มะม่วงหิมพานต์ พืชทนแล้ง แหล่งยา และอาหารที่มีคุณภาพ

ปี 2563 จังหวัดอุตรดิตถ์ และหลายจังหวัด ประสบปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง พืชผลทางการเกษตรหลายชนิดไม่สามารถเจริญเติบโตเอาชีวิตรอดอยู่ได้ ส่วนพืชล้มลุกที่เกษตรกรปลูกในระยะนี้ บางส่วนอยู่รอดได้ เพราะเกษตรกรมีแผนการผลิตของตนเอง มีการวิเคราะห์ และคำนวณปริมาณน้ำที่ต้องใช้เลี้ยงดูพืช แต่มีบางส่วนที่ขาดการวิเคราะห์ศักยภาพ ของไร่นาตนเอง ก็เกิดความเสียหาย เรียกกันว่าประสบภัยแล้ง

การเกษตร อีกส่วนที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายคือพืชผลประเภทยืนต้น เช่น พืชสวน ไม้ผล ไม้ยืนต้นต่างๆ พืชไร่ พืชผักอายุยาวเกิน 4 เดือน ที่ปลูกเมื่อต้นปี หรือสวนที่ต้นพืชโตถึงให้ผลผลิตแล้ว มีโอกาสขาดน้ำในช่วงนี้ ทำความเสียหายต่อผลผลิต ตั้งแต่คุณภาพผลผลิตต่ำ ปริมาณผลผลิตลดลง หรือไม่ให้ผลผลิต จนถึงต้นตาย เสียหายโดยสิ้นเชิง ความเดือดร้อนเข้ามาเยือน และกระจายความเดือดร้อนไปอีกหลายทิศทาง จนเกิดความอดอยากหิวโหย แย่งชิง กักตุนอาหาร โบราณว่าข้าวยากหมากแพง หรือเรียกว่าเกิด “ทุพภิกขภัย” ร่างกายคน ก็ทานทนเกือบไม่ไหว โรคภัยตามมาทำร้าย ยาดีที่มีอยู่ในพืชอาหาร ที่เรียกว่า “สมุนไพร” ก็รักษาให้หายได้ไม่ค่อยทันใจ เอาไงดี

การเกษตรหลายพื้นที่กำลังคิดจะเปลี่ยนแปลงปลูกพืชอื่น เพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง อาทิ ด้านราคาตกต่ำ การระบาดของศัตรูพืช ความผันผวนของดินฟ้าอากาศ การขนส่งผลผลิต ครั้นจะรื้อไร่นาสวนปลูกพืชใหม่ก็ยังตัดสินใจยาก เวลานี้ใคร่อยากแนะนำให้ปลูก “มะม่วงหิมพานต์” แซมในไร่ในสวน สัก 2 ปี พอปีต่อไปจะทิ้งพืชเดิม หรือจะเอาไว้เป็นพืชแซมสวนกันก็ได้

มะม่วงหิมพานต์ พืชตระกูลเดียวกับมะม่วงทั่วไป แต่มีความแปลกแตกต่างพิสดารที่ลักษณะผล มีเมล็ดโผล่อยู่นอกผลห้อยติดอยู่ตรงปลายลูก ดูแปลกประหลาดจากไม้ผลทั่วไป ซึ่งที่จริงแล้วในทางพฤกษศาสตร์ ผลที่เห็นเป็นสีเขียวเหลือง หรือเมื่อแก่จะสุกแดงน่ากินนั้น คือการพองตัวของก้านดอก เป็นผลปลอม หรือผลเทียม ส่วนผลจริงนั้นคือเมล็ดที่ติดอยู่ส่วนปลาย สีเทาหรือดำ เมื่อกะเทาะเอาเนื้อในสีขาว เอามาตากแห้ง ทอด หรืออบให้สุก ก็คือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เราๆ ท่านๆ ชอบใช้เป็นของขบเคี้ยวยามว่าง หรือแกล้มเบียร์เย็นๆ สุดยอด

เดิมทีนั้น มะม่วงหิมพานต์ มีอยู่แถวทวีปอเมริกาใต้ คือถิ่นกำเนิดเขาอยู่ที่โน่น แถบประเทศบราซิล มีชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นนักล่าขยายอาณานิคม นำเอามะม่วงหิมพานต์จากโน่นไปแพร่ขยายไปทั่ว ในสมัยศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะถิ่นที่เป็นเขตอิทธิพล เช่น ทวีปแอฟริกา ประเทศโมซัมบิก ทานซาเนีย เคนยา มาดากัสการ์ เข้ามาถึงเอเชีย ประเทศอินเดีย แถบฝั่งมลายู เข้าพม่ามาสู่เขตประเทศไทย ที่จังหวัดระนอง มีหลักฐานว่า พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้นำมาแพร่ขยาย จนมีปลูกกันทั่วประเทศ และมีอีกหลายท่านที่นำมะม่วงหิมพานต์เข้ามาปลูกในไทย เช่น เมื่อ พ.ศ. 2504 นายเธท ซิน จากองค์การ เอฟ. เอ. โอ.นำพันธุ์มาให้กรมกสิกรรม (สมัยนั้น) จำนวน 80 เมล็ด ปลูกที่สถานีทดลองไหม จังหวัดศรีสะเกษ และปลูกที่สถานีโป่งแรด จังหวัดจันทบุรี ปี พ.ศ. 2511 นายมาซูโอะ ชาวญี่ปุ่น นำพันธุ์มะม่วงหิมพานต์ จากอินเดีย อีก 20 สายพันธุ์ มาปลูกที่สถานีทดลองพืชสวนฉวี จังหวัดชุมพร ปี พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์มาจากประเทศบราซิล ทดลองปลูกที่สถานีทดลองยางกระบุรี จังหวัดระนอง ปัจจุบันขยายไปทั่วประเทศไทย

มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ผลยืนต้นเขตร้อนประเภทไม้ผลัดใบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ANACADIACEAE ชื่อสามัญว่า Cashew หรือ Cashew Nut “แคชชู” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษาอินเดียนแดงเผ่าทาบิ ในประเทศบราซิล เรียกว่า อาคาฮู แต่ชาวโปรตุเกสเรียกสั้นลงว่า คาฮู เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า CASHEW มีชื่อภาษาไทยว่า มะม่วงหิมพานต์ บางแห่งเรียก ยาร่วง เล็ดล่อ กาหยู มะม่วงสิงหล ฯลฯ

เป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตเร็วเพียงแค่ 2 ปี ให้ผลผลิตนานหลายสิบปี ไม่ยุ่งยากในการดูแลรักษา ปลูกทิ้งปลูกขว้างก็โตได้ บางที่ปลูกทิ้งไว้หัวไร่ปลายนา ข้างรั้ว ก็เก็บเมล็ดขายได้ เดี๋ยวนี้มีปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน ก็ต้องปลูกกันแบบนักเกษตรกรรมเขาทำกัน ก็คือต้องอิงหลักวิชาการเกษตรเข้าช่วย ไม่ใช่ว่าจะปลูกปล่อยทิ้งปล่อยขว้างเหมือนเมื่อก่อนปลูกไว้ดูเล่น ไม่ได้หวังได้ขึ้นได้ขาย แต่ถ้าเราจะปลูกเพื่อเป็นรายได้ละก็ ต้องเพิ่มความรู้ วิชาการ และทักษะเข้าไปด้วย

พันธุ์มะม่วงหิมพานต์ มีมากกว่า 400 พันธุ์ ถ้าแยกตามสีผล ก็มีสีเหลือง สีแดง หรือสีครั่ง และสีแดงปนชมพู พันธุ์ที่ปลูกต้องให้ผลผลิตเมล็ดสูง ขนาดเมล็ดต้องใหญ่ มีน้ำหนักไม่เกิน 200 เมล็ด ต่อกิโลกรัม คุณภาพเมล็ดดี สีสวย เปอร์เซ็นต์กะเทาะดีไม่น้อยกว่า 25% ต้านทานโรคแมลงศัตรูพืชได้ดี ผลปลอมมีขนาดเล็ก ติดช่อมาก เมล็ดเนื้อในแน่น ไม่เป็นโพรง เปลือกบาง น้ำมันน้อย กะเทาะง่าย ทรงต้นเตี้ย ปลูกได้จำนวนต้นต่อไร่มาก พันธุ์ที่แนะนำส่งเสริมให้ปลูก ได้แก่ พันธุ์ศรีสะเกษ 60-1 (ศก 5.1), 60-2 (ศก 5.10) พันธุ์ศิริชัย 25 พันธุ์อินทร์สมิต เป็นต้น

การปลูก สามารถปลูกด้วยเมล็ดแก่ที่แช่น้ำแล้ว นำลงหยอดหลุมได้เลย หรือเพาะเมล็ดลงถุงดินก่อน 2 เดือน ย้ายลงปลูก  เมล็ดนั้นต้องคัดเอามาจากต้นพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง การปลูกด้วยกิ่งตอน ต้องเป็นกิ่งที่ตอนมาจากต้นอายุ 5-6 ปีแล้ว กิ่งต้องสมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงรบกวน ปกติการตอนจะใช้ฮอร์โมน ไอบีเอ ความเข้มข้น 500 ppm. ทารอยควั่นเพื่อเร่งการออกราก หรือจะปลูกด้วยกิ่งที่ติดตา หรือเสียบยอดใหม่ ระยะปลูกระหว่างต้น 6 เมตร ระหว่างแถว 6-7 เมตร จะปลูกเป็นตารางสี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยม ในระยะปลูกนี้ก็ได้ ถ้าปลูกแซมพืชอื่น ควรเว้นช่องหลุมปลูกเพื่อเอาผลผลิตพืชนั้นออก ขุดหลุมปลูก กว้าง 50 เซนติเมตร ลึกพอประมาณ ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับหน้าดินรองก้นหลุม และกลบต้น การให้ปุ๋ยเคมี ใช้สูตรคำนวณตามหลักวิชาการ วัดจากโคนต้นขึ้นมา 90 เซนติเมตร วัดเส้นผ่าศูนย์กลางต้น 2.5 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม และถ้าจะให้ดีเจาะดินไปตรวจวิเคราะห์หาค่าธาตุอาหารพืชก่อน ที่สถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้าน ถามหมอดิน หรือถามเกษตรตำบลในพื้นที่ ปลูกแล้วไปแจ้งขึ้นทะเบียนกับเกษตรตำบล

มะม่วงหิมพานต์มีประโยชน์ ส่วนประกอบที่มีอยู่ในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ได้แก่ น้ำ 5.9% โปรตีน 21.0% ไขมัน 47.0% คาร์โบไฮเดรต 22.0% แร่ธาตุ 2.4% แคลเซียม 0.5% ฟอสฟอรัส 0.4% เหล็ก 5.0 มิลลิกรัม แคโรทีน 100 i.u/100 กรัม มีสารอาหารและสารอื่นๆ มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค เป็นยาดีในการช่วยป้องกันการเกิดโรค ถึงแม้จะยังไม่มีการสกัดออกมาเป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยตรง แต่มีผลการวิจัยว่า สามารถเป็นยาป้องกันรักษาอาการ และสาเหตุการเกิดโรคได้ ได้แก่ โรคอ้วนลงพุง ถึงแม้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์จะมีไขมันสูง แต่เป็นไขมันดี สามารถไปไล่ทำลายไขมันเลวที่ทำให้เกิดโรคอ้วนลงพุง ลดไขมันช่องท้อง ลดไขมันเลวในเลือด ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด ไขมันดี และกากใยอาหาร โปรตีน กรดอะมิโนอาร์จีนีน ช่วยให้ผนังหลอดเลือดขยายตัว ลดการอุดตันหลอดเลือด ลดการสะสมของไขมันเลว ซึ่งทุกอย่างเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ชะลอวัย ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ควบคุมน้ำหนัก ช่วยบำรุงสายตา มีสารลูเทอิน และซีแซนทีน ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการทำลายดวงตาจากแสง เกิดโรคคนสูงอายุตาบอด ลดอาการต้อกระจก แต่มีข้อจำกัด หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมลูก ผู้แพ้ถั่ว ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้เข้ารับการผ่าตัด ต้องระวัง เป็นอันตราย

เปลือกหุ้มเมล็ด จะมีน้ำมันออกฤทธิ์เป็นกรดอย่างแรง คือกรดอานาคาดิก 90% และกรดคาดอล 10% ถ้าถูกผิวหนังจะพองเป็นแผลเปื่อย แต่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทำสีย้อม และใช้ทาผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ป้องกันปลวก มด มอด แมลง ผสมน้ำมันก๊าด หรือพาราฟินเหลว ราดแอ่งน้ำกำจัดลูกน้ำยุง เปลือกใช้เผาสุมไฟป้องกัน หรือไล่ยุงได้ เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก สี ผ้าเบรกรถ แผ่นคลัชรถ กระเบื้องยางปูพื้น ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้าสามารถทนต่อกรด ด่าง ความร้อน และแรงเสียดสีได้ดี

ณ วันนี้ มะม่วงหิมพานต์ มีปลูกกันแพร่หลายไปทั่ว กำลังจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของบ้านเรา ถึงแม้จะต้องแข่งขันกับประเทศต้นกำเนิดและประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ แต่เชื่อเหลือเกินว่า ด้วยศักยภาพของพื้นที่ของเกษตรกร ของระบบการพัฒนาผลิตผลการเกษตรของประเทศไทย เราสู้เขาได้สบายมาก โดยเฉพาะถ้าเกษตรกรเรามีแนวคิดเปลี่ยนปรับ จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มักจะได้รับผลกระทบเชิงลบ มาปลูกพืชผสมดูบ้าง แล้วเราคงจะห่างไกล และหลุดพ้นก้าวข้าม จากคำว่า “มีปัญหา” ไปได้อย่างยั่งยืน

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่