“นอนนาแก้จน” ที่สกลนคร ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

หลายคนเมื่อได้ยินแล้วอดนึกขำ หัวเราะว่า นอนนาแก้จนได้อย่างไร 

โครงการ “นอนบ้านมั่งคั่ง นอนนาแก้จน ” เกิดจากแนวคิดของ ดร.ชูพงศ์ คำจวง  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เพื่อฟื้นวิถีชีวิตชาวอีสาน ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีชาวบ้านสนใจทำกันมากมาย

เกษตรกรที่เข้าร่วม หากไม่มีวัว ควาย เลี้ยง ทางโครงการแจกให้ยืมเลี้ยง เมื่อวัวและควายนั้นได้ลูกหลานออกมาก็จะมอบให้กับคนที่นำไปเลี้ยง ส่วนแม่พันธุ์ที่ส่งคืนมา จะให้กับเกษตรกรรายอื่นต่อไป ซึ่งหลักเกณฑ์ในการให้ยืมนั้น เป็นการเพิ่มประชากรวัว ควาย ในตัวด้วย พร้อมส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ปุ๋ยมูลวัวและควายเป็นปุ๋ยคอกในไร่นา

โครงการนอนบ้านมั่งคั่ง นอนนาแก้จน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนชนบทดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจชาวบ้านเข้มแข็งมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จะทำให้สังคมในเมืองเข้มแข็งเป็นเงาตามตัว

เมื่อเกษตรกรอยู่ในที่ดินทำกินของตนเอง เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีเงินออม ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าอบอุ่น เงินกระจายทุกกลุ่ม ราคาที่ดินหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ความเจริญกระจายตัว ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ส่งผลให้เศรษฐกิจในเมืองมั่นคงไปด้วย เป็นวงจรที่มั่นคง มีเสถียร ประเทศชาติมั่งคั่ง

การแก้จน ต้องเริ่มจากการพึ่งพาตนเอง ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จุดอ่อนของภาคเกษตรกรรมคือ ชาวบ้านมีหนี้สินเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ เกิดการกู้หนี้ยืมสิน ที่ผ่านมา ภาครัฐมักแก้ปัญหาความจนด้วยการทุ่มเทงบประมาณให้กับชาวบ้าน แต่คนเหล่านั้นไม่มีความพร้อมที่จะบริหารจัดการเงิน ทำให้มีเงินเท่าไรก็ไม่พอ ขณะที่ปัญหาความจนยังคงอยู่

ปัญหาความยากจนที่แท้จริงก็คือ ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถึงแม้ความจนต้องแก้ด้วยตัวเอง แต่ต้องมีคนเริ่มต้นช่วยเหลือและเพิ่มแนวทางการแก้จน ให้เขาพึ่งตนเองได้ก่อน

โครงการ “นอนนาแก้จน” ขอให้นึกย้อนภาพในอดีตของคนอีสาน เมื่อถึงฤดูกาลทำนา ชาวนาจะลงไปนอนที่ทุ่งนา มีการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เมื่อไปอยู่เถียงนาคือ การพึ่งพาตนเองที่ไม่ใช่พึ่งการบริโภคจากภายนอก

ผลสรุปโครงการนอนนาแก้จน มีอยู่ 4 ด้าน คือ

– ความยากจนลดลง

– พออยู่พอกิน

– ชีวิตมีสุข

– ครอบครัวแห่งการเรียนรู้

ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังเกตได้จากซื้อหวยน้อยลง กินเหล้า สูบบุหรี่ ก็ลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้ความยากจนลดลง แต่ไม่ใช่หมดไปเสียทีเดียว เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญก็คือ  แก้จนโดยไม่รอรับเงินอย่างเดียวแล้ว ชาวบ้านพึ่งพาตนเอง ครอบครัวมีสุข ความขัดแย้งในครอบครัวลดลง 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2559

Update 16/07/2021