เครื่องคั้นกะทิ คั้นอย่างง่าย ของใช้ชาวบ้าน

แผ่นดินเราชาวไทยปลูกมะพร้าวได้ผลดี มะพร้าว เรานำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง ส่วนต่างๆ ของต้นมะพร้าว เราชาวบ้านยังนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย

การนำมะพร้าวมาปรุงอาหาร เราชาวบ้านเก็บผลมะพร้าวแก่ๆ ลงมาจากต้น ปอกเปลือกออก เกลาเปลือกที่ติดอยู่กับกะลาออกให้เรียบร้อย แล้วจึงผ่าเอาน้ำมะพร้าวออกมา น้ำมะพร้าวเราชาวบ้านไม่ได้ทิ้ง สมัยผู้เขียนเป็นเด็กๆ คราใดที่พ่อผ่ามะพร้าว ครานั้นผู้เขียนต้องรีบไปคว้าขันน้ำมาเตรียมไว้ใกล้ๆ เมื่อพ่อจะผ่ามะพร้าว พ่อก็จะหยิบขันเอาไปวางไว้เบื้องหน้า พอเสียงผ่าดังโพละน้ำมะพร้าวก็จะไหลออกมา พ่อขยับเอากะลามะพร้าวเทน้ำใส่ขัน วินาทีต่อจากนั้น น้ำมะพร้าวก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว แทบทุกหยดไม่ได้หายไปไหน อยู่ในกระเพาะของผู้เขียนเอง

น้ำมะพร้าวแก่ๆ หอม หวานนิดๆ ดื่มแล้วชื่นใจ

หลังผ่ามะพร้าวออกเป็น 2 ซีกแล้ว เราชาวบ้านไม่ได้ยืนดูมะพร้าวเฉยๆ หากแต่นำไปขูดกับกระต่าย เราเรียกว่ากระต่ายขูดมะพร้าว หน้าตาของกระต่ายขูดมะพร้าว สมัยเก่าก่อนบางบ้านทำเป็นรูปกระต่าย มีขา 4 ขา บริเวณปากกระต่ายเอาหัวขูดมะพร้าวทำด้วยเหล็ก มีฟันเป็นซี่เล็กๆ รายเรียงกันลักษณะโค้งคล้ายหางปลาช่อน

คนขูดมะพร้าวบางคราวเป็นพ่อ บางคราเป็นแม่ บางครั้งก็เป็นผู้เขียน

การขูดมะพร้าวเอาเข้าจริงก็สนุกเหมือนกัน ตอนที่เราคว่ำกะลามะพร้าว จรดเนื้อมะพร้าวเข้าไปหาหัวกระต่าย หากเราจรดแผ่วๆ ขูดเบาๆ น้ำมะพร้าวหอมๆ จะออกมากับผิวเนื้อมะพร้าวนุ่มๆ ตรงนี้เองผู้เขียนถือว่าเป็นรางวัลพิเศษ หรือจะเรียกว่าค่าจ้างขูดก็ได้ แอบส่งเข้าปากไปเคี้ยวเบาๆ รับรู้ได้ทั้งความหวาน หอม และสัมผัสอันนุ่มลิ้น

ขูดเสร็จแล้ว เราก็ต้องคั้นมะพร้าวที่ขูด เราชาวบ้านเรียกว่า “คั้นกะทิ”

คิดเล่นๆ ก็เห็นแปลก คั้นมะพร้าวที่ขูดเพื่อเอาน้ำแท้ๆ แทนที่จะเรียกว่า คั้นน้ำมะพร้าว เราชาวบ้านกลับเรียกว่า คั้นกะทิ พิจารณาจากถ้อยคำก็พอเห็นรากเหง้าอยู่บ้างว่า เราชาวบ้านเรียกตามน้ำที่ออกมาจากมะพร้าวที่ขูดว่าน้ำกะทิ เราจึงเรียกว่า คั้นกะทิ นั่นเอง

การคั้นกะทิเราชาวบ้านมีเครื่องมือคั้นหลายอย่าง บ้างใช้ขยำในกะละมัง แล้วใช้กระชอนกรองเอากากออก ทำจนน้ำมะพร้าวที่ออกมาใสก็เป็นอันว่าเลิกกัน คั้นต่อไปก็ไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะความเข้มข้นของกะทิจางเกินไปแล้ว

เราชาวบ้านมีเครื่องมือคั้นกะทิอีกอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องมือคั้นกะทิที่ทำขึ้นมาจากไม้ คั้นง่าย ไม่ต้องใช้มือขยำเนื้อมะพร้าวที่ขูด เราชาวบ้านก็ได้กะทิสดๆ มาปรุงอาหารก็ได้ ทำขนมก็ดี

การทำเครื่องมือคั้นกะทิ เราเริ่มจากหาไม้เนื้อแข็ง และมีความเหนียวมา อาจจะเป็นไม้มะขาม ไม้ขนุนก็ได้ ไม้มะม่วงก็ดี ถ้ามีใครเลื่อยไม้ชนิดที่กล่าวถึงใกล้ๆ บ้าน เราต้องการทำ เราก็ไปหาและขอให้ช่างตัดให้ก็ได้ เรานำมา 1 ท่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 8 นิ้ว เอามาเป็นท่อนกลมๆ ได้มาแล้วเราตัดออกเป็น 2 ท่อน ท่อนแรก-อยู่เบื้องล่าง เราต้องขุดลงไปให้เป็นหลุมลึก บริเวณก้นเจาะรูเล็กๆ ไว้ ท่อนสอง-อยู่เบื้องบน เราหยักคอทำเป็นเดือยขนาดใหญ่ เกลาให้เข้ากับหลุมลึกท่อนล่าง ทดลองดูดีๆ เมื่อเข้ากันได้แล้ว เราก็ต่อด้ามด้านบนและด้านล่าง ด้วยการใช้ไม้ตีประกบ ส่วนปลายไม้ประกบทั้งสอง เราใช้บานพับหน้าต่าง ประตู ตอกติดกันไว้ เป็นอันว่าเราได้เครื่องคั้นกะทิ 1 อัน

วิธีใช้ เราเอาเครื่องคั้นกะทิวางไว้เหนือปากหม้อ หรือกะละมัง นำเนื้อมะพร้าวใส่เข้าไปในหลุม ใส่น้ำลงไปให้เปียกโชก แล้วกดส่วนที่เป็นเดือยด้านบนบีบลงมา เดือยนั้นจะบีบเนื้อมะพร้าวให้คายน้ำกะทิลงมาเบื้องล่าง คราวนี้จะนำกะทิไปต้มยำทำแกงก็อะไรก็ตามใจต้องการ

เครื่องคั้นกะทินี้ ปัจจุบันหาดูยาก เพราะไม้ที่จะหามาทำไม่ค่อยมี และที่สำคัญ ปัจจุบันมีเครื่องคั้นกะทิที่เป็นเครื่องจักรกล ทำงานได้รวดเร็ว แถมคัดแยกน้ำกะทิได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ธรรมดาของโลก อะไรที่เกิดขึ้นมาย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเร็วหรือช้าเท่านั้น