พืชผักยืนต้น คุณค่า – มูลค่าเพิ่ม

ผมได้ไปฟัง พี่ชัย – คุณศักดิ์ชัย ชาตาดี เครือข่ายวนเกษตรสนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา มาร่วมพูดคุยเรื่องผักยืนต้นในงานอบรม “โรงเรียนอธิปไตยทางอาหารปี 2 ผักยืนต้นกับความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งมูลนิธิชีววิถี (Biothai) จัดขึ้นที่สวนชีววิถี ตำบลไทรม้า เมืองนนทบุรี พี่ชัย ในฐานะผู้ปฏิบัติจริงเกี่ยวกับเรื่องวนเกษตรและการใช้ทรัพยากรใน ‘ป่าครอบครัว’ มานานนับสิบปี ได้พูดเรื่องที่ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่เริ่มคิดปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ระยะยาวด้านต่างๆ เลยจะขอสรุปสั้นๆ มาเล่าสู่กันฟังตามความเข้าใจของผมนะครับ

ที่จริงผมก็เพิ่งรู้ว่า ก่อนที่จะมาทำงานอยู่ที่วนเกษตร บ้านนาอีสาน ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต นั้น พี่ชัยเป็นคนพื้นเพบ้านกง อำเภอกงไกรลาศ สุโขทัย ซึ่ง “มีชีวิตอยู่กับน้ำเลยนะ สี่เดือนต่อปีนี่ น้ำจะท่วมพื้นที่หมดเลย ตอนนั้นที่บ้านก็ทำนา หาของป่า การไปตลาดของเรานี่ไม่ได้ไปซื้อของนะ แต่คือเก็บผักตามป่าไปขาย เรียกว่าธรรมชาติมีของให้เราเก็บกินเยอะมาก ทีนี้เมื่อบางแห่งมันถูกทำลายจนเริ่มจะหมดไป เราก็ต้องพยายามสร้างระบบขึ้นใหม่ ให้มันมีความยั่งยืนจนเราพึ่งพิงได้เหมือนเดิม ฐานคิดเราก็อยู่ตรงนี้แหละ” เบื้องหลังชีวิตเด็กน้อยที่ฝันอยากเป็นเกษตรกรของบัณฑิตเกษตรศาสตร์ ผู้ซึ่งเลือกกลับชนบทเพื่อฟื้นฟูพึ่งพาตัวเอง ก็เริ่มมาจากจุดนี้

…..

“คือเราอยากกลับไปทำสวนที่บ้าน พึ่งตัวเอง อยู่รอดได้กับที่ดินของตัวเอง มันก็ต้องมีแผนงานที่จะสนองเป้าหมายว่า หนึ่ง ทำยังไงถึงจะมีพอกิน สอง ทำยังไงถึงจะมีฐานทางเศรษฐกิจ ถ้าทำได้ เราก็จะมีความสุขในชีวิตของเรา” พี่ชัย เล่าว่า เริ่มแรก ต้องมีองค์ความรู้เรื่องระบบนิเวศในพื้นที่ของเราก่อน เพราะแต่ละแห่งมันจะต่างกัน ต้องเริ่มตั้งแต่สังเกตพืชดั้งเดิม ทางน้ำ สภาพดิน ว่าเหมาะจะทำเกษตรแบบที่เราต้องการไหม จากนั้นก็ต้องรู้จักพืชที่เราจะเอามาปลูก จึงจะคิดวางแผนได้

“ผมเริ่มตั้งแต่ปี 2544 ซื้อที่ ไถปรับ ขุดสระ ปลูกต้นไม้ ทำนา แล้วเราอยากมีความมั่นคงเรื่องอาหาร ก็มาคิดว่า จะปลูกพืชอะไรบ้างให้มีเก็บกินไปได้ทั้งปี ก็เริ่มปลูกไป 100 กว่าชนิด โดยให้ในรัศมี 20 เมตรรอบบ้านนี่เป็นพืชพื้นบ้านที่เราชอบเก็บกินเป็นประจำ ถ้าไม่คิดไว้ก่อนมันอาจมีปัญหาว่า ไอ้ต้นนี่ปลูกไว้มาก แต่ไม่ค่อยได้กิน แล้วถ้าเราคำนวณดีๆ มันจะไม่ต้องปลูกมากๆ หรอกนะ อย่างเช่น ชะมวงนี่ปลูกต้นเดียวก็พอกิน ผักหวานอาจจะสัก 10 ต้น ชะอม 10 ต้น อยู่ที่ความชอบของเราน่ะ”

วิธีปลูกพืชแบบผสมผสานก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดเช่นกัน “อย่างสมมุติเราปลูกติ้วสักต้น มันต้นใหญ่ใช่ไหม เราก็สามารถปลูกพืชใต้ร่มใบ ให้มันโตร่วมกันไปได้ อย่างพริกไทย ดีปลี ชะพลู หรือพวกหัวมันป่า มันพื้นบ้าน ให้พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรนั้นมันใช้ประโยชน์ได้เต็มที่”

เรื่องหนึ่งที่พี่ชัยเคยเล่าให้ผมฟังนานมาแล้ว ก็คือเทคนิควิธีการตัดแต่งกิ่งพืชผักยืนต้น เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากกว่าที่มันเคยให้ได้ตามธรรมชาติ

“ผักยืนต้น ไม่ว่าจะเป็นชะมวง ติ้ว เสม็ด เพกา ผักหวาน ถ้าปลูกแบบปล่อยตามธรรมชาติ ปีหนึ่งมันจะกินได้ครั้งเดียว แต่ถ้าเราหมั่นตัดแต่งกิ่ง มันจะแตกยอดให้เรากินได้ทั้งปีนะ แถมยังประหยัดพื้นที่ได้เยอะเลยล่ะ บางคนนะ แค่ที่งานเดียว เขาปลูกได้ตั้งเกือบ 200 ชนิด ยกตัวอย่างมะม่วงหิมพานต์ ปกติพุ่มมันจะกินพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10 ตารางเมตร แต่ถ้าตัดแต่ง เราคุมให้เหลือแค่ 2-3 ตารางเมตรได้สบายๆ มันขึ้นอยู่กับว่าเราปลูกเพื่ออะไร มีการกำหนดขอบเขตยังไง พอเห็นแบบนี้ เราก็นึกถึงการปลูกผักยืนต้นในกระถาง ซึ่งมันตอบโจทย์คนเมืองใหญ่ที่มีพื้นที่น้อยได้เลยนะ ทำได้จริงโดยไม่ต้องใช้พื้นที่มาก”

เมื่อหลับตานึกถึงต้นชะมวงในกระถางใหญ่ สูงสักราวแค่อก ภาพเกี่ยวกับผักยืนต้นที่ฝังหัวเรามาตลอด ก็ชักจะเริ่มเปลี่ยนไปบ้างแล้วล่ะครับ

…..

เมื่อจัดการวางแผนจน “พอมีพอกิน” ได้แล้ว ประเด็นเรื่องฐานทางเศรษฐกิจก็เป็นโจทย์ข้อต่อไปที่ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่ยังนึกภาพไม่ออก ว่าลำพังการปลูกต้นไม้จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร และในระยะยาว อะไรคือหลักประกันสำหรับผู้ที่อาศัยปลูกพืชผักทำกินในที่ดินของตัวเอง

“อย่างผมนี่ มีที่ดินแค่ 7 ไร่นะครับ ลองนึกดูว่า ถ้าเรามีเป็นร้อยๆ ไร่ก็คงไม่มีปัญหาหรอก แต่นี่คือเราจะต้องจัดการบริหารพื้นที่ให้พอเลี้ยงเราได้ มันถึงต้องมีการศึกษา วางแผน โจทย์มันเปลี่ยนไป ต้องเลือกชนิดพืชที่จะปลูกที่จะเอามาทำขายหรือแปรรูปทำประโยชน์ให้เราในระยะยาวได้ ที่ผมปลูกตอนนี้ พื้นที่ 3-4 ไร่ ปลูกไว้ 40-50 ชนิด หลักๆ ก็มีตะเคียน ซึ่งเราเอาชันตะเคียนมาทำน้ำมันแก้ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาแผลมะเร็ง แผลเบาหวานได้ดีมากๆ ครับ ลำพังชันตะเคียนก็ขายได้ตกราคากิโลกรัมละ 2,500 บาทแล้ว”

พืชล้มลุกที่พี่ชัยยกตัวอย่างให้เห็นอีกก็คือ ปลาไหลเผือก เท้ายายม่อม และมันป่า อีกกว่า 30 ชนิด นอกจากนี้ ก็ยังผลิตยาบำรุงผม แก้ผมร่วง โดยมีส่วนผสมเป็นวัชพืช อย่าง กะเม็ง ย่านาง ขี้เหล็ก เปราะหอม ฯลฯ เคี่ยวในน้ำมันมะพร้าว ทำเป็นสูตรตัวยาง่ายๆ ที่เพิ่มรายได้ให้อย่างไม่น่าเชื่อ

ข้อมูลตัวเลขในพื้นที่ที่น่าสนใจก็คือ ที่บ้านนาอีสาน ตำบลท่ากระดาน นี้ ชาวบ้านประกอบอาชีพเพาะกล้าไม้ขายกันมาก นับเป็นแสนๆ ต้นต่อปี ทำรายได้ให้อย่างยั่งยืน ซึ่งกระแสตอบรับเรื่องนี้เป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการแก้ไขกฎหมายให้สามารถตัดโค่นต้นไม้ยืนต้นสำคัญในที่กรรมสิทธิ์ได้ มาจากกระแสความตื่นตัวที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อน อีกทั้งยังอาจมาจากการตระเตรียมตอบรับนโยบายรัฐในอนาคต เกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนสวนป่า และการจัดสรรเพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วย

“หลักประกันอย่างน้อยที่สุด ก็คือเนื้อไม้ไง แค่ขายเป็นฟืน ก็ตกตันละ 700-1,000 บาทแล้วนะ” นับเป็นแง่มุมธรรมดาสามัญที่สุดของการปลูกไม้ยืนต้นจริงๆ

ความเป็นไปได้ที่ พี่ชัย – คุณศักดิ์ชัย ชาตาดี ได้ปฏิบัติให้เห็นว่า ในพื้นที่ดิน 7 ไร่ สามารถปลูกพืชพันธุ์หลากหลายกว่า 600 ชนิด ทั้งยังเป็นพืชผักยืนต้นที่ให้ประโยชน์คุ้มค่าถึงกว่า 50 ชนิด คงทำให้ผู้สนใจแนวทางอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้เค้าเงื่อนบางอย่างในการลงมือปฏิบัติเองในพื้นที่ของตนบ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ