ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร กำแพงเพชร พบความหลากหลายและที่พึ่งเกษตรกร

ผู้เขียนได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมเยียนถิ่นบ้านเกิดเมืองชากังราว จังหวัดที่เป็นตำนานเมืองประวัติศาสตร์ ที่เล่าลือถึงวัฒนธรรมประเพณีมาช้านาน ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงเรื่องราวในอดีตของโบราณสถาน

การกลับมาครั้งนี้ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่แทบจะจดจำเรื่องราวในอดีตไม่ได้เลย สมัยผู้เขียนเล่าเรียนหนังสือ มีอำเภอเพียง 4 อำเภอ และเป็นอำเภอที่เจริญที่สุดในขณะนั้น ปัจจุบัน ได้มีอำเภอใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย บางอำเภอเคยเป็นหมู่บ้านเล็กๆ เปลี่ยนมาเป็นอำเภอ ชื่อแสนจะไพเราะ ไม่รู้ใครตั้งชื่อให้จนเกิดมาร่วม 10 อำเภอ เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตัวเอง

กำแพงเพชร เป็นจังหวัดเล็กๆ ในอดีต…ได้มีโอกาสสอบถามท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด เดี๋ยวนี้กำแพงเพชรเป็นจังหวัดกำลังพัฒนา ในรอบจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ตาก สุโขทัย พิจิตร ยังสู้กำแพงเพชรไม่ได้ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและความเจริญของบ้านเมือง

เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล มันสำปะหลัง กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มาจากอาชีพทำไร่กล้วยไข่มาก่อน พัฒนามาปลูกอ้อยโรงงาน ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง โรงงานมันเส้น โรงงานแป้งมัน ที่สมัยก่อนผู้เขียนไม่เคยเห็นมันสำปะหลัง แต่ไปเรียนที่บางพระ และเรียนรู้วิชาไร่มันสำปะหลังที่ชลบุรี ที่เคยเป็นแหล่งโรงงานมันสำปะหลังกลับกลายมาปลูกน้อยกว่ากำแพงเพชร

จนผู้เขียนตั้งชื่อว่า “มันสำปะหลัง คือเงาะถอดรูป!!”

จึงไม่แปลกเลยที่กำแพงเพชรกลายเป็นจังหวัดเศรษฐกิจในภาคเหนือตอนล่าง แม้จะแพ้จังหวัดพิษณุโลก แต่ก็ยังมีโอกาสแซงได้ ถ้ามีการพัฒนาไม่หยุดยั้ง

ช่วงเวลาเที่ยง มีโอกาสรับประทานอาหารอร่อยที่เป็นอาหารท้องถิ่นก็คือ ก๋วยเตี๋ยวชากังราวที่ลือชื่อมีเมนูเฉาก๊วยชากังราว ที่เป็นอาหารว่างสุดอร่อย จากนั้นจึงได้ไปชม “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร” มีพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอเมือง

ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย แนะนำการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเกษตร เพื่อบริหารเกษตรกรในท้องถิ่นทุกอย่างที่พัฒนา

เป็นสถาบันการเกษตรที่มีขนาดจิ๋วแต่แจ๋วไปด้วยคุณภาพงาน โดย ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย ร่วมกับเพื่อนผู้แทนราษฎรท้องถิ่น และข้าราชการกลุ่มเกษตรกร ที่มาร่วมมือกันก่อสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นที่พึ่งของเกษตรกรทั้งหลายที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้และทดลองการเกษตรด้านเทคโนโลยีการเกษตร ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ขอแนะนำผู้อำนวยการศูนย์ ที่เป็นมือพัฒนาจนศูนย์ก้าวไกลมาถึงวันนี้ได้ คือ คุณศักดา บุญสังวาลย์

ทีมงานได้รับการต้อนรับจาก ผอ.ศูนย์ และคณะ พร้อมที่จะโชว์ศักยภาพและผลงานให้ได้ชื่นชม

หลังจากนั้น ผอ.ศักดา ได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ ส.ส.อนันต์ ได้ผลักดันงบประมาณมาให้บางส่วนอย่างต่อเนื่องเพื่อชี้แจงให้คณะที่มาเยี่ยมชมในห้องประชุมอย่างย่อๆ ดังนี้

ผอ.ศักดา บุญสังวาลย์

บทบาทหน้าที่ของศูนย์ มีดังนี้

ประการแรก…ศึกษาวิเคราะห์ ทดสอบ ประยุกต์ พัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้เหมาะสมศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งแปลงทดลองสาธิต แปลงเรียนรู้ไว้เป็นต้นแบบ

ประการที่สอง…ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิต และจัดการผลิตให้เหมาะสม

ประการที่สาม…เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมการผลิตและขยาย กระจายพันธุ์พืชและแมลงเศรษฐกิจเพื่อไว้ใช้ในการส่งเสริม

ประการที่สี่…ฝึกอบรมการเกษตรให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป

ประการสุดท้าย…บริการข้อมูลข่าวสารวิชาการด้านการเกษตร และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับการมอบหมาย

รับฟังผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร บรรยายสรุป

หลังกล่าวจบ ได้พามาเยี่ยมชมแปลงสาธิตและห้องทดลองต่างๆ ที่น่าสนใจ…จากการเข้าเยี่ยมชมครั้งนี้

โดยมีผลงานต่างๆ จากห้องผลิตเชื้อ และสนับสนุนสารชีวภัณฑ์แก่เกษตรกรออกมาจ่ายแจกแก่เกษตรกรดังต่อไปนี้

จากผลของการดำเนินงานจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาฯ
1. โครงการสนับสนุนชีวภัณฑ์แก่เกษตรกร ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตาไรเซียม ทั้งเชื้อสดและหัวเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส มอบให้แก่เกษตรกรและวิธีการใช้

2. การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางการเกษตร งบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตร อาทิ การปลูกมันสำปะหลังโดยใช้ชีวภัณฑ์ดิน การแนะนำระบบน้ำในแปลงมันสำปะหลัง การผลิตแมลงกำจัดศัตรูพืชทางธรรมชาติ การให้บริการคลินิกทางเกษตรเคลื่อนที่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการเริ่มต้นในฤดูการผลิตใหม่ (Field day) และการรักษาบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตร

3. การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางชีวภัณฑ์ โดยงบประมาณของจังหวัด ได้แก่ การผลิตขยายชีวภัณฑ์ และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและการขยายพันธุ์พืช โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

กล้วยไข่พันธุ์ดี นำมาให้ลองชิม กับประธานคณะ เป็นที่น่าพอใจ

จุดเรียนรู้ภายในศูนย์

ที่นี่ มีการเรียนรู้ปลูกมะนาวในวงบ่อ เทคนิคการขยายพันธุ์พืช การเรียนรู้ระบบน้ำแก่พืช การรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่น (กล้วยไข่) การปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์ การปลูกเมล่อนในโรงเรือน การเพาะเลี้ยงไส้เดือน การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด การขยายสารชีวภัณฑ์ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และการเพาะเลี้ยงแมลงศัตรูธรรมชาติ (แมลงหางหนีบ)

พาเข้าชมในห้องแล็บที่ทดลองเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชหลากหลายชนิด

หลังจากบรรยายสรุปลงแล้ว ผู้อำนวยการศูนย์ได้นำพาเข้าชมของจริงในห้องทดลองหลายรายการ ทั้งในห้องทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การขยายสารชีวภัณฑ์ ตลอดทั้งแปลงทดลองด้านนอก แปลงมันสำปะหลัง การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดที่กำลังได้รับความนิยมในภาคอีสานบางจังหวัดและมีการส่งออกในการแปรรูปเป็นอาหารกระป๋องแมลงทอดกรอบ ทำเงินให้เกษตรกรทุกเดือน

มีแปลงสาธิตพืชและระบบน้ำที่ใช้ทดลองในแปลงปลูกพืชที่เกษตรกรกำลังให้ความสนใจก็คือ ระบบน้ำหยด ที่จะเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังถึงเท่าตัว จากไร่ละ 3-4 ตัน สูงถึง 7-8 ตัน ต่อไร่

สิ่งที่เกิดขึ้น ถือว่า ส.ส.อนันต์ ผลอำนวย ผลักดันให้มีการพัฒนาก่อตั้งและงบประมาณเพื่อให้เกษตรกรท้องถิ่นได้รับการบริการจากศูนย์ได้ทั่วถึง ทั้งหมดต้องส่งงบประมาณมาให้กับศูนย์ แล้วกระจายต่อกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อนและขอความรู้จากศูนย์

ศูนย์ราชการหรือหน่วยงานรัฐบาล เมื่อมีผลงานมากก็มีปัญหาตามมาด้วย บุคลากรขาดแคลน และตามด้วยเครื่องมือในการดำเนินงานที่เป็นปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินงานโครงการของหน่วยราชการทุกแห่ง

อันดับแรกคงหนีไม่พ้นด้านบุคลากร ในตำแหน่งที่ยังไม่ครบ เช่น นายช่าง พนักงานราชการ และคนงานที่ยังขาดแคลน จึงทำให้การปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ

อันดับต่อมา ด้านยานพาหนะในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในด้านการปฏิบัติงานบนสถานีที่สูง จำเป็นจะต้องใช้รถยนต์ที่มีสมรรถนะสูง ขับเคลื่อน 4 ล้อ เนื่องจากสภาพพื้นที่เขา และสภาพถนนไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง

ส.ส.สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ จากชัยภูมิ อนุกรรมาธิการมอบของที่ระลึกให้กับ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร

เรื่องแบบนี้มีปัญหาทุกหน่วยงานราชการ แล้วแต่สภาพที่แตกต่างกัน อุปสรรคเหล่านี้แก้ไขได้ไม่ยากสำหรับกรมส่งเสริมการเกษตร
ถ้าหากหน่วยงานใดจะสังกัดกรมกองใดก็แล้วแต่ ถ้ามีหัวหน้าขยัน ซื่อสัตย์ มีผลงานโดดเด่นที่ปรากฏออกมา และมีผู้แทนราษฎรท้องถิ่นติดตามงานมาดูและก่อประโยชน์แก่เกษตรกรท้องถิ่น มีการยืนยันจากตัวแทนของประชาชนหรือเกษตรกรในจังหวัดนั้นเป็นสักขีพยานให้เป็นที่ประจักษ์ ก็ควรพิจารณางบประมาณเป็นกรณีพิเศษ

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาช้านานในวงการของราชการทุกแห่ง จึงใคร่ขอฝากผู้บริหารส่วนกลางที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นหน่วยงานขึ้นตรง โปรดนำไปพิจารณาด้วย

หากไม่เชื่อหรือไม่แน่ใจ ต้องสอบถามเกษตรกรท้องถิ่นและผู้แทนราษฎรที่ให้การสนับสนุนอยู่นั้น เพื่อขอความยืนยัน เพราะการเมืองต้องพัฒนาตามประเทศจึงจะเจริญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้รับความชื่นชมและไม่กลัวล้าหลังเหมือนกับกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นอีกต่อไป

……………………………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่