หมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน ผลิตเส้นไหม-ผ้าไหม แบบ Handmade (ทอมือ) หนึ่งเดียวของพะเยา

พะเยา เป็นจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งขนบธรรมเนียมและประเพณี ตลอดจนการผลิตสินค้าพื้นบ้าน ที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภค ซึ่งเป็นการสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับชุมชนและจังหวัดพะเยา เป็นอย่างดี 

ที่หมู่บ้านวังขอนแดง หมู่ที่ 11 ตำบลห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นหมู่บ้าน อนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน ผลิตเส้นไหม-ผ้าไหม แบบ Handmade (ทอมือ) หนึ่งเดียวของพะเยา นำออกสู่ตลาด ทั้งในและนอกจังหวัด ตลอดจนต่างประเทศ จนได้รับความเชื่อถือว่าเป็นสินค้ามีคุณภาพและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพะเยา…เส้นใยซึ่งนำมาใช้ทอผ้าไหมนั้น เป็นเส้นใยที่ได้จากรังของหนอนไหม หนอนไหมเป็นตัวอ่อนของผีเสื้อชนิดหนึ่ง หลังจากผีเสื้อวางไข่ได้ 10 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวหนอน เรียกว่า “หนอนไหม”, “รังไหม”

หนอนไหมเลี้ยงในกระด้ง

ในระยะแรกที่ออกมาจากไข่ หนอนไหมมีขนาดเล็ก กินใบหม่อนเป็นอาหาร แต่ก็เจริญเติบโตได้เร็วมาก หนอนไหมจึงต้องลอกคราบเป็นระยะไป เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จึงหยุดลอกคราบ หยุดกินอาหาร แล้วเริ่มทำรัง โดยพ่นของเหลวชนิดหนึ่งออกมาทางปาก เมื่อของเหลวนี้ถูกกับอากาศจะแข็งตัว เป็นเส้นไหมพันซ้อนกันเป็นชั้นๆ หุ้มตัวไหมไว้ เรียกว่า ขณะที่อาศัยอยู่ในรังไหม หนอนไหมจะเจริญเติบโตไปเป็นดักแด้ เมื่อดักแด้โตเต็มที่จะมีลักษณะคล้ายผีเสื้อ แล้วเจาะรังไหมออกมาสู่ภายนอก การเจริญเติบโตของไข่ เป็นตัวหนอน ดักแด้ และผีเสื้อตามลำดับนี้เรียกว่า “ชีพจักรของไหม” เมื่อรังไหมมีอายุได้ประมาณ 5 วัน ผู้เลี้ยงจะคัดเลือกรังที่ดีไว้ทำพันธุ์ และปล่อยดักแด้ให้เจริญเติบโตต่อไปในรังไหม จนเป็นผีเสื้อ ส่วนรังไหมที่เหลือจะนำไปต้มแล้วสาวเป็นเส้นไหมด้วยมือ หรือเครื่องจักร สำหรับใช้ทอผ้าต่อไป

เนื่องจากหนอนไหมกินใบหม่อนเป็นอาหารเท่านั้น ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องปลูกหม่อนไว้ด้วย จะเลี้ยงแต่ไหมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเลี้ยงไหมโดยไม่ปลูกหม่อนก็จะไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับเลี้ยงไหมเนื่องจากหม่อนเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตร้อนและอบอุ่น ดังนั้น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จึงเป็นอาชีพสำคัญของประชาชนในหลายประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น ไทย ฝรั่งเศส อิตาลี ฯลฯ

หนอนไหมเข้าจ่อ

ต้นหม่อน…หม่อนเป็นพืชมีดอก เป็นพืชยืนต้น และเป็นไม้พุ่ม มีหลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ที่มนุษย์ผสมขึ้นมา เพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ และให้ผลผลิตสูง พันธุ์ซึ่งใช้ปลูกสำหรับเลี้ยงไหม ควรเป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในท้องที่ทั่วไป โตเร็ว ทนทานต่อความแห้งแล้งและโรคได้ดี ใบบาง ไม่หยาบ ขอบใบมีแฉกน้อย ฯลฯ ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะสำคัญ ซึ่งทำให้หม่อนให้ผลผลิตสูง ได้ใบหม่อนมากพอที่จะนำมาเลี้ยงไหมได้อย่างเต็มที่ พันธุ์ที่ปลูกกันมากในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์หม่อนน้อย พันธุ์ตาดำ เป็นต้น

คุณสมควร เตาะไธสง ประธานกลุ่ม

ผลหม่อน…การขยายพันธุ์หม่อนทำได้หลายวิธี ทั้งใช้เมล็ดและกิ่ง แต่วิธีที่ให้ผลเร็ว และได้ต้นหม่อนที่มีลักษณะเหมือนพันธุ์เดิมทุกประการก็คือ การตัดกิ่งปักชำ กิ่งที่จะใช้ขยายพันธุ์ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี มีตาไม่น้อยกว่า 5-6 ตา และยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร หลังจากปักชำกิ่งลงดินทรายแกลบเผา หรือขี้เลื่อยได้ 1 เดือน จึงนำไปปลูกลงดิน ระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกต้นหม่อนคือ ระยะต้นฤดูฝน เพราะต้นหม่อนระยะนี้ต้องการความชื้นสูงมาก เมื่อต้นหม่อนตั้งตัวได้แล้ว ต้องคอยดูแลปราบวัชพืช ใส่ปุ๋ย ต้นหม่อนจึงจะเจริญเติบโตได้ดี หลังจากต้นหม่อนอายุ ได้ 1 ปี จึงเริ่มตัดแต่งกิ่งและเก็บใบไปเลี้ยงไหม การตัดแต่งกิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำสวนหม่อน เพราะจะช่วยให้หม่อนมีต้นเตี้ย เก็บใบได้สะดวก และมีใบมากกว่าปล่อยให้เติบโตไปเองตามธรรมชาติ

การสาวไหมด้วยเครื่องสาว

เนื่องจากหนอนไหมกินใบหม่อนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ดังนั้น การเลี้ยงไหมจึงควรเริ่มต้นในระยะเวลาที่ต้นหม่อนมีใบมาก จึงจะมีอาหารพอสำหรับเลี้ยงหนอนไหม นอกจากนี้ การเลี้ยงไหมจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์การเลี้ยง วิธีเลี้ยง และพันธุ์ที่นำมาเลี้ยงอีกด้วย เพราะปรากฏว่า การเลี้ยงไหมแผนใหม่ตามคำแนะนำของกองการไหม กรมวิชาการเกษตร โดยเลี้ยงไหมพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์จีนและญี่ปุ่น และใช้อุปกรณ์ โรงเลี้ยงที่ทันสมัย ได้ผลดีกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีของชาวบ้าน และเลี้ยงพันธุ์พื้นเมืองไทย เช่น พันธุ์นางขาว นางน้ำ ฯลฯ นอกจากเลือกพันธุ์ การเอาใจใส่ดูแลสวนหม่อนและหนอนไหมระยะต่างๆ และการวางแผนกะเวลาเลี้ยงไหมให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ และการเจริญเติบโตของต้นหม่อนแล้ว การควบคุมโรคและแมลงหรือสัตว์ต่างๆ ที่ทำความเสียหายแก่หม่อนหรือหนอนไหมก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีอีกด้วย

รังไหม

หมู่บ้านวังขอนแดง หมู่ที่ 11 ตำบลห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เป็นหมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดพะเยา ที่มีกลุ่มสตรี แม่บ้าน รวมกลุ่มกันเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน ผลิตเส้นไหมและผ้าไหมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดพะเยา ด้วยชาวบ้านวังขอนแดง ได้อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน ซึ่งมีวิถีการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมไว้ใช้และจำหน่าย เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอยู่ที่พะเยาก็ยังนำเอาวิถีชีวิตเดิมมาด้วยการผลิตเส้นไหมและผ้าไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่แรกเริ่มการเพาะเลี้ยงตัวหม่อนไหมจนถึงการผลิตเส้นไหม การทอ การตัดเย็บ การออกแบบลวดลาย แบบ Handmade (ทอมือ) ผลิตด้วยมือทั้งสิ้น จนเป็นแบบสำเร็จนำออกสู่ท้องตลาดและเป็นสินค้าโอท็อปขึ้นชื่อของจังหวัดพะเยา ซึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของกลุ่มแม่บ้านวังขอนแดง จะมีแม่ค้าพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ในชุมชนบ้านวังขอนแดง ในราคาที่จับต้องได้ ที่สำคัญเป็นสินค้าผ้าไหมที่มาจากเส้นไหมแท้ 100%

หม้อต้มไหมเพื่อสาวเส้น

คุณสมควร เตาะไธสง อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 59 หมู่ที่ 11 บ้านวังขอนแดง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ประธานแม่บ้านหมู่บ้านอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน บ้านวังขอนแดง หมู่ที่ 11 ตำบลห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา กล่าวว่า กลุ่มสตรีของชุมชนบ้านวังขอนแดง ได้รวมกันเป็นกลุ่มสมาชิกอนุรักษ์ไหมไทยพื้นบ้าน ทำการผลิตเส้นไหมและผ้าไหมแบบครบวงจร ซึ่งการผลิตจะเริ่มตั้งแต่การเพาะเลี้ยงตัวไหม จนถึงการผลิตเส้นใยไหมของตัวไหมซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 22 วัน ถึงจะได้เส้นไหมออกมา เมื่อตัวไหมสร้างเส้นไหมแล้วก็จะนำมาเข้ากระบวนการผลิตเอาเส้นไหม ด้วยการต้มรังไหม การชักเส้นไหม จนได้เส้นไหม และเข้าสู่กระบวนการทอเป็นผืนผ้า ด้วยลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม เพื่อนำออกสู่ท้องตลาด และยังเป็นสินค้าโอท็อปที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านวังขอนแดงด้วย

สำหรับราคาการจำหน่ายผ้าไหมมีตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงหลักพัน แล้วแต่ชนิดของเส้นไหม และผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของหมู่บ้านวังขอนแดงจะผลิตด้วยมือ หรือ Handmade (ทอมือ) ทั้งสิ้น และกลุ่มสตรีหมู่บ้านวังขอนแดง ได้รับการสนับสนุนจากไข่ไหม พันธุ์หม่อนซึ่งใช้เป็นอาหารของหนอนไหม จากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การเก็บรังไหมออกจากจ่อ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถาม คุณสมควร เตาะไธสง อายุ 65 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านหม่อนไหมบ้านวังขอนแดง หมู่ที่ 11 ตำบลห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เบอร์โทร. (096) 228-9488

……………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563