, แจง, แฉลบแดง, ชิงชี่, ช้าแป้น, ดอกคำใต้, ตีนเป็ด, ฝรั่ง, ตะคร้อหนาม, ตะคร้ำ, ถ่อน, น้อยโหน่ง, น้ำเต้าญี่ปุ่น, ผลมหัศจรรย์, ฝาง, ฝีหมอบ, พญามูลเหล็ก, พวงประดิษฐ์, พันจำ, มะกอกเกลื้อน, มะเกลือเลือด, มะค่าโมง, มะแพร้ว, มะริด, เม่าหลวง, ย่านาง, รามใหญ่, รักซ้อน, รัง, ลำพูป่า, เหรียง, อโศกระย้า, อโศกอินเดียใบเล็ก และเอกมหาชัย

ส่วนที่เหลือแม้จะเป็นพรรณไม้ที่พบในหลายวัดแต่ก็เป็นไม้เด่นที่มีค่าไม่น้อยไปกว่ากลุ่มแรกๆ ที่กล่าวมาแล้ว เช่น รวงผึ้ง จากวัดมกุฎกษัตริยาราม กับวัดวิมุตยาราม รัตนพฤกษ์ จากวัดนาคปรก และวัดบางปะกอก เป็นต้น

ที่สำคัญอาจารย์วิชัยลงลึกถึงสถานภาพของพรรณไม้ในวัด เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งต่อวัดเองและต่อพุทธศาสนิกชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจด้านสิ่งแวดล้อม โดยการสำรวจของอาจารย์วิชัยต้องทำการสำรวจวัดละ 3 ครั้ง ตามฤดูกาล เพื่อให้ครบวงจรการเจริญเติบโต ทั้งเรื่องของใบ ดอก ผล และเมล็ดในรอบ 1 ปี พร้อมกันนั้น ได้สังเกตการปลูก การบำรุงรักษา และการปฏิบัติต่างๆ ที่มีต่อพรรณไม้ในวัด ดังนี้

  1. มีหลายวัดที่จัดพื้นที่ปลูกต้นไม้แบบสวนป่า และแบ่งหน้าที่พระภิกษุ สามเณร ให้ทำหน้าที่ต่างๆ ในการบำรุงรักษาพรรณไม้ ตัวอย่างที่น่ายกย่องอย่างยิ่งคือ วัดนางชี จะมีแผนกปัดกวาด เก็บกวาดสวนป่าและแปลงปลูก ตัดแต่งพรรณไม้ดอก ไม้ประดับ รดน้ำใส่ปุ๋ย และแผนกจัดหาพรรณไม้มาปลูกเพิ่มเติม ทำให้ต้นไม้ทุกชนิดสดชื่นสวยงาม นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวัดที่เอาใจใส่พรรณไม้เป็นอย่างดี ได้แก่ วัดบุปผาราม, วัดหงส์รัตนาราม, วัดราชบพิธ, วัดเทพศิรินทราวาส, วัดพระศรีมหาธาตุ, วัดเครือวัลย์, วัดโสมนัสวิหาร, วัดภคินีนาถ เป็นต้น
  2. มีหลายวัดที่ติดชื่อต้นไม้ไว้เกือบทุกต้น จนสามารถเข้าศึกษาเรียนรู้ได้ เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดราชาธิวาส, วัดราชบพิธ, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดสร้อยทอง, วัดโมลีโลกยาราม, วัดสามพระยา, วัดลานบุญ, วัดภคินีนาถ และวัดเทพศิรินทราวาส เป็นต้น
  3. วัดในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ จะหารายได้เข้าวัดจากการทำลานจอดรถ โรงรถ มีทั้งบริการชั่วคราว และบริการรายเดือน โดยแยกเป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีกิจกรรมฌาปนกิจศพ จึงจำเป็นต้องมีลานจอดรถให้เพียงพอเพื่ออำนวยความสะดวก สำหรับประชาชนที่มาร่วมพิธี ส่วนวัดที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ชุมชนแออัดต้องมีลานจอดรถและโรงรถเพื่อบริการประชาชนที่มีบ้านอยู่อาศัยอยู่ในชุมชน แต่ไม่มีที่จอดรถ กิจกรรมนี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่วัดปีละไม่น้อย สังเกตได้จากวัดที่มีพื้นที่วัดไม่น้อย แต่มีพรรณไม้น้อยชนิด มีบางวัดที่มีจำนวนพรรณไม้เพียง 5 ต้น เพราะทางวัดเอาพื้นที่เกือบทั้งหมดทำเป็นลานจอดรถเพื่อบริการพ่อค้า แม่ค้า และพ่อบ้านแม่บ้านที่มาซื้อขายในตลาด ทั้งหมดนี้เป็นข้อบ่งชี้จำนวนและสภาพของพรรณไม้ในวัด
  4. หลายวัดมีประชาชนไปแอบแฝงใช้พื้นที่ของวัดอยู่อาศัย อยู่ชั่วคราวบ้าง แบบถาวรบ้าง ทำเพิงอยู่อาศัย ตอกตะปูตามต้นไม้ ตัดกิ่งก้านเพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะหน้า วางเข่ง กล่อง ลัง รถเข็นตามร่มเงาของต้นไม้ เทเศษอาหารและสิ่งปฏิกูลลงที่โคนต้น รวมทั้งขับถ่ายลงไปด้วย ทำให้ต้นไม้อยู่ในสภาพที่รอวันตาย

ในหนังสือ “พรรณไม้ในวัด” มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประเทศไทย มีวัดอยู่ 32,710 วัด แบ่งเป็น 4 นิกาย ได้แก่ มหานิกาย จำนวน 30,890 วัด, ธรรมยุต 1,799 วัด, อนัมนิกาย (วัดญวน) 12 วัด และวัดจีน 9 วัด

จังหวัดที่มีวัดมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 1,675 วัด, อุบลราชธานี 1,425 วัด, ร้อยเอ็ด 1,314 วัด, เชียงใหม่ 1,217 วัด, ขอนแก่น 1,197 วัด, อุดรธานี 1,105 วัด, ศรีสะเกษ 909 วัด, สกลนคร 885 วัด, เชียงราย 880 วัด และมหาสารคาม 845 วัด ขณะที่กรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 433 วัด

วัดที่ได้รับการสำรวจพรรณไม้ในวัด เฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีการสุ่มสำรวจ 50 วัด ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบวงจรทั้งรายละเอียดของใบ ดอก ผล และอื่นๆ ซึ่งบางวัดต้องไปสำรวจซ้ำกว่า 10 ครั้ง เพราะมีไม้เด่นหลายต้น แต่ละต้นมีฤดูกาลของการออกดอกติดผลต่างกันออกไป โดยคราวนี้อาจารย์วิชัยเลือกสำรวจเฉพาะต้นไม้ หรือ Tree เนื่องจากทำได้ยากกว่ากลุ่มไม้พุ่ม (Shrub) ไม้ล้มลุก (Herb) และอื่นๆ ซึ่งพรรณไม้ที่คัดเลือกมาลงในหนังสือเป็นไม้เด่น ไม้พุทธประวัติ ไม้ต่างถิ่น หรือไม้ป่าที่ถูกนำมาปลูกในวัดด้วยที่มาต่างๆ กัน

สำหรับชนิดของพรรณไม้ในวัด ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่วัดปลูกขึ้นโดยกรรมการวัด ชาวบ้าน และพระคุณเจ้า โดยเน้นปลูกพรรณไม้ในพุทธประวัติ ซึ่งมีถึง 25 ชนิด โดยทางวัดปลูกถวายเป็นพุทธบูชา ได้แก่ สาละ, โพธิ์, นิโครธ, จิก, เกด, หว้า, กุ่มบก, ประดู่ลาย, สีเสียด, ตะเคียน, สะเดาอินเดีย, มะม่วง, ส้ม, มะขามป้อม, ปาริฉัตร, ตาล, มะตูม, ไผ่, ฝ้าย, จันทน์แดง, สมอ, มณฑา, หญ้ากุศะ, หญ้าแพรก และบัวหลวง ซึ่งพบมากเพียง 4-5 ชนิดแรก

ขณะที่พิกุลซึ่งอาจารย์วิชัยระบุว่า เชื่อกันว่าเป็นไม้วัด บางส่วนเป็นต้นไม้ทรงปลูก และเป็นต้นไม้ที่ปลูกโดยผู้มีเกียรติเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ ได้แก่ ไม้ป่าหลายชนิดที่มีทรงพุ่มใหญ่ แข็งแรงทนทาน มีอายุยืนและดอกสวยงาม เช่น สะดือ, ยางนา, พะยอม, หูกวาง รวมทั้งไม้ยอดนิยม เช่น นนทรี, หูกระจง, สัตตบรรณ, หางนกยูง, พระเจ้าห้าพระองค์ นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพร เช่น สมอไทย, สมอพิเภก และตะคร้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลงานวิจัยของอาจารย์วิชัย ยังลงรายละเอียดถึงส่วนประกอบของต้นพืช, ราก, วิสัยพืช, ชนิดของใบ, การเรียงใบ, รูปร่างใบ, ชนิดของดอก, ประเภทของผล, ชนิดของผล รวมไปถึงรากที่ดัดแปลงไป

งานวิจัยของอาจารย์วิชัย เมื่อได้รับตีพิมพ์เผยแพร่ ส่งผลให้อาจารย์วิชัยได้รับเชิญไปบรรยายในที่ประชุมต่างๆ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พรรณไม้ในวัดได้มากขึ้น โดยได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากทั้งพระภิกษุในวัดที่เกี่ยวข้อง จากนักพฤกษาศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในกรมป่าไม้ให้ความสนใจเข้าฟังการบรรยาย และขอรับงานเอกสารวิจัยไปรวบรวมไว้ในห้องสมุด

สิ่งที่อาจารย์วิชัยปรารถนาก็คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการทำให้พรรณไม้ในวัดได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพที่ดี มีอายุยืนยาว เพื่อเป็นแหล่งศึกษาทั้งด้านพฤกษศาสตร์, นิเวศวิทยา, ชีววิทยา, วนศาสตร์, เกษตรศาสตร์, สิ่งแวดล้อม และในแวดวงอื่นๆ ได้

นับว่า อาจารย์วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ ได้สร้างผลงานวิจัยอันมีคุณค่าต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติในระยะยาว เพราะไม่เพียงแต่เป็นผู้รวบรวมพรรณไม้นานาพันธุ์ในวัดวาอารามต่างๆ อย่างเป็นผู้นำในการสร้างกระแสที่ดีงาม ให้เกิดการตระหนักและเรียนรู้คุณค่าของพรรณไม้ในวัด ซึ่งวัดเปรียบเสมือนสถานที่รวบรวมทรัพยากรอันทรงคุณค่า หรือเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตในการเป็นแหล่งเรียนรู้พรรณไม้ของคนไทยทั้งประเทศ

ทุกวันนี้อาจารย์วิชัยอยู่ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้ในการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในป่าแก่งกระจาน ในโครงการของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี, เพชรบุรี, สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งทำงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

แม้ว่าอาจารย์วิชัยจะก้าวสู่การเป็นนักวิจัย แต่อาจารย์วิชัยยังมีโต๊ะนั่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยได้นัดผู้เขียนให้ไปสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัย พร้อมกับมอบหนังสือดีๆ 5 เล่ม หนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง “พรรณไม้ในวัด”

ผลงานวิจัยของอาจารย์วิชัย นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านวิชาการแล้ว ยังทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงคุณค่าของต้นไม้ในวัด ซึ่งมีความหมายทั้งในพุทธประวัติ และให้ความอิ่มเอมใจกับผู้ได้รับร่มเงา