เผยแพร่ |
---|
เดือนกรกฎาคม ดีเดย์ ได้ฤกษ์ “สี่มุมเมือง” ครบ 30 ปี ปรับโฉมพื้นที่รวม 250 ไร่ รองรับอนาคต ใช้เวลา 3-4 ปี ปรับปรุงตลาดขยายพื้นที่ค้าส่งผักสด-ผลไม้ แหล่งอาหารคนเมือง ชู “มะม่วง” สินค้าท็อปฮิตยอดขายดีสุด ให้โดดเด่นกว่าเดิม ขณะที่ภัยแล้งทำ “ทุเรียน” ราคาพุ่ง แม่ค้าทุเรียนยิ้มรับออเดอร์
“ตลาดสี่มุมเมือง” แหล่งอาหารของเมืองหลวง กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่กว่า 200 ไร่ ซึ่งวันนี้ตลาดสี่มุมเมืองมีอายุครบ 30 ปี และเป็นตลาดศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนผักสดและผลไม้ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยแต่ละวันมีผู้มาค้าประจำมาเช่าแผง 2,000 กว่าแผง มีรถผักสดกว่า 1,200 คัน ต่อวัน หมุนเวียนนำผักมาจำหน่ายและซื้อสินค้า โดยผู้ที่นำผักมาค้าที่นี่ จ่ายค่าเช่าเพียงตารางเมตรละ 15 บาทต่อวัน ทำให้ที่นี่มีชีวิตชีวาตลอด 24 ชั่วโมง
“กรุงเทพมหานคร” ได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองหลวงที่ไม่เคยหลับ สี่มุมเมืองก็เช่นเดียวกัน เพราะวิถีชีวิตคนในเมืองหลวงต้องหาซื้อผักสดและผลไม้ วัตถุดิบประกอบอาหารในตลาดสดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกลุ่มตลาดสดจากทั่วกรุงเทพฯ มักจะเดินทางมาซื้อสินค้าที่นี่ เพื่อเตรียมรับเช้าวันใหม่ของคนเมืองในแต่ละวัน
ทายาท รุ่น 3 ตลาด “สี่มุมเมือง”
วางอนาคต 20 ปี นับจากนี้ ผุดเฟส 3 โฉมใหม่
วิถีชีวิตคนเมือง และผู้ซื้อผู้ขายที่มีชาวต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงอายุของตลาดครบ 30 ปี คือเหตุผลที่ทำให้วันนี้ “ตลาดสี่มุมเมือง” มีนโยบายขยายพื้นที่ตลาดออกไปอีก 50 ไร่ เพื่อสร้างเป็นตลาดสี่มุมเมือง โครงการ 3 รองรับการเติบโตของคนเมือง และพัฒนาให้ตลาดมีความทันสมัย ในการเปิดรับการค้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (AEC)
คุณกฤษฎ์ เพ็ญสุภา ทายาท รุ่นที่ 3 ของตระกูล “เพ็ญสุภา” ผู้บริหารตลาด “สี่มุมเมือง” เปิดใจกับ นิตยสาร “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ถึงแนวคิดการขยายตลาดเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดกลางซื้อขายสินค้าว่า ทางผู้บริหารตลาดสี่มุมเมืองวางแผน ใช้เวลา 3-4 ปี ในการขยายพื้นที่ตลาดสดออกไปอีก 50 ไร่ เรียกว่าเป็นการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ หรือ รีโนเวท (Renovate) ซึ่งจะเริ่มขยับขยายพื้นที่ในเดือนกรกฎาคม ปี 2559
“ช่วงนี้เรากำลังขยายตลาด ถ้าไปดูหลังตลาดจะเห็นความเคลื่อนไหวพอสมควร เรามีโครงการจะขยายตลาดเป็นเฟสใหม่ ที่ผ่านมาเราบริหารงาน 30 ปีแล้ว เพราะเป็นจุดที่เราต้องขยายตลาดแล้ว พื้นที่จอดรถก็ดี พื้นที่ค้าขายก็ดี มันค่อนข้างจะแน่น ซึ่งที่ผ่านมาเกือบปี (ตั้งแต่ ปี 2558) และ 6 เดือนหลังมานี้ ทางผู้บริหารก็ระดมสมองกันคิดว่าจะออกแบบตลาดยังไง ให้การจัดจอด ค้าขาย คล่องตัวขึ้น สะดวกขึ้น และ ก็รองรับลูกค้าในอนาคต อีกสัก 10-20 ปีได้ จึงต้องร่วมกันออกแบบว่า จะทำแบบไหน” ทายาท รุ่นที่ 3 เล่าให้ฟังอย่างสบายใจกับแผนการปรับปรุงตลาด เพื่อรองรับอนาคต
ส่วนหน้าตาของตลาดสี่มุมเมืองโฉมใหม่ ในอีก 3-4 ปีข้างหน้านั้น มีทั้งหมด 3 โครงการ โดยปัจจุบันโครงการ 1 และโครงการ 2 กินเนื้อที่ 200 ไร่ เมื่อบวกกับพื้นที่ในโครงการ 3 ตลาดสี่มุมเมืองจะมีพื้นที่ทั้งหมด 250 ไร่ และสินค้าที่วางขายก็จะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค
“นโยบายหลักๆ ของผู้บริหารสี่มุมเมืองคือ จะย้ายผัก กับตลาดสด ไปพื้นที่ด้านหลัง และนำผลไม้ที่มียอดขายดีที่สุดของตลาดออกมาให้โดดเด่น คือ มะม่วง ซึ่งถือว่าเป็นพระเอกของตลาดสี่มุมเมือง ส่วนโครงการ 2 จะย้ายผักกับตลาดสดออกไปให้หมด ไปอยู่ในโครงการใหม่ คือโครงการ 3” คุณกฤษฎ์ บอกถึงรายละเอียดการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับปรุงไม่น้อยเลยทีเดียว
ในแต่ละวัน รถค้าผักสดและผลไม้จากทั่วประเทศที่พุ่งตรงมาเช่าพื้นที่ยังตลาดสี่มุมเมือง มีเป้าหมายกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน คือกลุ่มตลาดสดที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก รองลงมาคือ ปริมณฑล และพื้นที่ภาคตะวันออก อาทิ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัดระยองและชลบุรี ซึ่งมีตลาดสดในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเมืองพัทยา ก็มาซื้อผักสดและผลไม้จากตลาดสี่มุมเมืองเช่นกัน
แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีการหมุนเวียนเข้ามาซื้อขายของพ่อค้าแม่ค้าจากทั่วทุกสารทิศ ผลผลิตทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผักบางตัวต้องขาดหายจากท้องตลาด และผลไม้บางชนิดมีราคาสูงขึ้นอย่างชัดเจน
ราคาสินค้าขยับสูง ภาวะภัยแล้งส่งผล
พ่อค้าแม่ค้า ผัก-ผลไม้ ยังได้กำไร
เพราะฉะนั้นภาวะภัยแล้งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผักท้องถิ่นบางตัว อย่าง “ผักหวาน” หายหน้าหายตาไปจากตลาดสี่มุมเมืองช่วงหนึ่ง ด้วยความที่เป็นผักหายากอยู่แล้ว เมื่อเจอภาวะน้ำแล้ง ทำให้ไม่มีผักหวานวางขายในตลาดสี่มุมเมือง นอกจากนี้
“อย่างที่ผมเห็น เรามีตลาดผักพื้นบ้าน อย่างเช่น ชะอม สะตอ ใบบัวบก ผักหวาน หายไปค่อนข้างเยอะ ประมาณ 30% แต่จริงๆ ปริมาณเข้ามาก็ไม่เยอะ ผู้ซื้อก็หายตอนแล้ง ของก็ไม่ค่อยมีขายอยู่แล้ว ส่วนอื่นๆ ก็มีพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ชะอม มันสำปะหลัง มันเทศ และเผือก หายไปกว่า 10-20% เพราะปัญหาภัยแล้งค่อนข้างหนัก แต่สินค้าตลาดเราลดไปบ้าง แต่ไม่เยอะ ช่วงต้นปีจะเห็นได้ชัดเลย ผักจะเริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนมีนาคมและเมษายนมีปัญหาภัยแล้งมาก จนของขาด ทำให้ต้องนำผักจีนเข้ามาเยอะ และอย่างที่เห็นช่วงสงกรานต์ปีนี้ ราคาผักก็แพงเป็นประวัติศาสตร์ ผักบางชนิดขายกิโลกรัมละเป็นร้อยบาท และคิดว่าหลังจากนี้ไปสักช่วงหนึ่ง ช่วงที่รัฐบาลไม่ให้ปลูกอะไร เกษตรกรก็เหมือนกับชะงัก ช่วงนี้ใกล้ฤดูกาลปลูกอีกรอบแล้ว รอบผักที่จะมาวางขายได้อีกก็ 45-60 วัน เพราะฉะนั้นอีกประมาณเดือนหนึ่งนับจากนี้ เราก็จะได้เห็นผักที่หายไป กลับมาวางขายเหมือนเดิม” คุณกฤษฎ์ ยอมรับผลกระทบที่ตามมาจากภาวะภัยแล้ง
แต่ผลไม้กลับไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ยังมีปริมาณผลผลิตออกมาหมุนเวียนตลอด ขณะที่ในด้านของผู้ซื้อมีปัจจัยกลุ่มลูกค้าจากจีนเข้ามาซื้อจำนวนมาก ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งถือว่าเป็น “ราชาผลไม้ไทย” (King of Fruit) ทำให้ราคาทุเรียนในปีนี้พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
คุณกฤษฎ์ ยังบอกถึงกลไกตลาด และธรรมชาติของตลาดว่า เมื่อของแพง ผู้ค้าผักและผลไม้ยังมีกำไร สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ต่อระหว่างผู้ค้าด้วยกัน ซึ่งกลายมาเป็นผู้ซื้อในตลาดสดสี่มุมเมืองในแต่ละวันนั่นเอง แต่ภาระราคาสินค้าแพง จะไปตกอยู่กับ “ผู้บริโภค” (En-User) ซึ่งเป็นปลายทางที่จะต้องจ่ายเงินในกระเป๋า ซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้นหมด
“ผมไปซื้อผลไม้แถวบ้าน ทำไมมันแพงอย่างนี้ มันบวกเต็มไปหมดเลย เช่น ค่าประกันของเน่าเสีย เพราะผลไม้เสียหายง่าย” คุณกฤษฎ์ ทิ้งท้ายกับการมองอนาคตของราคาผักและผลไม้ไทย พร้อมกับบอกว่า ยังเป็นห่วงเป็นใยผู้เช่า เพราะต้องแย่งหาสินค้าเกษตรมาขาย เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ค้ามีปัญหาอะไร ทางตลาดสี่มุมเมืองพร้อมเปิดรับคุยกับผู้เช่าในทุกโอกาสและทุกเวลา
“ทุเรียน” ราชาผลไม้
โดดเด่นในสี่มุมเมือง ขายดีสวนทางภัยแล้ง
แม้ว่าสภาพอากาศจะร้อนแค่ไหน และภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อผักและผลไม้ชนิดอื่นๆ แต่สำหรับ “ทุเรียน” ยังมีเสน่ห์ครองใจผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ส่งผลให้แม่ค้าทุเรียนที่ตลาดสี่มุมเมืองนั้น มียอดสั่งซื้อทั้งจากหน้าร้าน และจากต่างประเทศจำนวนมาก
คุณพิมพ์วลัญช์ แสนแก้ว หรือ “เจ๊จั่น” ผู้ประกอบการค้าส่ง “ทุเรียน” มา 20 ปี ภายใต้ชื่อ ร้าน “อานนท์ ผลไม้” ในตลาดสี่มุมเมือง เปิดใจถึงสถานการณ์ราคาทุเรียนที่ทะยานสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาว่า มีการรับซื้อไม่อั้นจากกลุ่มประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความนิยมบริโภคทุเรียนมาก และมีการไปซื้อถึงสวนของเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี
“ปีนี้ขายดี แต่ 1-2 ปีก่อนขายดีกว่านี้เยอะ เพราะทุเรียนราคาถูก ขายรอบได้เร็วกว่านี้ ปีหน้า ถ้าเราทำราคาสู้ผู้ซื้อจากต่างประเทศได้ เช่น ถ้าผู้ซื้อจากจีน ซื้อกิโลกรัมละ 98 บาท เราก็ต้องสู้เขา อย่างปีที่แล้วซื้อมากกว่าเขาโลละ 5 บาท กว่าจะได้ทุเรียนแก่มาขาย ปีนี้ต้องไปแย่งกันให้ราคา ส่งผลให้ราคาทุเรียนในประเทศก็แพงขึ้นด้วย” เจ๊จั่น เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
เพราะฉะนั้นตลาดซื้อขายทุเรียน ในตลาดค้าส่งจึงร้อนระอุไม่แพ้สภาพอากาศ เพราะนอกจากเจอการแข่งขันด้านราคาต่อกิโลกรัมแล้ว ยังมีเรื่องการแข่งขันแย่งซื้อกันหน้าล้ง ในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร
“การแข่งขันมันสูงมาก ส่งผลให้ทุเรียนปีที่แล้วถูกกว่า 20 บาท พอราคาแพงกำลังซื้อก็ต้องลดลง ปีนี้ทุเรียนเบอร์รอง ขายกิโลกรัมละ 65 บาท เบอร์หัวที่ทำราคาได้ ขายกิโลกรัมละ 85 บาท ต่างกันตั้ง 20-30 บาท ทำให้ทุกวันนี้ทุเรียนหน้าร้านขายปลีก กิโลกรัมละ 100-110 บาท ถ้าเบอร์สวย ขายกิโลกรัมละ 120-125 บาท ก็ทำให้ขายได้รอบช้ากว่าเดิม แต่ก็ยังพอได้ทำอยู่ เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขาประจำทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ ก็ทยอยมาซื้อ” แม่ค้าทุเรียนร้านอานนท์บอกเล่าด้วยอัธยาศัยที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ร้านทุเรียนของ “เจ๊จั่น” จึงขายดี ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน
20 ปี กับประสบการณ์ค้าขายทุเรียน และทำค้าส่งในตลาดสี่มุมเมือง ทำให้มีเงินส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีถึง 3 คน ทั้งจากมหาวิทยาของภาครัฐและภาคเอกชน อย่าง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
“พออยู่ได้ เราอยู่ตัวแล้ว แต่ลูกเราต้องทำให้เขาสานต่อ ซึ่งเขาก็รักอาชีพนี้ เพราะทุเรียนเป็นราชาผลไม้ และไม่ใช่ว่าจะขายได้ทุกคน และทำแล้วใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกคน แต่เราต้องทำ ต้องเดินไป จนรู้เลยว่า ทุเรียนรุ่นไหนอ่อน รุ่นไหนแก่ รุ่นลูกเราทุกคนก็ต้องศึกษาการดูทุเรียน” เจ๊จั่น บอกถึงเส้นทางการค้าทุเรียนที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยชั่วโมงบินและเก็บเกี่ยวประสบการณ์กว่าจะมียอดขายเป็นล้านบาทได้
นอกจากนี้ เคล็ดลับที่สำคัญของผู้ค้าในตลาด “สี่มุมเมือง” คือ ความมีอัธยาศัยที่ดี และรอยยิ้มให้กับลูกค้า ซึ่ง “เจ๊จั่น” บอกว่าบางทีลูกค้าไม่อยากจะซื้อ แต่เราเรียกลูกค้าก่อน จากเดินผ่านไป ก็หันมาซื้อ และในบางปีทุเรียนบางลูกเนื้อไม่ดี ลูกค้าประจำก็ให้อภัย มาซื้อทั้งปี เพราะอัธยาศัยในการเจรจาปราศรัยเป็นสิ่งสำคัญ รองจากคุณภาพของสินค้าที่ต้องมาเป็นอันดับแรก
สนใจซื้อขายสินค้าเกษตร ตลาดสี่มุมเมือง ติดต่อได้ที่ บริษัท ดอนเมืองพัฒนา จำกัด 355/115-116 หมู่ที่ 15 ถนนพหลโยธิน ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร. (02) 995-0610-3
สนใจอยากได้เคล็ดลับดีๆ แบบเป็นกันเอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์การค้าขายทุเรียน ในตลาดสี่มุมเมือง ติดต่อได้ที่ คุณพิมพ์วลัญช์ แสนแก้ว หรือ เจ๊จั่น เจ้าของร้าน “อานนท์ ผลไม้” โทร. (081) 300-2629 หรือ (02) 995-0419