แว่วเสียงจักจั่น…เมนูฤดูร้อนมาถึงแล้ว

เมื่อลอกคราบหลายครั้งก็จะเป็นตัวโตสมบูรณ์

เธอเป็นราชาและราชินีของฤดูร้อน
เสียงแรกที่ได้ยินในรอบปีมีความหมายสำหรับฉัน
มันเป็นความผูกพันพิเศษระหว่างเรา
ที่ดึงตัวตนของฉันย้อนสู่อดีตได้เสมอ

จำไม่ได้แล้วว่าปีไหน ฉันไปเดินอยู่ชายขอบภูพานแถวอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม แถบถิ่นพื้นที่สีแดงเข้มในอดีตช่วงที่มีการเคลื่อนไหวอย่างฮึกเหิมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.

เด็กสาวที่ไม่ประสีประสาไม่รู้หรอกว่าสงครามอุดมการณ์และการสู้รบดำเนินไปเพื่อสิ่งใด ฉันยังเป็นเด็กประถม แค่เข้าป่าในฤดูร้อนเป็นปกติ ไปกับน้าสาวและญาติๆ เพื่อจับจักจั่น

มันร้องระงมอยู่ในป่าโปร่งที่ฉันไม่รู้พิกัด ได้แต่เดินตามผู้ใหญ่เข้าไปเพื่อ “ติดจักจั่น” เสียงแมลงพวกนั้นดังกระหึ่มก้องไปทั้งป่า ดังกว่าสรรพสำเนียงหมู่สัตว์ใดในชีวิตที่เคยได้ยินมา

พวกเรามีไม้ไผ่รวกยาวเฟื้อยเป็นอาวุธ ที่ปลายไม้นั้นติดยางไม้เหนียว ที่เรียกว่า “ตัง” ฉันไม่รู้ว่าตังมีส่วนผสมจากยางไม้อะไรบ้าง รู้แต่ว่ามันเหนียวหนึบ เหนียวแบบติดมือ ติดเนื้อติดตัว และติดผมเผ้า ชนิดที่ว่าต้องระวังให้มากๆ

น้าบอกว่า อย่าให้ตังติดเสื้อหรือผมเด็ดขาด เพราะยางตังล้างไม่ออก ถ้าติดผมก็ต้องตัดผมกระจุกนั้นทิ้ง และถ้าติดเสื้อก็ต้องทิ้งเสื้อไปทั้งตัว

จักจั่นเกาะอยู่บนเปลือกไม้ต้นที่มันชอบ สูงในระดับต้องแหงนคอส่องหา สีสันของมันเป็นสีน้ำตาลไหม้กลืนไปกับเปลือกไม้ เรามองไม่ค่อยเห็นตัวมันหรอก ต้องใช้หูฟังเสียงว่าดังมาจากจุดไหน แล้วสังเกตปีกใสๆ ที่ส่องประกายในแดด

จักจั่นชนิดที่พบเห็นในเมืองไทยมาก

เอาปลายไม้ไปแตะเบาๆ ตังเหนียวหนับแค่โดนปีกจักจั่นก็ดูดแมลงทั้งตัวลงมา วิธีนี้ปีกจักจั่นจะขาดรุ่งริ่ง แต่เราไม่สนใจปีกนั่นหรอก เราอยากได้ตัวจักจั่นต่างหาก จักจั่นจากปลายไม้จะถูกดึงออกจากยางยัดลงไปในข้อง ทีละตัวๆ มือของฉันเริ่มเหนียว…ไม่ง่ายที่เราจะเอาจักจั่นออกจากตังโดยมือไม่เปื้อน
………
บางครั้งพวกผู้ใหญ่เตรียมเครื่องทำก้อย-ลาบ ติดตัวไปด้วย เมื่อได้จักจั่นพอสำหรับมื้อกลางวันแล้วเราก็จะกินข้าวป่ากัน ผู้ใหญ่กินก้อยจักจั่นสดๆ กินกับตำแตงง่ายๆ เด็กๆ ก่อไฟเอาจักจั่นเสียบไม้ปิ้ง หอม…กลิ่นควันไฟอยู่ในเสียงจี่ๆ ของแมลงรสเลิศจากกองไฟอวลอยู่ในสายลมร้อน

น้าเล่าให้ฟังว่า พวกที่จับจักจั่นไปขายตัวสวยๆ เขาจะออกล่ากันตอนกลางคืน แม้แมลงยังไม่ร้องให้ได้ยินเสียง แต่ถ้ารู้จักต้นไม้ที่จักจั่นชอบ แค่ไปยืนใต้ต้นไม้ ถ้ารู้สึกว่ามีละอองน้ำเป็นฝอยตกลงมา นั่นล่ะ “เยี่ยวจักจั่น”

เมื่อมีเยี่ยวจักจั่น ก็ต้องมีตัวจักจั่นด้วยอย่างแน่นอน ชาวบ้านที่รู้ว่าจักจั่นอยู่ที่ไหนจะลงมือเขย่าต้นไม้ให้จักจั่นร่วงลงสู่พื้น จากนั้นก็ใช้ไฟส่องตามเก็บเอาบนพื้นดิน

บางคนถึงขนาดโค่นต้นไม้ลงทั้งต้นเพื่อนจะเอาจักจั่นกันง่ายๆ แบบนี้จะได้จักจั่นในสภาพที่สวยงามสมบูรณ์ ขายได้ราคาดี

จักจั่นตัวผู้ลำตัวยาว
จักจั่นตัวเมียลำตัวสั้น

ราคาจักจั่นตามฤดูกาลในปีนี้ ฉันถามแม่ที่นครพนม แม่บอกว่าแพงขึ้นจากปีก่อนเท่าตัว ตอนนี้ขายกันตัวละ 1 บาท จากที่เคยซื้อกิน ตัวละ 50 สตางค์ เมื่อปีที่แล้ว

นักดนตรีเจ้าสำราญของฉันกลายเป็นของดีราคาแพง ถึงขนาดนับตัวขายไปเสียแล้ว นานเหลือเกิน…น่าจะกว่า 30 ปีแล้ว ที่ฉันไม่ได้ลิ้มชิมรสจักจั่น โดยเฉพาะ “แกงผักหวานป่าใส่จักจั่น” รสมือแม่ที่ไม่มีใครจะทำได้อร่อยเท่า

ผักหวานสำหรับแกงใส่จักจั่น

………
เท่าที่ฉันรู้ พวกแมลงถือเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ พวกเขากำเนิดขึ้นมาในโลกก่อนสัตว์อื่นนับเป็นเวลาล้านล้านปี สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมาก ทำให้แมลงกลายเป็นสัตว์ที่มีปริมาณมากที่สุดในโลก

ว่ากันว่าแมลงทั้งโลกมีอยู่ราว 850,000 ชนิด แต่ที่มนุษย์รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในการบริโภคเป็นอาหารมีประมาณ 300,000 ชนิด ในจำนวนนั้นมี “จักจั่น” รวมอยู่ด้วย

จักจั่นที่เพิ่งขึ้นจากดินใหม่ๆรอลอกคราบ
เมื่อลอกคราบหลายครั้งก็จะเป็นตัวโตสมบูรณ์

แต่หลายท่านอาจไม่ทราบว่าที่จริงแล้วแมลงส่วนใหญ่เป็นใบ้ คือไม่ส่งเสียงเลย มันแค่เกิดมาใช้ชีวิตตามวงจรของมันแล้วจากโลกนี้ไป มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นเป็น “แมลงนักดนตรี” สามารถส่งเสียงได้

และที่เรารู้จักกันดีที่สุดก็คือ จักจั่น กับ จิ้งหรีด ซึ่งเมื่อเทียบความดังของเสียงแล้ว จักจั่นเป็นแมลงที่ส่งเสียงดังมากกว่าและสามารถร้องเพลงได้เป็นเวลายาวนานกว่า

จักจั่น เป็นแมลงโบราณเก่าแก่ยุคเดียวกับไดโนเสาร์ที่ยังคงสืบพันธุ์จนถึงทุกวันนี้ ทั่วโลกมีจักจั่นอยู่ด้วยกันหลายสกุลรวมแล้วนับพันชนิด มักอาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อน

จักจั่นเป็นแมลงนักดนตรีที่ทั่วโลกรู้จักกันดี เนื่องจากเสียงของมันดังก้องกังวานแตกต่างจากเสียงของแมลงนักดนตรีชนิดอื่นๆ และพบมากในช่วงฤดูแล้ง….เฉพาะในเมืองไทยต้องเป็นฤดูร้อนแล้งเท่านั้น

ตัวอ่อนจักจั่นฝังอยู่ใต้ดินเป็นสิบปี

เสียงจักจั่นที่ร้องระงม ดังแอ่ๆๆๆๆๆๆๆๆ เอามาเขียนเป็นตัวหนังสือให้ออกเสียงตรงกับสิ่งที่หูรับฟังได้ยากยิ่งนัก แต่เสียงนั้นก็มีเอกลักษณ์มากจริงๆ พอเราได้ยินปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านั่นเป็นเสียงจักจั่น มิใช่อย่างอื่น

บางคนบอกว่าเสียงจักจั่นคล้ายเสียงคนเป่าใบไม้ บ้างก็ว่าเหมือนเสียงเครื่องรับวิทยุที่กำลังหมุนหาคลื่นความถี่ฟังดูชวนหนวกหูน่ารำคาญ บ้างก็ว่าคล้ายเสียงลองเครื่องสายวงซิมโฟนี ฯลฯ

เสียงที่เราได้ยินนี้อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหูของคนฟังแต่ละคน แต่ที่แน่ๆการบรรเลงเพลงของจักจั่นจะเล่นกันเป็นเวลา มีการหยุดพักเหนื่อยบ้าง ไม่ได้เล่นตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนหรอกนะ

พวกเขาจะมาพร้อมกับฤดูร้อน ชอบบรรเลงเพลงในช่วงเช้าและบ่าย โดยเฉพาะยามเย็นมักจะร้องนานกว่าปกติ บางทีก็ติดพันยาวนานไปจนดึกดื่น

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉันได้ยินเสียงจักจั่นแรกฤดูของปีนี้ร้องระงมที่สนามกีฬาประชานิเวศน์ข้างสำนักงานมติชน เสียงมันดังมาจากต้นจามจุรีหรือต้นฉำฉาทางฝั่งทิศเหนือของสนามก่อน จากนั้นค่อยกระจายไปตามต้นไม้ทุกต้นที่ขึ้นรายรอบสนามฟุตบอล ไม่เว้นแม้แต่ต้นพิกุลที่กำลังออกดอกหอมอยู่หน้าเสาธง

ทันทีที่เสียงแรกกรีดขึ้น เสียงร้องรับจากตัวอื่นๆ ก็ดังระงมเป็นมโหรีโรงใหญ่ มันเป็นเสียงของแมลงตัวผู้เท่านั้น จักจั่นตัวเมียไม่ส่งเสียง…

นักกีฏวิทยาระบุว่า มีแต่จักจั่นเพศผู้เท่านั้นที่ทำเสียงได้และไม่ใช่เสียงจากการกรีดปีกเหมือนแมลงมีปีกอื่นชอบทำกัน แต่จักจั่นมีอวัยวะทำเสียงเฉพาะของมันตั้งอยู่ทางด้านล่างของส่วนท้องหรือใต้อก มีลักษณะเป็นช่องลมที่มีแผ่นแข็ง 1 คู่ คล้ายหนังกลอง เรียกว่า “opercula” ปิดทับอยู่ (จักจั่นเพศเมียก็มีอวัยวะนี้เช่นเดียวกัน แต่มีขนาดสั้น จึงไม่สามารถส่งเสียงได้)

พวกมันจะทำเสียงด้วยการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวอย่างเร็ว ทำให้เกิดแรงลมที่ไปดันผนัง opercula ให้โป่งขึ้นและยุบลงอย่างรวดเร็วและสั่นพลิ้วจนกลายเป็นเสียงสูงแหลมหวีดหวิวดังก้องกังวานมาก

ว่ากันว่า จักจั่น สามารถยืดหดตัวกล้ามเนื้อสร้างเสียงของมันสลับกันไปมาได้ นาทีละ 100 ครั้ง หรือมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพื่อสร้างเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจักจั่นขึ้นมา

เรื่องเสียงของจักจั่นทำให้ฉันอยากรู้มากขึ้นถึงขนาดไปเสาะหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมมากมาย จนพบว่าแมลงต่างชนิดกันย่อมทำเสียงแตกต่างกันไป ทั้งความยาวและความถี่ แต่ถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงล่ะก็ คงยากยิ่งนักที่จะแยกแยะชนิดของแมลงจากการฟังเสียงของมันได้

ความสามารถในการทำเสียงของแมลงแต่ละชนิดนั้นมีวิวัฒนาการเฉพาะตัว โดยเสียงที่เกิดขึ้นไม่ได้เปล่งออกมาจากลำคอและปาก แต่เกิดจากกระบวนการทำเสียงในรูปแบบต่างๆ คือ

1. เสียงที่เกิดจากกิจวัตรประจำวันในการดำรงชีวิตของแมลงโดยไม่จำเป็นต้องใช้อวัยวะพิเศษใด แต่อาจเกิดจากการกระพือปีกบิน การกินอาหาร การทำความสะอาดร่างกาย และการเคลื่อนไหวขณะจับคู่ผสมพันธุ์ เป็นต้น

จักจั่นที่เพิ่งจับได้ใหม่ๆ

2. เสียงที่เกิดจากการใช้บางส่วนของร่างกายเคาะกับผนังหรือพื้นแข็ง เช่นตัวด้วงบางชนิด หรือปลวกใต้ดิน

3. เสียงที่เกิดจากกรรมวิธีทำเสียงลักษณะพิเศษ ได้แก่ การใช้อวัยวะ 2 ชิ้น ถูหรือเสียดสีกัน โดยอาจใช้ปีกทั้ง 2 ข้าง หรือใช้ขาถูหรือเสียดสีกับปีกไปมา หรือการสั่นเยื่อบางในอวัยวะทำเสียงเช่นที่พวกจักจั่นทำกัน

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งต่อการส่งเสียงของเหล่าแมลงก็คือ อุณหภูมิในรอบวัน เช่น ช่วงบ่ายหรือเย็นของฤดูร้อน ในช่วงเวลานี้จิ้งหรีดจะร้องเพลงด้วยเสียงถี่เร็วขึ้น แต่พอตกกลางคืนเมื่ออากาศเย็นลงการร้องเพลงจะมีลีลาช้าลงตามอุณหภูมิของอากาศ เป็นต้น

จักจั่นตัวผู้จะร้องเพลงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมียให้มาผสมพันธุ์ด้วย และร้องเพื่อเตือนภัยเมื่อถูกรบกวน มีแต่นักเลงแมลงเท่านั้นถึงจะรู้ว่าเสียงจักจั่นแบบไหนคือเสียงเรียกหาคู่ และเสียงใดคือเสียงตกใจเมื่อถูกรบกวน

จักจั่นตัวโตสมบูรณ์แล้ว

ในการร้องเพลงหาคู่นั้น จักจั่นแต่ละตัวจะโชว์ลีลาพลังเสียงสุดฤทธิ์ ตัวที่ส่งเสียงได้ดังและแหลมสูงมากที่สุดย่อมเป็นพระเอกในกลุ่ม สามารถเรียกความสนใจจากตัวเมียได้มากเป็นพิเศษ มันจะกลายเป็นจักจั่นคาสโนว่าสามารถเลือกคู่ครองได้ตามใจปรารถนา

นอกจากนั้น เสียงร้องแหลมสูงของจักจั่นที่ดังกว่า 100 เดซิเบล นั้นยังสามารถทำลายแก้วหูของสัตว์บางชนิดได้ อาจมีผลทำให้นกที่หากินกลางวันรู้สึกปวดหูอย่างรุนแรงจนไม่อยากเข้าใกล้แถบถิ่นที่อยู่ของพว กจักจั่น เท่ากับว่าเสียงร้องของพวกทันยังใช้เป็นอาวุธไล่ศัตรูไม่ให้กล้ำกรายเข้ามาใกล้ได้ด้วย

แต่ในบางพื้นที่จักจั่นรู้ดีว่าต้องเงียบเสียง ถ้าหากศัตรูตัวนั้นร้ายกาจ อย่างเช่นในแถบถิ่นของนกกลางคืนจำพวกนกเค้าแมว จักจั่นก็จะร้องเรียกหาคู่เฉพาะตอนกลางวันแล้วหยุดส่งเสียงในตอนพลบค่ำ เป็นการป้องกันไม่ให้นกจับแมลงรู้ตำแหน่งถิ่นที่อยู่ของพวกมัน

เมื่อตัวเมียเลือกตัวผู้ที่มันชอบได้แล้วก็จะผสมพันธุ์กัน จากนั้นตัวเมียจะไปวางไข่ซ่อนไว้ตามเปลือกไม้ก่อนที่ทั้งคู่จะตายไป ทั้งตัวผู้และตัวเมีย

หลังจากนั้นอีก 4 เดือนจักจั่นชุดใหม่ก็จะเปลี่ยนสภาพจากไข่กลายเป็นตัวอ่อนขาวๆ เหมือนหนอน

มันจะคลานออกจากเปลือกไม้มุดลงไปฝังตัวอยู่ใต้ดินยาวนานหลายปีขึ้นอยู่กับว่าจักจั่นชนิดนั้นเป็นสายพันธุ์ใด ว่ากันว่าวงจรชีวิตตัวอ่อนใต้ดินของจักจั่นนั้น เริ่มตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปและบางชนิดอาจฝังตัวยาวนานถึง17 ปีเลยทีเดียว

อาณาจักรใต้ดินของจักจั่นจึงเป็นอาณาจักรลี้ลับกว้างใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครรู้เห็น พวกมันอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากไม้เป็นอาหาร

จักจั่นออสเตรเลีย

จนเมื่อโตเต็มวัยแล้วจึงจะขึ้นจากดินออกมาลอกคราบเป็นจักจั่นตัวโตเต็มวัยและร้องเพลงคิมหันต์เซ็งแซ่ให้เราฟังในชั่วเวลาไม่นานนัก

จากนั้นก็หาคู่…ผสมพันธุ์ แล้วตาย ก่อนเข้าสู่วงจรชีวิตใหม่อีกรอบ เริ่มต้นนับหนึ่งที่ไข่ใต้เปลือกไม้ที่มันฝังเอาไว้

ฉันเฝ้าแต่สงสัยว่าจักจั่นจะมีหัวหน้าฝูงไหม จักจั่นตัวใดกันที่ส่งเสียงร้องขึ้นก่อนเหมือนต้นเสียงของเพลงประสานเสียง จากนั้นทั้งฝูงก็จะร้องตามกันแบบไม่มีเหน็ดเหนื่อย

วันนี้สนามกีฬาประชานิเวศน์ไม่มีเสียงจักจั่นแล้ว ใต้เปลือกต้นฉำฉาอาจมีไข่แมลงมากมายรอคอยวงจรชีวิตรอบใหม่

จักจั่น เป็นราชาและราชินีแห่งฤดูร้อน ผู้บ่งบอกการมาเยือนของฤดูร้อนอย่างชัดเจนที่สุด ตรงต่อเวลาสม่ำเสมอทุกปี มาถึงแล้วก็จากไป ในห้วงขณะสั้นๆ ตัวผู้ก็ตาย…ตัวเมียก็ตาย เป็นปกติเช่นนี้

เป็นเพลงกล่อมโลก และเป็นอาหารพื้นบ้านอันโอชะ

เขียนเรื่องนี้ ด้วยความรู้สึกโหยหารสชาติแสนอร่อยของแกงผักหวานป่าใส่จักจั่นฤดูร้อน

ผักหวานป่าอาหารทรงคุณค่าในฤดูร้อน