กล้วยไม้ไทย น่าปลูก (ตอนที่ 1)

หลังจากที่โลกของเราถือกำเนิดขึ้น ก็ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนาน และบนห้วงเวลาที่ดำเนินไปคล้ายกับว่าจะไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ก็ได้สร้างวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอันเหลือที่จะนับจำนวนได้ขึ้นมา บางอย่างหายสูญไปกับสัจธรรมของความไม่เที่ยง บางอย่างปรับเปลี่ยนรูปร่างเพื่อให้อยู่รอด ดังนั้น บนการเดินทางของสายวิวัฒนาการนี้ย่อมพิสูจน์ว่า สิ่งที่อยู่รอดผ่านมาจนถึงบัดนี้ได้นั้นไม่ใช่ชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุด หากแต่เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่สามารถปรับตัวได้เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองต่างหาก…และหนึ่งในจำนวนนับอนันต์นั้น กล้วยไม้ ก็คือความมหัศจรรย์ที่โลกได้มอบไว้ให้เราได้ชื่นชม

กล้วยไม้ คือพืชในวงศ์ Orchidaceae ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกบนโลกราว 65 ล้านปีก่อน หรือหากหลายคนพอจะจำได้พวกมันมีบรรพบุรุษที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับไดโนเสาร์เลยทีเดียว บนสายวิวัฒนาการที่มีความซับซ้อนนั้นสามารถเชื่อมโยงสรรพชีวิตเข้าไว้ด้วยกันบนความสัมพันธ์ของจุดกำเนิดอย่างแยบยล สิ่งนี้ทำให้ผู้เขียนประหลาดใจมากเมื่อพบกับพืชบางชนิดในสกุลอื่นที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกล้วยไม้มากจนน่าประหลาดใจ บางชนิดก้ำกึ่งอยู่ระหว่างหญ้ากับกล้วยไม้ บางชนิดดูคล้ายกล้วยไม้ แต่กลับเป็นสมาชิกของพืชในวงศ์ขิงก็มี ตรงนี้ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก นักปราชญ์ผู้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวงการกล้วยไม้ ท่านเคยเล่าอธิบายให้ผู้เขียนว่า จุดกำเนิดของกล้วยไม้มีร่วมกันกับพืชที่คล้ายกล้วยไม้ (แต่ยังไม่จัดว่าเป็นพืชในวงศ์ Orchidaceae) และได้แยกสายวิวัฒนาการออกไป พืชในวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) ก็นับว่าเป็นญาติสนิทที่มีความใกล้ชิดกันนั่นเอง

เอื้องช้างน้าว
เอื้องช้างน้าว

%e0%b8%8a%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7

สาเหตุที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำอารัมภบทมาเสียยืดยาวนั้น ก็เนื่องจากว่า บทความนี้เป็นครั้งแรกที่ทางนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้ให้โอกาส โดยติดต่อผ่านทางสมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ และผู้ที่รักหรือชื่นชอบกล้วยไม้ ไม่ว่าจะในแง่ของการศึกษาธรรมชาติของกล้วยไม้ การจัดจำแนกอย่างง่ายเพื่อความเข้าใจได้ไม่ยาก เทคนิควิธีการในการปลูกและดูแลกล้วยไม้ให้ประสบผลสำเร็จ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในเชิงการค้า รวมไปจนถึงเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่อันจะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ เพราะผู้เขียนตระหนักและเชื่อมั่นว่ามีเพียงการทำความเข้าใจที่ถูกต้องและปลูกฝังความรักต่อกล้วยไม้เท่านั้น ที่จะนำไปสู่การพัฒนา สุดท้าย ก็จะเกิดกระบวนการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน เพราะผลของความตระหนักรู้ร่วมกัน
img_9193

เอื้องแปรงสีฟัน
เอื้องแปรงสีฟัน

หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าในโลกของสิ่งมีชีวิต อาณาจักรพืชถือว่าครองพื้นที่มากที่สุดทั้งปริมาณและความหลากหลาย และในอาณาจักรพืชเองก็นับว่าพืชมีดอกมีสมาชิกมากกว่าพืชไร้ดอก พอเราสำรวจพืชมีดอกอย่างเป็นระบบแล้ว ก็พบกับสิ่งที่น่าตื่นเต้นว่า พืชในวงศ์ Orchidaceae หรือกล้วยไม้ มีจำนวนชนิด (species) มากที่สุด หากจะสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกหน่อย ก็ต้องบอกว่า กล้วยไม้คือ อาณาจักรของสิ่งมีชีวิตที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลกนั่นเอง

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะประหลาดใจว่า ในเมื่อมีจำนวนมากที่สุดแล้ว เหตุใดกล้วยไม้ถึงได้กลายเป็นนิยามของสิ่งที่หายากและมีคุณค่า นำมาซึ่งการนิยมไขว่หามาครอบครองกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า ตรงนี้หากท่านติดตามบทความชุดนี้ไปตลอด เราก็จะพบความจริงหลายประการร่วมกัน และคำตอบก็จะทำให้เราตกใจไม่ใช่น้อย

ผู้เขียนเกิดที่จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดในชนบทห่างไกลความเจริญมากระดับตำนานแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทุกวันนี้พอพูดแบบนี้หลายท่านอาจจะนึกขำว่า ผู้เขียนกล่าวเกินจริงไปหน่อย เนื่องจากกระแสของความนิยมทางวัตถุได้พัดผ่านและดูดกลืนอดีตให้เลือนหายไปกับกาลเวลา เชียงรายในวันนี้จึงต่างกับเมื่อ 30 ปีก่อน จนแทบจำไม่ได้

ในความทรงจำที่สวยงามและชัดเจนของผู้เขียนนั้น ชนบทอันสงบงามด้วยความเรียบง่าย วิถีชีวิตของผู้คนต่างค่อยๆดำเนินไปตามที่ควรจะเป็นอย่างไม่รีบเร่ง ฤดูกาลเป็นตัวกำหนดกิจกรรมในชีวิตว่า หน้าฝนทำนา หว่านเพาะพืชพันธุ์ ตามหัวไร่ปลายนาฟักแฟงแตงกวา พริก มะเขือ ฯลฯ ก็ผลิดอกออกผลกันจนเก็บไม่ทัน หน้าหนาวเป็นฤดูเก็บเกี่ยว พอถึงหน้าแล้ง ผู้หญิงทอผ้า พวกผู้ชายก็ซ่อมแซมบ้านเรือนและวัสดุอุปกรณ์ทำมาหากิน เข้าป่าหาอาหารกันเวียนอยู่เป็นวัฏจักรเช่นนี้ จนเมื่อสังคมเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนก็ปรับตาม สุดท้าย หนีไม่พ้นต้องทิ้งสิ่งต่างๆ ไว้ในความทรงจำของคนที่เคยผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมา ทุกวันนี้จึงกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าให้เด็กรุ่นใหม่ฟังราวกับเป็นนิทานอันน่าตื่นเต้น

เอื้องเงิน
เอื้องเงิน

ภาพที่ชัดเจนมากในความทรงจำวัยเด็กของผู้เขียน ป่ายังคงเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก และชุมชนก็เป็นเพียงอาณาเขตเล็กๆ ที่แฝงตัวอยู่ภายใต้ร่มไม้ใบหนานั้น ความหลากหลายทางธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ เวลาที่เดินทางไปที่ใด ผู้เขียนมักจะจ้องมองออกไปจากกระจกรถ เพราะบนต้นไม้ข้างทางทั่วไปนั้นมีสารพัดกล้วยไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นในระบบนิเวศ

กล้วยไม้ เมื่อเกาะอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ก็มักจะสร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่ผู้พบเห็นเสมอ ดังนั้น ผู้เขียนจึงจำภาพของเอื้องช้างน้าว (Dendrobium pulchellum) กอใหญ่ที่ขึ้นเป็นกลุ่มตามต้นมะค่าและไม้วงศ์ยาง ช่อดอกที่ใหญ่โตสีครีมอมชมพูและมีจุดสีน้ำตาลเข้มขนาดใหญ่ 2 จุด ตรงกลาง ดูละลานตาจนเป็นที่มาของชื่อพื้นบ้านที่ถูกเรียกว่า เอื้องตาควาย พร้อมกันนั้นบนกิ่งก้านขนาดใหญ่ของต้นยางพลวง หรือที่ชาวเหนือเรียก ต้นตึง นั้น ก็ประกอบไปด้วย เอื้องเงิน (Dendrobium draconis) กอเขื่องออกดอกสีขาวปากกลีบสีส้ม สีตัดกันกับเอื้องแปรงสีฟัน(Dendrobium secundum) ซึ่งดอกสีม่วงสว่าง และเอื้องผึ้ง (Dendrobium lindleyi) กอใหญ่ ดอกสีเหลืองอร่าม เวลาบานจะพรูไปทั้งป่า จนเหมือนมีเวทย์มนต์อะไรสักอย่างบันดาลให้เป็นไป สารพัดดอกเอื้องที่กล่าวมานี้ เมื่อบานอยู่พร้อมกันจึงเป็นภาพที่ต้องทำให้อมยิ้มออกมาทุกครั้งที่นึกถึงเลยทีเดียว

img_1624 img_1765

ภาพเหล่านั้นคือแรงสำคัญที่ผลักดันทำให้ผู้เขียนรักและชื่นชอบกล้วยไม้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ตอนที่เรียนอยู่ชั้นประถมก็เริ่มมีเรือนกล้วยไม้เล็กๆ เป็นของตัวเอง ปลูกกล้วยไม้พื้นบ้านที่เก็บได้เวลาเดินไปเจอกิ่งไม้ที่มีกล้วยไม้เกาะอาศัยอยู่หักร่วงลงมา ปลูกง่ายๆ ตามความเข้าใจของเด็กน้อย โดยสังเกตจากการที่พวกมันอาศัยอยู่ในธรรมชาติ ค่อยๆ เรียนรู้ค่อยๆ ทำความเข้าใจ มีบ้างที่ปลูกแล้วไม่ประสบความสำเร็จ และมีไม่น้อยที่สามารถงอกงามอยู่ภายใต้การดูแลและเมื่อถึงเวลาก็ออกดอกมาให้ได้ชื่นชมเป็นกำลังใจให้เรียนรู้เรื่องราวที่สวยงามของกล้วยไม้ต่อไป

ฉบับหน้า สมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จะนำกล้วยไม้ที่มีคุณลักษณะโดดเด่นและสวยงามแต่ละชนิดของไทยที่น่าปลูกมาบอกเล่าผ่านความทรงจำในอดีต และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผู้มากประสบการณ์ ทั้งผู้ปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรก นักพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ และผู้ประกอบการธุรกิจกล้วยไม้ในสมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ทั้งนี้หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่านอกจากรูปทรงสีสันที่สวยงามแล้ว กล้วยไม้ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจและมีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นอีกมากมายที่จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่รักกล้วยไม้ ไม่อยากหยุดที่จะชื่นชมต่อสิ่งอันแสนมหัศจรรย์ที่เรียกว่า กล้วยไม้ นี้เลย

 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก เพจ: สมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ Chiangmai Orchid Society

หรือเฟซบุ๊กของผู้เขียน Khunchai Chang