ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม “ไม่มีจน” บ้านอ่างเตยผลิตเส้นไหม-ขายผ้าไหม ปีละ 2 ล้าน

“แถวนี้มีผ้าไหมด้วยเหรอ?” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสถามชาวบ้านที่ทูลเกล้าถวายผ้าไหม เมื่อครั้งพระองค์ท่านเสด็จมาเยี่ยมราษฎรเชื้อสายภูไท ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอห้วยตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2536

เหตุการณ์ในวันนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดโอกาสให้ผ้าไหมบ้านอ่างเตย ได้นำไปจัดแสดงผลงานในวังจิตรลดา และถูกพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพเสริมรายได้ของกลุ่มแม่บ้านเกษตร เมื่อว่างเว้นจากการทำนา กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย ได้รับการพัฒนา เป็น Smart Farmer ต้นแบบให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี สร้างอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนกว่าปีละ 2 ล้านบาท

อ่างเตย หมู่บ้านพอเพียงต้นแบบ “อยู่ดี กินดี”

เนื่องจากทำเลที่ตั้งของบ้านอ่างเตย หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอห้วยตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีลักษณะเป็นอ่าง ที่ดินทำกินแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเตยป่าที่ขึ้นอยู่ในลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “บ้านอ่างเตย” มาจนถึงทุกวันนี้ ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแห่งนี้ อพยพมาจากภาคอีสานตอนล่าง ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือ ทำไร่ ทำนา ทำสวนผลไม้ ปลูกผัก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้า

ชาวบ้านอ่างเตย ดำรงชีวิตอยู่ในความพอประมาณ พึ่งพาตัวเอง มีกิจกรรมลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน เช่น การปลูกผักไว้กินในครัวเรือน และขายผักในรูปกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้รู้รายรับ-รายจ่าย นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง มีการรวมกลุ่มการบริหารจัดการทุนในชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การจัดตั้งกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่ ฯลฯ

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้า “บ้านอ่างเตย”

ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านอ่างเตย ส่งมอบภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวอีสานสู่ลูกหลานกว่า 3 รุ่นแล้ว พวกเขาจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านอ่างเตยขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2536 ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปัจจุบัน มีสมาชิก 63 ราย แต่ละปีมีการเลี้ยงไหมพันธุ์ J 108 x นางลายสระบุรี จำนวน 8-10 รุ่น ซึ่งเส้นไหมเหลืองที่ผลิตได้ถูกไปทอเป็นผ้าไหมตามภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมกันมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ผ้าฝ้ายมัดหมี่ ผ้าไหมพื้น (ไม่มีลวดลาย) ผ้าไหมลวดลายต่างๆ  ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ผ้าขาวม้าลวดลายต่างๆ ผ้าขาวม้าสีจากธรรมชาติ ฯลฯ

อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้ช่วยทางกลุ่มฯ ออกแบบตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของการจำหน่ายผ้าบ้านอ่างเตยเชิงการค้า และช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาด โดยแนะนำให้ชาวบ้านนำผ้าไหมไปแปรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผ้า เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าถุง ผ้ามัดหมี่ ผ้าพื้น และเส้นไหมดิบ จำหน่ายภายใต้ แบรนด์ “โส๊ดละออ” หมายถึง ผ้าไหมผืนสวย  สินค้าของกลุ่มฯ ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในวงกว้าง สร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน ถึงเดือนละ 150,000-200,000 บาท หรือประมาณปีละ 1.5-2 ล้านบาท

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย นับเป็นหนึ่งในต้นแบบความสำเร็จ ภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี มาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ โครงการผลิตและกระจายพันธุ์หม่อนไหมและวัสดุย้อมสี โครงการตรวจสอบรับรองมาตรฐานหม่อนไหมและผลิตภัณฑ์ โครงการส่งเสริมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน รวมทั้งดำเนินโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในชุมชน

ผ้าไหมของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย ผลิตได้มาตรฐานตามข้อบังคับของกรมหม่อนไหม เช่น เส้นไหมได้รับคุณภาพมาตรฐาน มกษ.5900-2559 และมาตรฐาน มกษ.8000-2555 ประมาณปีละ 400-600 เมตร นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ สามารถผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งประกอบด้วย นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) และ นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) 3 สีทอง สีเงิน สีน้ำเงิน และสีเขียว ปีละ 400-500 เมตร

ดังนั้น ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี จึงได้จัดตั้งศูนย์เครือข่าย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้านหม่อนไหม ภายในชุมชนแห่งนี้ เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรในพื้นที่ และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จด้านหม่อนไหมในพื้นที่บ้านอ่างเตย เพื่อให้ชุมชนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจต่อไป

อบรม “ทายาทหม่อนไหม”

ให้เยาวชนมีความรู้ สร้างอาชีพติดตัว

ที่ผ่านมา กรมหม่อนไหม ได้ดำเนินโครงการสร้างทายาทหม่อนไหม เพื่อให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนและชุมชน มีความรู้ความสามารถในงานด้านหม่อนไหม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบเป็นอาชีพสร้างรายได้ระหว่างเรียน และมีอาชีพที่มั่นคงหลังจากจบการศึกษา สามารถพึ่งพาตนเองได้

“สุรพงษ์ กระแสโสม” วัย 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43/2 หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ (093) 016-2609 สุรพงษ์ เป็นหนึ่งในเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จ เขาได้รับรางวัล ทายาทหม่อนไหมในชุมชน ดีเด่นระดับประเทศ นำความภาคภูมิใจมาสู่ครอบครัวและประชาชนในพื้นที่เกิดการสืบทอดด้านอาชีพการเลี้ยงหม่อนไหมอย่างยั่งยืน

สุรพงษ์ เรียนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนสนามชัยเขต และปัจจุบันกำลังศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 4 สุรพงษ์ ได้รับการถ่ายทอดอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาจากตาและยาย คือ นายเที่ยง และ นางมะลิ อนันต์ ซึ่งประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ในปี 2554 ขณะนั้น สุรพงษ์ วัย 10 ปี กำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันสาวไหม และคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งระดับจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นกลายเป็นแรงผลักดันให้กับสุรพงษ์ตั้งใจประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เขาใส่ใจเรียนรู้ในกิจกรรม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกย้อม การมัดหมี่ การทอ และการถอดลวดลายของผ้ามัดหมี่ จากยาย และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต เพื่อพัฒนาฝีมือในด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

ด้วยผลงานที่โดดเด่น สุรพงษ์ ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการทายาทหม่อนไหม และได้รับรางวัลชนะเลิศทายาทหม่อนไหมในชุมชน ระดับประเทศ ปี 2560 นับเป็นเกียรติประวัติ และความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ สุรพงษ์ กระแสโสม ตั้งใจสืบสาน ต่อยอด อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงให้อยู่คู่กับชุมชนท้องถิ่นและประเทศไทยตลอดไป

…………….

สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน รายปี 24 ฉบับ ลดราคาพิเศษ 40% เฉพาะสมัครวันนี้ถึง 11 ตุลาคม 2563 เท่านั้นคลิกดูรายละเอียดที่นี่