คนคู่สู้ชีวิต

“พ่อทำป่าตั้ง 10 ไร่ ไม่กลัวเสียที่เหรอครับ”

นี่แหละ คนคู่สู้ชีวิต

“ใครว่า ป่านี่แหละแหล่งปัจจัย 4 ที่สำคัญเลย อาหารก็เพียบ อยากกินเห็ด อยากกินไข่มดแดงไปหาเอาเลย ไม้ไผ่ที่ปลูกไว้ก็ให้หน่อ แล้วยังเอาลำมาทำประโยชน์ได้เยอะแยะ หยูกยาสมุนไพรก็มี ที่สำคัญเราสร้างความร่มเย็นชุ่มชื้นให้กับพื้นที่และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เราได้เขาได้ด้วย มดแมลงตัวเล็กตัวน้อยก็มีที่อาศัย คุ้มค่ามาก”

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงยิ่ง วันนี้ขอจั่วหัวด้วยบทสนทนาสักหน่อยครับ เป็นอย่างไรกันบ้างหนอกับช่วงเวลาที่ผ่านมา บางท่านอาจทำงานแบบเวิร์คฟรอมโฮม บางท่านก็จำต้องเดินทางไปทำงานตามปกติ แต่ก็มีอีกหลายท่านที่อาจต้องหยุดงานประจำไปด้วยหลากหลายสาเหตุ แต่แน่นอน ย่อมเป็นผลกระทบจากพิษโควิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาครัฐดูแลได้ส่วนหนึ่ง แต่อีกหลายส่วนเราเองก็ต้องเดินหน้าสู้ชีวิตกันต่อไป ปัจจัย 4 คือฐานสำคัญของแต่ละชีวิต ต้องมีกิน ต้องมีที่พักอาศัย ต้องมีเครื่องนุ่งห่ม และต้องมียารักษาโรค เรื่องอื่นๆ ต่างก็เป็นเพียงปัจจัยภายนอกที่หลอกเราว่าสำคัญเท่านั้น

พระเอกของเรา พ่อบุญเลี่ยม

พูดถึงเรื่องอาหารพลันนึกได้ ผมเพิ่งได้รับสารพัดผักสวนครัว ทั้ง มะนาว หน่อไม้ต้ม เห็ดป่า พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระทั่งปลาร้ามาจากมหาสารคาม เป็นผู้ใหญ่ที่เคารพรักกันส่งมาให้ ก็เลยอยากนำเอาเรื่องราวของสองตายายนักสู้คู่ชีวิตมาบอกเล่าให้ฟังกัน เป็นเรื่องราวที่คนรุ่นใหม่อาจนึกไม่ออกบอกไม่ถูก แต่เชื่อสิ ผมรับทราบมาอย่างละเอียด รับรองว่าเล่ากันได้หลากหลายมุมจริงๆ

นางเอก แม่มะลิ

เรื่องราวของหนุ่มน้อยในวัย 16 ปี ลูกกำพร้าชาวอีสาน ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือกับเขา เพราะความยากจนจึงบากหน้าเข้ามาสู่เมืองกรุงเพื่อหางานทำ เพียงหวังให้ชีวิตดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อ่านเขียนก็ไม่ได้ ดังนั้น อาชีพที่ทำได้ก็คือคนขายแรงงาน มาสมัครเป็นเด็กติดรถส่งน้ำแข็งกับเถ้าแก่ แบกน้ำแข็งขึ้นรถ และแบกส่งตามร้านลูกค้า ชีวิตวนๆ เวียนๆ อยู่เช่นนี้ หากคิดว่าจะทำเพียงเพื่อพอกินก็ถือว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ แต่อนาคตมองไม่เห็นความหวัง นอกจากความเย็นจากก้อนน้ำแข็งเท่านั้น คิดไปคิดมากลับสารคามบ้านเฮาน่าจะดีกว่า จึงตัดสินใจกลับมาทำอาชีพคนทำปอ ต้องเล่านิดหนึ่งสำหรับยุคนี้ที่คงไม่รู้จักแล้ว เขาจะปลูกปอเมื่อได้ที่ก็จะตัดต้นมาผูกเป็นมัด เอาไปแช่น้ำให้เน่าส่งกลิ่นโชยไปทั่วแล้วจึงลอกเอาเปลือกปอออกมาตากแดด จนถึงม้วนเป็นก้อนกลมใหญ่ แล้วจึงขายให้เขานำไปแปรรูปเป็นเชือกปอต่อไปนั่นเอง หาคนทำยากเพราะกลิ่นเหม็นมาก จากนั้นก็ปลูกมันสำปะหลังและเลี้ยงหมู

วัว เป็นเครื่องตัดหญ้าและปุ๋ย

ชีวิตเริ่มพัฒนาขึ้น จากคนเลี้ยงหมูก็ผันตัวมาเป็นคนรับซื้อหมูรวบรวมจากชาวบ้านแล้วนำไปส่ง เรียกว่าเป็น นายฮ้อยหมู สมัยนั้นยังไม่มีรถ ก็ต้องอาศัยต้อนหมูจากวาปีปทุม (มหาสารคาม) ไปส่งที่บ้านไผ่ (ขอนแก่น) ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร ค่ำไหนนอนนั่น รวมถึงยังเช่านาเขาทำอีกหนึ่งอาชีพ

จวบจนอายุได้ 26 ปี ก็ได้แต่งงานกับสาวน้อยนางหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นวัยละอ่อน 22 ปี ทั้งสองร่วมชีวิตและสร้างฐานะร่วมกันมาอีกประมาณ 40 กว่าปี กระทั่งจากหนุ่มน้อยกลับกลายมาเป็นผู้สูงวัยอายุ 63 ปี ใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งหมดแบ่งซื้อที่ดินจากญาติ ได้มา 30 ไร่ ทั้งสองในวัยนี้แล้วแต่ยังมุ่งมั่นใช้สองมือหักร้างถางพงในพื้นที่ 30 ไร่กันเอง โดยไม่มีเครื่องทุ่นแรงอื่น ใช้เวลา 2 ปี จึงได้เป็นรูปเป็นร่าง ชาวบ้านเรียกสองตายายว่า

 คิดดูแล้วกันว่าขนาดไหน

ปลา มีให้กินตลอด

สองตายายน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต กันพื้นที่ 10 ไร่ไว้สร้างป่า ปลูกไม้ยางนา และไม้ประจำถิ่นอื่นๆ ส่วนที่เหลือก็แบ่งเป็นพื้นที่ทำนา ทำสวนผัก ผลไม้ เลี้ยงวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ไข่ ขุดสระไว้เก็บน้ำและผลพลอยได้คือได้เลี้ยงปลา กบ ปู กุ้ง หอย กระทั่งไม้น้ำอื่นๆ เมื่อพอมีกินก็แจก แลก ขายในชุมชน เน้นทุกอย่างต้องปลอดสารพิษ ในพื้นที่ผักสวนครัว 2 ไร่นั้น มีพืชผักวนเวียนสร้างแหล่งอาหารและรายได้ทั้งปี

“เรื่องเล่าชีวิตพ่อ มันจริงๆ ครับ”

“โบราณว่าคนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย พ่อก็ได้แม่มะลินี่แหละ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ”

“สองตายายเหนื่อยมามาก ตอนนี้ผลผลิตที่ได้ถือว่าพอใจไหมครับพ่อ”

เด็กๆ ผู้ใหญ่มาดูงานกัน

“จะว่าพอใจก็ส่วนหนึ่งนะ เพราะอยากกินอะไรก็มีในสวนเรา ลองนึกเมนูสิ รับรองจัดหาให้ได้หมดแหละ อยากกินก้อยกุ้ง อยากกินปลาซิว อยากกินป่นเห็ดก็มีทุกอย่าง อยากกินปลาก็หว่านแหสักโครม จะต้ม จะปิ้งย่างก็ตามสะดวก อยากกินไข่ก็มีทั้งไข่เป็ดมาทำไข่เค็ม ไข่ไก่เรามีพร้อม ปูนา กบ หอย มีทั้งหอยขม หอยนา หอยเชอรี่”

“ผลไม้ล่ะพ่อ”

แปลงปลูกผสมผสาน

“โอ๊ย หลายคัก มะม่วง มะละกอ มะพร้าว ขนุน น้อยหน่า กล้วย มะกอก ส้มโอ หม่อน แก้วมังกรสารพัดแหละ นึกชื่อไม่หมด แต่รับรองมีครบ”

“เผื่ออยากกินผลไม้แบบต่างประเทศ”

แปลงปลูกผักหมุนเวียนทั้งกินทั้งขาย

“โอ๊ย กะซื้อเขาบ้างเถอะ แต่พ่อไม่ชอบหรอก ผลไม้บ้านเรานี่แหละอร่อยสุด มีทุกฤดูกาล ปลูกเอง กินเอง แจกเอง ขายเองสบายใจเราเลย”

“พ่อทำป่าตั้ง 10 ไร่ ไม่กลัวเสียที่เหรอครับ”

ข่าแดง ขุดขายทุกวัน

“ใครว่า นี่แหละแหล่งปัจจัย 4 ที่สำคัญเลย อาหารก็เพียบ อยากกินเห็ด อยากกินไข่มดแดงไปหาเอาเลย ไม้ไผ่ที่ปลูกไว้ก็ให้หน่อ แล้วยังเอาลำมาทำประโยชน์ได้เยอะแยะ หยูกยาสมุนไพรก็มี ไปดูเอาเด้อ ย่านางเลื้อยอยู่ทั่วสวนเลย นั่นแหละยาเย็นอย่างดี ที่สำคัญเราสร้างความร่มเย็นชุ่มชื้นให้กับพื้นที่และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เราได้เขาได้ด้วย มดแมลงตัวเล็กตัวน้อยก็มีที่อาศัย ขนาดปลวกยังมีเห็ดอร่อยๆ ให้เราได้เก็บกิน พ่อว่าคุ้มค่ามาก”

ทำสวนผสมผสานแบบชาวบ้านอยู่ 10 ปี ก็พอดีทางราชการได้จัดประกวดสวนเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ และนี่เองที่ทำให้สวนนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถูกคัดเลือกให้เป็น ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์เฉลิมพระเกียรติ หมู่ที่ 8 ประจำตำบลงัวบา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ในชื่อ สวนบุญเลี่ยมมะลิ นี่เอง

มะนาว ผลผลิตหลักจากสวน

“ภูมิใจไหมครับพ่อ เดินหน้ามาได้ขนาดนี้”

“ภูมิใจมากเลย ถือว่าเรามีครอบครัวที่ดี มีงานก็ร่วมกันทำ ลูกๆ ก็ยังทำงานของเขาและก็ทำสวนเกษตรผสมผสานไปด้วย”

“มีกี่คนครับพ่อ”

“สามคน คนหนึ่งเป็นครูและก็ทำเกษตรไปด้วยกับพ่อนี่แหละ ลูกชายไปเป็นผู้ใหญ่บ้านที่สุรินทร์กับครอบครัวเขา ส่วนลูกสาวอีกคนก็เป็นครูสอนนักเรียนนานาชาติ ถือว่าพ่อส่งให้ไปถึงฝั่งกันหมดแล้วด้วยงานเกษตรนี่แหละ”

ไก่ไข่ที่มีไข่ให้เก็บทุกวัน

ผมมองสายตาอิ่มสุขของสองตายายแล้วก็อดปลื้มใจแทนไม่ได้ คนเรานะ ขอเพียงปัจจัย 4 ให้มีครบเรื่องอื่นก็เล็กประติ๋วไปจริงๆ ได้กินอิ่มนอนอุ่น มีที่อยู่ ที่ทำกิน ที่สำคัญ ยังได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจได้อีกมากมาย เป็นกุศลทานอย่างแท้จริง

ท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านอาจคิดว่าผมลืมอะไรใช่ไหม ไม่ลืมครับ พระเอกของผมชื่อ พ่อบุญเลี่ยม นางเอกชื่อ แม่มะลิ นามสกุลใช้ร่วมกันว่า แก้วมูลมุข

หากสนใจอยากเรียนรู้ หรืออยากชิมผลผลิตจากสวนนี้ ลองติดต่อไปที่ โทร. 081-307-3401 รับรองว่าหากไม่ติดภารกิจใด สองตายายรับสายแน่ๆ ครับ

 ……………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2564