ยังมีอยู่! ใช้กระบือไถนา ลดต้นทุน สืบทอดประเพณีวิถีชุมชน

ลงแขกไถนา

จังหวัดศรีสะเกษ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงสลับทุ่งนา มีภูเขาและป่าไม้อยู่ทางตอนใต้ และพื้นที่จะค่อยๆ ลาดลงสู่ทิศเหนือและทิศตะวันตก สภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 3,551,970 ไร่ เหมาะแก่การปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้สำหรับทำนา โดยในปีเพาะปลูก 2557/2558 มีพื้นที่ปลูกข้าว รวม 3,065,798 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเจ้านาปี (ข้าวหอมมะลิ) 2,910,161 ไร่ ผลผลิต 1,207,528 ตัน พื้นที่ปลูกข้าวเหนียว 109,910 ไร่ ผลผลิต 49,222 ตัน และพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 45,727 ไร่ ผลผลิต 30,496 ตัน ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 1,287,246 ตัน พร้อมทั้งยังเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ

จากการทำนาที่เห็นกันได้จากยุคปัจจุบัน จะมีการนำเครื่องทุ่นแรงต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกทำให้การทำนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการใช้กระบือเพื่อการไถนาแบบสมัยก่อนนั้นนับว่าหาได้น้อยเต็มที อาจจะไม่มีให้เห็นเลยก็ว่าได้ ทำให้คนสมัยใหม่อาจเห็นการทำนาในลักษณะนี้จากหนังสือหรือภาพวาดในสมัยก่อนเท่านั้น

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโค กระบือ บ้านระกา ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกเพชร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการอนุรักษ์การทำนาแบบสมัยก่อนไว้ โดยรวมกลุ่มของเกษตรกรภายในชุมชนที่เลี้ยงกระบือ มาช่วยกันลงแขกไถนาด้วยกระบือ ปลูกข้าว ตลอดจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ใช้แรงงานของคนในชุมชนสลับหมุนเวียนเปลี่ยนกัน จึงถือเป็นการสร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

 

ลดต้นทุนการผลิต ด้วยแรงงานกระบือ

คุณดาวรุ่ง แซ่โค๊ว กำนันตำบลโคกเพชร ให้ข้อมูลว่า จากปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้น ตลอดจนแรงงานภาคการเกษตรที่กำลังเริ่มขาดแคลนลง ชาวบ้านระกาจึงได้ร่วมกับนักวิจัยอิสระในการวิเคราะห์ชุมชน แล้วเห็นพ้องตรงกันว่าต้องนำประเพณีการลงแขก และการใช้แรงงานกระบือไถนาแทนการจ้างแรงงานและรถไถนา ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งธนาคารโค กระบือ เพื่อเป็นแรงงานในการไถนา โดยนำมาลงแขกไถนา ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมีกระบือ จำนวน 100 ตัว สามารถลดต้นทุนการทำนาของเกษตรกรโดยเพิ่มผลกำไรมากขึ้น

คุณดาวรุ่ง แซ่โค๊ว

“การทำนาสมัยปัจจุบันนี้ คนทำแทบจะไม่เหลือผลกำไร เพราะใช้เครื่องจักรเป็นสำคัญ คราวนี้เราก็เลยมาดูกันสิว่า ถ้าเราทำนาแบบดั้งเดิมที่ปู่ย่าตายายเราทำมาแบบสมัยก่อน มันทำให้เราลดต้นทุนไหม และวิถีชีวิตจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ต้องนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคปัจจุบัน ถ้าทำแล้วมันจะลดต้นทุนได้เยอะไหม ก็ได้เริ่มทดลองทำกันมาตั้งแต่ ปี 2553 จนมาถึงทุกวันนี้” คุณดาวรุ่ง เล่าถึงความเป็นมา

คุณดาวรุ่ง เล่าว่า กระบือที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงในครัวเรือนนั้น ได้รับจากธนาคารโค-กระบือ เป็นโครงการพระราชดำริ โดยชาวบ้านจะได้รับกระบือตัวเมียที่มีอายุประมาณ 1 ปีครึ่ง มาเลี้ยงภายในครัวเรือน เมื่อกระบือเข้าสู่ช่วงที่พร้อมจะผสมพันธุ์ ก็จะแจ้งไปยังสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ จากนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่มาดำเนินการฉีดน้ำเชื้อเพื่อผสมพันธุ์

“อายุที่พร้อมจะผสมพันธุ์ได้ของกระบือ ต้องมีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งช่วงที่จะติดสัด แม่พันธุ์จะมีอาการหงุดหงิด ลุกลี้ลุกลน หรือร้องเพื่อจะผสมพันธุ์ ซึ่งการผสมพันธุ์ใครที่มีพ่อพันธุ์ก็สามารถผสมเองได้เลย ส่วนใครที่ไม่มีก็จะติดต่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาดำเนินการให้ เมื่อผสมติดรอตั้งท้องประมาณ 10  เดือนครึ่ง ก็จะได้ลูกกระบือออกมา” คุณดาวรุ่ง บอกถึงวิธีการผสมพันธุ์

จากนั้นดูแลลูกกระบือให้เจริญเติบโต โดยให้กินอาหารที่หาได้จากท้องถิ่น พร้อมทั้งติดต่อให้สำนักงานปศุสัตว์อำเภอมาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น การฉีควัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยทุก 6 เดือนครั้ง ก็จะสามารถป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที

 

ฝึกกระบือไถนา ได้ทั้งงาน และความสามัคคีของชุมชน

คุณดาวรุ่ง เล่าต่อว่า เมื่อได้ลูกกระบือที่ออกมาจากแม่แล้วจะเลี้ยงให้เจริญเติบโตจนหย่านมแม่ จากนั้นก็จะนำลูกรุ่นแรกคืนให้กับธนาคารกระบือ เพื่อให้นำไปแจกให้กับครัวเรือนอื่นๆ ต่อไป ส่วนลูกที่เกิดเป็นรุ่นต่อไปก็จะเป็นของคนเลี้ยงที่จะดูแลต่อไป

การไถนาด้วยกระบือ

“เมื่อทุกคนภายในกลุ่มคิดว่าอยากได้กระบือเพื่อเลี้ยง เราก็จะมีข้อตกลงกันว่า จะนำมาช่วยกันไถนาลงแขก โดยใครจะไถนาช่วงไหนก็จะนัดกันแต่ละบ้าน ก็สลับกันไปจนกว่าจะครบทุกไร่ของสมาชิก จากนั้นทุกคนก็จะมาช่วยกันดำนา โดยใช้กล้าที่มีอายุ 15 วัน มาดำ พอผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ทุกคนก็มาช่วยกันเก็บเกี่ยว จึงทำให้เกิดการประหยัดต้นทุน และที่สำคัญในชุมชนมีความสามัคคีมากขึ้น” คุณดาวรุ่ง กล่าว

กระบือที่ฝึกไถนา ต้องมีเจ้าของเดินจูงนำทาง

จากการทำนาด้วยวิธีไถด้วยกระบือ คุณดาวรุ่ง บอกว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ในชุมชนมีความสุขในกิจกรรมนี้ เพราะได้เห็นวิถีชีวิตที่เคยเห็นสมัยเด็กอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้ทุกคนต่างรอเวลาฤดูไถหว่านมาถึง เพื่อที่ทุกคนจะได้มาทำกิจกรรมร่วมกันแบบมีความสุข

 

อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้คงอยู่สืบไป

จากความตั้งใจที่จะสืบสานวิถีชีวิตท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป คุณดาวรุ่ง บอกว่า ตอนนี้ทางชุมชนได้ดำเนินการสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานให้กับผู้ที่สนใจ โดยสามารถติดต่อขอดูงานได้โดยตรงจากเธอ ซึ่งจะได้เห็นทั้งการลงแขกไถนา ตลอดจนการดำนา ซึ่งผู้ที่มาศึกษาดูงานจะได้ลงมือปฏิบัติกันจริง

ลงแขกไถนา

“เราก็หวังว่าสิ่งที่เราทำ จะเป็นการช่วยสืบสานให้คนรุ่นใหม่ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตแบบสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการไถนาด้วยกระบือ การดำนา ตลอดไปถึงการถอนกล้าข้าวก่อนที่จะมาดำนา นอกจากนี้ก็จะให้ได้สัมผัสถึงการนวดข้าว กว่าจะมาเป็นข้าวสารที่กินกันในแต่ละมื้อ ว่ามีวิธีการปลูกเก็บเกี่ยวอย่างไร ให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาสัมผัสการลงมือทำกันแบบจริงๆ ได้เลยในศูนย์ของเรา” คุณดาวรุ่ง กล่าว

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือศึกษาดูงานเกี่ยวกับการไถนาด้วยกระบือได้ที่ คุณดาวรุ่ง แซ่โค๊ว หมายเลขโทรศัพท์ (098) 156-6397, (085) 959-4059

สร้างความเพลิดเพลินให้ผู้สูงอายุ
มูลกระบือสำหรับทำปุ๋ย