กาซะลองคำ

ถ้ากาจะ “ลอง” ก็คือ “ปีบ” แต่ถ้าเป็น “ปีบทอง” กาก็จะ “ลองซักคำ”          

ชื่อวิทยาศาสตร์ Radermachera ignea

ชื่อสามัญ Tree Jasmine

ชื่อวงศ์ Bignanoceae

ชื่ออื่นๆ ปีบทอง สะเภา สำเภาหลาม กากี จางจืด ต้นอ้อยช้าง แคะเป๊ะ

คะเจ้าเป็นสาวเหนือสุดแดนสยาม เมืองอารยธรรมล้านนา ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ

ดีใจที่เขาจัดให้คะเจ้าเป็นต้นไม้พระราชทาน ปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดเชียงราย ชื่อของคะเจ้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่อง กาจะลอง หรือ ไม่ลองซักคำ จึงทำให้ชื่อเรียกสับสน ระหว่าง “ต้นปีบ” กับต้น “กาซะลองคำ” คะเจ้าจึงขอชี้แจงว่า จริงๆ แล้ว ชื่อคะเจ้าที่เรียก กาซะลองคำ คืออีกชื่อ เรียกว่า “ปีบทอง”

แต่ถ้าเป็น “ต้นปีบ” เฉยๆ คือ “กาซะลอง” เฉยๆ ไม่มี “คำ” นะ

สรุปจำง่ายๆ ชื่อปีบคือกาซะลอง ส่วนปีบทองคือกาซะลองคำ จ๊ะ

ความจริงถ้าเขาไม่เรียกให้สับสน คะเจ้าอยากให้เขาเรียกชื่ออื่นที่ง่ายๆ เช่น สะเภา

ก็ดูแปลกดี แต่ไม่เอาชื่อ กากี หรือ จางจืด นะจ๊ะ เพราะความหมายน่ากลัว แต่ถ้าเรียก อ้อยช้าง ยิ่งน่ากลัวใหญ่เลย เอาเป็นว่าจะเรียกอะไรก็ช่าง แต่อยากอธิบายว่า ที่ต้องเรียกกาซะลองคำ ว่า ปีบทอง ก็เพราะมีดอกสีเหลืองทอง หรือสีส้มแสด น้อยใจอยู่นิดหนึ่งตรงที่ว่า ดอกคะเจ้าไม่มีกลิ่นหอม แต่สีสวยสด ส่วนดอกน้องปีบ มีสีขาวนวลแต่หอมชื่นใจ ถ้าใครรักแบบไหน หรือรักพี่เสียดายน้อง ก็ปลูกทั้งสองต้นก็แล้วกันนะจ๊ะ อ้อ! อีกเรื่องคือส่วนใหญ่ที่เห็นในเอกสาร ตำรา หรือในอินเตอร์เน็ต เขียนว่า “กาสะลอง” นั้น คะเจ้าไม่รู้นะ แต่คะเจ้าขอเขียนชื่อตามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า  “กาซะลองคำ”

ความภูมิใจไม่เพียงเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเชียงรายหรอกนะ แต่คะเจ้าคุยได้เลยว่าเป็นสาวทรงพุ่มงาม แน่นทึบ ให้ความร่มรื่น ดอกสวย ออกดอกตลอดปี ยิ่งอากาศหนาวยิ่งชอบ ทำให้คะเจ้าได้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยถึง 2 แห่ง คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อีกทั้งชื่อ “ปีบทอง” ก็มีความหมายถึงความเรียบง่าย ร่มเย็น แข็งแรง แต่รุดหน้าเสมอ ฟังแล้วน่าอิจฉาใช่ไหมละจ๊ะ

คะเจ้าแม้จะถูกจัดเป็นไม้ขนาดเล็ก เพราะสูงเพียง 5-15 เมตร แต่เรือนยอดก็สูงเป็นรูปหอกพุ่มสวย ผลัดใบ แต่ไม่พร้อมกัน ลำต้นเปลาตรง สีน้ำตาลอ่อน ผิวเปลือกขรุขระแตกลายคล้ายตาข่าย และขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ทั้งเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ และแยกหน่อได้ เปลือกต้มน้ำดื่ม ใบตำคั้นทาพอกรักษาแผลห้ามเลือด สำหรับดอกนำไปย้อมผ้าได้ หรือจะใช้ชุบแป้งทอดหรือจะลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ก็จะติดใจนะเจ้า

หากว่ากาจะ “ลอง” รับรองต้องตะลึง เมื่อเห็นดอกสีสวยซึ้ง ซึ่ง… “กาจะหลง” ซะมากกว่า

……………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2561