พายยังไงไม่ให้วน! “เรือตะกร้า” ไซซ์ยักษ์ ภูมิปัญญาชาวเวียดนาม

“เครื่องจักสาน” นั้นถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์ โดยจะประดิษฐ์แตกต่างกันไปทั้งรูปแบบ และขนาด เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยตามแต่ละท้องถิ่น

อ.ดร.ดินาร์ บุญธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงรากของเครื่องจักสานในภูมิภาคนี้ไว้ว่า คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มประดิษฐ์เครื่องจักสานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อเริ่มหยุดการเร่ร่อน และตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย จึงเริ่มคิดประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องจักสานที่สามารถใช้เป็นภาชนะใส่ของต่างๆ และเครื่องมือทุ่นแรง ที่ทำให้ชีวิตมนุษย์มีความสะดวกสบายขึ้น

แม้เราจะไม่พบเครื่องจักสาน ที่เป็นหลักฐานจากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศไทย เนื่องจากเครื่องจักสาน ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย แต่ด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า คนในดินแดนที่เป็นประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน รู้จักประดิษฐ์เครื่องจักสานเพื่อใช้งาน ก่อนรู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา โดยสันนิษฐานจากลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาว่า มีทำลวดลายให้คล้ายคลึงกับการสานลายของเครื่องจักสาน

“เวียดนาม” เป็นหนึ่งชาติที่มีเครื่องจักสานแนบแน่นกับการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ ด้วยความที่มีแม่น้ำโขงว่าไหลผ่านภาคใต้ของประเทศก่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ ชาวเวียดนามในอดีตจึงดำรงชีพด้วยการเกษตรและประมงเป็นหลัก

เครื่องจักสานที่แปลกโดดเด่น เรียกว่า “เรือกระทง” (Thung Chai) หรือ “เรือตะกร้า” มีรูปทรงกลมทำจากไม้ไผ่สานเคลือบด้วยน้ำมันยางชันป้องกันน้ำซึมเข้าเรือ ใช้ในอาชีพประมง การสัญจรและบรรทุกเสบียง ทรงตัวดีมีน้ำหนักเบา สู้คลื่นสู้ลม รับน้ำหนักได้มาก มีขนาดตั้งแต่ 1.6-2.2 เมตร

ปัจจุบันนั้นยังมีการใช้เรือกระทงอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวประมง และยังกลายเป็นบริการทัวร์เรือกระกระทงล่องตามแม่น้ำให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย เรียกว่าถ้าไปเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ต้องนั่งเรือ “กอนโดลา” (Gondola) แต่ถ้าไปเวียดนามก็ต้องเรือกระทงเนี่ยแหละ!

สำหรับราคาล่องเรือ (อ้างอิงราคาปีนี้) ต้องจ่ายค่าเช่าเรือประมาณ 150,000 ดอง หรือราว 200 บาท และค่าโดยสารคนอีกละ 30,000 ดอง หรือประมาณ 40 บาท เรือนั้นนั่งได้สูงสุด 2 คน ซึ่งเข้าใจว่าราคาข้างต้นนี้น่าจะใกล้เคียงกันหมด

Photo by HOANG DINH NAM / AFP

Photo by HOANG DINH NAM / AFP
Photo by HOANG DINH NAM / AFP
Photo by HOANG DINH NAM / AFP

Photo by HOANG DINH NAM / AFP
Photo by HOANG DINH NAM / AFP

 

Photo by STR / AFP
Photo by HOANG DINH NAM / AFP

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เม่ื่อวันพฤหัสที่ 4 เมษายน พ.ศ.2562