กศน.ร่วมอนุรักษ์ “สไบมอญ” มรดกวัฒนธรรมชุมชนมอญ

หากใครมีโอกาสเข้าร่วมชมประเพณีชาวมอญ มักเห็นการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญที่นิยมห่มสไบ ทั้งชายและหญิง หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมสไบมอญจึงนิยมปักลวดลายทั้งผืนในเมื่อใช้งานเพียงด้านเดียว เหตุผลสำคัญที่ต้องปักลวดลายทั้งผืนนั้น เนื่องจากผ้าสไบต้องใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน แม่ฝ่ายหญิงจะคลี่ผ้าสไบห่มไหล่ในขั้นตอนรับขันหมาก จึงเป็นเหตุผลของการปักสไบลวดลายทั้งผืน เพราะเมื่อคลี่ออกจะเห็นลวดลายที่สวยงามนั่นเอง

ชาวมอญยกย่อง “สไบ” เป็นของสูง นิยมใช้สไบในงานพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ และใช้สไบแสดงอัตลักษณ์ร่วมของชาวมอญทั้งชายและหญิง เมื่อเห็นคนมอญพาดสไบรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากชุมชนไหนๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นคนมอญเหมือนกัน นับเป็นพี่น้องกัน ผู้หญิงมอญจะขาดสไบเสียมิได้ โดยมีคำนายโบราณ “แม่งเจน” ที่กล่าวถึงเหตุแห่งการถ่มสลายของชาติมอญ 1 ใน 10 ประการ นั่นคือ “หญิงมอญจะละทิ้งสไบ” สะท้อนความสำคัญสไบต่อการมีอยู่ของชาติมอญมาแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน หากใครไปวัดแล้วไม่นำสไบติดตัวไป จะรู้สึกอับอาย

สไบมอญ สินค้าพรีเมี่ยม กศน.ปทุมธานี

รูปแบบการคล้องผ้า สไบมอญ

สาวมอญนิยมคล้องสไบ 2 รูปแบบ คือ

1. นำคล้องสไบให้ชายของผ้าทั้งสองห้อยมาด้านหน้า ในเทศกาลงานรื่นเริงต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น ขบวนแห่หางหงส์ธงตะขาบ ในเทศกาลสงกรานต์ หรืองานมงคลต่างๆ การพาดผ้าสไบแบบนี้เป็นลักษณะการใช้ผ้าสไบเฉพาะของผู้หญิงเท่านั้น ผ้าสไบที่ใช้มีทั้งแบบที่เป็นผ้าแพรเรียบ ผ้าสไบจีบ ผ้าสไบไหมพรมถัก ผ้าสไบลูกไม้ และผ้าสไบปัก

2. สาวมอญยังนิยมคล้องผ้าแบบสไบเฉียง เป็นการพาดผ้าจากไหล่ซ้าย อ้อมใต้รักแร้ขวา แล้วเอาปลายทับบนไหล่ซ้ายอีกครั้ง การพาดผ้าสไบแบบนี้เป็นแบบแผนการไปงานบุญออกวัด หรือประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่ต้องมีพิธีสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง (การพาดผ้าในลักษณะนี้ผู้ชายก็สามารถพาดได้)

สไบมอญ มีหลากหลายรูปแบบ

ส่วนหนุ่มชาวมอญ นิยมคล้องสไบ 2 รูปแบบ คือ 1. พาดผ้าปล่อยชาย 2 ข้าง พาดไว้ด้านหลัง เป็นการใช้สไบของผู้ชายมอญในเทศกาลงานรื่นเริง 2. พาดไหล่ด้านซ้าย เป็นการพาดผ้าสไบบนไหล่ซ้ายแล้วทิ้งชายทั้งสองข้าง มักพบในช่วงที่มีการร่ายรำ เพื่อเซ่นสรวง หรือบูชา

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ชมศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน.ปทุมธานี

ความสำคัญของสไบในวิถีชีวิตชาวมอญ

1. ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประกอบการ ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา คนมอญโดยทั่วไปเมื่อต้องเข้าวัด หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จำเป็นต้องมีการห่มผ้าสไบเฉียงติดตัวไปด้วย

2.  ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งในงานประเพณี คนมอญเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่มีประเพณี พิธีกรรมมากมาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลที่คนมอญให้ความสำคัญอย่างมาก มีการทำบุญตักบาตร มีการแห่หงส์ธงตะขาบในทุกชุมชนมอญ กิจกรรมอีกอย่างที่เป็นประเพณีปฏิบัติของกลุ่มคนมอญ คือการจัดงานระลึกบรรพชนมอญ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 แต่มักจะจัดขึ้นวันเสาร์ – อาทิตย์ ในช่วงนั้น ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ในการมาร่วมประเพณีพิธีกรรมต่างๆ คนมอญจะมีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือสไบ ในการคล้องผ้าสไบจะมีการคล้องแบบคล้องคอชายของผ้าทั้งสองห้อยมาด้านหน้า

สไบมอญ ขายราคา 800 บาทขึ้นไป แล้วแต่รูปแบบและลวดลาย

3. ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษตามความเชื่อเรื่อง ผีมอญ ชาวมอญแต่ละบ้านจะมีห่อผ้าผีมอญวางไว้บนเรือนตรงเสาเอก 1 ใบ ภายในบรรจุผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าแดง ผ้าขาว อย่างละผืน แหวนทองคำหัวพลอยแดง และหม้อดิน 1 ใบ ในหม้อใส่ข้าวเหนียว เงิน และข้าวตอกดอกไม้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณ หรือผีของบรรพบุรุษที่คอยปกปักดูแลลูกหลานบางบ้าน มีผ้าสไบเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติผี รวมอยู่ด้วย

4.  ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงอัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญในปัจจุบัน กระแสการแสดงออกทางกลุ่มชาติพันธุ์มีมากยิ่งขึ้น การสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละชาติพันธุ์เป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา กลุ่มชาติพันธุ์มอญได้มีการดำรงไว้ซึ่งประเพณี พิธีกรรม และศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด

กศน. ตำบลสามโคก อบรมทำสไบมอญ

กศน.ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญ

การปักผ้าสไบมอญเป็นการส่งเสริมงานหัตถกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับชุมชนชาวมอญ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในอำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก และอำเภอลาดหลุมแก้ว ลวดลายของผ้าสไบมอญดั้งเดิมจะมี 3 ลาย คือ ลายโบราณ ลายดอกมะเขือ และลายดอกมะตาด ซึ่งสำนักงาน กศน.จังหวัดปทุมธานี โดย กศน.อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก และอำเภอลาดหลุมแก้ว ได้ร่วมกันส่งเสริมอาชีพ โดยฝึกอบรมการทำผ้าสไบมอญให้กับประชาชนใน 3 อำเภอ โดยวิทยากร/ภูมิปัญญาที่มีความชำนาญการในการปักผ้าสไบมอญมาอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นไปตามยุคสมัย โดยเพิ่มลวดลายขึ้น คือ ลายดอกบัว เพื่อแสดงความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อเมือง สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จประพาสเมืองสามโคกทางชลมารคไปทรงเยี่ยมพสกนิกรชาวไทยและชาวมอญ เมื่อปี พ.ศ. 2358 พระองค์ประทับ ณ พลับพลาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องกับเมืองสามโคก ขณะนั้นเป็นช่วงฤดูน้ำมาก จึงมีดอกบัวบานสะพรั่ง ชาวเมืองสามโคกที่มาเฝ้ารับเสด็จต่างก็นำดอกบัวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ทรงเห็นว่าเมืองนี้มีดอกบัวมาก จึงพระราชทานชื่อเมืองให้ใหม่ว่า “ประทุมธานี”

กศน.ตำบลบางเดื่อ สอนปักสไบมอญ

ต่อมา ปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการเขียนเป็น “ปทุมธานี” ซึ่งยังคงความหมายเดิม คือเมืองแห่งดอกบัว การปักผ้าสไบมอญในปัจจุบันจึงนิยมปักลายดอกบัวบนผ้าสไบมอญ เพื่อเป็นอัตลักษณ์ว่า ผ้าสไบมอญผืนที่ใช้อยู่นั้นทำจากปทุมธานี “เมืองดอกบัว”

ปัจจุบัน สำนักงาน กศน.จังหวัดปทุมธานี ได้เข้าไปส่งเสริมอบรมอาชีพการทำสไบนางให้แก่ประชาชนที่สนใจได้นำไปประกอบอาชีพ โดยสินค้าสไบมอญ มีราคาขายเริ่มตั้งแต่ 800 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าและลวดลาย ผู้สนใจ สามารถติดต่อสั่งซื้อสินค้าได้ในช่องทางต่างๆ เช่น 1. วิสาหกิจชุมชนเทศบาลตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โทร. (090) 886-6945 2. กลุ่มสัมมาชีพ หมู่ที่ 7 ตำบลคูบางหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โทร. (083) 884-9747 3. ชุมชนมอญสามโคก ชุมชนศาลาแดง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โทร. (02) 593-4504 Page : ศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน.อำเภอสามโคก

เปิดกว้างให้ผู้สนใจเรียนปักสไบมอญได้ทุกเพศทุกวัย
ครู กศน.ตรวจสอบผลงานปักสไบมอญของผู้เข้าอบรม

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงาน กศน.จังหวัดปทุมธานี