“กระถิน-ทางปาล์มน้ำมัน” วัสดุปลูกต้นทุนต่ำ ใช้ปลูกกล้วยไม้ ทดแทนกาบมะพร้าวได้ดีเยี่ยม

“กาบมะพร้าว” เป็นวัสดุปลูกหลักยอดนิยมในสวนกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย แต่ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว ทำให้ตัวเลขพื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ที่จำเป็นต้องใช้กาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก เพราะกาบมะพร้าวมีจำนวนน้อยลง ไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร แถมมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว

หาวัสดุปลูกตัวใหม่ ทดแทนกาบมะพร้าว

โดยทั่วไปเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย หลังจากปลูกไปแล้ว ทุกๆ 3-5 ปี จะต้องรื้อต้นกล้วยไม้เก่าและกาบมะพร้าวที่เป็นวัสดุปลูกออกเพื่อปลูกต้นใหม่ เนื่องจากกล้วยไม้มีจำนวนลำลูกกล้วยไม้มากและหนาแน่นขึ้น ทำให้การระบายอากาศไม่ดี และมีการสะสมโรคในลำต้นเก่าๆ ประกอบกับกาบมะพร้าวเริ่มผุและเปื่อยยุ่ย ทำให้ผลผลิตกล้วยไม้ลดลง เกษตรกรเจ้าของแปลงกล้วยไม้จำเป็นต้องรื้อแปลงกล้วยไม้เก่าและหาซื้อกาบมะพร้าวมาใช้ปลูกกล้วยไม้รอบใหม่ หากหาซื้อกาบมะพร้าวไม่ได้ จะต้องทิ้งแปลงกล้วยไม้ให้ว่างเปล่าและขาดแคลนรายได้ไปอย่างน่าเสียดาย

คุณสุวรรณ หิรัญวรวุฒิกุล (เสื้อลาย) เจ้าของสวนกล้วยไม้ กับผู้วิจัย คุณพุทธธินันทร์ จารุวัฒน์

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คุณพุทธธินันทร์ จารุวัฒน์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการศึกษาวิจัยวัสดุปลูกตัวใหม่มาใช้ทดแทนกาบมะพร้าว เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้

โดยทั่วไป “วัสดุหรือเครื่องปลูก” ทำหน้าที่ให้รากยึดเกาะเพื่อให้ลำต้นกล้วยไม้ตั้งต้น ไม่โอนเอนหรือล้ม  วัสดุปลูกกล้วยไม้ยังทำหน้าที่เก็บความชื้นและธาตุอาหาร เพื่อให้รากดูดนำไปใช้ ขณะเดียวกัน วัสดุปลูกยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศรอบๆ ระบบรากด้วย

ดังนั้น การเลือกวัสดุปลูกตัวใหม่ ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติที่จะช่วยให้ระบบรากและต้นกล้วยไม้เจริญงอกงามดีและต้องหาได้ง่าย ราคาถูก ทนทาน คือไม่ย่อยสลายเร็วเกินไป ปราศจากสารพิษเจือปนและสะดวกต่อการปลูก

คัดเลือกวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

คุณพุทธธินันทร์ ตั้งใจศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำ “วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร” จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ กระถิน ทางปาล์มน้ำมัน ทางสะละ เศษเหลือทิ้งจากสับปะรด ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ มาใช้ทดแทนกาบมะพร้าว เพื่อสร้างมูลค่าวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งเหล่านี้ โดยศึกษาจุดเด่นจุดด้อยของวัสดุปลูกตัวใหม่ เปรียบเทียบกับกาบมะพร้าว

ข้อดีของวัสดุเหลือทิ้งทั้ง 5 ชนิด คือ เป็นวัสดุปลูก ที่หาได้ง่าย ต้นทุนต่ำ ระบายน้ำได้ดี ไม่อุ้มน้ำจนแฉะ ช่วยให้ระบบรากและต้นกล้วยไม้เจริญเติบโตดี ไม่มีสารพิษเจือปน สะดวกต่อการใช้ปลูก สามารถนำมาอัดเป็นก้อนวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าวสำหรับปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายได้ แถมมีอายุใช้งานได้เกิน 3 ปี

การผลิตวัสดุปลูกตัวใหม่

คุณพุทธธินันทร์ ใช้เวลาศึกษาทดลองประมาณ 3 ปี เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 สิ้นสุดการทดลองในเดือนกันยายน 2558 โดยคุณพุทธธินันทร์ ได้นำตัวอย่างวัสดุทั้ง 5 ชนิด ไปทำการศึกษาวิธีลดขนาดและกระบวนการอัดก้อนวัสดุสำหรับปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย

ต้นกระถินสับย่อยเตรียมทำวัสดุปลูกกล้วยไม้

วัสดุปลูกประเภทต้นกระถินหรือกิ่งกระถิน จะใช้เครื่องหั่นย่อยกิ่งไม้ ส่วนทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน ทางปาล์ม ทางสะละและเศษเหลือทิ้งจากสับปะรด จะใช้เครื่องหั่นเส้นใย เพราะวัสดุปลูกเหล่านี้ มีลักษณะเป็นพืชเส้นใย เครื่องหั่นนี้ได้พัฒนาขึ้นมาโดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร

ทางปาล์มน้ำมันสับย่อยทำวัสดุปลูก

จากนั้นนำวัตถุดิบที่ได้ไปอัดเป็นก้อนสำหรับปลูกกล้วยไม้ โดยการสร้างบล็อกโมเดลสำหรับขึ้นรูป ขนาด 24x36x8 เซนติเมตร ซึ่งมีขนาดเท่ากับก้อนวัสดุปลูกกาบมะพร้าวที่ใช้กันทั่วไปในสวนกล้วยไม้ของเกษตรกร บล็อกดังกล่าวใช้ปูนซีเมนต์เป็นตัวประสานให้วัสดุเหลือทิ้งที่เตรียมไว้สามารถขึ้นเป็นวัสดุปลูกได้ และนำตัวอย่างก้อนวัสดุปลูกทั้งหมดไปทำการศึกษาวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี เพื่อทดสอบค่าต่างๆ ที่กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา

ทดลองปลูกกล้วยไม้จากวัสดุทดแทนกาบมะพร้าว

คุณพุทธธินันทร์ นำเครื่องวัสดุปลูกที่เตรียมไว้ไปทดลองปลูกในโรงเรือนกล้วยไม้ของเกษตรกรเพื่อศึกษาผลตอบสนองของต้นกล้วยไม้ในการเจริญเติบโตและออกดอก รวมถึงศึกษาอายุและการใช้งานของก้อนวัสดุปลูกแต่ละชนิด โดยทดลองใช้ปลูกทดแทนกาบมะพร้าวใน “สวนกล้วยไม้สุวรรณภูมิออร์คิด” ของคุณสุวรรณ หิรัญวรวุฒิกุล ตั้งอยู่เลขที่ 54 หมู่ที่ 11 ต.หนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

วัสดุปลูกจาก “กระถิน และทางปาล์มน้ำมัน”

ใช้ทดแทนกาบมะพร้าวได้ดีที่สุด

ผลการวิจัยพบว่า วัสดุปลูกที่ทำจาก “กระถิน” และ “ทางปาล์มน้ำมัน” มีคุณสมบัติเหมาะสมที่นำมาใช้ทดแทนกาบมะพร้าวได้ดีที่สุด เพราะมีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดี สามารถอุ้มน้ำได้ แต่ไม่แฉะ และไม่เป็นแหล่งสะสมของโรคและวัชพืช ให้ธาตุอาหารสูง ต้นกล้วยไม้มีผลตอบสนองต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกดีที่สุด และวัสดุปลูกจากกระถินและทางปาล์มน้ำมันมีอายุการใช้งาน 5 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย

ปลูกเปรียบเทียบกับวัสดุกาบมะพร้าว

เปรียบเทียบกับวัสดุปลูกแบบเดิมคือ กาบมะพร้าว มีอายุการใช้งานน้อยกว่า เพียงแค่ 3-5 ปีเท่านั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและคุณภาพของการอัดเป็นก้อนวัสดุปลูกเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความสะดวกในการนำมาใช้สำหรับเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้แล้ว พบว่าต้นกระถินเป็นพืชที่เจริญเติบโตง่าย พบได้ทั่วประเทศไทย เมื่อตัดลำต้นไปใช้งาน ต้นกระถินสามารถเจริญเติบโตไปได้อีก

ส่วน ทางปาล์มน้ำมัน ก็เป็นวัสดุปลูกที่หาได้ง่ายเช่นเดียวกัน โดยมีรอบระยะเวลาการเก็บเกี่ยวทุกๆ 15-20 วัน ทำให้มีทางปาล์มน้ำมันเป็นวัสดุปลูกที่หาได้ง่าย และมีจำนวนมาก สามารถนำมาใช้งานได้ตลอดทั้งปี วัสดุทั้งสองชนิดนี้จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้แทนกาบมะพร้าวได้ดีที่สุด

กระบะวัสดุปลูกจากกระถิน
กระบะวัสดุปลูกจากทางปาล์มน้ำมัน

นอกจากนี้ คุณพุทธธินันทร์ ได้ทำการวิจัยเรื่องเครื่องมือผลิตกระบะวัสดุปลูกกล้วยไม้ต้นแบบทดแทนกาบมะพร้าวในเชิงพาณิชย์ มีศักยภาพการผลิต 25-30 กระบะ ต่อชั่วโมง กระบะวัสดุปลูกมีขนาด 20x36x8 เซนติเมตร สามารถปลูกกล้วยไม้ได้ 4 ต้น

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนกาบมะพร้าว ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรสวนปาล์มได้อีกด้วย ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี เลขที่ 27 หมู่ที่ 1 ต.พลับพลา อ.เมือง จ.จันทบุรี รหัสไปรษณีย์ 22000 โทรศัพท์ 039-451-222 หรือ 089-831-2976