ปีนัง เมืองหลวงแห่งอาหารของมาเลเซีย

บะหมี่เจ้าอร่อยเด็ดในตลาดโต้รุ่งย่านเลิฟเลน ทำกันไม่ทันเลย

เพิ่งไปเที่ยวปีนังมาค่ะ ได้ความรู้เรื่องอาหารมาเลย์ แถมได้ลิ้มชิมรสชาติอาหารพื้นถิ่นที่เมืองปีนังมาเยอะมาก ก็เลยมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังมากมายทีเดียว

อาหารมาเลเซีย เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก อิทธิพลหลักมาจากชาวมาเลย์ ชาวจีน และชาวอินเดีย นอกจากนั้น ยังได้รับอิทธิพลจากชาวเปอรานากันและยูเรเซีย ชาวโอรังอัสลี และชนเผ่าต่างๆ ในซาราวักและซาบาห์

ขายดีมาก...ทอดเสร็จตักขึ้นจากกระทะไม่ทันไรก็หายเกลี้ยงๆ
ขายดีมาก…ทอดเสร็จตักขึ้นจากกระทะไม่ทันไรก็หายเกลี้ยงๆ

โดยรวมแล้วอาหารมาเลเซียมีความหลากหลายมาก ทั้งประเภทและชนิดอาหาร รวมทั้งวิธีการปรุงที่ซับซ้อนและมีเสน่ห์ แต่จะให้คะแนนเทียบเท่ารสชาติอันเป็นสรวงสวรรค์ของอาหารริมทางย่านเยาวราชของบ้านเรานั้น ถือว่ายังไม่ใช่

ไม่ว่าใครจะยกย่องอาหารจีนมาเลย์ในปีนังขนาดไหน ข้าพเจ้าก็ยังไม่ยอมให้แซงหน้าของกินถิ่นเยาวราชในบ้านเราไปได้

ปีนัง ในฉายา “ไข่มุกแห่งตะวันออก” เป็น 1 ใน 13 รัฐ ตั้งอยู่เขตตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศมาเลเซีย เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมผสมผสานเสน่ห์ของตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน จึงทำให้เป็นเมืองสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะย่านยอดนิยม อย่าง จอร์จทาวน์ (George Town) ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่าและได้รับการอนุรักษ์จากองค์กรยูเนสโก ยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลกด้านวัฒนธรรม

แน่นอนว่า ท่ามกลางความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว เสน่ห์ของปีนังคืออาหารอร่อย หลากหลาย มากมายจนโลนลี่ แพลนเน็ต ได้ประกาศให้เกาะปีนังเป็นเมืองสุดยอดเมืองแห่งอาหารการกินระดับโลก (Penang is world’s No. 1 foodie destination for 2014) โดยชนะเลิศในด้านอาหารริมทาง หรือ “สตรีตฟู้ด” 

โรบิน บาร์ตั้น บรรณาธิการของโลนลี่ แพลนเน็ต แนะนำว่า อาหารข้างทางที่ทุกคนพลาดไม่ได้เมื่อไปถึงปีนังก็คือ ชาก๋วยเตี๋ยว ผัดหมี่ฮกเกี้ยน และอาสัม ลักซา ซึ่งสะท้อนถึงการผสมผสานอย่างกลมกลืนของวัฒนธรรมหลายรูปแบบที่มาจากมาเลย์ อินเดีย อาเจะ จีน พม่า และไทย

จอร์จทาวน์ เมืองหลวงของรัฐปีนัง เป็นศูนย์กลางของอาหารการกินที่นี่ และแหล่งที่สะดวกที่สุดในการเลือกชิมอาหารพื้นเมืองปีนังสำหรับชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวก็คือ ศูนย์อาหารเอสพลานาด ริมทะเล ซึ่งนอกจากจะมีอาหารอร่อยให้ลองชิมมากมายแล้ว ยังมีวิวทะเลและหาดทรายขาวยาวเหยียดให้ชมด้วย และสำหรับนักชิมตัวจริงต้องไม่พลาดอาหารในตลาดโต้รุ่งยามค่ำคืนของปีนัง ที่เกอร์นี่ ไดรว์ (Gurney Drive) 

ปีนัง แปลว่า ต้นหมาก แสดงว่าในอดีตมีต้นหมากปลูกกันมากมายบนเกาะแห่งนี้และผู้คนคงเคี้ยวหมากกันเยอะ ก็พยายามมองหาต้นหมากตามริมถนนอยู่แต่ไม่พบเลยสักต้น เห็นแต่ตึกรามบ้านช่อง อาคารศูนย์การค้า ตึกสูง และผู้คนบนท้องถนนที่แออัดไปด้วยยวดยาน บ่งบอกว่าเมืองท่าในอดีตแห่งนี้กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจทะยานรุดไปข้างหน้าแบบยั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ขณะที่เมืองเก่าอย่างจอร์จทาวน์ก็ถูกบอนไซไว้ให้ได้รำลึกความรุ่งเรืองในอดีตผ่านสถาปัตยกรรมยวนเสน่ห์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคล้ายกับอาคารแบบชิโน-โปรตุกีสในทางจังหวัดภาคใต้ของไทย

ความเป็นเมืองท่าทำให้ปีนังเป็นแหล่งผสมผสานวัฒนธรรมต่างๆ ไว้มากมาย และร่องรอยอารยธรรมเหล่านั้นส่งผ่านมาทางวิถีชีวิต สภาพบ้านเมือง สถาปัตยกรรมที่เป็นรสนิยมเฉพาะถิ่นอันทรงเสน่ห์

ห้องโถงพิพิธภัณฑ์เปอรานากัน แมนชั่น มีช่องแสงด้านบน
ห้องโถงพิพิธภัณฑ์เปอรานากัน แมนชั่น มีช่องแสงด้านบน

ใช้เวลาสี่ห้าวันในปีนังได้เที่ยวชมโน่นนั่นนี่พอสมควร ที่พลาดไม่ได้เด็ดขาดและตั้งใจไปชมอยู่แล้วก็คือ พิพิธภัณฑ์เปอรานากัน ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่ของตระกูลเศรษฐีคหบดีใหญ่ ที่เรียกกันว่า “กะปิตัน” (ซึ่งหมายถึงพ่อค้าผู้มั่งคั่ง ไม่ใช่กัปตันเรือตามที่หลายคนเข้าใจ)

คฤหาสน์เปอรานากัน สร้างขึ้นปลายศตวรรษที่ 19 ในปี ค.ศ. 1890 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบเปอรานากันซึ่งเป็นวัฒนธรรมผสมผสานของลูกครึ่งชาวจีนมาเลย์ที่เกิดจากการแต่งงานระหว่างชายชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพเข้ามาค้าขายในแถบช่องแคบมะละกากับหญิงชาวพื้นเมืองชาวมาลายู

จุดเด่นของบ้านแบบเปอรานากันคือ ลานกลางตึกรูปสี่เหลี่ยมที่เปิดโล่งไว้คอยรับลม ฝน และช่วยในการระบายถ่ายเทอากาศในตัวตึกที่แคบลึก ซึ่งถ้านั่งที่ลานโล่งนี้จะรู้สึกเย็นสบาย แต่เนื่องจากคฤหาสน์หลังนี้ได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ต้องติดเครื่องปรับอากาศแทบทั้งหลัง ดังนั้น หลังคาเปิดโล่งแต่เดิมจึงถูกปิดไว้ด้วยกระเบื้องโปร่ง ใสแทน ทำให้ยังได้รับแสงสว่างที่สดส่องลงมาเต็มที่ แต่ไม่มีช่องให้ฝนสาดแล้ว

ตามความเชื่อของชาวจีนฮกเกี้ยน การเปิดช่องกลางบ้านให้โล่งเอาไว้นั้นมาจากความเชื่อว่าจะมีความมั่งคั่งและเงินทองไหลมาเทมาพร้อมกับน้ำฝน จึงทำแอ่งรับน้ำเอาไว้และมีท่อรับน้ำส่งต่อไปใช้อุปโภคบริโภคภายในครัวเรือน เป็นการเก็บรักษาเงินทองให้บริบูรณ์มั่งคั่งไม่สูญเสียไปไหนอีก

ห้องเล่นไพ่ในบ้านเปอรานากันสำหรับคลายเครียดของเหล่าสตรี
ห้องเล่นไพ่ในบ้านเปอรานากันสำหรับคลายเครียดของเหล่าสตรี

คฤหาสน์สีเขียวหลังนี้เป็นบ้านเปอรานากันงดงามวิจิตร บานประตูและหน้าต่างทำจากไม้แกะสลักแบบจีน ปูพื้นด้วยกระเบื้องที่สั่งทำมาจากอังกฤษ เป็นกระเบื้องเปอรานากันที่ออกแบบมาให้เฉพาะสำหรับแต่ละหลัง ระเบียงรอบบ้านชั้นบนเป็นงานหล่อเหล็กแบบสก็อต มีรูปปั้น ภาพถ่ายและป้ายชื่อบรรพบุรุษของบ้านแขวนตกแต่งอยู่มากมายในแต่ละห้อง รวมถึงรูปปั้นของกะปิตัน Chung Keng Kwee ผู้สร้างบ้าน

บ้านหลังนี้ใช้อยู่อาศัยมาหลายสิบปีจนกระทั่งลูกหลานไม่สามารถดูแลรักษาไว้ได้จนต้องขายให้กับเศรษฐีปีนังคนอื่นในเวลาต่อมา ก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน อายุอานามของบ้านหลังนี้รวมแล้วราว 125 ปี สะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งของพ่อค้าชาวจีนและฝีมือการก่อสร้างของช่างชั้นสูง ผังของบ้านถูกแบ่งเป็นสัดส่วนชัดเจน แยกเรือนเจ้านาย ลูกน้อง ครัว ศาลเจ้า ออกจากกัน  ห้องรับแขกมีหลายห้อง ทั้งห้องจีน ห้องอังกฤษ ห้องเล่นไพ่ แล้วแต่ว่าจะรับรองแขกกลุ่มไหน

ปัจจุบันคฤหาสน์สีเขียวหลังนี้จัดแสดงภาพวิถีชีวิตแบบเปอรานากันของบาบ๋าย่าหยาในอดีต ห้องหับแต่ละห้องแฝงฝังกลิ่นอายความรุ่งโรจน์ในวันวานอยู่ทุกอณูตามเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ ที่กลายเป็นสมบัติล้ำค่าของผู้เคยอยู่อาศัย นอกจากนั้น ยังมีห้องแสดงเครื่องประดับเงิน ทอง เพชรพลอยสูงค่าที่เป็นของเก่าในคอลเล็กชั่นสะสมเจ้าของบ้านคนใหม่ด้วย

คู่สามีภรรยาผู้เป็นเจ้าของครอบครองบ้านเปอรานากันในปัจจุบัน
คู่สามีภรรยาผู้เป็นเจ้าของครอบครองบ้านเปอรานากันในปัจจุบัน

น่าดีใจที่บ้านเก่าหลังนี้ได้รับการบูรณะให้สวยงามเหมือนในอดีต แล้วรวบรวมศิลปะวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองปีนังในสมัยก่อนอย่างครบถ้วน ตั้งแต่เครื่องครัว ภาชนะกระเบื้องเคลือบ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และงานหัตถศิลป์ที่นำเข้ามาจากจีนและประเทศในแถบยุโรป ซึ่งของเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น  

บ้านเปอรานากันอาจเน้นเรื่องราวของคนใหญ่โตมั่งคั่ง นั่นก็เพราะมีความพร้อมในการเก็บสะสมดูแลศิลปะวัตถุและเรื่องราวล้ำค่าให้ตกทอดมาสู่รุ่นหลังได้ดี ขณะที่ครอบครัวชาวบ้านทั่วไปคงไม่มีใครสนใจจะเก็บรักษาเรื่องราวของบรรพบุรุษคนใดเพราะอาจไม่เห็นว่ามีค่าพอ ดังนั้น เรื่องราวของชาวบ้านคนธรรมดาสามัญจึงฝากรอยไว้ตามถนนหนทางที่มีภาพชีวิตหลากรูปแบบที่ยังอาศัยรวมอยู่ด้วยกันในชุมชนดั้งเดิมต่อเนื่องมาได้จนถึงปัจจุบันในบ้านหลังเก่าโทรมและยังยึดอาชีพเก่าแก่ดั้งเดิมสืบต่อมา

หนึ่งในบรรดาอาชีพเก่าแก่นั้นคือ การขายอาหาร

กินอาหารริมทาง หรือสตรีตฟู้ด ต้องตอนกลางคืนจะได้บรรยากาศมาก
กินอาหารริมทาง หรือสตรีตฟู้ด ต้องตอนกลางคืนจะได้บรรยากาศมาก

ปีนังโด่งดังเรื่องสตรีตฟู้ดหรือการขายอาหารแผงลอยขึ้นมาได้ก็เพราะเขาสงวนอาชีพไว้ให้เฉพาะคนท้องถิ่นทำเท่านั้น อีกอย่างคนขายอาหารเขาจะไม่ข้ามสายพันธุ์กัน อินเดียขายอาหารแขกไป คนจีนขายอาหารจีนที่ถนัด คนมาเลย์ก็ขายเฉพาะอาหารมาเลย์ รสชาติอาหารแต่ละชาติพันธุ์จึงเป็นรสดั้งเดิมออริจินอลสุดๆ

สำหรับปีนังได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งอาหารของมาเลเซีย เพราะเกาะนี้มีคนหลายเชื้อชาติเข้ามาอยู่อาศัยปะปนกัน ทั้งจีน มาลายู อินเดีย จึงไม่แปลกที่อาหารของที่นี่เป็นอาหารที่เกิดจากสังคมพหุวัฒนธรรม มีทั้งอาหารจีน อาหารแขก และอาหารเปอรานากัน ซึ่งเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของจีนและมาลายูเข้าด้วยกันกลายเป็นอาหารที่มีความหลากหลายมาก

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าอาหารมาเลเซียมีความคล้ายคลึงกับอาหารอินโดนีเซียในแถบเกาะสุมาตราและอาหารมาเลเซียหลายชนิดนิยมใส่เริมปะห์ ซึ่งเป็นส่วนผสมของเครื่องเทศคล้ายกับผงมะสะหล่าของอินเดีย เราสามารถแบ่งกลุ่มอาหารมาเลย์ออกเป็น อาหารมลายู อาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชวา อาหารมาเลย์เชื้อสายอินเดีย อาหารมาเลย์เชื้อสายจีน และอาหารแบบเปอรานากันหรือย่าหยา

อาหารของชาวมาเลย์เชื้อสายจีน ดูเหมือนจะได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดในปีนัง โดยเฉพาะอาหารจำพวกเส้น ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนตอนใต้ เช่น อาหารจีนฝูเจี้ยน อาหารจีนกวางตุ้ง และอาหารจีนฮากกา มีหมูเป็นส่วนผสมที่สำคัญ แต่ก็มีอาหารจากไก่เยอะพอสมควรสำหรับให้ชาวมาเลย์มุสลิมกินได้

ตัวอย่างอาหารเหล่านี้ ได้แก่ บักกุ๊ดเต๋ เป็นซุปที่ทำจากไส้หมู เนื้อหมู ซี่โครง สมุนไพร กระเทียม และซีอิ๊วดำ ต้มเคี่ยวเป็นเวลาหลายชั่วโมง บักกวา หรือหมูแห้ง เป็นการแปรรูปเนื้อหมูให้เก็บไว้ได้นาน มีขายทั่วไปในมาเลเซียและนิยมมากในเทศกาลตรุษจีน ปัจจุบันเป็นของว่างสำคัญ

ชาก๋วยเตี๋ยว (Char Kway Teow) เป็นก๋วยเตี๋ยวผัดปีนัง รสออกเผ็ดคุ้นลิ้นคนไทย ลักษณะคล้ายผัดไทยผสมกับผัดซีอิ๊วและก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ โดยใช้เส้นเล็กแบบแบนผัดกับซอส ซีอิ๊ว ใส่กุ้ง หอยแครง กุนเชียง และถั่วงอก ชาก๋วยเตี๋ยวของดีของแท้ต้องใช้เตาถ่านผัดจนหอมกลิ่นควันไฟ และให้เลือกสั่งกินกันตามร้านริมถนนนั่นแหละอร่อยแทบทุกร้านเลย

ส่วนก๋วยเตี๋ยวน้ำ ต้องลองชิม ก๋วยเตี๋ยวแกง หรือแกงหมี่ ที่ใช้เส้นหมี่หนานุ่มกรุ่นกลิ่นเครื่องแกงจางๆ กับ ฮกเกี้ยนหมี่ อีกหนึ่งเมนูยอดนิยมของปีนัง ปรุงอย่างพิถีพิถันตามแบบฉบับฮกเกี้ยน โรยหน้าด้วยเนื้อไก่ ไข่ต้ม และกระเทียมเจียว ถูกใจคนที่ชอบกินอาหารรสจัด

ขนมผักกาด ก็เป็นของกินยอดนิยมของคนปีนัง ขายยกกระทะในเวลาชั่วพริบตา
ขนมผักกาด ก็เป็นของกินยอดนิยมของคนปีนัง ขายยกกระทะในเวลาชั่วพริบตา

นอกจากนั้น ยังมี หมี่เกี๊ยว เย็นตาโฟ หมี่กวางตุ้ง กวยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยวหลอด ซุปหมี่เป็ด เป็นอาหารปีนังแบบจีนมาเลย์ที่มีชื่อเสียงในรูปซุปร้อนใส่สมุนไพรหลายชนิดเสิร์ฟกับเส้นหมี่ซั่ว และที่ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาดเลยก็คือ ข้าวมันไก่ ตามด้วย ขนมหัวผักกาด ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับหัวผักกาดขาวหรือหัวไชเท้า ส่วนของว่างก็เป็น ซาลาเปา เปาะเปี๊ยะ ปิดท้ายด้วยของหวาน อย่าง เต้าฮวย ที่คนไทยรู้จักกันดี

อาหารมลายู ที่เด่นมากในปีนังและเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนคือ นาซิ เลอมัก (Nasi Lemak) ข้าวที่หุงกับกะทิใส่ใบเตยเพิ่มความหอม นิยมเสิร์ฟแบบดั้งเดิมบนใบตอง เครื่องเคียงประกอบด้วยปลาตัวเล็กๆ ทอดกรอบ ถั่วลิสง ไข่ต้ม แตงกวาหั่นสดๆ แกงกะหรี่แกะ หรือไก่ทอดกรอบ กินกับซอสซัมบัล (Sambal) ปรุงจากกุ้งแห้ง พริก กระเทียม ขิง หอมแดง โขลกให้เข้ากันในครกหิน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล มะนาว จนกลมกล่อม มีรสค่อนข้างเผ็ด นาซิ เลอมัก ถือเป็นอาหารประจำชาติของมาเลเซีย อาหารมาเลเซียที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดียจะใช้ซัมบัลที่มีรสค่อนข้างเผ็ด  

ไก่ย่างแบบนี้ ถึงจะเป็นสตรีตฟู้ดแต่ก็ดูสะอาด น่ากินมาก
ไก่ย่างแบบนี้ ถึงจะเป็นสตรีตฟู้ดแต่ก็ดูสะอาด น่ากินมาก

อีกอย่างที่ถูกใจคนกินผักคือ กังกุง เบอลาจัน ใช้ผักบุ้งหรือผักอื่น เช่น สะตอ ถั่วฝักยาว ผัดกับซอสที่มีกะปิและพริกเป็นส่วนผสมหลัก นาซิ เกอราบู หรือข้าวยำ เป็นข้าวที่หุงด้วยดอกอัญชันให้มีสีออกน้ำเงิน มีต้นกำเนิดในรัฐกลันตัน นาซิ โกเร็ง คือข้าวผัดที่เป็นแบบมลายูแท้ๆ นิยมใส่ปลาและไก่

อาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชวา ย่อมไม่มีอะไรเกินหน้า สะเต๊ะ ไปได้ ทำจากเนื้อหรือไก่หมักแล้วนำไปย่างกินกับซอสจากถั่วลิสง เป็นอาหารยอดนิยมในมาเลเซีย เตอลุร ปินดัง ไข่ต้มกับสมุนไพรกลิ่นหอมและเครื่องเทศ นิยมใช้ในงานแต่งงาน เตาฮู บากัร เป็นอาหารทำจากถั่วเหลือง นำไปย่างแล้วหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม จุ่มลงในซอสชนิดพิเศษ

อาหารของชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดีย มีลักษณะใกล้เคียงกับอาหารในอินเดียทางตอนใต้ เมนูที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ หมี่โกเร็ง ใช้เส้นหมี่เหลืองผัดในซอสมะเขือเทศ ใส่เต้าหู้และปลาหมึกลงไป หน้าตาอาจจะดูเหมือนหมี่ผัดธรรมดาแต่แอบแฝงไว้ด้วยรสชาติล้ำลึก เสิร์ฟพร้อมมะนาว เพียงแค่บีบมะนาวลงไปก็สามารถเพิ่มรสชาติให้หมี่ผัดจานนี้อร่อยขึ้นในพริบตา ถือเป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอินเดีย-มุสลิมในปีนังก็ว่าได้

จปาตี เป็นขนมปังที่มีจุดกำเนิดในปัญจาบ ทำจากแป้งสาลีไม่ขัดสี น้ำ และเกลือ แล้วทอดให้สุกในกระทะที่แบนและแห้ง กินกับแกงกะหรี่ผัก หรือนำแผ่นแป้งจปาตีมาห่ออาหารที่ปรุงสุกแล้ว นาน เป็นขนมปังแบนที่นำไปอบจนสุก กินกับชัทนีย์หรือแกง เช่น แกงดาล มีทั้งนานรสกระเทียม นานรสเนย นานรสเนยแข็ง โรตี จาไน และ ปาเซมบูร์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงอย่างละเอียดในตอนต่อๆ ไป

อาหารย่าหยา เป็นอาหารที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มของชาวจีนช่องแคบ และชาวบาบ๋าย่าหยาหรือเปอรานากัน ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างชาวจีน-มาเลย์ในมาเลเซียและสิงคโปร์ อาหารนี้ใช้ส่วนผสมแบบจีนแต่ใช้เครื่องปรุงแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กะทิ ตะไคร้ ขมิ้น พริก และซัมบัล มีบางส่วนได้รับอิทธิพลจากอาหารไทย

ตัวอย่างของอาหารย่าหยาเมนูเด็ดยอดนิยม ได้แก่ ลักซา (Laksa) ซึ่งเป็นอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวรสเผ็ดของชาวเปอรานากัน มีหลายประเภท ทั้งแบบเป็นแกงกะทิน้ำข้น (Curry Laksa) และ อาซัม ลักซา (Assam Laksa) ที่มีรสออกเปรี้ยวไม่ใส่กะทิ ซึ่งลักซาที่ปีนังส่วนใหญ่จะเป็นอาซัม ลักซา แต่จะเรียกลักซาเฉยๆ ลักษณะคล้ายขนมจีนมาในน้ำแกงที่ทำจากเนื้อปลารสชาติออกเปรี้ยว (assam ภาษามาเลย์ แปลว่า มะขาม) มีลักษณะคล้ายแกงส้ม ประกอบไปด้วยเนื้อปลาป่น น้ำมะขาม กะปิ และสมุนไพรหลากหลาย ทั้งสะระแหน่ ผักแพว พริก และดอกดาหลา เพิ่มความหวานหอมด้วยสับปะรด 

นอกนั้นก็มี อาจาด เป็นเนื้อสัตว์และผักดอง มีหลายชนิด เช่น อาจาดน้ำผึ้งมะนาว อาจาดปลาทอด อาจาดปลาเค็ม อาจาดแตงกวา อาจาดผักรวม บ๊ะจ่าง ทำจากข้าวเหนียว ห่อด้วยใบไผ่ ใส่หมู เห็ด กุ้ง และไข่แดงของไข่เค็ม บ๊ะจ่างแบบเปอรานากันนิยมห่อด้วยใบเตย เกอราบู บีฮุน เป็นอาหารประเภทสลัด ทำจากขนมจีนผสมกับซัมบัล เบอลาจัน น้ำผึ้งมะนาว น้ำผลไม้และผักหั่น และเครื่องเทศ อาหารประเภทนี้ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เกอราบูไก่ เกอราบูขาไก่ เกอราบูแตงกวา เกอราบูกะหล่ำปลี เกอราบูถั่วพู และเกอราบูหนังหมู

สำหรับ ขนม ของมาเลเซียส่วนใหญ่ใช้กะทิ ได้แก่ เซ็นดอล หรือขนมลอดช่องปีนัง ใช้แป้งข้าวเจ้ารีดเป็นตัวขนมชิ้นเล็กๆ แบบขนมลอดช่องไทย ราดด้วยน้ำกะทิที่ใส่น้ำตาลมะพร้าวเป็นของหวานยอดนิยมสำหรับคนทุกวัย และอีกอย่างคือ น้ำแข็งไส ไอส์ กาจัง ใส่ข้าวโพดหวาน ถั่วแดง เฉาก๊วย และเครื่องเคียงอื่นๆ อีกมาก  กินกับน้ำแข็งไส เป็นขนมสำหรับฤดูร้อนโดยเฉพาะ

 

เล่ามายืดยาวขนาดนี้ยังไม่เข้าเรื่องอาหารแต่ละชนิดที่ไปชิมมาเลย ขอยกยอดไปคราวหน้านะ