ยำใบไม้ สูตรโบราณ เพื่อสุขภาพ ของโรงพยาบาลเขาพนม กระบี่

ใบไม้ เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ทำเป็นอาหารได้

เมื่อได้ชิมรสชาติ ทำให้ผู้เขียนต้องถามหาสูตรทันทีว่ามาจากไหน และมีกรรมวิธีการทำอย่างไร จึงได้รับคำตอบจาก คุณกัญญารัตน์  คงบ้อ นักการแพทย์แผนไทย หัวหน้าศูนย์สุขภาพวิถีไทย โรงพยาบาลเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งชมรมหมอพื้นบ้านของอำเภอเขาพนมและยังเป็นผู้ คิดหาสูตร “ยำใบไม้” โดยผ่านฝีมือการปรุงเมนูนี้จาก คุณอมรรัตน์  หิรัญรุจี หมอพื้นบ้าน อสม. ชมรมหมอพื้นบ้าน อำเภอเขาพนม ทั้งสองท่านบอกว่า สูตรนี้เป็นภูมิปัญญาในการปรุงอาหารของชาวบ้านในสมัยโบราณ ต่อมาจึงได้ชื่อว่า “ยำใบไม้” สูตรโบราณ ซึ่งเป็นการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จะเรียกว่าเป็นสูตรโบราณหรือสูตรคุณยายก็ได้

วิธีการทำ “ยำใบไม้” ไม่ยาก ด้วยการนำเอาใบพืชสมุนไพรต่างๆ ที่เตรียมไว้มาหั่นฝอย จากนั้นนำเครื่องยำที่เตรียมไว้ (จะเรียกว่าเครื่องแกงก็น่าจะใช่) มาผสมคลุกเคล้ากับใบไม้ ส่วนเครื่องคลุกจะมีโปรตีนจากปลา และกุ้งแห้งที่ตำหรือป่นละเอียดไว้แล้ว จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลและเกลือ ชิมรสชาติตามชอบใจ สำหรับวิธีการรับประทานจะนำมาคลุกกับข้าวสวย พอได้กินแล้วก็รู้สึกเหมือนได้รับการกระตุ้นต่อมต่างๆ ตามร่างกายได้อย่างดีทีเดียว ท่านที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่คุณกัญญารัตน์ และคุณอมรรัตน์  080-7057283 075-689510 และ 084-8894660

นอกจากนี้ อาหารพื้นบ้านทางภาคใต้ ยังมีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น รสเผ็ดร้อนกว่าทุกภาค ซึ่งโดยทั่วไปจะมี รสเปรี้ยว เค็มและเผ็ด แต่ สำหรับ “ยำใบไม้” ของโรงพยาบาลเขาพนมนั้น จะมีเพียง 2 รส คือเค็มและเผ็ด ไม่เติมรสเปรี้ยว (โดยทั่วๆ ไปการปรุงน้ำยำ ต้องปรุงให้มีรส 3 รส คือ เปรี้ยว เค็ม และหวาน) และถึงแม้ว่า “ยำใบไม้” จะมีรสเผ็ดจัดจ้าน เจ้าของสูตรบอกว่าไม่ส่งผลต่อสุขภาพของคนใต้แต่อย่างใด เพราะมีขมิ้นเป็นส่วนผสม

ขมิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับอาหารใต้ ขมิ้น เป็นเครื่องปรุงหลักของเครื่องแกง รวมถึงอาหารหลายเมนู ของอาหารใต้ก็ขาดขมิ้นไม่ได้ ขมิ้น นอกจากจะช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี ยังเป็นสมุนไพรปรุงรสที่ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ได้อีกด้วย จึงนับเป็นภูมิปัญญาทางด้านโภชนาการและเวชการของคนใต้แขนงหนึ่ง

การนำภูมิปัญญาไทย ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน โดยเฉพาะอาหารและสมุนไพรไทยมาใช้ในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพโรคที่ป้องกันได้นั้น เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีคุณค่าต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของคนไทยในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะคนไทยในชนบท ชุมชน ท้องถิ่นนั้น ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไป และภูมิปัญญาไทยที่ดีดีเหล่านี้ ถ้าเราคนไทยไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้แล้ว ในอนาคตอาจทำให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาเหล่านี้สูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทยก็ได้

นับจากวันนี้ไปทุกคนควรร่วมมือกันอนุรักษ์ภูมิปัญญา “อาหารพื้นบ้าน” ท้องถิ่นเหล่านี้ไว้ เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งของคนไทย ที่จะแสวงหาสิ่งที่ดีงามหวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ และภูมิปัญญาไทยเองจะนำมาซึ่งการพึ่งตนเองด้านสุขภาพอย่างยั่งยืนทุกระดับ รวมทั้งยังสอดคล้องกับการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

สูตรยำใบไม้

ส่วนผสมใบไม้

  1. มีใบพาโหม (ใบตดหมู ตดหมา)
  2. ใบชะพลู
  3. ใบขมิ้น
  4. ใบมะนาว
  5. ใบมะตูม
  6. ใบยอ
  7. ใบมะกรูด
  8. ใบส้มโอ
  9. ดอกดาหลา

เครื่องยำ

  1. พริกชี้ฟ้าสด / แห้ง
  2. พริกไทยดำ
  3. หอมแดง
  4. กระเทียม
  5. กระชาย
  6. ขมิ้นสด
  7. ข่า

เครื่องคลุก

  1. ปลาเสียบ
  2. ปลาแห้ง
  3. กุ้งแห้ง
  4. เครื่องปรุงรส มีน้ำปลา น้ำตาล และเกลือ                                                                 …………………………                                                  เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564