“ดูแลงานให้ดี แล้วงานจะดูแลเรา” คำพูดนี้มีความหมายอย่างไร

สามีของฉันตายไปแล้ว แต่มีคำพูดหนึ่งที่เขาทิ้งไว้

“ดูแลงานให้ดี แล้วงานจะดูแลเรา”

เขาหมายถึงอาชีพของเรา แต่ฉันคิดว่าอาชีพอื่นก็เช่นกัน

อย่างเช่น ที่บ้านกลาย บ้านเกิดของฉัน มีแม่ค้าขายหนมครกอยู่เจ้าหนึ่ง เป็นหนมครกที่อร่อยมาก ทุกเช้าจะมีคนมารอเพื่อซื้อหนมครก ฉันเป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น เขาขายมาตั้งแต่รุ่นยาย รุ่นแม่ แบบดั้งเดิม มะพร้าวขูด คั้นกะทิสดๆ ไม่ปรุงแต่ง ไม่ใส่น้ำตาล หรือใส่พวกต้นหอม เผือก ข้าวโพด ไม่ทำเป็นปีก

หนมครกที่หยอดเต็มทุกหลุม หยอดแป้งก่อนตามด้วยกะทิ เมื่อสุกเนื้อแป้งกับกะทิซึมเข้ากันพอดี ไม่เป็นเนื้อเดียวแบบเอาแป้งไปผสมกับกะทิ เพราะแบบนั้นมันนุ่มนิ่มไปหมด

นอกจากหนมครกยังมีต้มอยู่เจ้าหนึ่ง ขายแต่ต้มอย่างเดียว เป็นต้มที่อร่อยมาก ทำเช้าขายเย็น ดังนั้น ตอนเย็นๆ รอกินต้มกันทุกเย็น

“ไม่ต้องทำเยอะทำอย่างเดียวเอาให้อยู่”

น้องชายพูดในเย็นวันหนึ่งที่เรากินต้มกัน

ต้ม คือ เหนียวห่อใบกะพ้อ หรือใบพ้อ เป็นอาหารของคนใต้ นิยมกินแบบเป็นขนม เรียกว่าหนมไม่หวาน เป็นแบบมัน คือมันนำหน้ามาเลย กินกับน้ำชา กาแฟ ร้านขายน้ำชาในภาคใต้ส่วนมากจะมีต้มอยู่ในถาดวางอยู่ให้ลูกค้าหยิบไปกิน

ใบกะพ้อ หรือ ใบพ้อ

เรียกต้มเฉยๆ นะ ไม่มีคำว่าหนมนำหน้า ถ้ามีคำว่าหนมนำหน้า เป็นหนมต้มนั่นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ต้ม

การทำต้มนั้นต้องหาใบพ้อมาก่อน เป็นไม้พุ่มใหญ่ๆ มีหนามแหลม อยู่ในป่าแถวภาคใต้ เมื่อก่อนมันขึ้นเอง แต่เดี๋ยวนี้ปลูกได้แล้ว และไม่ใช่แค่ภาคใต้เท่านั้น เพื่อนศิลปินอยู่กรุงเทพฯ เอาต้นพ้อไปปลูกหน้าบ้านขึ้นสวยมาก แทงยอดเอามาทำต้มได้แล้ว สวนภาคเหนือที่เชียงใหม่ยังไม่แน่ว่าจะขึ้นงามไหม เพราะเพิ่งเอาไปปลูก เพื่อนเอ็นจีโอเอาต้นพันธุ์ไปให้ต้นหนึ่ง

ต้ม ห่อเสร็จใหม่ๆ ก่อนเอาไปต้ม

ส่วนของใบพ้อที่เอามาทำต้มนั้น เอาส่วนยอดใบอ่อนที่ยังกอดกันแน่นอยู่ ยังไม่แตกใบแผ่ออกมา เด็กๆ จะต้องเป็นคนคลี่ใบพ้อ คลี่แล้วก็ต้องพับหยาบๆ เป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นการเตรียมใบพ้อก่อนทำจริง เรียกว่าพับใบพ้อ ลูกหลานบ้านใต้จะถูกเรียกให้พับใบพ้อ

ส่วนข้าวเหนียวนั้นจะต้องเอาไปผัดกับน้ำกะทิ เอาแต่หัวกะทิข้นๆ เท่านั้น ในกะทินั้นเติมเกลือนิดหนึ่ง ผัดจนเกือบจะสุกเท่านั้น เพราะถ้าผัดจนสุกจะทำให้เหนียวเปียก ไม่เหนียวแน่นหนึบ จากนั้นเอามาห่อ เอาเหนียวที่ผัดแล้วใส่ใบพ้อยัดอัดจนแน่น การห่อต้มต้องฝึกห่อ แรกๆ อาจจะไม่แน่น หรือห่อไม่สวย ถ้าห่อไม่แน่นต้มจะไม่เหนียว ไม่อร่อย และต้องไม่ให้มีร่องมีรูด้วย ห่อให้แน่นผูกหางแล้วเอาไปต้มจนน้ำแห้ง

ต้ม

แต่เดี๋ยวนี้ประยุกต์มีการเอามาย่างอีกที เรียกว่าต้มย่างก็อร่อยไปอีกแบบ แต่ฉันว่ากินเหนียวย่างดีกว่า เพราะต้มย่างจะซ้ำกับเหนียวย่างที่ห่อสามเหลี่ยมด้วยใบกล้วย ย่างไฟให้มีเกรียมนิดๆ ใบกล้วยย่างไฟจะหอมพิเศษกว่าใบอื่นๆ

ที่บ้านกลายของฉันมีอีกอย่าง เรียกว่า เหนียวสองดัง ทำแบบเดียวกับต้ม เอาข้าวเหนียวมาผัดกับหัวกะทิแล้วเอาไปดัง หรือย่างด้วยกระทะ การดังต้องเอาใบกล้วยวางในกระทะแล้วเอาข้าวเหนียวใส่ลงไป เอาใบกล้วยปิดอีกทีวางบนเตาไฟอ่อนๆ จนใบกล้วยเริ่มกรอบใกล้ไหม้ พลิกอีกด้านหนึ่งจะเป็นดังทั้งสองด้านเรียกว่าเหนียวสองดัง

มาถึงยุคนี้แม่ค้าเหนียวสองดังไม่ใช้ใบกล้วยแล้ว แต่ใช้แบบอบด้วยหม้ออบไฟฟ้า อบเสร็จตัดเป็นชิ้นก็ขายได้อยู่บ้าง แต่ความนิยมน้อย ฉันเคยไปซื้อมากินครั้งหนึ่งมันไม่ให้ความรู้สึกเป็นเหนียวสองดัง มันเป็นแค่ข้าวเหนียวเป็นชิ้นเป็นเหลี่ยม การปรับปรุงหรือนวัตกรรมบางอย่างก็ไม่ลงตัว ต้องคงความเดิมไว้เช่นเหนียวสองดังและต้ม

อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ปัด เป็นข้าวเหนียวใบพ้อเหมือนกัน เมื่อเดือนที่ผ่านมา ไปที่ต้นน้ำวังหีบ ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชเหมือนกัน เขาเรียกขนมชนิดนี้ว่าปัด ทำทุกอย่างเหมือนต้มแต่ห่อต่างกัน ปัดห่อแบบยาวๆ แน่นๆ

ชาวบ้านวังหีบเอามาให้กิน ในช่วงที่เขามีกิจกรรมต้านเขื่อนวังหีบ ทุ่งสง ฉันไปร่วมงานนี้ด้วย ไปกับศิลปินที่ไปวาดรูป ร่วมกิจกรรมให้กำลังใจชาวบ้านและวาดภาพสวยๆ ของต้นน้ำวังหีบเอาไว้ ส่วนฉันไปสังเกตการณ์ เพราะวาดรูปไม่เป็น พบว่าที่นั่นอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะของกินในป่า ผลไม้ พืชผัก มีพืชเฉพาะถิ่นหลายอย่าง พวกเขาบอกว่าถ้าสร้างเขื่อนจะสูญเสียพื้นที่ป่าไปเป็นพันไร่ และมันไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมทุ่งสง เพราะน้ำคลองวังหีบไม่ไหลเข้าทุ่งสง ดังนั้น การแก้ปัญหาน้ำท่วมคำตอบอาจจะไม่ใช่เขื่อนหรือเขื่อนไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง และเสียดายเงินที่จะเอามาสร้าง คิดดูว่าถ้าสร้างแล้วไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ พื้นที่ป่าก็เสียไป แล้วต้นไม้สูงใหญ่ป่าสมบูรณ์จะคืนกลับมาได้อย่างไร เงินก็เสีย ธรรมชาติก็เสีย ชาวบ้านก็เดือดร้อน ทำเพื่ออะไรถ้าไม่คุ้มค่าคุ้มทุน

นับว่าน่าสนใจ ควรจะฟังชาวบ้านผู้อยู่ในพื้นที่สักหน่อย เขาค้านอย่างมีเหตุผลและสุภาพมาก คือเดินไปยื่นหนังสือ ถามว่าทำไมถึงเดิน แค่อยากให้คนอื่นในโลกเห็นให้เป็นข่าวหรือเปล่า ชาวบ้านคนหนึ่งตอบว่า นั่นก็เป็นข้อหนึ่งแต่ที่สำคัญเขาอยากรู้สึกถึงความตั้งใจ การร่วมพลังของชาวบ้าน การร่วมทุกข์ร่วมสุขและรัฐเห็นถึงความช้า ให้เขาคิดทำอย่างช้าๆ รอบคอบ ทบทวนถึงผลได้ผลเสีย การเดินเป็นการไปช้าๆ เรามีความสุขอยู่บนพื้นที่นี้ยาวนาน ชีวิตไปช้าๆ การเดินทางก็ดี การใช้ชีวิตอยู่แบบธรรมชาติ ฝนตกฟ้าร้องรอคอยฤดูกาลเป็นเรื่องที่ไปแบบช้าและยั่งยืนมาชั่วลูกหลาน

พื้นที่ป่าและป่าต้นน้ำ

เขาสรุปว่าชาวบ้านไม่ใช่นักทำลายป่า แต่หากินกับป่า อยู่กับป่า อยู่กับน้ำ คือ กินอยู่ดำเนินชีวิตไป ถ้ารัฐจะเข้ามาทำอะไรก็คุยกับชาวบ้านก่อน ปรึกษาหารือก่อน ไม่ต้องมาข่มเหงกัน ฉันจะทำฉันเป็นคนของรัฐทำเพื่อส่วนรวม บอกว่าทำเพื่อส่วนรวม พวกเรานี้แหละส่วนรวม นับพวกเราเป็นส่วนรวมด้วยไหม

เขาพูดได้น่าฟังมาก “นับเราเป็นส่วนรวมด้วย”

“พี่มาอีกทีนะ ฤดูผลไม้พี่จะรู้ว่าผลไม้ของเราเยอะขนาดไหน สะตอที่อื่นไม่มีช่วงนี้ พี่มาวังหีบได้กิน” ผู้ชายคนหนึ่งบอก

สัญญาเลยว่าจะมาในช่วงผลไม้และเดินเล่นทุ่งหญ้าแสนสวยด้วย แต่ตอนนี้กินปัดก่อน ปัดยาวห่อใบพ้อ แกะกินเหนียวกำลังดี

ปัด

ปัด เข้าใจว่ามีในพื้นที่ทุ่งสง เชียรใหญ่ เพราะที่อื่นไม่เห็น บ้านกลาย ท่าศาลาไม่มี เมืองนครศรีธรรมราช มีความหลากหลายทางอาหารจริงๆ

ก่อนกลับ น้องยังบอกเพิ่มเติมว่า ที่เหมือนกันเกือบทุกอำเภอคือเขาจะมีโครงการสร้างเขื่อนหลายอำเภอมาก รวมแล้วแปดเก้าเขื่อน

โห…เยอะขนาดนั้น แวบหนึ่งคิดถึงพื้นที่ป่าที่จะหายไปจากนครฯ พื้นที่ป่าที่จะเป็นพื้นที่ผลิตอาหารไม่ใช่แค่เมืองนครฯ แต่ไปไกลทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ยิ่งช่วงแล้งร้อน ที่ภาคเหนือ อีสาน ผู้คนจากที่นั่นต่างหลั่งไหลกันมาที่ภาคใต้ นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดหนึ่งที่ถูกเลือกมากไม่ต่างจากจังหวัดอื่นๆ เพราะมีทั้งแม่น้ำ ภูเขา และทะเล เขื่อนจะทำให้เราจะสูญเสียพื้นที่ป่าไปเป็นสองหมื่นไร่ ฟังแล้วก็รู้สึกวูบไหวเหมือนกัน

โอ…เช่นนั้นรัฐควรจะฟังชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ก่อนดีกว่า แบบที่เขาว่า ค่อยคิด ค่อยเดิน ค่อยทำ

“ดูแลงานให้ดี แล้วงานจะดูแลเรา” ฉันอยากจะพูดคำนี้อีกครั้ง แต่พูดให้คนอื่นได้ยินด้วย สามีของฉันเป็นนักเขียนธรรมดา และเขาตายแล้ว เขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ตัวเอง เขาทิ้งคำนี้เอาไว้ ฉันรู้สึกว่ามันเป็นถ้อยคำที่ใช้ได้ดีกับสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นทำต้ม ทำปัด ทำเหนียวปิ้ง ทำเหนียวสองดัง ไปจนถึงทำเขื่อนก็ตาม

“ต้องดูแลงานของเราให้ดี เพื่องานจะดูแลเรา”