พฤกษาคุณค่าป่าไม้ สินทรัพย์จากอดีตสมัย ปลูกนิสัยร่วมใจรักษ์

“การที่จะมีต้นน้ำลำธารไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การรักษาป่าและปลูกป่าบริเวณต้นน้ำ บนยอดเขาและเนินสูงชัน ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ต้นไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้ จำต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นนั้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้นในขั้นตอนหนึ่งของระบบ…ทั้งยังช่วยยึดหน้าดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไม้ไว้ดีแล้ว ท้องถิ่นก็จะมีน้ำไว้ใช้ชั่วกาลนาน…”

แนวพระราชดำริจัดการป่าไม้ยั่งยืน โดยพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2520 ที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี

จากแนวพระราชดำริที่เรียบง่ายเกี่ยวกับการปลูกป่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่การปลูกป่าจากสันเขา หรือไหล่เขาสู่เชิงเขา หรือการปลูกป่าบนพื้นที่สูง โดยทรงคำนึงถึงระบบนิเวศทางธรรมชาติเป็นหลัก อาทิ ต้นไม้บางชนิดมีฝักหรือเมล็ด กระจายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ เช่น ลอยตกลงมาจากสันเขาลงพื้นที่ต่ำ นกบินมากินแล้วไปถ่ายตามที่ต่างๆ เมื่อได้รับน้ำหรือความชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมก็จะงอกเป็นตัวอ่อน และเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่เกิดป่าต่อไป และควรคำนึงถึงพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของภูมิประเทศ เป็นไม้มีเมล็ด ไม่ผลัดใบง่าย ราคาถูก เช่น กระถินยักษ์ กระถินณรงค์ ไทร หว้า ตะขบ การปลูกป่าแบบนี้จะทำให้เกิดป่าสภาพหนาทึบ และสมบูรณ์ในอนาคต นอกจากนี้ เมล็ดของพันธุ์ไม้เหล่านี้ยังเป็นอาหารของสัตว์ป่าเท่ากับเป็นคุณูปการไปถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่าด้วย

ด้วยหลักการพระราชทานแนวพระราชดำริ ให้ดำเนินการปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง กล่าวคือ ป่าไม้สำหรับใช้สอย ป่าไม้สำหรับใช้ผลหรือไม้กินได้ และป่าไม้สำหรับเป็นเชื้อเพลิง ทั้ง 3 ประเภทนี้ ล้วนเป็นประโยชน์อยู่ในตัวแล้ว ส่วนที่อำนวยประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ได้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ และอุดช่องไหลของน้ำตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียวก็สามารถรักษาความชุ่มชื้นและต้นน้ำลำธารได้อีกด้วย

ป่าไม้คือของขวัญล้ำค่าที่ได้จากธรรมชาติ เป็นที่มาของปัจจัย 4 และเป็น 1 ในปัจจัย 4 สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์โลก จึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จนนำไปสู่การถือสิทธิครอบครอง และแสวงหาประโยชน์จากป่าไม้ไปทั่วโลก เพราะป่าไม้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ตอบสนองต่อการดำรงชีวิตได้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่อดีตกาลมา ป่าไม้เป็นเสมือน “ต้นทุนของสินทรัพย์” ที่แปรสภาพมาเป็นเงินตราสร้างความมั่งคั่งมาอย่างต่อเนื่อง สินค้าของป่า ไม้ซุง และสัตว์ป่า เคยเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย และเคยสร้างความมั่งคั่งอย่างมหาศาลแก่ดินแดนแห่งนี้

ความเปลี่ยนแปลงของโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเข้ามาของชาติตะวันตกยิ่งเพิ่มคุณค่าและราคาให้แก่ป่าไม้ยิ่งขึ้น เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอำนาจและความมั่งคั่งให้กับผู้ประกอบการ การขยายอุตสาหกรรมป่าไม้จากดินแดนอาณานิคมของประเทศอังกฤษ เข้าสู่ดินแดนหัวเมืองล้านนาประเทศราชของสยาม และกระแสทุนนิยมที่ถาโถมเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะภายหลังการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายจำนวนมาก แต่ก็เป็นอุทาหรณ์ให้กรมป่าไม้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากประชาชน ทั้งหลายกลายเป็นส่วนสำคัญในการรักษาและปกป้องผืนป่าให้สัมฤทธิ์ผลเกิดขึ้น แต่แม้ว่าประเทศไทยจะต้องเสียผลประโยชน์จากการทำไม้ ต้องเสียเงินตราเพื่อนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ไปเป็นจำนวนมาก ก็เพื่อแลกกับผืนป่าที่เหลืออยู่ นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลสมัยนั้นเริ่มเห็นถึงความสำคัญของการทำป่าไม้ในเมือง และส่งเสริมให้เอกชนทำป่าไม้เป็นอาชีพ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงานสำหรับชาวบ้านในชนบทด้วย

กรมป่าไม้เป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าศตวรรษ นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2439 จนถึงปัจจุบัน (2560) มีอายุถึง 121 ปี ก็ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามสถานการณ์ต่างๆ ของสังคมประเทศชาติตลอดมา โดยมีกระทรวงต้นสังกัด แต่งตั้งสถาปนา ดังนี้

พ.ศ. 2439-2464 กระทรวงมหาดไทย

พ.ศ. 2464-2475 กระทรวงเกษตราธิการ

พ.ศ. 2475-2476 กระทรวงมหาดไทย

พ.ศ. 2476-2478 กระทรวงเศรษฐการ

พ.ศ. 2478-2495 กระทรวงเกษตราธิการ

พ.ศ. 2495-2505 กระทรวงเกษตร

พ.ศ. 2505-2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(ข้อมูลจากหนังสือ “111 ปี กรมป่าไม้ ก้าวไกลอย่างมั่นคง ภายใต้ร่มพระบารมี” พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2550)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมป่าไม้ขึ้น เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2439 จากช่วงเวลาอันยาวนานที่ผ่านมาก็ได้มีการพัฒนาองค์กรและวิธีการทำงานมีบทบาทสำคัญในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแผ่นดิน อันเอื้อประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติตามการพัฒนาและปรับบทบาทให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมือง ซึ่งมีการปฏิรูประบบราชการในหลายยุคหลายสมัย และปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน ร่วมปฏิบัติ ร่วมติดตามผล ร่วมใช้ประโยชน์ และดูแลรักษา ให้สามารถบริหารและจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล ด้วยยุทธศาสตร์ที่มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานขอความพอเพียง และการอนุรักษ์ฟื้นฟูให้ยั่งยืน

ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองนั้น ทั้งไม้หอม กระวาน พริกไทย งาช้าง ช้าง และม้า ล้วนเป็นสินค้าที่ได้จากป่า หรือเป็นของป่าที่ตลาดต้องการอย่างมาก เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยังกลายเป็นอาณาจักรที่เฟื่องฟู เป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สินค้าของป่าก็ยิ่งทวีความสำคัญ เมื่อลุเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ รูปแบบของสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น แต่ “ของป่า” ก็ยังเป็นทรัพย์สิน เป็นสินค้าที่สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง แก่ราชอาณาจักรไม่แพ้กัน

สินค้าของป่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการส่งออกสัตว์ป่าและผลิตผลที่ได้จากสัตว์ป่า ได้แก่ ช้าง เสือดาว หมีดำ ลิง นกยูง นกแก้วห้าสี เต่าหกขา ชะมด งาช้าง ฟันช้าง นอแรด เขากวาง หนังกวาง เอ็นกวาง หนังเสือลาย เขาสัตว์ หนังวัว หนังแรด (ระมาด) รังนก หนังแผ่นดิบ ปีกนกกระเต็น ขนนก ขี้ผึ้ง มูลค้างคาว

สินค้าของป่าส่งออกสมัยกรุงศรีอยุธยาทางด้านพืชพรรณไม้ และสมุนไพร ได้แก่ ไม้ฝาง ไม้กฤษณา ไม้สัก ไม้แดง ไม้กระลำพัก ไม้จันทน์หอม ไม้พะยูง ไม้แสม ไม้ซุง brazil wood ไม้สัก ยางไม้ เปลือกไม้ เปลือกโกงกาง เปลือกสีเสียด เปลือกสมุลแว้ง แก่นไม้มะเกลือ ไม้กระวานหอม ลูกกระวาน น้ำมันสน ยางสน แก่นกรักขี ยางรัก ยางขนุน หวาย เร่ว ครั่ง รง กำยาน การบูร กานพลู จันทน์ชะมด เมล็ดลูกกระเบา เปลือกปะโลง หอระดาน สมอ ปรง ดีปลี ยาดำ ไต้ แก่นคูน หมาก พริกไทย รัก รังนก น้ำมันมะพร้าว

จะเห็นได้ว่า “สินทรัพย์จากป่า” มีมากมาย และมีความสำคัญมีคุณค่ามาตั้งแต่โบราณกาล มิใช่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น ในทางกลับกัน “ของป่า” ในปัจจุบันหายากยิ่งขึ้น หรือบางอย่างหลายชนิดที่ไม่มีในป่า หรือมีน้อย ก็ยิ่งเพิ่มคุณค่าและความสำคัญอีกทวีคูณ เพียงแต่ว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ซึ่งพัฒนาตามยุคสมัยมาทดแทนความต้องการตามความจำเป็น “ของป่า” หลายชนิดจึงไม่เป็นที่รู้จัก หรือบางคนบอกว่าไม่เคยได้ยินบางอย่างที่กล่าวมา

การค้าขายของป่าที่เป็นสินค้าส่งออกตั้งแต่สมัยก่อนไม่ได้นำเพียงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังเกิดการแลกเปลี่ยนทางด้านการเมือง ทางสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น ราชสำนักจีนต้องการรังนก ฟันช้าง นอแรด เพื่อใช้ในการปรุงยาจีน แขกมัวร์ต้องการไม้เนื้อหอม เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ญี่ปุ่นต้องการหนังกวาง เพื่อใช้ทำด้ามดาบ ถุงเท้าหนัง และนำเข้าไม้หอมจำพวกไม้กระลำพัก (eagle wood) ซึ่งใช้ในการอบร่ำ และหายากมาก ส่วนตลาดยุโรปต้องการไม้ฝางสำหรับการย้อมสี และเป็นสินค้าถ่วงระวางเรือในเที่ยวกลับ

สินค้าส่งออกสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็มีของป่าที่มีประเทศต่างๆ ต้องการมา เช่น ไม้ฝาง ไม้แก่นดำ ไม้กฤษณา ไม้จันทน์หอม ขอนไม้สัก ไม้เนื้อแข็งต่างๆ หวายตะค้า เปลือกปะโลง ดีปลี ครั่ง กำยาน กานพลู พริกไทย กระวาน รง รังนก ปีกนก ผลเร่ว การบูร ขี้ผึ้ง น้ำรัก เปลือกอบเชย มะขามหวาน ช้าง งาช้าง หนังกวาง หนังโค นอแรด เขากวาง เขาควาย หนังเสือลายต่างๆ นอกจากนั้นมีสินค้าอื่นๆ ทั่วไป เช่น ข้าว ยาสูบ เกลือ ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว เหล็ก น้ำมันมะพร้าว น้ำตาลทราย กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ปลาเค็ม ไข่เต่าตนุ ฟองปลาหมึก เนื้อสัตว์ตากแห้ง

จากที่กล่าวมาคุณค่าของ “ของป่า” มีมากมายล้วนแล้วมีความสำคัญเป็นที่ต้องการจำเป็นทุกยุคสมัย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายควบคุมการใช้ไม้และป้องกันการลักลอบ สมัยรัชกาลที่ 2 มีอุตสาหกรรมการต่อเรือถึงรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีสินค้าส่งออกเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าว ไม้สัก ยางพารา แต่มีการทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหลายฉบับ จนทำให้ต้องเสียสิทธิในด้านการค้า และไม้สักเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งเกิดความขัดแย้งเรื่องสิทธิในการทำไม้ และค่อยๆ ทวีความรุนแรง ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 แม้ว่าจะทำสนธิสัญญาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสัมปทานป่าไม้ ถึง 2 ฉบับ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จระหว่างสยามประเทศ และอังกฤษ ราชสำนักสยามเห็นว่าควรต้องมีการปรับปรุงการจัดการป่าไม้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนำสู่การจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นใน พ.ศ. 2439 โครงสร้างการส่งออกดำรงอยู่มาจนถึงการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรก เมื่อ พ.ศ. 2504

สินทรัพย์จากธรรมชาติ จากป่า จากป่าไม้ คือชีวิตของมนุษย์ที่ดำรงชีพเคียงคู่กัน คุณค่าประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับไม่สามารถบรรยายได้ เพราะมีมากมายเปรียบดังใบไม้ในป่ารวมกัน หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในฐานะที่รับผิดชอบดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ของแผ่นดินคือ “กรมป่าไม้” ซึ่งมีภารกิจสำคัญที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือองค์กรชุมชนในการบริหารจัดการและดูแลรักษาป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้สมบูรณ์ ยั่งยืน เอื้อประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติต่อไป ดังบทกวีป่าไม้ ของ คุณสืบ นาคะเสถียร เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

ป่าไม้ให้ร่มเย็น           อีกทั้งเป็นแหล่งทรัพย์ป่า

ต้นไม้เป็นสินค้า               น้ำดินฟ้าเป็นผลพลอยได้

รักเถิดช่วยรักษา              ปกป้องป่าให้พ้นภัย

ถ้าขาดซึ่งป่าไม้                ประชาไทยคงล่มจม ฯลฯ