สุรินทร์แล้งจัด ชาวบ้านพึ่งตัวเอง ขุดหากบ-เขียดตามดินแตกระแหง

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ที่บ้านโพธิ์ทอง ต.หนองบัว อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ หนองน้ำใกล้กับหมู่บ้านในช่วงนี้ได้แห้งขอดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง น้ำที่เคยกักขังไว้เต็มสระมีสภาพเหลืองและลดลงแห้งขอด ดินเหนียวในบริเวณสระน้ำก็แตกตัวเป็นก้อนแตกระแหง เป็นที่หลบซ่อนพักร้อนของกบและเขียดอีโม่ เขียดตัวใหญ่หน่อย ชาวบ้านเรียกเขียดอีโม่ เข้าไปหลบร้อนในซอกดินที่แยกเป็นร่อง ระหว่างก้อนดินแต่ละก้อน วิถีชีวิตแบบชาวบ้านชนบทก็จะทราบว่าจะมีเขียดอีโม่มาหลบซ่อนตัวอยู่ในรอยแตกของดิน เพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ พอช่วงกลางวัน เขียดอีโม่ก็จะเข้ามาหลบร้อนในรอยแยกของดิน ชาวบ้านจึงออกหาขุดกบและเขียดอีโม่ด้วยการใช้เสียมงัดก้อนดินที่แตกเป็นก้อน จับเขียดอีโม่ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง สามารถขุดหาและจับเขียดอีโม่ได้คนละ 10-50 ตัว ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการนำมาประกอบอาหาร ประเภทแกงเขียดใส่ใบชะพลู หรือย่างเขียด ตำน้ำพริกเขียดสด จิ้มพัก

คุณแม่สอน แก้วศรี อายุ 54 ปี ชาวบ้านโพธิ์ทอง พร้อมกับเพื่อนบ้านเกือบ 10 คน อายุคงจะราวๆ 50 ปีขึ้นไปทุกคน หลังจากที่รับประทานอาหารเช้าแล้วก็ชวนกันออกหาขุดกบ ขุดเขียด ด้วยการใช้เสียมเป็นเครื่องมือสำคัญในการขุดหาเขียด และถังพลาสติก ถุงตาข่าย น้ำดื่มใส่ขวดบ้าง ใส่กระติกบ้าง และที่ขาดไม่ได้เลยคือ หมากพลู เอาไว้เคี้ยวยามที่นั่งพักเหนื่อย พากันมุ่งตรงไปยังสระที่แห้งไม่มีน้ำ พอถึงจุดที่หมายทุกคนต่างก็พากันขุด งัด แงะ ดินที่เป็นรอยแตกแยกเป็นก้อนๆ เพื่อหาเขียดที่อยู่ในดินนั้น จะขุดไปเรื่อยๆ สักพักก็จะมีเขียดกระโดดออกมาแล้วก็จะตะครุบจับ ก็พอได้บ้างแต่ถึงจะไม่ได้เยอะอะไรมากนัก เพราะความร้อนและเหนื่อยแต่ก็สู้เพื่อจะได้เป็นอาหารมื้อเย็นและมื้อต่อๆ ไป ยังดีกว่าที่จะต้องไปซื้อกินทุกมื้อ หาเอาตามท้องทุ่งนาก็พอได้กิน อย่างน้อยๆ ก็ได้ไปทำป่น หรือทำน้ำพริก แถมประหยัดไปในตัวอีกต่างหาก เพราะอยู่บ้านก็ไม่ได้ทำอะไร สู้ออกไปหากบหาเขียดดีกว่า ถึงจะไม่ได้ขายแต่ก็พอได้กินในครอบครัว พอทุกคนเห็นว่าได้พอกินแล้วต่างคนต่างทยอยพากันเดินทางด้วยเท้ากลับเข้าหมู่บ้านของตน เพื่อประกอบอาหารมื้อเย็นต่อไป