ชิมน้ำตาล บ้านนางตะเคียน

“ถ้าน้ำในคลองจืด น้ำตาลจะแห้งช้า”

ลุงๆ ป้าๆ คนทำน้ำตาลมะพร้าวเล่าให้ฟังถึงความเชื่อโบราณของคนสวนเก่าๆ หลายต่อหลายเรื่อง ตอนที่ผมไปเที่ยวดูการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบอินทรีย์ ซึ่งมีการรวมตัวกันของคนทำน้ำตาลมะพร้าวจำนวนหลายสิบสวน ในเขตบ้านนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อรักษาไว้ซึ่งลมหายใจของสวนมะพร้าวเก่าแก่ที่ทำสืบทอดกันมายาวนาน

คุณศิริวรรณ ประวัติร้อย หรือ คุณเก๋ ลูกหลานบ้านนางตะเคียน ผู้ประสานงานกลุ่มฯ บอกว่า บ้านนางตะเคียนปัจจุบันนี้ยังพอมีทำน้ำตาลมะพร้าวอยู่บ้าง แต่ว่าตอนนี้เหลือแค่รุ่นตายายแล้วล่ะค่ะ คนทำของเราจะหมดแล้ว เราเองก็อยากให้คนไทยได้กินของดีๆ แต่เราก็ผลิตได้น้อย การดูแลต้นมะพร้าวตอนนี้เราใช้แต่ B.T. เน้นปุ๋ยชีวภาพมาได้หลายปีแล้ว ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าหญ้า สารกันบูดที่ส่วนใหญ่เขาฉีดใส่กระบอกรองน้ำตาลนี่เราไม่ใช้เลย ใช้ไม้พะยอมใส่แบบโบราณ แล้วกรองออกก่อนต้มเคี่ยว เราไม่ได้ใส่แบะแซหรือน้ำตาลทรายปนด้วย มันจึงเป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ ซึ่งถ้าเก็บไว้ปกติก็จะคงสภาพอยู่ได้ไม่นาน เพราะจะเอือดเยิ้ม อ่อนตัวลงไป

ส่วนหนอนหัวดำที่กินยอดกินใบมะพร้าว เป็นศัตรูตัวฉกาจของชาวสวนนั้น คุณเก๋ เล่าว่า ทางกลุ่มก็มีการจัดตั้ง “ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ตำบลนางตะเคียน” โทร. (081) 745-8282 ขึ้นในที่เดียวกันนี้ เพื่อปรับปรุงใช้ระบบเพาะเลี้ยงแตนเบียนไปกำจัดหนอน ทดแทนการใช้ยาเคมีปราบศัตรูพืช

วันที่ผมไปดู คุณเก๋ มีสาธิตการเคี่ยวน้ำตาลให้พวกเราได้มีส่วนร่วมกวน ร่วมหยอดเองด้วย ลุงจิตต์ ที่มาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวให้เราดูบอกว่า ที่เคี่ยวให้ดูนี้เป็นกระทะเล็ก ถ้ากระทะใหญ่จะเคี่ยวน้ำตาลได้ครั้งละ 3 ปี๊บ แต่ถึงอย่างนั้น ผลผลิตรวมกันของน้ำตาลมะพร้าวแท้ 100% ของบ้านนางตะเคียนก็ยังอยู่ที่ราว 50 กิโลกรัม ต่อ 1 สัปดาห์ เท่านั้น ราคาจำหน่ายหากเป็นขนาดงบใหญ่ ก็ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท นับว่าถูกมากๆ สำหรับของแท้ๆ เช่นนี้

ก่อนผมจะอุดหนุนน้ำตาลปึกติดมือกลับบ้าน ผมได้ดื่มลิ้มชิมน้ำตาลมะพร้าวสดบ้านนางตะเคียนเสียจนจุใจ รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ยังไม่เป็นเบาหวาน (เลยกินได้เยอะ) เพราะรสน้ำตาลสดแท้ๆ นั้นเจือฝาดนิดๆ ไม่หวานเลี่ยน และความแน่น หรือองคาพยพของมันก็ช่างชวนให้ดื่มได้เรื่อยๆ ไม่อยากหยุดเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี น้ำตาล “สด” ที่ผมได้กินนี้ ก็ยังต้องต้มเล็กน้อยนะครับ เพื่อให้เก็บได้นานขึ้น แน่นอนว่าผมขอลองแบบสดจริงๆ คือแบบไม่ได้ต้มด้วย พบว่ารสมันซ่าๆ เล็กน้อย และไม่แน่นเท่า มีกลิ่นที่ดิบๆ มากกว่า

“ถ้าจะทำน้ำตาลเมาละก็ เราต้มเดี๋ยวเดียว เรียกว่าเดือดพลุ่งเดียวใช้ได้เลย เพราะไม่อย่างนั้นถ้าเดือดนาน จะหวานไป” ลุงจิตต์ บอกเคล็ดลับไว้อย่างนั้นครับ

น้ำตาลมะพร้าว นอกจากเคี่ยวทำน้ำตาลปึกไว้ขายเอง สวนไหนที่มีชื่อเสียง มีกระบวนการดูแลดีๆ ก็จะมีโรงงานมารับซื้อน้ำตาลสดๆ ไปเข้ากรรมวิธีบรรจุขวดขายด้วย

เจ้าของสวนมะพร้าวรายหนึ่งในละแวกบ้านนางตะเคียนบอกว่า เฉพาะที่สวนของเขา ได้ทดลองทำแบบเกษตรอินทรีย์มาได้ 4-5 ปีแล้ว โดยเลิกใช้ยาฆ่าหญ้า เปลี่ยนเป็นการตัดแทน ใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เท่านั้น

“สวนเราปลูกมะพร้าวน้ำหอม ใช้เวลา 2 ปี ก็เริ่มปาดรองเอาน้ำตาลได้แล้วค่ะ โรงงานมารับซื้อถึงที่ เขาให้ราคาน้ำตาลสดๆ ลิตรละ 5 บาท”

ฝั่งตรงข้ามสวนที่ว่านี้ เป็นสวนมะพร้าวอีกรายหนึ่งซึ่งยังใช้ยาใช้ปุ๋ยแบบเกษตรเคมีทุกประการครับ เลยทำให้ผมได้เห็นความแตกต่าง ว่าทั้งพื้นคันสวนที่โกร๋นเกรียน กลิ่นเหม็นฉุนยา และผิวหน้าดินที่แตกแห้งแน่นกรังนั้นช่างดูแตกต่างจากสวนมะพร้าวเกษตรอินทรีย์จริงๆ

น้องที่ทำสวนมะพร้าวอินทรีย์ที่ราชบุรีอีกคนหนึ่งบอกผมว่า วัฒนธรรมการคิดว่าสวนไหนโล่ง สวนไหนรกนี้ จะเชื่อมโยงต่อไปถึงเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น ถ้าคูร่องน้ำระหว่างคันสวนมีจอก แหน โคนต้นมีวัชพืช เจ้าของสวนบางรายจะรู้สึกว่ามันรกรุงรัง สกปรก ทำงานยาก ก็ต้องหายาฆ่าหญ้าฆ่าวัชพืชมาใส่ ซึ่งผลที่เห็นชัดก็คือจะไม่มีนก แมลง โดยเฉพาะแตนเบียน ดังนั้น ก็หมายถึงระบบกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีชีวภาพจะไม่ทำงานที่สวนนี้ ไม่มี “ตัวเบียน” ใดจะมาคอยกินหนอนหัวดำที่เป็นศัตรูพืชตัวสำคัญ ทำให้ต้องหายาฆ่าแมลงฆ่าหนอนมาฉีดอีก

กลายเป็นห่วงโซ่สารเคมีที่วนทบซ้อนชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ

ผมนึกถึงคำของคุณเก๋ ที่บอกกล่าวถึงความผูกพันกับวัฒนธรรมน้ำตาลมะพร้าวที่นี่ว่า เธอเองนั้น “ไม่อยากให้เขาเลิกทำกัน” นั่นจึงเป็นที่มาของการพยายามรวมตัวกันจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาสู่ระบบการทำเกษตรกระแสรองที่เดิมพันด้วยคุณภาพผลผลิต ชนิดที่ต้องเหนื่อยขึ้นเป็นหลายๆ เท่า

ตอนนี้ก็น่ายินดีนะครับ ที่กลุ่มของคุณเก๋นี้ได้ขยายเครือข่ายรวมเพื่อนร่วมอาชีพเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ทำสวนมะพร้าวอินทรีย์หลายแห่งในจังหวัดราชบุรีเข้ามาด้วย ในชื่อของกลุ่ม “เพียรหยดตาล” (ติดตามข่าวคราวได้ใน facebook ของกลุ่ม หรือติดต่อโดยตรงได้ที่ โทร. (089) 944-4841 ซึ่งได้มีการพัฒนาระบบการสั่งซื้อและส่งของอย่างที่คนในเมืองเองก็สามารถจะสั่งสินค้าและนัดจุดรับส่งได้อย่างสะดวกสบายขึ้นมาก

แรกที่ซื้อน้ำตาลปึกมา ผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ ที่คุณเก๋บอกว่า น้ำตาลที่ผมซื้อนี้ เพียงแค่ 3 วัน มันจะอ่อนตัวลง เพราะว่าเคี่ยวโดยไม่ได้ใส่แบะแซหรือน้ำตาลทราย แต่หลังจาก 3 วัน ได้ผ่านพ้นไป มันก็เป็นอย่างที่เธอว่าจริงๆ ครับ ซึ่งวิธีแก้ไขก็ง่ายนิดเดียว คือเอาใส่ภาชนะปิดฝาไว้ ก็จะเก็บรักษาต่อไปได้อีกนานโดยคงรสชาติเหมือนเดิมแทบทุกประการ

ในเมื่อผมได้เจอแหล่งวัตถุดิบดีๆ อย่างนี้แล้ว ก็พอกันทีครับ กับน้ำตาลปึกแข็งโป๊ก ที่รู้ทั้งรู้ว่าทำมาจากอะไรยังไง และรสชาตินั้นสู้ของแท้ๆ ไม่ได้อย่างไร

ใครอยากชิมรสหวานของน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ ทั้งช่วยยืดอายุสินค้าคุณภาพให้อยู่ต่อไปได้อีกนานๆ ก็ลองติดต่อขอรายละเอียดการซื้อขายตามเบอร์โทรศัพท์ของทางกลุ่มดูนะครับ ถือเป็นการช่วยสนับสนุนสินค้าดีๆ ของกลุ่มทำน้ำตาลบ้านนางตะเคียนไปในตัวด้วย