สะแบง บาน…ที่ลานสะแบง

ชื่อสามัญ สะแบง ยางกราด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus intricatus 

วงศ์ DIPTEROCARPACEAE

หนึ่งเดือนเต็มๆ ที่ผู้เขียนได้กลับไปเยือนลานสะแบง จังหวัดนครราชสีมาอีกครั้ง หลังจากไปครั้งล่าสุดเมื่อต้นหนาวธันวาคม 2561 ช่วงนั้น “ต้นสะแบง” หรือ “ยางกราด” กำลังผลัดใบร่วงหล่นเต็มลานดิน ซึ่งนั่นก็เป็นสัญญาณการเข้าสู่หน้าแล้ง โชคดีที่การกลับมาคราวนี้ ได้เห็นทั้งช่อดอกอ่อน และดอกที่กำลังเบ่งบาน ถึงแม้จะยังไม่บานเต็มต้น และร่วงพรูก็ตาม ส่วนต้นที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงบ้างเริ่มผลิดอก บ้างมีดอกบานสะพรั่ง บ้างติดผลเป็นผลอ่อนรอวันสุกแก่ และร่วงหล่น

กลีบดอก

ดอกสะแบงสีชมพูเข้มขลิบขาวนี่แหละ ที่จะช่วยสร้างสีสันให้กับท้องทุ่ง สร้างบรรยากาศที่สดชื่นให้กับผู้พบเห็น  เพราะฤดูกาลนี้มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่สีน้ำตาลของตอซังข้าว และหญ้าที่โดดแดดแผดเผาแห้งตาย จะว่าไปแล้วปีนี้สะแบงออกดอกเร็วผิดปกติ จริงๆ แล้วน่าจะเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

สะแบง หรือ ยางกราด เป็นไม้วงศ์ยาง สกุลเดียวกับ ยางนา ยางเหียง ยางพลวง สะแบงเป็นไม้ยืนต้น สูง 15-30 เมตร

ลำต้น เปลือกแตกเป็นร่อง สีน้ำตาลหรือสีเทา กิ่งอ่อนมีขนกระจาย

กลีบดอกเธอน่าถนุถนอม

ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปรี ขอบขนาน เรียงสลับ ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร กว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตร โคนใบเว้ารูปหัวใจ ขอบใบเรียบ เนื้อใบหยาบคล้ายหนัง ผิวใบมีขนกระจายโดยเฉพาะเส้นกลางใบ

ปีหนี่งบานในเวลาไม่นานนัก

ดอก ช่อดอก เป็นช่อเชิงลด ดอกออกที่ซอกใบบริเวณปลายกิ่ง กลิ่นหอม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกัน ปลายแยก กลีบดอก 5 กลีบ โคนเชื่อมเป็นหลอดสั้น ปลายแยก ปลายบิดเวียนคล้ายกังหัน สีชมพู ขอบสีขาว เกสรตัวผู้ สีเหลือง มีจํานวนประมาณ 16-18 อัน (ผู้เขียนนับเอง) รังไข่ อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี ปลายเกสรตัวเมียเรียวแหลมคล้ายเส้นด้าย ผล ผลมี 5 ปีก (ปีกพัฒนามาจากกลีบเลี้ยง) มีปีกยาว 2 ปีก ปีกสั้น 3 ปีก ฐานของปีกพับเป็นจีบติดที่ผล ผลแห้งแล้วไม่แตก

ช่อดอก

ขยายพันธุ์ ด้วยการเพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา ยางกราด เป็นพันธุ์ไม้หลักในป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200-500 เมตร ป่าเต็งรังเป็นสังคมพืชหนึ่งในกลุ่มป่าของป่าผลัดใบ (Deciduous forests) ซึ่งผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ เต็ง (S. obtuse) รัง (S. siamensis) ยางเหียง (D. obtusifolius) พลวง (D. tuberculatus) และยางกราด (D. intricatus)

การนําไปใช้ประโยชน์ เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง และมีริ้วสีเข้มเป็นทาง เสี้ยนสน เนื้อค่อนข้างหยาบ แข็งและเหนียว เลื่อยไสกบ ตกแต่งง่าย นิยมใช้ทําสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในร่ม เช่น เครื่องบน รอด ตง คาน พื้น ฝา เครื่องมือทางการเกษตร แจว พาย หูกทอผ้า กังหันน้ำ หีบใส่ของ ไม้อัด และกระเบื้องปูพื้น ทางด้านสมุนไพร น้ำมันใช้ทาแผลภายนอก เปลือกต้มกับน้ำ แล้วใช้ทาถูนวดขณะร้อนๆ ตามข้อแก้ปวด น้ำมัน และชัน ใช้ทาไม้ ยาเรือ ทําเครื่องจักสาน

ดอกสวยจับใจ

มีบทกลอนที่กล่าวถึง ดอกสะแบง ไม่เว้นแม้แต่บทผญาของกลุ่มคนอีสานท้องถิ่น ซึ่งมักจะพรรณนาถึงดอกสะแบงแบบเหงาๆ หรือเป็นอารมณ์ของคนไกลบ้าน จนเกือบจะเป็นสัญลักษณ์ของความเหงา ความเศร้าสร้อย (ความคิดผู้เขียน…)

ต้นยืนหยัดทะนง

“ดอกสะแบง” บานเทิงต้น…ดอกติ้วหม่นเทิงโพนเถียง…

…ใต้ “ต้นสะแบง” ยามเมื่อแลงแดดอ่อนส่องใส

ลออทอทาบกิ่งใบ เหมือนใจจะขาดรอนๆ…

นางไม้ปีนเก็บดอกสแบง

ในอดีตที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความอยู่รอด และความเป็นอยู่ของคนในชนบทต้องพึ่งพาอาศัยป่า เพราะความทุกข์ยากของชาวชนบทก็ยังคงต้องมีการลักลอบตัดไม้เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้ จึงไม่อาจสนใจความยั่งยืนของทรัพยากรป่าไม้ และเหตุนี้จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ปีนี้ฤดูกาลต่างๆ ผิดเพี้ยน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หน้าแล้งยาวนานขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นบริเวณที่อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปไม่ถึง ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ซึ่งหากปีใดที่ไม่มีพายุเคลื่อนผ่านเลย ก็จะก่อให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรงมากขึ้น อันเนื่องมาจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน หากเราแก้ไขด้วยการปลูกไม้ป่าเพิ่มขึ้นคงจะทำให้ทุกที่ทุกทางเขียวชอุ่มเหมือนในอดีต

สำหรับผู้เขียน ปีหน้า “ดอกสะแบง” บานใหม่…คงอดไม่ได้ที่จะคึดฮอดหน้าแล้งยาม “ดอกสะแบง” มันบาน และ ยาม “ดอกสะแบง” ร่วงหล่น คงคึดฮอดแฮงๆๆ

ในความแล้งร้อนมีความสวยงามชะโลมใจ

เอกสารอ้างอิง

หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. ไม้ต้นในสวน Tree in the Garden

ผศ.เตือนใจ โก้สกุล  และ รศ.ดร. อรุณี จันทรสนิท. 2562. ป่า : ทรัพยากรของเราวัฒนธรรมของเรา ภ.พฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แหล่งที่มา http://www.sc.chula.ac.th/courseware/2305103/add_topics/abstract.htm

(วันที่ 13 มกราคม 2562)