ปลูกเลี้ยงและพัฒนากล้วยไม้ช้าง เป็นอาชีพทำเงินมากว่า 2 ทศวรรษ

กล้วยไม้ช้าง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ฯลฯ ประเทศในแถบอินโดจีน อินเดีย ศรีลังกา ภาคใต้ของหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับในประเทศไทยพบว่ากล้วยไม้สกุลช้าง มีกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ

ช้างเผือก

กล้วยไม้สกุลช้างมีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว มีลักษณะแตกต่างไปจากกล้วยไม้สกุลอื่นๆ คือ ลำต้นสั้น ใบแข็งหนา อวบน้ำ เรียงชิดกันอยู่บนลำต้น ใบเป็นร่อง รากเป็นระบบรากอากาศ มีขนาดใหญ่ ปลายรากมีสีเขียว ช่อดอกอาจห้อยลงหรือตั้งขึ้น ช่อดอกจะมีความยาวเกือบความยาวของใบ ดอกมีจำนวนมาก กลีบนอกและกลีบในของดอกแผ่ออก มีอับเรณู 2 ก้อน แยกออกจากกัน ออกดอกปีละครั้ง บางต้นอาจมีดอกครั้งละหลายๆ ช่อ

ช้างการ์ตูน

คุณยศพนธ์ วรทรัพย์อนันต์ ทำสวนกล้วยไม้สกุลช้างอยู่ที่ตำบลสามง่ามท่าโบสถ์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เป็นเกษตรกรที่ชื่นชอบการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้างเป็นอย่างมาก โดยในช่วงแรกทำเพื่อสะสมสายพันธุ์ ต่อมาเมื่อไม้มีจำนวนที่มากขึ้นจึงนำมาพัฒนาสายพันธุ์จนเกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

คุณยศพนธ์ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพอิสระเป็นช่างภาพและเขียนบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชุมชนมาเล่าเป็นเรื่องราวต่างๆ และได้มีโอกาสถ่ายภาพธรรมชาติรวมไปถึงกล้วยไม้ ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่เขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณตาปลูกมาเป็นเวลานานจึงทำให้ได้ซึมซับอยู่เสมอ โดยหลักๆ จะเป็นกล้วยไม้สกุลช้าง

คุณยศพนธ์ วรทรัพย์อนันต์

“พอช่วงที่เราได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ที่นี่ก็มีตลาดกล้วยไม้หลากหลาย ด้วยความชอบของเราเองที่มีอยู่แล้ว ก็ซื้อจากที่นี่ไปปลูกที่บ้านต่างจังหวัดด้วย หลังเรียนจบก็จับงานด้านอื่นก่อน แต่กล้วยไม้เองก็ยังมีอยู่ที่บ้าน พอหลังอิ่มตัวก็เลยกลับมาบ้าน มาทำกล้วยไม้อย่างจริงจัง โดยเริ่มจากไม้บางส่วนที่สะสมไว้ของเราเองและคุณตา จึงเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2535 เป็นต้นมา” คุณยศพนธ์ เล่าถึงที่มา

การผึ่งไม้จากขวด

กล้วยไม้สกุลช้างทั้งหมด คุณยศพนธ์ บอกว่า มีการนำมาพัฒนาเพื่อผสมพันธุ์อยู่เสมอ เพื่อให้ไม้มีความแปลกใหม่เป็นสิ่งให้ลูกค้ามีทางเลือกในการซื้อมากขึ้น โดยเลือกคัดพ่อแม่พันธุ์ที่เด่นๆ มาทำการผสมพันธุ์เข้าด้วยกัน

ช้างแดง

เมื่อนำพ่อแม่พันธุ์มาผสมจนได้ฝักที่พร้อมให้เมล็ดสมบูรณ์ดีแล้ว จากนั้นปล่อยให้ฝักแก่เต็มที่ นำเมล็ดที่ได้ไปเพาะลงในขวดที่มีอาหารแบบระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยไม้จะเจริญเติบโตอยู่ในขวดประมาณ 6-8 เดือน เมื่อเห็นว่าใบเริ่มเต็มขวด จึงนำไม้ออกจากขวดและมาดูแลเลี้ยงข้างนอกต่อไป

ปลูกไม้ในกระถาง 1 นิ้ว

“พอเราได้ไม้ที่อยู่ในขวดมา ก็จะนำมาทุบให้ขวดแตกและล้างรากให้สะอาด ไม่ให้เศษวุ้นอาหารติดอยู่ที่ราก จากนั้นนำไม้ไปผึ่งอยู่ในตะกร้าเพื่อให้ไม้เกิดรากใหม่เดินสมบูรณ์ประมาณ 1 เดือน เสร็จแล้วนำไม้ขึ้นมาปลูกลงในกระถางขนาด 1 นิ้ว วางไว้ใต้ตาข่ายพรางแสงที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ดูแลรดน้ำเช้าเย็น พร้อมกับใส่ปุ๋ยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ย้ายไม้มาปลูกลงในกระเช้าหรือแกะที่ขอนไม้อีกครั้งหนึ่ง ให้ไม้อยู่ในโรงเรือนที่มีตาข่ายพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ ดูแลต่อไปอีก 1 ปี ไม้ก็จะเริ่มเจริญเติบโตจนขายได้” คุณยศพนธ์ บอก

ช้างกระ

เรื่องของการป้องกันโรคและแมลงของกล้วยไม้ช้างนั้น คุณยศพนธ์ บอกว่า ทำการป้องกันอยู่เสมอโดยจะไม่รอให้เกิดความเสียหายภายในฟาร์มก่อนแล้วจึงทำการป้องกัน แต่จะหมั่นฉีดพ่นยากันเชื้อราและแมลงต่างๆ เดือนละ 1 ครั้ง ก็จะช่วยลดในเรื่องของความเสียหายจากแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี

การขึ้นไม้บนกระเช้า

การทำตลาดขายกล้วยไม้สกุลช้าง คุณยศพนธ์ บอกว่า ตั้งแต่ทำการตลาดมากว่า 20 ปี กล้วยไม้สกุลช้างตลาดยังไปได้ต่อเนื่อง โดยลูกค้าชื่นชอบทุกสีที่ผลิตออกมาแบบหลากหลาย ซึ่งเมื่อเทียบกับสมัยก่อนดอกกล้วยไม้ช้างมีเพียงไม่กี่สี แต่ในยุคหลังๆ มานี้เริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์มากขึ้น จึงทำให้มีความหลากหลายของสีดอกให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ

ช้างสีกลีบบัว

“ปัจจุบันมีการพัฒนาสีดอกมากขึ้น ไม่เพียงสีอย่างเดียวภายในดอก ยังมีจุดภายในดอกที่สวยงาม จึงทำให้ตอนนี้กล้วยไม้ช้างพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ปลูกเลี้ยงสามารถนำไปเลี้ยงเพื่อสะสมสายพันธุ์ หรือจะต่อยอดพัฒนาพันธุ์ขึ้นไปได้เรื่อยๆ ซึ่งราคาขายก็แตกต่างกันไป ไม้ที่อยู่ในกระถาง 1 นิ้ว ขายอยู่ที่ 35 บาท และราคาไม้ขึ้นกระเช้าอายุ 2 ปีครึ่ง ราคาอยู่ที่กระเช้าละ 80-300 บาท และบางต้นมีราคาที่สูงขึ้นไปจากนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดสีและความหายาก สามารถนำไปพัฒนาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งตามคุณภาพ” คุณยศพนธ์ บอก

ช้างส้ม

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้างเป็นอาชีพ คุณยศพนธ์ แนะนำว่า สิ่งที่ต้องทำให้มีก่อนที่จะลงมือทำในสิ่งต่างๆ เพื่อเป็นอาชีพนั้นคือ ในเรื่องของใจรักและความชอบ ส่วนในเรื่องของการค้านั้นเป็นลำดับรองลงมา ถ้ามีใจรักและความพร้อมในการปลูกเลี้ยง ประสบการณ์และการลงมือทำจะช่วยให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ จากนั้นในเรื่องของการตลาดจะเข้ามาทำให้มีรายได้อย่างแน่นอน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณยศพนธ์ วรทรัพย์อนันต์ หมายเลขโทรศัพท์ 062-698-9995         

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562