ผู้เขียน | อัญชิษฐา แสงบัว |
---|---|
เผยแพร่ |
เบญจมาศ (Chrysanthemum morifolium) เป็นไม้ตัดดอกที่มีมูลค่าการผลิตติดอันดับ 1 ใน 4 อันดับแรกของไม้ตัดดอกทั่วโลก มียอดการซื้อขายทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท เป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยในปี 2550 ญี่ปุ่นนำเข้าดอกเบญจมาศถึง 8,000 ล้านเยน (โครงการฐานข้อมูลการนำเข้าและความนิยมไม้ดอกและไม้ประดับไทยในญี่ปุ่น 2551) สำหรับในประเทศไทยดอกเบญจมาศมีราคาค่อนข้างแพง นิยมปลูกเลี้ยงและใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย ใช้เป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้ปลูกประดับสวน

คุณอนันต์ บุญมี ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางศูนย์ให้การสนับสนุนและส่งเสริมไม้ดอก ได้แก่ การปลูกไม้ดอกเบญจมาศซึ่งเป็นไม้ตัดดอกที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวง รวมทั้งพันธุ์ไม้ดอกชนิดอื่นๆ อาทิ ดอกแคลล่าลิลี่ ดอกอะกาแพนทัส และดอกคาร์เนชั่น ปัจจุบันมีการผลิตไม้กระถางด้วย…นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชผัก ไม้ผล ชา วานิลลา จากการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2525 สามารถลดพื้นที่การบุกรุกป่าจากอดีตซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ส่วนมากจะปลูกกะหล่ำปลีใช้พื้นที่กว่า 333 ไร่ เมื่อทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางได้ส่งเสริมเกษตรกรโดยเปลี่ยนมาปลูกผักในโรงเรือนทำให้สามารถลดพื้นที่เพาะปลูกได้ถึงร้อยละ 80 สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น จนสามารถเลี้ยงชีพด้วยตนเองได้ในปัจจุบัน
คุณสายันต์ ต้นพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ผลงานการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ต้านทานโรค ซึ่ง วว. และเครือข่ายบูรณาการวิจัยสำเร็จในครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของ วว. ในการสนับสนุนวงการไม้ดอกไม้ประดับของไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)

ทั้งนี้ เบญจมาศเป็นไม้ตัดดอกที่มีมูลค่าการผลิตสูง โดยมียอดการซื้อขายทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท สำหรับประเทศไทยสามารถปลูกเบญจมาศในหลายพื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย นนทบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย และนครราชสีมา แต่พื้นที่ปลูกก็มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสายพันธุ์เบญจมาศที่ใช้เป็นต้นพันธุ์ดั้งเดิม มีการปลูกเลี้ยงมายาวนาน และใช้พื้นที่ปลูกเดิมแบบซ้ำๆ กันมาหลายปี เป็นสาเหตุทำให้มีการสะสมโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งไวรัส ทำให้การผลิตเบญจมาศลดน้อยลง อีกทั้งประเทศไทยไม่มีการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาด ทำให้ไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้
ตัวเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพต้านทานโรคแห่งแรกของไทยพร้อมส่งเสริมเกษตรกรปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจหวังลดปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์สายพันธุ์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน/ส่งออกผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับไทยในตลาดโลก
เบญจมาศ วว.14 ต้านทานโรคราสนิม
ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวว่า ผลงานวิจัยการพัฒนาเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ เป็นการพัฒนากระบวนการกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของเบญจมาศทั้งที่มีอยู่แล้ว และเป็นการเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์สู่ระบบการผลิตไม้ดอกเบญจมาศ รวมทั้งสามารถใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ และทรัพยากรพันธุกรรมจากสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นวัตถุดิบต้นแม่พันธุ์ เพื่อการพัฒนาให้เกิดการกลายพันธุ์และสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยใช้สายพันธุ์ที่นักวิจัยจาก วว. ได้ปรับปรุงพันธุ์มาทดสอบปลูกเลี้ยง จำนวน 30 สายพันธุ์ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง พร้อมทั้งเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งทำการประเมินศักยภาพของสายพันธุ์ ความเหมาะสมทั้งด้านสีสัน รูปทรงดอก และความคงทนของดอก เพื่อที่จะนำไปส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอก

โดยข้อมูลงานวิจัยพบว่ามีสายพันธุ์เบญจมาศ จำนวน 5 สายพันธุ์ ที่ผ่านการประเมินและได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ค้าไม้ดอก นอกจากนี้ การทดสอบปลูกในพื้นที่ดังกล่าวยังได้สายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคอีก 1 สายพันธุ์ ทั้งนี้ สายพันธุ์เบญจมาศที่ได้รับการประเมินสามารถพัฒนาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ทำการปรับปรุงพันธุ์เบญจมาศด้วยวิธีการใช้สารก่อการกลาย คือ สาร EMS และวิธีการฉายรังสีแกมม่า ซึ่งแนวทางปรับปรุงพันธุ์ทั้ง 2 วิธีดังกล่าว ส่งผลให้สายพันธุ์เบญจมาศเกิดการกลายพันธุ์ในรูปแบบต่างๆ อีกหลากหลายลักษณะ ทั้งนี้ ต้องมีการนำสายพันธุ์ที่กลายมาศึกษาความคงทน สีสันดอก และประเมินความต้องการของกลุ่มเกษตรกรและผู้ค้าต่อไป
ทั้งนี้ จากการปลูกเบญจมาศทั้ง 30 สายพันธุ์ พบว่า มีสายพันธุ์เบญจมาศจำนวน 1 สายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรคราสนิมคือ สายพันธุ์ วว.14 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่พบการเกิดโรคราสนิมที่ต้นเบญจมาศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นโรค
สภาพภูมิอากาศที่เหมาะในการปลูกเบญจมาศนั้น มีทั้งอากาศหนาวเย็นและอากาศชื้น
ดินที่ใช้ในการปลูกต้องเป็นดินที่มีการปรับปรุงดินอยู่ทุกครั้งก่อนที่จะปลูก
โรคที่พบเจอมากในการทดลองปลูกเบญจมาศคือโรคราสนิม

การขยายพันธุ์
มีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการฉายรังสีแกมม่า เพราะสามารถช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ทำให้เกิดลักษณะที่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม เพื่อนำไปพัฒนาและถ่ายทอดแก่เกษตรกร
ขั้นตอนการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ต้านทานโรค
ขั้นตอนที่ 1 ใช้การปักชำต้นกล้า
ขั้นตอนที่ 2 พออายุ 2 สัปดาห์ ก็นำลงในแปลง
ขั้นตอนที่ 3 พออายุ 6 สัปดาห์ โรคระบาดเริ่มมา
ขั้นตอนที่ 4 เริ่มคัดเลือกพันธุ์ที่ติดโรคแล้ว และที่ไม่เป็นโรค
ขั้นตอนที่ 5 ศึกษาและคัดเลือกอีกรอบ
ขั้นตอนที่ 6 เลือกสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคได้ดีที่สุดคือ สายพันธุ์ วว.14 หรือ TISTR Yellow Resist มาจากการเพาะเนื้อเยื่อ และยังมีอีก 5 สายพันธุ์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ต้านโรคได้ แต่ไม่เท่า วว.14

เบญจมาศ จำนวน 6 สายพันธุ์
คัดมาจาก 30 สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิมได้ดี
- วว.6 หรือเรียกว่า TISTR Pink Postel
- 2. วว.14 หรือเรียกว่า TISTR Yellow Resist
- 3. วว.15 หรือเรียกว่า TISTR Pink loop
- วว.17 หรือเรียกว่า TISTR Brick
- วว.18 หรือเรียกว่า TISTR Center
- 6. วว.21 หรือเรียกว่า TISTR Spray
โดยทั่วไป หลังจากปลูกแล้ว 2 เดือนครึ่งก็สามารถเก็บดอกเบญจมาศได้ ที่สามารถเก็บได้เร็วเพราะว่าปลูกอยู่บนดอยที่มีสภาพอากาศที่เย็นตลอด
พันธุ์ใหม่ดีกว่าพันธุ์เดิม ตรงที่ รูปทรงดอก สีสัน และความคงทนของดอกที่มากขึ้น สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ดีกว่าของเก่า

มีการส่งเสริมให้กับเกษตรกรปลูกเบญจมาศอย่างไร
เกษตรกรที่จะเข้ามาซื้อพันธุ์ใหม่ไปปลูกได้นั้น ต้องเป็นสมาชิกของโครงการ
ถ้าสมัครสมาชิกก็จะมีการแนะนำวิธีการปลูก สอนเทคนิคการปรุงดินให้ทุกครั้งก่อนที่จะปลูก แต่ว่าเกษตรกร 1 คนสามารถซื้อได้แค่ 1 โรงเรือนเท่านั้น

เกษตรกรต้องลงทุนเองทุกอย่าง เช่น 1 โรงเรือนใช้เวลาในการปลูก 3 เดือน เป็นเงิน 1,500 บาท รวมค่าไฟอีก 500 บาท เท่ากับ 3 เดือนต้องจ่าย 2,000 บาท ไม่เสียค่าน้ำ รายได้ของเกษตรกร 100,000 บาท ต่อปีจากการทำกับโครงการ
น้ำที่ใช้ต่อมาจากภูเขา ส่งต่อมาที่จุดพักน้ำแล้วนำมาทำการเกษตรต่อ เลยทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการหลวงขุนวางไม่ต้องเสียค่าน้ำในการทำเกษตร
จากการวิจัย สามารถนำสายพันธุ์เบญจมาศที่ผ่านการคัดเลือกไปปลูกเลี้ยง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านไม้ดอกไม้ประดับ สำหรับจัดแจกันตกแต่งหรือจัดช่อดอกไม้ในงานต่างๆ และการปลูกเลี้ยงแบบไม้ดอกในกระถาง เพื่อใช้สำหรับตกแต่งในนิทรรศการต่างๆ นอกจากนี้ เทคนิคการใช้สารก่อกลายพันธุ์ (EMS) และการฉายรังสีแกมม่ายังสามารถช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้เกิดลักษณะที่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม เพื่อนำไปพัฒนาและถ่ายทอดแก่เกษตรกรปลูกเลี้ยงต่อไป
สอบถามรายละเอียดผลงานวิจัย ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. (ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ) โทร. (02) 577-9000 หรือ E-mail : [email protected] ในวันและเวลาราชการ