“ปั่น – เก็บ – กิน” ถิ่นบางขุนเทียนชายทะเล

ถึงผมจะชอบปั่นจักรยานเที่ยวเล่นตามเขตชานเมือง แต่ก็นับครั้งได้ ที่จะออกไปปั่นบนเส้นทางบางบอน – บางขุนเทียนชายทะเล ค่าที่ว่าถนนเส้นนั้นเป็นทางตรง เรียบ แล้วก็เต็มไปด้วยคณะนักปั่นจักรยานเสือหมอบ (Road bike) ที่มักปั่นเร็วมาก และเกาะกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ มุ่งเป้าทำเวลาสู่จุดหมายปลายทาง มันไม่ใช่วิถีและเส้นทางของจักรยานท่องเที่ยว (Touring bike) ที่ผมชอบ อย่างไรก็ดี หลังจากถูกวิกฤตโควิด 19 กักกันบริเวณทำให้ไปไหนไกลๆ ยาก ก็เลยตกปากรับคำไปปั่นกับเพื่อนฝูงตามเส้นทางนี้ในเช้าวันหนึ่ง

น่าสนใจดีครับ เท่าที่จำได้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มจักรยานจะไม่มากมายก่ายกองขนาดนี้หรอกนะครับ แต่วันอาทิตย์ที่ผมไปนั้น คนปั่นกันเยอะมากจริงๆ เพื่อนผมบอกว่า สงสัยคนกรุงเทพฯ ไม่รู้จะไปไหนกัน แถมจะเข้าสถานออกกำลังกาย เช่น ฟิตเนส ในช่วงนี้ก็ทำไม่ได้ เลยต้องหาที่ปั่นจักรยาน ซึ่งพื้นที่และเส้นทางใกล้ๆ เมืองหลวง ที่ไม่ต้องปั่นจ่อท้ายกันเป็นกลุ่มกระชั้นชิดเกินไป ก็คงเป็นเส้นทางบางขุนเทียนชายทะเลนี้เอง
ต้องขอบคุณหน่วยงานพื้นที่ ที่ดูแลจัดการให้เส้นทางจักรยานมีขนาดและสภาพพื้นผิวเรียบสมบูรณ์ดีทีเดียว

บางบอน – บางขุนเทียนชายทะเล เป็นเส้นทางจักรยานท่องเที่ยว (Touring bike) ยอดนิยมแห่งหนึ่งในย่านชานเมืองฝั่งตะวันตก

ถ้าใครมาถนนเอกชัย – บางบอน จนถึงสามแยกตลาดบางบอนได้ ก็ตั้งต้นปั่นจากจุดนั้นลงใต้ไปได้เลยครับ ปั่นไปจนถึงสามแยกบางขุนเทียนชายทะเล น่าจะราว 10 กิโลเมตรเศษๆ หรือหากขับรถมา ก็อาจไปจอดไว้ที่วัดปทีปพลีผล ราวกึ่งกลางเส้นทางได้

เมื่อปั่นไปถึงสามแยกบางขุนเทียนชายทะเล ก็ยังเลือกไปต่อได้อีกนะครับ จะแยกซ้ายไปทางวัดสาขลา ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ ท่าเรือไปวัดขุนสมุทรจีน หรือแยกขวาไปจุดชมปลาโลมา นาเกลือบ้านสหกรณ์ หรือศาลพันท้ายนรสิงห์ คลองโคกขามก็ได้ แต่เส้นทางที่ “ไปต่อ” นี้ ผิวถนนอาจไม่เรียบร้อยเหมือนเส้นที่ผ่านมา จึงน่าจะเหมาะกับจักรยานเสือภูเขา หรือจักรยานทัวริ่งมากกว่า

………………….

นอกจากปลายทาง คือสามแยกบางขุนเทียนชายทะเล จะเป็นจุดแวะพัก ซึ่งสามารถปั่นข้ามคลองสหกรณ์ ผ่านอุโมงค์ต้นโกงกาง เข้าไปดู “ชายทะเลกรุงเทพฯ” จริงๆ ได้แล้ว (แต่ช่วงนี้เขาปิดจุดสุดท้ายชายทะเลไว้ก่อนน่ะครับ) ยังมีของทะเลสดๆ จากพื้นที่ เช่น พวกหอยแครง หอยลาย หอยแมลงภู่ กุ้ง และปูม้า ปูทะเลสดๆ จำหน่ายราคาไม่แพง เช่นเดียวกับในระหว่างทาง ซึ่งก็จะมีแผงจำหน่ายของทะเลสดรวมกลุ่มอยู่กับร้านซีฟู้ดในหลายจุด

วันที่ผมไป ได้ปูไข่มาหลายตัว ทั้งสดและไข่เต็มแน่นดีจริงๆ ครับ
อย่างไรก็ดี ที่จะเล่าก็คือ ผมเพิ่งสังเกตในครั้งนี้ว่า เส้นทางจากถนนเอกชัยมาบางขุนเทียนชายทะเลนั้น เป็น “ถนนสายอาหาร” ที่นับว่ามีคุณภาพและปริมาณในระดับใช้การได้เส้นหนึ่งแถบย่านชานเมืองเลยทีเดียว

ขลู่ (Indian marsh fleabane)

“อาหาร” ในความหมายของผมนี้ หมายถึงพืชอาหารที่ขึ้นอยู่ในที่สาธารณะข้างทาง ซึ่งเราสามารถลงไปเก็บเอามาทำอาหารกินได้น่ะครับ

พื้นที่ละแวกนี้ เป็นชายฝั่งทะเลเดิมซึ่งเพิ่งตื้นเขินเป็นแผ่นดินหลังการเริ่มลดลงของระดับน้ำทะเลเมื่อราวสามพันปีก่อน ดินยังมีความเค็ม พืชที่ขึ้นได้ดีในพื้นที่แบบนี้มีหลายชนิดที่เก็บยอดและใบอ่อนมากินได้ ที่ผมเห็นว่ามีมากก็คือ ขลู่ (Indian marsh fleabane) และผักเบี้ย (Purslane)

ขลู่ มีใบที่ลักษณะคล้ายกะเพราขาว มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ แพทย์สมุนไพรไทยใช้มาก เช่น ชงใบและก้าน ตากแห้งเป็นชา ดื่มได้ตลอดทั้งวัน ส่วนในทางอาหารนั้น ยอดและใบอ่อนสีเขียวอ่อน รสฝาดมัน กรอบ หวาน อมเปรี้ยวเล็กน้อย ผมพบว่ามันเป็นผักสดที่กินกับหลนกะทิได้เข้ากันมากๆ ครับ ไม่ว่าจะหลนเต้าเจี้ยว แหนม หรือปลาส้ม ก็อร่อยทั้งนั้น

ส่วน ผักเบี้ย ซึ่งมีมากจนมีชื่อบ้าน “แหลมผักเบี้ย” นั้น อยู่ในตระกูลพืชล้มลุกริมทางที่มีคนรู้จักกินอยู่บ้างประปราย จะลวกหางกะทิพอสุก ราดหัวกะทิข้นๆ ให้เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกินสดประกอบเป็นผักอย่างหนึ่งในจานสลัดก็ได้ครับ ทั้งสองชนิดพบอยู่ริมข้างทางที่ผมปั่นผ่านไปวันนั้น ในปริมาณที่มากจนไม่ต้องกลัวหมด

เถาคัน (Virginia creeper)

พืชผักอีกชนิดที่วันนั้นเห็นขึ้นอยู่เยอะมากๆ คือ เถาคัน (Virginia creeper) ครับ แม้จะยังไม่อยู่ในช่วงติดผล แต่ด้วยปริมาณมากมายมหาศาลที่สังเกตได้ตามยอดไม้ เสาไฟ สายไฟ และริมรั้วไม้ ก็ทำให้แน่ใจได้ว่า อีกไม่นาน ถ้าใครผ่านเส้นทางนี้อีก ย่อมจะสามารถลงไปสอยเก็บพวงเถาคันลูกโตๆ รสเปรี้ยวๆ เอาไปแกงส้ม ต้มส้มกินได้อย่างไม่ต้องกลัวจะแย่งกันเลยทีเดียวแหละ

ใครสนุกกับการหมักเหล้าผลไม้ ลองหาเก็บลูกเถาคันสุกสีม่วงเข้มจนเกือบดำ รสหวานอมเปรี้ยว ไปหมักกันดูนะครับ

………………..

ถึงทางสามแยก ผมกับเพื่อนเลือกปั่นไปทางขวา จากจุดนั้นราว 7 กิโลเมตร จะถึงศาลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งตั้งอยู่ในวัด ตัวศาลมีการก่อสร้างขยับขยายเพิ่มเติมขึ้นจนใหญ่โต ทั้งอนุสาวรีย์พันท้ายฯ และสถานที่ซึ่ง “เชื่อว่า” เป็นต้นเค้าของเหตุการณ์พันท้ายนรสิงห์ ก็ถูกสร้างขึ้นใหม่จนครบครัน แต่เนื่องจากที่นี่นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของย่านนี้ ช่วงนี้ก็จึงปิดทำการไปตามนโยบายรัฐบาลครับ

ระหว่างทางไปศาลพันท้ายฯ ริมทางส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มต่ำ มีไม้ล้มลุกอยู่อย่างหนึ่งที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในสำรับหลักของชุมชนย่านนี้ นั่นก็คือ ชะคราม (Seabite) ครับ เราจะเห็นมันเป็นกอไม้ใบฝอยๆ สูงไม่เกินเข่า คนชอบสีสันต้นไม้จะสังเกตเห็นได้ก่อนใครอื่น เพราะขณะที่ยอดอ่อนเป็นสีเขียว ต้นแก่ ใบแก่ จะมีตั้งแต่สีชมพู ม่วงอ่อน ม่วงเข้ม สีครามอ่อน สลับแซมกันราวกับภาพวาด

ผมเคยเห็นชะครามมัดขายในตลาดเช้าเมืองเพชรบุรี ต้นใหญ่ๆ ยาวๆ แม่ค้าบอกว่า เก็บเอาเมล็ดไปปลูกที่บ้าน ทำให้ชะครามของเธอไม่มีรสเฝื่อนขมแบบชะครามที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงสามารถเด็ดล้างทำกับข้าวได้ทันที ซึ่งชะครามธรรมชาติทำแบบนั้นไม่ได้

ก่อนถึงศาลพันท้ายฯ ราวหนึ่งกิโลเมตร ผมเห็นพี่ผู้ชายคนหนึ่งก้มๆ เงยๆ อยู่ข้างทาง ในมือมีถุงพลาสติกใบใหญ่ ใส่ยอดชะครามเขียวๆ ไว้เกือบเต็ม ผมจอดจักรยานข้างๆ เขายิ้มกว้าง เมื่อผมถามว่า มันเก็บยังไงครับพี่

“เลือกเอาที่เขียวๆ นะ” พี่เขาเด็ดขึ้นมาให้ดู “เขียวอ่อนๆ นี่แหละกำลังกินเลย ไอ้ที่ม่วงๆ แดงๆ น่ะแก่หมดแล้ว เวลาจะทำ เรารูดทวนก้านแบบนี้ นี่ ใบมันจะหลุดออกมาหมด ก็เอาต้มในหม้อน้ำเดือดสักแป๊บหนึ่ง แล้วเอาขึ้นมา รอให้เย็น บีบคั้นน้ำออก ไอ้รสขมๆ เฝื่อนๆ จะออกไปหมด เอาทำกับข้าวกินได้ล่ะทีนี้”

ชะคราม (Seabite) จัดอยู่ในกลุ่มไม้ล้มลุก เป็นกอไม้ใบฝอยๆ สูงไม่เกินเข่า
แกงกะทิชะครามใส่เนื้อย่าง

ผมเองเคยทำแกงกะทิชะครามใส่เนื้อย่าง แล้วก็เคยกินแกงส้มชะครามกับกุ้งหรือปูไข่ก็จำไม่ได้เสียแล้ว เลยถามพี่เขาว่า ทำอะไรกินถึงจะอร่อย

“แกงส้มก็ได้ แค่กุ้งก็ดีถมไปแล้ว เราอย่าไปแกงเปล่าๆ สิ เอามาชุบไข่ทอดซะก่อน เหมือนแกงส้มชะอมไข่ไงล่ะ อร่อยแน่นอน” นั่นสิ ทำไมผมนึกสำรับนี้ไม่ออกนะ หลังจากขอบคุณพี่เขาแล้ว ก็สงสัยว่าพี่เขาเก็บไปทำไมตั้งมากมาย

“อ๋อ อีกสองวันเพื่อนมันจะมาบ้าน มันสั่งว่าให้ทำแกงชะครามให้กินหน่อย อยากกิน เราเลยมาเก็บไปเนี่ยแหละ”

…………………..

ที่จริงก็ยังมีพืชอาหารยิบย่อยอีกหลายชนิดตามข้างทางถนนเส้นบางขุนเทียนชายทะเลนี้นะครับ แต่ผมว่าบางอย่างก็กินยากไปหน่อย รสชาติอาจจะออกแปลกไปสักนิด อย่างยอดปีบ เถาตดหมา กกธูป ยอดกะทกรก อย่ากระนั้นเลย เอาแค่สองสามอย่างที่ผมชวนกินมานี้ก็พิสูจน์ได้ถึงคุณภาพคับเลน ของ “ถนนสายอาหาร” เส้นนี้แล้วแหละครับ

ช่วงนี้ ใครเผอิญมีกิจกรรมสันทนาการ อย่างวิ่งจ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน หรือขับมอเตอร์ไซค์ผ่านไปทางนั้น ลองเปลี่ยนพฤติกรรมทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ดูบ้างสิครับ

…………………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่