สร้างชีวิตที่เป็นสุข

คอลัมน์ ตามรอยฟ้า

หนึ่งในความต้องการของเกษตรกรคือการได้ผลผลิตที่มากขึ้น เพราะย่อมหมายถึงการมีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา กระนั้น การมี “เงิน” เยอะอาจไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่างของชีวิต และไม่ได้เป็นหลักการันตีว่าเมื่อมีเงินมากขึ้นแล้วชีวิตจะมีความสุข หากปราศจากคุณภาพชีวิตที่ดี

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากมีรายได้เพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กับกราฟความสุขของชีวิตที่ไต่ระดับขึ้นต่อเนื่อง หรือเรียกได้ว่ามีความอยู่ดีกินดีนั่นเอง

แนวทางนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งแต่ละโครงการจะผสานวัตถุประสงค์หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

กล่าวคือ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจและการยกระดับรายได้ ยังปรากฏเรื่องการพัฒนาสังคม การสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับชุมชน การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในแง่ขององค์รวม เป็นต้น

ในทางเดียวกัน “โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” ของกลุ่มมิตรผลก็มีเส้นทางการดำเนินงานสอดรับกับวิถีข้างต้น ทั้งได้นำไปใช้กับชุมชนชาวเกษตรกรไร่อ้อย ซึ่งอยู่ในพื้นที่โรงงานของบริษัท ซึ่งโครงการนี้นับเป็นบันไดก้าวที่ 4 ของโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต

โดยก้าวแรกคือการส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต เพื่อลดปัญหาการผลิตแก่เกษตรกรที่ขาดความรู้ การบริหารจัดการ และเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตอ้อยเฉพาะด้าน ถัดมาเป็นการบริหารจัดการระบบชลประทาน และการใช้น้ำในไร่อ้อย เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ และขาดประสิทธิภาพในการใช้น้ำ ด้วยการสร้างการบริหารจัดการระบบชลประทาน และการใช้น้ำในไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากนั้นคือการบริหารจัดการแบบองค์รวม ด้วยเทคโนโลยีแบบผสมผสาน ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูกอ้อย การให้น้ำ การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว เพื่อสร้างประสิทธิภาพ และผลผลิตสูงสุดของไร่อ้อย และสุดท้ายเป็นการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนเกษตรกรชาวไร่อ้อย

“คมกริช นาคะลักษณ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผลเล่าให้ฟังว่า เดิมบริษัทเข้าไปส่งเสริมความรู้และงบประมาณให้กับชาวไร่อ้อยในพื้นที่โรงงานของมิตรผล เพื่อช่วยแก้ปัญหาและผลักดันให้ชุมชนเกิดเป็นหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ก่อนที่จะเกิดเป็นแนวคิดสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน

กลุ่มมิตรผลจึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนขึ้นมา ซึ่งการดำเนินงานจะอยู่ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การสร้างครัวเรือนต้นแบบ แล้วพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ชุมชน รวมถึงสร้างศักยภาพแกนนำให้เกิดเป็นองค์กรชุมชน และสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนา

“แรกเริ่มเราเข้าไปคุยกับชุมชนก่อน โดยเลือก 5 หมู่บ้านนำร่อง หมู่บ้านหนึ่งมี 100-200 ครัวเรือน แล้ววิเคราะห์ SWOT Analysis พร้อมให้ชุมชนคิดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าอยากให้เกิดการพัฒนาด้านใดบ้าง ซึ่งเมื่อทำมาถึงจุดหนึ่ง เรามองว่าการขับเคลื่อนระดับหมู่บ้านเล็กไป จึงยกระดับมาสู่ตำบล ซึ่งเราใช้โมเดลนี้กับ 9 ตำบล 136 หมู่บ้าน และ 1 ชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างชุมชนต้นแบบในอนาคต”

โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนจะดำเนินงานในพื้นที่โรงงานมิตรผล โดยหยั่งรากอยู่ใน ต.บ้านแก้ง และ ต.โคกสะอาด อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ, ต.บ้านเม็ง และ ต.กุดกว้าง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น, ต.หนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด, ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

ต.โคกขมิ้น อ.วังสะพุง จ.เลย, ต.แจงงาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี และ ต.ไม้ดัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี รวมถึงอีก 1 ชุมชน ที่บ้านโนนเที่ยง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ รวมทั้งหมด 25,500 ครอบครัว ทั้งนั้น จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชาวไร่อ้อยที่อยู่ในพื้นที่ข้างต้นใน 5 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง เศรษฐกิจ สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมสู่การปฏิบัติ เริ่มจากการวิเคราะห์ตนเอง และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัวด้วยการส่งเสริมการปลูกอยู่ปลูกกินแบบอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์ การวางแผนการผลิต การออม และการทำบัญชีครัวเรือน

สอง สังคม พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนเพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาแบบองค์รวมในชุมชน โดยใช้กระบวนการให้ความรู้ และสร้างการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรอบรมต่าง ๆ เช่น หลักสูตรการอบรมบทบาท และการเป็นแกนนำชุมชน หลักสูตรอบรมการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน เป็นต้น

สาม สุขภาวะ สร้างให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี เพื่อลดการเจ็บป่วยและค่ารักษาพยาบาล พร้อมสนับสนุนกิจกรรมด้านสุขภาวะ

สี่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคือการคงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้ปลอดภัยจากสารพิษ โดยเกษตรกรลดการใช้สารเคมี และเกิดการจัดการทรัพยากรชุมชน อย่างโครงการพลังงานทดแทนและโครงการธนาคารขยะ

ห้า จิตใจ ส่งเสริมให้เกิดครอบครัวที่อบอุ่น ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง รวมถึงมีการวางแผนชีวิต มีจิตสาธารณะ สำนึกรักท้องถิ่น และมีจริยธรรมในการดำเนินชีวิต

“เพราะท้ายที่สุดแล้วเราอยากให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่ารายจ่าย คือมีผลผลิตดี ต้นทุนต่ำ มีรายได้เสริม เชื่อมโยงไปถึงการมีสุขภาวะที่ดี มีความสุข นอกจากนั้นเรายังสร้างผู้นำเชิงพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง”

หนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของโครงการนี้เกิดขึ้นกับ “พงษ์ศิริ คำสีเมือง” ผู้ใหญ่บ้านดงดิบ ต.หนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเขาบอกว่า เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของกลุ่มมิตรผลได้เข้ามาสอบถามชุมชนถึงปัญหาและความต้องการ รวมถึงบริบทของหมู่บ้าน ก่อนที่จะนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อให้เห็นภาพรวมอย่างชัดเจน จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อย่างเมื่อก่อนซื้อกับข้าวหรือข้าวกินทุกวัน ก็เปลี่ยนมาปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เอง ทำให้มีเงินเก็บ พร้อมกับมีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อมาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็ทำตนเองให้เป็นแบบอย่าง เพราะต้องการให้ลูกบ้านมีความอยู่ดีกินดีด้วย

“การพัฒนาคนในหมู่บ้านต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการ ชุมชนแบ่งพื้นที่ดูแลรับผิดชอบเป็นคุ้มบ้าน จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่และไม่มีการรวมกลุ่ม โดยแต่ละคุ้มบ้านจะรับฟังปัญหาและสื่อสารข้อมูลกัน ทำให้ชาวบ้านมีความสามัคคีกันมากขึ้น จนเกิดชุมชนเข้มแข็ง”

จึงถือเป็นผลพลอยได้ที่น่ายินดี เพราะไม่เพียงแต่ชาวไร่อ้อยแต่ละคนจะมีความมั่นคงในชีวิตทั้งด้านการเงินและจิตใจที่เป็นสุข รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ยังเป็นการผนึกกำลังร่วมกันสรรค์สร้างชุมชนของตนให้เกิดความเป็นปึกแผ่นและยั่งยืนอีกด้วย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์