เกษตรกรสุพรรณฯ ปลูกเลี้ยงต้นโมกเป็นอาชีพเสริมหลังว่างจากทำนา

คุณสมศักดิ์ โสขุมา อยู่บ้านเลขที่ 133 หมู่ที่ 1 ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มีอาชีพทำนา เพราะชาวบ้านในพื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพหลัก ซึ่งช่วงวิกฤตแล้งเช่นนี้ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำนา ทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้รับความเดือดร้อน แต่วิกฤตในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณสมศักดิ์มากนัก เพราะเขาทำการปลูกเลี้ยงต้นโมกที่ใช้เป็นไม้ประดับ เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

 คุณสมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า การทำนาราคาผลผลิตของข้าวที่จำหน่ายได้มีราคาที่ไม่แน่นอนเท่าที่ควร จึงได้มองหาอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

“ประมาณ ปี 48 พอดีมีเกษตรอำเภอเขามาแนะนำว่า ให้ลองหาต้นไม้มาทำดู เพราะเขาเองก็ทำอยู่ ก็เลยได้ต้นโมกมาปลูกทดลองดู เขาก็มาสอนให้เราต่อยอด เสียบยอด มันก็จะเป็นทรงพุ่มสวยๆ คนทั่วไปเห็นเขาก็ซื้อไปประดับบ้าน เราก็เลยมองว่าทำทางนี้มันน่าจะเป็นอาชีพเสริมให้เราได้ ก็เลยมาลองทำดู” คุณสมศักดิ์ เล่าถึงความเป็นมา

Mok 9

ต้นโมกที่นำมาปลูกสำหรับเป็นต้นตอเสียบยอด คุณสมศักดิ์ บอกว่า ไปหาซื้อจากพื้นที่ต่างอำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี เพราะที่ดินของชาวบ้านในแถบนั้นจะมีต้นโมกในที่ดิน

“ต้นโมกที่เราใช้สำหรับเป็นต้นตอนี่ เราไปรับซื้อมาจากชาวบ้านแถวอำเภอหนองหญ้าไซ อำเภอด่านช้าง เพราะที่ดินเขามันเป็นที่ดอน ปลูกอะไรไม่ได้ แต่มันมีต้นโมกงอกขึ้นมาพื้นที่แถวนั้นเป็นแบบดินทราย เราก็จะไปติดต่อขอซื้อเขามา เหมามาทั้งดงเลย ขุดเอามาให้ได้มากที่สุด” คุณสมศักดิ์ เล่าถึงแหล่งที่มาของต้นโมกที่ใช้เป็นต้นตอ

คุณสมศักดิ์ บอกว่า ในขั้นตอนแรกนำต้นโมกมาเพาะชำให้เจริญเติบโตดี มีลักษณะใบใหญ่สมบูรณ์ กระถางที่ใช้ปลูกมีด้วยกัน 3 ขนาด คือ 15, 18 และ 22 นิ้ว วัสดุที่ใช้ปลูกเป็นดินที่ผสมกับมะพร้าวสับ ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1

“สาเหตุที่เราต้องใช้ขนาดของกระถางที่แตกต่างกัน เพราะบางทีเราต้องออกแบบว่าเราจะเอาทรงไหนบ้าง ถ้าต้องการเอาพุ่มเยอะ ในกระถางนั้นเราก็ต้องปลูกต้นโมกลงไปประมาณ 5 ต้น ขนาดของกระถางก็ต้องใช้ไซซ์ใหญ่ขึ้น คือเราต้องดูองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ถ้าต้นโมกไม่ใหญ่มาก กระถางก็จะขนาดเล็กลงตามมา” คุณสมศักดิ์ อธิบายการเลือกกระถางสำหรับปลูก

คุณสมศักดิ์ บอกว่า ช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่จะเพาะชำต้นโมก คือช่วงใกล้ๆ ฤดูฝน เพราะไม่สิ้นเปลืองน้ำสำหรับรดต้นโมกมากนัก และที่สำคัญต้นโมกจะแตกยอดใหม่และเจริญเติบโตได้ดี

Mok 6

“เราใช้เวลาในช่วงนี้ประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ระบบราก การแตกยอดใหม่สมบูรณ์ดี หากช่วงที่ไม่มีฝน ก็รดน้ำเอง 2 วันครั้ง ไม่ต้องรดทุกวัน พอเราเห็นว่าต้นเริ่มแข็งแรง ก็จะเอามาเสียบยอด ดูแลให้ยอดที่เสียบใหม่เป็นพุ่มสวย และค่อยจำกัดยอดของต้นตอที่เกิดใหม่ออก” คุณสมศักดิ์ กล่าว

เมื่อต้นโมกที่นำมาเพาะชำมีระบบทุกอย่างสมบูรณ์ คุณสมศักดิ์ บอกว่า จะเตรียมมาเป็นตอสำหรับเสียบยอด ส่วนยอดที่ใช้สำหรับเสียบจะเป็นยอดของต้นโมกเงินและโมกด่าง เพราะใบของต้นโมกชนิดนี้จะมีเขียวสลับขาว ซึ่งต่างจากต้นตอที่มีใบเป็นสีเขียวอย่างเดียว ในขั้นตอนนี้จะตัดยอดของต้นตอให้มีระดับที่ลดหลั่นกันไป เพื่อให้มีรูปทรงที่สวยงาม

จากนั้นทำการควั่นต้นตอที่เตรียมไว้ แล้วจึงนำยอดของโมกเงิน หรือโมกด่าง ที่ใช้มีดกรีดตรงด้านล่างของกิ่งให้มีลักษณะเป็นรูปลิ่มมาเสียบลงที่ต้นตอ จากนั้นพันด้วยพลาสติกให้แน่นรอบบริเวณที่เสียบยอด นำถุงพลาสติกใสคลุมบริเวณยอดทั้งหมดโดยที่ปากถุงอยู่ต่ำกว่ารอยเสียบยอด เพื่อป้องกันไม่ให้มีลมหรืออากาศเข้าไป นำเชือกฟางมาพันให้แน่นบริเวณปากถุงให้ปิดสนิท จากนั้นนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาห่ออีกครั้ง

“หลังจากเสียบยอดเสร็จแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน รอยที่เราเสียบมันจะสนิทกัน แต่ถ้ารอยแผลไม่ติดสนิท ยอดที่เสียบมันจะแห้งตาย เราก็ต้องเลื่อยตรงบริเวณบนของต้นตอทิ้งไป จากนั้นทำการต่อยอดใหม่” คุณสมศักดิ์ กล่าว

คุณสมศักดิ์ บอกว่า หลังจากเสียบยอดสนิทดีแล้ว ใช้เวลาดูแลต่อไปอีกประมาณ 5-6 เดือน ต้นโมกก็จะมีทรงสวยเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งในระยะนี้ก็ทำการตัดแต่งเป็นระยะ และที่ต้องระวังที่สุดจะมีหนอนมากินยอดอ่อน กำจัดด้วยการฉีดพ่นยาตามอาการที่เกิด ซึ่งยาสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด

“ยานี่เราฉีดไม่บ่อย ดูถ้ามีหนอนเราก็ต้องกำจัดบ้าง เพราะเดี๋ยวมากินยอดอ่อนเราหมด ส่วนการดูแลรักษาต้นโมกในช่วงนี้ก็จะให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ทุก 2 เดือนครั้ง เรียกง่ายๆ ว่าดูแลตั้งแต่เพาะชำจนมาต่อยอด ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ไม้ก็พร้อมจำหน่ายได้แล้ว” คุณสมศักดิ์ อธิบายวิธีการดูแลรักษา

คุณสมศักดิ์ เล่าว่า การจำหน่ายต้นโมกในช่วงแรกๆ ไม่เป็นอุปสรรคมากนัก โชคดีที่บริเวณบ้านของเขาอยู่ติดถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ทำให้ไม้ประดับที่เขาปลูกเลี้ยงมองเห็นได้ง่าย สำหรับผู้ที่ผ่านมาในจังหวัดสุพรรณบุรี

“อุปสรรคในเรื่องจำหน่ายสำหรับผมนี่ถือว่าไม่มีนะ พอเราจัดรูปทรงได้สวยๆ พร้อมจำหน่ายเราก็วางที่หน้าบ้าน ก็มีพ่อค้ามาดูเองถึงที่ มารับไปจำหน่ายส่งต่อทั้งในและต่างประเทศ เขาก็จะมาเลือกว่าต้องการไซซ์ใหญ่ ไซซ์เล็กขนาดไหน เพราะใน 1 กระถาง เราจะจัดรูปแบบมีให้เขาเลือก ตั้งแต่ 3 พุ่ม จนถึง 5 พุ่ม แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน” คุณสมศักดิ์ เล่าถึงความต้องการของลูกค้า

Mok 1

ต้นโมกของคุณสมศักดิ์ ที่คนส่วนใหญ่หาซื้อไปตกแต่งในพื้นที่บ้านเรือน จำหน่ายอยู่ที่ราคาตั้งแต่ 600 บาท จนถึง 3,000 บาทขึ้นไป ซึ่งราคาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความสวยงามและขนาดไซซ์ของต้นโมก ซึ่งเวลานี้ก็มีพ่อค้ามารับซื้อไปจำหน่ายต่อยังต่างประเทศ คือ มาเลเซีย และไต้หวัน

เมื่อเอ่ยถามคุณสมศักดิ์ว่าการปลูกเลี้ยงต้นโมกนั้น สำหรับผู้ที่สนใจมีความยากลำบากไหมหากจะทำเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้

“ต้นโมกนี่ถือว่าเป็นไม้ประดับที่ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดสวน เพราะมันจะดูแลรักษาง่าย ยิ่งเจอแดดยิ่งร้อนยิ่งดี ชอบแสงมากๆ ยิ่งน้ำที่รดนี่ไม่ต้องรดมาก 2-3 วัน รดที ปุ๋ยก็นานๆ ใส่ก็ได้ไม่บ่อยครั้ง นี่คือข้อดีของมัน ใครที่สนใจอยากทำเพื่อสร้างรายได้เป็นงานอดิเรก ก็อยากให้ลองศึกษาดูว่า เสียบยอด ต่อยอดทำยังไง การเพาะชำทำยังไง ก็ศึกษาดู เพราะบางทีต้นตอเราต้องไปหาที่ซื้อ เราต้องเรียนรู้วิธีการหาต้นตอเพื่อเอามาเพาะชำ จริงๆ มันก็เป็นอาชีพเสริมได้นะ ถือว่าสร้างเงินให้เราได้ แต่ต้องถามตัวเองก่อนว่าเรารักมันแค่ไหน เพราะของพวกนี้ต้องมีใจรัก แล้วเราจะทำออกมาได้ดี และได้ประสบการณ์จากสิ่งที่เราทำเอง มันก็จะสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด”

“สำหรับผมเองตอนนี้ก็คิดว่ามีความสุขมากที่ได้มาทำตรงนี้เป็นอาชีพเสริม เราก็เอาเวลาว่างจากทำนามาดูแลพวกนี้ ดูอย่างตอนนี้บ้านเราหน้าแล้ง น้ำก็ไม่มีทำนา เราเลยมองว่าเราโชคดีที่ได้มาทำไม้ตัวนี้เสริม ทำให้รายได้พอกับรายจ่ายของเรา ก็พอมีเหลือเก็บหรือใช้” คุณสมศักดิ์ กล่าวแนะนำ

จะเห็นได้ว่าหากคนเราตั้งใจที่จะทำสิ่งใด ขอเพียงมีใจรัก พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ คำว่าความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินความพยายาม เหมือนเช่นคุณสมศักดิ์ ที่อาชีพหลักคือทำนา แต่ไม่หยุดการหาประสบการณ์ให้กับชีวิต กลับหาเวลาว่างเพื่อมาทำการปลูกเลี้ยงต้นโมก จนเป็นงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในยามที่ไม่ได้ทำนาในช่วงวิกฤตแล้งเช่นนี้

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมศักดิ์ โสขุมา หมายเลขโทรศัพท์ (086) 160-2418, (035) 409-122