จาก ‘หมู่บ้าน’ สู่โลก ‘ท่องเที่ยวชุมชน’ กับมูลค่าที่ต้องยกระดับ

บนผืนแผ่นดินอันงดงามและอุดมสมบูรณ์ของไทย ไม่เพียงร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตมาเนิ่นนาน หากแต่ยังมีหมู่บ้านน้อยใหญ่ เป็นหน่วยเล็กๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศอันรุ่มรวยด้วยอารยธรรม วิถีชีวิตที่ดูแสนธรรมดาในมุมมองของชาวบ้าน อาจเปี่ยมเสน่ห์ในสายตา ‘คนนอก’ ชวนให้เดินทางเข้าไปค้นหา สัมผัส เรียนรู้ประสบการณ์อันน่าจดจำ แม้ปราศจากแลนมาร์กหรือทิวทัศน์ตื่นตา ทว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ ‘ดีต่อใจ’

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงรับเป็นหัวเรือใหญ่ในปฏิบัติการ ‘เพิ่มมูลค่า ยกระดับท่องเที่ยวชุมชน’ โดยร่วมกับบริษัทกิจการเพื่อชุมชน ‘วิลเลจ วิคตอรี่’ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) จัดโครงการ ‘Village to the world’ ซึ่งมีการพัฒนา 10 ชุมชนต้นแบบเพื่อสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ไปจัดกิจกรรม CSR ในชุมชนเหล่านั้น แถมยังตั้งธงไว้บนเส้นชัยว่ามีเป้าหมายจะสร้างรายได้ให้ชุมชนละ 1 ล้านบาท ภายในปี 2560 ซึ่งต้องลุ้นว่าจะสำเร็จตามหวังหรือไม่?

โจทย์ท้าทายที่ต้อง’ไปต่อ’
น้ำตก ทะเล ภูเขา แสงดาว อากาศหนาว และสายหมอก อาจเป็นต้นทุนสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากที่มีแขกเหรื่อจากทุกสารทิศเดินทางไปเยี่ยมเยือน แล้วชุมชนแบบ ‘บ้านๆ’ จะอาจหาญเอาอะไรไปลงแข่ง?
นี่คือโจทย์ท้าทาย ที่สุดท้ายแล้วถูกปรับทัศนคติให้ไม่ยึดติดกับฉากสะดุดตาของธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่มาให้ความสำคัญในความงดงามอีกหนึ่งรูปแบบของโลกใบนี้ นั่นคือวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย แต่สุขสงบ โดยเน้นให้ผู้เดินทางมาเยี่ยมเยือนได้ทำกิจกรรมแสนสนุก คลุกคลีกับความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากสังคมเมือง และแม้แต่ชิมอาหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะคุ้นลิ้นหรือไม่ แต่นั่นคือรสชาติท้องถิ่นอันจริงแท้

ป้าเล็ก ถิรดา เอกแก้วนำชัย ผู้บุกเบิกวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ สมุทรสงคราม

จิ๋วแต่เจ๋ง พึ่งตนเอง และ ‘มีเรื่องเล่า’
“พออัมพวาดังขึ้นมา มันเหมือนจุดพลุไฟพะเนียงให้การท่องเที่ยวแถวนี้เลย แต่โฮมสเตย์ของป้าเปิดก่อนหน้านั้น ยอมรับว่ามีช่วงที่เหนื่อยและท้ออยู่เหมือนกัน ยังไงก็ตาม ก็สู้มาจนตอนนี้นอกจากมีบ้านให้คนมาพัก ยังมีศูนย์เรียนรู้และพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตมะพร้าวไทยด้วย” ป้าเล็ก ถิรดา เอกแก้วนำชัย วัย 61 ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ สมุทรสงคราม เล่าพร้อมรอยยิ้มกว้างอย่างภาคภูมิใจ
เช่นเดียวกับลุงสมชาย สมุทรทองคำ วัย 71 ปี ชาวบ้านย่าน ‘คลองผีหลอก’ ละแวกเดียวกับบ้านป้าเล็ก ที่เล่าถึงความบากบั่นในการทำ ‘น้ำตาลมะพร้าว’ ของคนแถบนี้ ซึ่งมีกรรมวิธีละเอียดลออ และต้องใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บน้ำตาลมะพร้าวจากงวง แล้วกรองเศษไม้ออก จากนั้นตั้งกระทะเคี่ยวให้เดือด หมั่นช้อนฟองทิ้ง ตามด้วยการกระทุ้งน้ำตาลที่งวดได้ที่ เพื่อลดอุณหภูมิ สุดท้ายหยอดลงพิมพ์ให้ได้รูปตามต้องการ

ไม่เพียงเท่านั้น ลุงยังเล่า “ประวัติศาสตร์สังคม” ที่มีสีสันอย่างการส่งลูกหลานเรียนหนังสือสูงๆ ซึ่งในอดีตต้องทำน้ำตาลถึง 10 ตัน โดยราคาเฉลี่ยเมื่อหลายสิบปีก่อนตกราวกิโลกรัมละ 3 บาท กว่าราคาปัจจุบันจะขึ้นมาสูงสุดที่ 120 บาท

ลุงสมชาย สมุทรทองคำ ชาวบ้านแถบคลองผีหลอก สมุทรสงคราม โชว์ลีลาปาดงวงมะพร้าวอย่างคล่องแคล่ว

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเรื่องเจ๋งๆ ที่น่าจดจำและบอกต่อ ทว่ายังสอดคล้องกับเกณฑ์การคัดเลือกชุมชนสำหรับพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนต้นแบบเมื่อปี 2559 ไม่ว่าจะเป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวเด่นๆ แต่มีกิจกรรมน่าสนใจ รายได้ต่อปีไม่ถึง 1 ล้าน และสิ่งสำคัญที่ต้อง “ขีดเส้นใต้” ไว้ 2 เส้นคือ เป็นชุมชนที่มีทัศนคติในการ “พึ่งพาตนเอง”

บ้านริมคลองโฮมสเตย์ จึงเป็นหนึ่งในอีกหลายชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นชุมชนต้นแบบแนววิถีชีวิตอิงแอบแนบชิดธรรมชาติ อิงอาศัยและทำกินด้วยทรัพยากรในท้องถิ่นตามแต่ภูมิประเทศ อาทิ “บ้านเกาะโหลน” หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ชุมชนชาวประมงบนเกาะเล็กๆ ที่ชวนให้ไปสวมวิญญาณชาวเล นั่งเรือโทงอาบไอแดดอุ่นๆ เพนต์ผ้าบาติก ไอเท็มสุดชิคทางแฟชั่นแนววัฒนธรรม, “บ้านลีเล็ด” สุราษฎร์ธานี หมู่บ้านย่านป่าชายเลนที่ได้ฉายาว่าอเมซอนเมืองไทยด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ, “บ้านไร่กองขิง” เชียงใหม่ ชุมชนล้านนาเรียบง่ายน่าแอ่ว ลองลิ้มหลากเมนูอาหารเหนือจากขันโตกแบบไม่แมส แต่เสิร์ฟรสสัมผัสแห่งท้องถิ่นโดยแท้

ล่องเรือเล็กที่ “บ้านลีเล็ด” อเมซอนเมืองไทย สุราษฎร์ธานี

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์
เก่า-ใหม่ผสานเป็นคุณค่าของ’พรุ่งนี้’
อีกหนึ่งกลุ่มของชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยมีต้นทุนจากบรรพชนที่ส่งต่อมรดกวัฒนธรรมทางวัตถุไว้ให้คนรุ่นหลัง ก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนต้นแบบในโครงการนี้ อย่าง “ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย” ที่ตั้งอยู่รายรอบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ในภายหลังมีการสนับสนุนให้ผลิต “สังคโลก” จำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกสร้างรายได้

อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรคนปัจจุบัน เคยเปิดเผยว่า สมัยก่อนแหล่งโบราณคดีแถบนี้ถูกลักลอบขุดเครื่องสังคโลกเป็นประจำ ต่อมา จึงเกิดแนวคิดส่งเสริมให้ชาวบ้านทำสังคโลกเลียนแบบของเก่าขายเสียเลย ซึ่งมีประโยชน์ทั้ง 2 ทางคือ (ความพยายาม) ลดการลักลอบขุด และชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่มด้วย

ปัจจุบันมีแกลเลอรี่ทำสังคโลกหลายแห่งในชุมชนดังกล่าว อาทิ “กะเณชา” ของคู่สามีภรรยาศิลปิน ซึ่งนอกจากจะทำสังคโลกในรูปแบบและลวดลายจากหลุมขุดค้น ยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยงานสร้างสรรค์ร่วมสมัย

ส่วนชาวบ้านก็ชูอาหารท้องถิ่นอย่าง “ข้าวเปิ๊บ” ซึ่งฮิตทั้งในสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียง

ลวดลายบนถ้วยชามสังคโลก ยุคสุโขทัย ถูกนำมาปรับใช้สำหรับการเขียนลายบนเสื้อยืดตัวสวยที่ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย

รถสองแถวคันใหญ่ หรือ “รถคอกหมู” ที่คุ้นตาสำหรับชาวบ้าน แต่เป็นสีสันสำหรับนักท่องเที่ยวก็ถูกรวมไว้ในวิถีชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย เช่นเดียวกับ “อีแต๊ก” ของชาวนา “บ้านกู่กาสิงห์” จังหวัดร้อยเอ็ด ชุมชนแถบทุ่งกุลาร้องไห้ที่ตั้งชื่อชุมชนตามโบราณสถานกู่กาสิงห์ ปราสาทอิฐบนฐานศิลาแลงในอารยธรรมขอมโบราณ ที่ ดร.อำคา แสงงาม ประธานสภาวัฒนธรรมกู่กาสิงห์ภูมิใจนำเสนอ โดยมีเด็กๆในหมู่บ้านเจื้อยแจ้วเล่าขานเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมล้ำค่า

หากเขยิบขึ้นเหนือสู่อาณาจักรล้านนา ยังมีชุมชนปกากะญอ แห่ง “บ้านพระบาทห้วยต้ม” จังหวัดลำพูน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนาด้วยศรัทธาต่อหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาโดยไม่หลงลืมภูมิปัญญาบรรพชนอย่างการทำเครื่องเงินอันประณีตงดงาม
นี่คือการต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่จำกัดเพียงวัดวาอารามเลื่องชื่อที่คราคร่ำด้วยผู้คน หากแต่เป็นชุมชนเล็กๆ ที่น่าภาคภูมิ

‘ยิ่งให้ ยิ่งได้’ ดีต่อใจ เศรษฐกิจ(ชุมชน)สะพัด
1 ล้านบาทต่อ 1 ชุมชน คือเป้าประสงค์ของโครงการในปี 2560 นี้ โดยมีความพยายามเชื้อเชิญกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้สนับสนุนชาวบ้านผ่านแพคเกจตามงบประมาณของหน่วยงาน
ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บุกเบิกธุรกิจการบริหารศูนย์ประชุมแห่งแรกของไทย ซึ่งได้ไปเยือน “หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง” กาฬสินธุ์ บอกว่า หากใครได้ไปสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตที่นั่น รับรองว่าต้องประทับใจ ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทดังกล่าวยังซื้อผ้าพื้นเมืองมากมาย เพื่อใช้จัดทำของขวัญปีใหม่ 2560
นับเป็น “การให้” ที่ได้ความสุขกลับคืนมาอย่างเหลือล้น เศรษฐกิจชุมชนสะพัด ชาวบ้านยิ้มออก
เป็นวงจรแห่งความงดงามของชีวิตที่ผู้คนในสังคมมอบให้แก่กันอย่างแท้จริง

10 ชุมชนต้นแบบในโครงการ Village to the World
1. ชุมชนเมืองเก่า สุโขทัย
2. ชุมชนบ้านไร่กองขิง เชียงใหม่
3. ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม ลำพูน
4. ชุมชนดงเย็น สมุทรสงคราม
5. บ้านกู่กาสิงห์ ร้อยเอ็ด
6. หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านโคกโก่ง กาฬสินธุ์
7. ชุมชนลีเล็ด สุราษฎร์
8. บ้านริมคลองโฮมสเตย์ สมุทรสงคราม
9. โฮมสเตย์บ้านถ้ำเสือ เพชรบุรี
10. วิสาหกิจชุมชนตำบลราไวย์ ภูเก็ต
รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.villagetotheworld.com

ที่มา : หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน ผู้เขียน : พรรณราย เรือนอินทร์