พฤกษา Slogan “แฟน” ตลาดนัดพิเศษ “เกษตรแห่งชาติ” ตลาด “เกษตรแฟร์” แล “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)”

“เกษตรศาสตร์นำไทย นวัตกรรมก้าวไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

เป็นประจำทุกปี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ ช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เราจะได้ยินการกล่าวถึง “งานวันเกษตรแห่งชาติ” และ “งานเกษตรแฟร์” รวมทั้งอาจจะเป็นช่วงเดือนไหนในรอบปีก็จะได้ยิน “งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์” อีกงานที่จะมีพฤกษามาเบ่งบานให้ชื่นชมในวันงานเกษตรดังกล่าว พร้อมบทเพลงชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และข่าวประชาสัมพันธ์ในงานดังกระหึ่มชวนให้บรรยากาศเดินชม ชิม ช็อป แชร์ ในงานเกษตรนั้นเป็นไปอย่างครื้นเครงสดชื่น ท่ามกลางผู้คนเข้าชมงานที่เบียดเสียด หรือชะเง้อแง้แลหาสิ่งที่สนใจ แม้จะเข้าไปสัมผัสสิ่งนั้นๆ ไม่ถึงในบางแผง บางบู๊ธ ทั้งสินค้าและวิชาการ

ในปี พ.ศ. 2562 ช่วงเวลากำหนดจัดงาน “เกษตรแฟร์ ประจำปี 2562” ในระหว่างวันที่ 25 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภายใต้แนวคิด “เกษตรศาสตร์นำไทย นวัตกรรมก้าวไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ซึ่งแต่ละครั้งของการจัดงานจะมี “แนวคิด” หรือหลายคนอาจจะให้คำเรียก คำกำจัดความนี้เป็นคำอื่นๆ เช่น นักวิชาการ บอกว่า “กระบวนทัศน์” Concept (ความคิดรวบยอด, สิ่งที่คิดขึ้น) แต่จะเรียกอะไรก็ตาม ในการจัดงานวันเกษตรแต่ละครั้ง จุดมุ่งหมายหลักก็เพื่อให้เป็นแหล่งชุมนุมวิชาการ แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดนวัตกรรมเพื่อการเกษตรที่จะนำสู่พัฒนาการที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร ผู้สนใจ และผู้ร่วมงานทุกคน โดยไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ และสถานภาพทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการจัดงานที่กล่าวได้ว่าเป็น “ตลาดนัดงานเกษตร” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศก็คงไม่ผิด ในทุกๆ ชื่องานเกษตรที่กล่าวมา และทุกๆ แนวคิดที่วางจุดประสงค์ไว้

ถ้าหากมีคนกล่าวว่า ที่มาของการจัด “งานทางการเกษตร” มีมาแล้วมากกว่า 109 ปี ก็คงจะมีเสียงคัดค้านว่าเขียนผิด หรือบวก ลบ คูณ หาร “ตัวเลข พ.ศ.” ผิดแน่ๆ แต่หากอ้างอิงชื่องานที่จัดขึ้นว่าสอดคล้องเชื่อมโยงกับงานวันเกษตรปัจจุบันหรือไม่ ก็ต้องลองพิจารณาแม้จะหาข้อมูลเหตุผลมากล่าวอ้างปฏิเสธก็คงไม่พอ ด้วยบันทึกที่มีไว้ว่า วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2453 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีการแสดงทางการเกษตรและพาณิชยการ ครั้งที่ 1 (First Annual Exhibition of Agriculture and Commerce) ณ บริเวณวังสระปทุม (บริเวณ Central World Plaza ปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเปิดงาน ต่อมาวันที่ 3-10 เมษายน พ.ศ. 2454 มีการแสดงทางการเกษตรและพาณิชยการ ครั้งที่ 2 ณ บริเวณวังสระปทุม (เดิม) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเปิดงาน หลังจากงานแสดงทางการเกษตร ครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง ก็หยุดจัดไป จนกระทั่ง 37 ปี ล่วงไป

ในปี พ.ศ. 2491 อาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะนั้น ได้รื้อฟื้นงานแสดงทางการเกษตรขึ้นอีกครั้ง และได้ปรับเปลี่ยนชื่องานเป็นชื่อใหม่ว่า “งานตลาดนัดเกษตร กลางบางเขน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 มกราคม พ.ศ. 2491 และการจัดงานติดต่อกันจนถึงปี พ.ศ. 2497 แล้วหยุดไป 8 ปี งานตลาดนัดเกษตรกลางบางเขน เริ่มอีกครั้ง เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อายุครบ 20 ปี วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ได้จัดงานเกษตรอีกโดยปรับเปลี่ยนเป็น งานวันเกษตรแห่งชาติ ซึ่งเป็นการจัดงานวันเกษตรโดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร สถาบันการศึกษา ที่มีการเรียนการสอนทางการเกษตร ร่วมมือกันจัดเสนอผลงานวิจัยงานวิชาการ รวมทั้งการจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จากกลุ่มเกษตรกรทั่วทุกภาค และหมุนเวียนการจัดงานตามวิทยาเขตทุกภาค ทุกปี

ส่วน “งานเกษตรแฟร์” เป็นกิจกรรมทางการเกษตรในลักษณะเดียวกัน กับงานวันเกษตรแห่งชาติ แต่เป็นการจัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และด้วยมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ภายในส่วนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย มีการก่อสร้างอาคาร พัฒนาพื้นที่เช่นเดียวกับส่วนพื้นที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจัดกิจกรรมงานวันเกษตร จึงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่ เต็มพื้นที่สะดวกนัก จึงส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจัดตลาดนัดและจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์กิจกรรมการเกษตรเน้นด้านธุรกิจเกษตร โดยมีกิจกรรมวิชาการทางการเกษตรลดลงบ้าง โดยเรียกว่า “งานเกษตรแฟร์” ผู้คนที่สนใจเที่ยวงาน หรือผู้ที่เคยสัมผัสบรรยากาศของวันงานเกษตรแห่งชาติที่ผ่านมาหลายปีก่อน อาจจะเห็นความแตกต่างจากการที่มีการจัดรูปแบบงานเต็มกระบวนการ ดังงานเกษตรแห่งชาติได้ แต่ก็ยังมีความประทับใจกับคำว่า “งานเกษตร” เสมอมา

ดังนั้น เมื่อท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมีความสับสน ระหว่าง “งานวันเกษตรแห่งชาติ” และ “งานเกษตรแฟร์” ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรนั้น ก็คงจะเห็นได้ว่า สำหรับในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จะมีงานวันเกษตรแห่งชาติ ทุกๆ รอบ 3 ปี ด้วยวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่มวลชนอย่างยิ่ง จึงได้มีการจัดงานหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ สลับกับส่วนกลางโดยเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับความสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ผลัดเปลี่ยนเป็นเจ้าภาพจัดงานตลอดมา ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2548 มีมติให้มีการหมุนเวียนการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติไปยังมหาวิทยาลัยภาคต่างๆ ที่มีคณะเกษตร คือภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ให้เป็นวาระการจัดงานในภาคใต้ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในปี พ.ศ. 2552 เป็นวาระการจัดงานในส่วนกลาง ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ หมุนเวียนตามลำดับภูมิภาค เป็นเจ้าภาพจัดงาน จนถึงปัจจุบัน

สำหรับ “งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์” จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ก็มีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย เนื่องในวโรกาส หรือตามโอกาสต่างๆ นั้น โดยมี “แฟนๆ” จากที่เคยสัมผัสงานเกษตรแห่งชาติ หรืองานเกษตรแฟร์ เมื่อได้ยินเพียงคำว่า “วันงานเกษตร” ก็คอยนับวันที่เข้าเที่ยวชม ชิม ช็อป แชร์ งานอยู่แล้ว ดังที่ผ่านมา เช่น ปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชวนเที่ยว “งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2558” จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา และเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รวมทั้งนำผลงานวิจัยนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาจัดแสดงให้ประชาชนได้นำไปประยุกต์ใช้ ภายใต้แนวคิด “เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง หล่อเลี้ยงเกษตรไทย” โดยงานจัดระหว่างวันที่ 19-28 มิถุนายน 2558 บริเวณหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ

“งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2559” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ภายใต้แนวคิด “แนะการทำนาแบบประณีตเป็นอาชีพยั่งยืน”

“งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2561” มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้น ณ บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมเกษตร ภายใต้แนวคิด “แบ่งปัน พอเพียง ยั่งยืน” เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ชมผลงานวิจัยนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช็อปสินค้า “พึ่งพา” ของดี 77 จังหวัด พร้อมชิม-ชิล ไปกับอาหารแปลกตลาดดัง บก น้ำ โบราณ ในระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน 2561

จะเห็นได้ว่า “งานวันตลาดนัดเกษตร” มีต่อเนื่องมาหลายแผ่นดิน และแต่ละกิจกรรม ทุกชื่องานก็มีจุดหมาย แนวคิด “Slogan” ที่เป็นประโยชน์สำหรับ “แฟนๆ” งานเกษตร  ทุกคนที่มีโอกาสสัมผัส รวมทั้งผู้ที่อยู่บ้านเพื่อรับ “ของฝาก” จาก “นักชิมนักช็อป” สารพันสินค้า สารพัดสิ่งชอบ ดังภาพสูจิบัตรปีต่างๆ ที่เสนอไว้

เพลง เกษตรสามัคคี

มาซิมาเกษตรศาสตร์ มาตรหมายใจไมตรี ร่วมใจรักสามัคคีกันชั่วฟ้า เขียวขจีดำรงองค์พิรุณนาคา นั่นคือตราที่รักจริงยิ่งหัวใจ

เกษตร เกษตร เป็นแรงหนึ่งชูชาติไทย เกษตร เกษตร พร้อมใจรักกันไว้มั่นคง งานของเรา เราทำ เป็นผลนำดำรงให้ชาติคงอยู่ วัฒนาไปชั่วกาล เรียนและทำนำไทย ให้วิไลยืนนาน

ต่างสมานสามัคคีพี่น้องเอย…ฯลฯ

ขอหยุดเสียงเพลงไว้ ณ ประโยคนี้ เพราะเชื่อว่า เมื่อท่านเข้าไปสัมผัสงาน “เกษตรแฟร์” ที่จัดขึ้น วันที่ 25 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ ตลอดเวลาที่ได้อยู่ในงานก็จะได้ยินเพลงนี้กระหึ่มดังไม่ขาดสาย สลับกับเพลงอื่นประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เชื่อว่าทุกท่านคงจะคุ้นหูอีก เช่น เกษตรที่รัก เกษตรรักกัน เกษตรสำเริง หรือ แก้วเกษตร และที่พลาดไม่ได้ที่จะฟังแล้วต้องร้องตาม คือเพลง “รำวงเกษตร” เพียงขึ้นสร้อยเพลงก็เส้นกระตุกสนุกทั้งตัวแล้ว

“เกษตรนี้หล่อจริงๆ ผู้หญิงเขาอยากรู้จัก เกษตรนี้หล่อยิ่งนัก ถ้าใครรู้จักกินผักฟรีๆ” ส่วนเนื้อเพลงท่อนอื่นๆ ณ ยุคเกษตร 4.0 นี้ หากท่านผู้ใดอยากินอะไร นำไปแปลงเนื้อตามที่อยากจะกินบ้าง คิดว่าทางมหาวิทยาลัยคงอนุญาตจากเกษตรหล่อเลิศเหลือ-กินเนื้อฟรีๆ เกษตรหล่อน่าชม-กินนมฟรีๆ เกษตรหล่อใช่ไหม-กินไข่ฟรีๆ เกษตรหล่อนักหนา-กินปลาฟรีๆ          หากจะแปลงเป็น “เกษตรน่าอยู่จริงๆ รถวิ่งบริการสุดยอด เกษตรส่งเสริม “Sport” ช่วยสุขภาพอยู่รอด แต่…ขอจอดรถฟรีๆ?

ฉบับนี้ขอเชิญชวนเที่ยวงาน “เกษตรแฟร์ 2562” จึงนำเสนอภาพโปสเตอร์สูจิบัตรวันงานเกษตรหลายๆ ปีที่ผ่านมา เพื่อได้มีโอกาสทบทวน “แนวคิด” ให้มากที่สุดที่จะนำมา “สนธิ” กับเกษตรยุค 4.0 โดย “สมาส” องค์ความรู้นำสู่การปฏิบัติต่อไป