สะเดา หวานเป็นลม ขมเป็นยา

ถ้าให้เอ่ยชื่อผักรสขม เชื่อได้เลยว่า ชื่อแรกที่แทบทุกคนจะนึกถึงคือ สะเดา นั่นเอง มีบันทึกว่า คนไทยกินสะเดาเป็นผักตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยคนไทยส่วนใหญ่มักชอบกินยอดและดอกสะเดาในช่วงต้นฤดูหนาว เพราะเชื่อว่า “กินสะเดาก่อนเป็นไข้ ช่วยป้องกันไข้ได้ กินสะเดาเมื่อเป็นไข้แล้ว รักษาให้หายได้”

สะเดา ผักรสขมที่คนมักชอบกินยอดและดอกสะเดาในช่วงต้นฤดูหนาว

คนไทยในสมัยก่อนถือว่า สะเดา เป็นต้นไม้มงคล ควรปลูกในบริเวณบ้าน โดยกำหนดตำแหน่งให้ปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้าน และด้วยความเชื่อที่ถือว่าเป็นไม้มงคลนี่เอง ต้นสะเดาช้างจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดสงขลา และต้นสะเดาไทยทั่วไปเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานี

ไม่ผิดเลยที่กล่าวว่า สะเดา เป็นต้นไม้มงคล เพราะสะเดารวมทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมเสร็จสรรพในต้น โดยในสะเดาเพียงต้นเดียวมีปัจจัยถึง 3 คือ เป็นยา อาหาร และเป็นไม้ใช้สอยใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัยได้ ถ้าสะเดาอายุ 20 ปี เนื้อไม้จะได้แข็งแกร่งเหมือนไม้แดง ไม้ประดู่ สะเดามีแก่นไม้ที่สีสวย สามารถนำมาทำไม้ปูพื้น ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ และยังสามารถทำเป็นแปรง และยาสีฟันได้เป็นอย่างดี

สะเดา ผักพื้นบ้านของไทยเรานั้นสุดยอดประโยชน์

สะเดาเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ดเพียงเวลา 3 ปี ต้นสะเดาที่โตจากเมล็ดเล็กๆ กลายเป็นต้นไม้สูงถึง 20 ฟุต และสะเดายังเป็นพืชที่มีอายุยืน อาจอยู่ได้นานถึง 200 ปี

สะเดา หวานเป็นลม ขมเป็นยา

สะเดา พืชสมุนไพรรสขมที่มีประโยชน์ และต้องคิดถึงเมนูสูตรเด็ด สะเดาน้ำปลาหวาน ที่กินคู่กับปลาดุกย่างที่แสนเอร็ดอร่อย

เป็นทั้งอาหารบำรุงร่างกาย สมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วยก็ได้

ตามตำราแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่า รสขมเป็นรสชาติที่ดีต่อสุขภาพที่สุด แต่กลับเป็นรสชาติที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบเท่าไรนัก เพราะรสขมนั้นไม่อร่อย ซึ่งอาหารที่มีรสขมที่หากินง่ายในบ้านเรา นอกจากมะระ และบอระเพ็ดแล้ว ก็ยังมีผักสมุนไพรพื้นบ้านอีกหนึ่งชนิด นั่นคือ สะเดา พืชสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยเรานิยมบริโภคกันมาช้านานแล้ว และนอกจากจะนำมาใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้อีกด้วย

สะเดา กับคุณค่าทางโภชนาการ

ปลาดุกเผา สะเดาน้ำปลาหวาน ต้องกินคู่กันกับน้ำปลาหวาน และปลาย่าง หรือกุ้ง เข้ากันได้อย่างลงตัว

สะเดา เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านด้วยคุณค่าทางโภชนาการ อุดมไปด้วยสารอาหารโปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายที่จะทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมาได้ เช่น ภาวะความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ระบบภูมิคุ้มกันลดลง และโรคมะเร็ง เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของยอดสะเดา ต่อ 100 กรัม ประกอบด้วยสารอาหาร ดังนี้

สะเดา นำมากินเป็นผักเครื่องเคียงกับเมนูต่างๆ เช่น ปลาดุกย่าง ปลาทูทอด และกุ้งเผา

– พลังงาน 76 กิโลแคลอรี

– คาร์โบไฮเดรต 12.5 กรัม

– โปรตีน 5.4 กรัม

– ไขมัน 0.5 กรัม

– เส้นใยอาหาร 2.2 กรัม

หากจะกินกันแบบอลังการงานสร้าง มันต้องสะเดาน้ำปลาหวานกับกุ้งเผา

– น้ำ 77.9 กรัม

– เบต้าแคโรทีน 3,611 ไมโครกรัม

– วิตามินบี1 0.06 มิลลิกรัม

– วิตามินบี2 0.07 มิลลิกรัม

– วิตามินซี 194 มิลลิกรัม

– แคลเซียม 354 มิลลิกรัม

– เหล็ก 4.6 มิลลิกรัม

– ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม

สะเดา สรรพคุณทางยา

สะเดาไทยมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ สะเดายอดเขียว และสะเดายอดแดง ซึ่งสะเดายอดเขียวจะมีความขมน้อยกว่า หรือบางต้นอาจจะขมน้อยจนได้ชื่อว่า สะเดาหวาน หรือสะเดามัน แต่สำหรับสะเดายอดแดงจะมีความขมมากกว่า และเกือบทุกส่วนของต้นสะเดาล้วนมีสรรพคุณทางยามากมาย

สะเดาน้ำปลาหวาน เข้ากันได้อย่างลงตัว
  1. ใบอ่อน แก้โรคผิวหนัง ปรับสมดุลน้ำเหลือง รักษาแผลพุพอง
  2.  ใบแก่ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร
  3. ก้าน แก้ไข้ บำรุงน้ำดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงสุขภาพในช่องปาก
  4.  ดอก แก้พิษโลหิต บรรเทาอาการเลือดกำเดาไหล แก้ริดสีดวง แก้อาการคันคอ บำรุงธาตุไฟ
  5.  ผล บำรุงหัวใจ เป็นยาระบาย แก้อาการหัวใจเต้นผิดปกติ
  6. ผลอ่อน ช่วยเจริญอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะขัด
  7.  เปลือกต้น เป็นยาขมเจริญอาหาร แก้ไข้ แก้ท้องร่วง แก้กษัย หรือโรคซูบผอมแห้งแรงน้อย ลดเสมหะ แก้อาการท้องเดิน แก้บิด มูกเลือด
  8.  แก่น แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ไข้จับสั่น บำรุงโลหิต บำรุงธาตุไฟ
  9.  ราก แก้เสมหะในลำคอ แก้เสมหะที่เกาะแน่นในทรวงอก
  10.  ยาง ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้
  11.  กระพี้สะเดา แก้น้ำดีพิการให้คลั่งเพ้อ แก้เพ้อคลั่ง บำรุงน้ำดี
  12. เมล็ดสะเดา นำมาสกัดเป็นน้ำมันสะเดาบริสุทธิ์ ใช้บำรุงผิวพรรณและเส้นผม

สะเดา สมุนไพรรสขม ยาดีที่ควรมีไว้ใกล้ตัว

สะเดา จัดให้เป็นพืชฤดูหนาว และเป็นสมุนไพรที่คนโบราณนิยมนำมากินเป็นผักเครื่องเคียงกับเมนูต่างๆ เช่น ปลาดุกย่าง ปลาทูทอด และกุ้งเผา และต้องกินคู่กับอาหารจะช่วยลดความขมของสะเดา และประโยชน์เน้นๆ จากรสชาติความขมจากสารพอลิแซ็กคาไรด์ และสารลิโมนอยด์ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกหรือเนื้อร้าย และยังมีสารเบต้าแคโรทีนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

เมนูอร่อย จากสะเดา

  1. สะเดาน้ำปลาหวาน กับปลาดุกย่าง
  2. สะเดาน้ำปลาหวาน กับกุ้งเผา
  3. ยำดอกสะเดา
  4. สะเดาทรงเครื่อง
  5. สะเดาจิ้มน้ำพริก ลาบหมู ลาบปลา ป่นปลา กินคู่กับข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ

สะเดาน้ำพริกหวาน (สูตรโบราณคนใต้)

เครื่องปรุง

  1. สะเดา
  2. กะทิ (หัวกะทิ)
  3. กระเทียม
  4. หอมแดง
  5. พริกขี้หนู
  6. พริกแห้ง
  7. กุ้งแห้ง (แช่น้ำให้นิ่มจะได้ตำได้ง่ายๆ)
  8. กะปิ (ปิ้ง หรือเผาไฟอ่อนๆ ให้หอม)
  9. น้ำมะขามเปียก
  10.  น้ำตาลปี๊บ (ถ้าใช้ขนมถั่วตัดไม่ต้องใส่ แต่หากชอบหวานก็ปรุงรสชาติตามชอบ)
  11.  ถั่วลิสง หรือขนมถั่วตัด
  12. เกลือป่น

วิธีทำ

  1.  หอมแดง กระเทียม พริกขี้หนู พริกแห้ง นำไปเผา หรือคั่วไฟให้หอมเตรียมไว้
  2. นำหอมแดง กระเทียม กุ้งแห้ง กะปิ พริกขี้หนู พริกแห้ง ใส่ขนมถั่วตัด มาตำรวมกัน
  3.  เติมน้ำมะขามเปียก และใส่หัวกะทิข้นๆ ชิมรสตามชอบ ถ้าอ่อนเค็มให้เติมเกลือป่นเท่านั้นห้ามใส่น้ำปลา เพราะน้ำพริกจะเหม็นคาว
  4. สะเดา ลวกน้ำเดือดๆ ใส่เกลือ หรือผ่านน้ำร้อนที่เดือดจัด แล้วนำมาแช่น้ำเย็นทันที กินกับน้ำพริกสูตรนี้อร่อยมาก จะกินกับปลาทอด ปลาย่าง หรือกุ้งย่าง ก็อร่อยสุดๆ

สะเดา ผักพื้นบ้านของไทยเรานั้นสุดยอดประโยชน์จริงๆ เป็นทั้งอาหารบำรุงร่างกาย สมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วยก็ได้ และยังใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้อีกด้วย เมื่อสะเดามีคุณค่าขนาดนี้ก็อย่าลืมจัดเมนูสะเดาบนโต๊ะอาหารสักมื้อ รับรองได้ทั้งความอร่อยและได้ประโยชน์ครบครันอย่างแน่นอนเลยทีเดียวเชียว

คนโบราณนั้นท่านมีความสามารถในเรื่องการกินผักเพื่อใช้เป็นยาโรคและรักษาได้อย่างลงตัว จนหลายๆ คนในสมัยปัจจุบันต้องยอมรับกันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ควรกินอาหารที่หลากหลายและครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์และแข็งแรง

 เผยแพร่ครั้งแรก วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563