ขมิ้นชัน พระเอกสำหรับลำไส้แปรปรวน

ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ เขียนไว้ในคอลัมน์ “พืชใกล้ตัว” อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 18 ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2563 ว่า เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านเคยผ่านประสบการณ์โรคลำไส้แปรปรวนมาก่อน แต่อาจจะไม่รู้ตัว เนื่องจากโรคนี้โดยปกติอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการย่อยจะทำงานร่วมกันกับสมอง ผ่านการทำงานของฮอร์โมน แต่เมื่อระบบในร่างกายทำงานไม่สัมพันธ์กัน ลำไส้ก็อาจเกิดบีบตัวหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ จะส่งผลทำให้เกิดการปวดในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการปวดท้องส่วนล่าง โดยอาการหลักๆ ที่พบบ่อยนอกจากนี้คือ จุกเสียด อ่อนเพลีย ไปจนถึงอาการกระวนกระวายหรือซึมเศร้าได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

การรักษาอาการปวดท้องจากลำไส้แปรปรวนแบบไม่ใช้ยานั้น ทำได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อลำไส้ เลี่ยงอาหารประเภทแป้งหรือผลไม้ที่ย่อยยาก เพราะอาจทำให้เกิดการดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้แล้วเกิดอาการท้องเสีย อาหารที่ควรเลี่ยงเมื่ออาการปวดท้อง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว ถั่วแดง ถั่วเขียว ขนมปัง แอปเปิ้ล แตงโม เป็นต้น

ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ แนะนำให้รับประทานขมิ้นชัน สำหรับรักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ซึ่งมีงานวิจัยที่อธิบายถึงกลไกว่าช่วยลดความผิดปกติของการบีบตัวในลำไส้ รวมทั้งมีการวิจัยที่บ่งชี้ว่าขมิ้นชันนั้นช่วยโรคลำไส้แปรปรวนผ่านระบบการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองและสารที่ควบคุมการทำงานของลำไส้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ลดอาการปวดจากลำไส้แปรปรวนได้

ในปี 2004 มีการวิจัยในคนที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน จำนวน 500 ราย โดยให้รับประทานสารสกัดขมิ้นชัน 1-2 เม็ด เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งรายงานไว้ว่า สามารถลดอาการปวดท้องและไม่สบายท้องได้ อีกทั้งยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของอาสาสมัครในการศึกษาครั้งนี้

การรับประทานขมิ้นชันนั้น อาจไม่ต้องใช้เป็นยาเสมอไป สามารถใช้ขมิ้นชันปรุงเป็นส่วนผสมของอาหารได้ เป็นหนึ่งในเครื่องปรุงที่แนะนำที่คนเป็นโรคลำไส้แปรปรวนควรรับประทาน แต่ว่าบางคนอาจไม่สะดวก เนื่องจากรสชาติหรือกลิ่นเฉพาะตัวของขมิ้นชัน ก็ปรับมารับประทานแบบแคปซูลก็จะสะดวกและกลบกลิ่นได้ โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน เพื่อทำให้มั่นใจว่าได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย

ขนาดรับประทานของขมิ้นชันสำหรับรักษาโรคลำไส้แปรปรวนตามงานวิจัย จะให้รับประทานสารสกัดขมิ้นชันวันละ 72-144 มิลลิกรัม แต่หากมีอาการแน่น จุกเสียด สามารถรับประทานผงขมิ้นชันครั้งละ 800 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์วันพฤหัสที่ 7 มกราคม พ.ศ.2564