อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ แหล่งท่องเที่ยวสวยงาม

น้ำตกพาเจริญ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ สังกัดส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 จังหวัดตาก ครอบคลุมพื้นที่อำเภอพบพระและอำเภอแม่สอด ในอดีตนั้นเป็นวนอุทยานน้ำตกพาเจริญ ต่อมาได้สำรวจพื้นที่เพิ่มเติม ปรับปรุงแนวเขตใหม่ รวมพื้นที่ประมาณ 786 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5 แสนไร่ ประกอบไปด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ มีสภาพป่าหลากหลายประเภท เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา สัตว์ป่า เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน นกนานาชนิด และแมลงต่างๆ

คุณสุรศักดิ์ คำปาแก้ว หัวหน้าอุทยานฯ

คุณสุรศักดิ์ คำปาแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ให้รายละเอียดว่า แหล่งท่องเที่ยวภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ได้แก่

น้ำตกพาเจริญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่อยู่ภายในอุทยานฯ อยู่ติดถนนใหญ่ สายพบพระ-อุ้มผาง ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1090 หลักกิโลเมตรที่ 37 มีต้นกำเนิดมาจากลำห้วยน้ำนักและแหล่งน้ำซับ บริเวณหมู่บ้านชิบาโบ เป็นน้ำตกหินปูนที่มีระดับชั้นลดหลั่นลงมาถึง 97 ชั้น รอบๆ บริเวณน้ำตกมีธรรมชาติที่สวยงามร่มรื่น มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติรอบน้ำตก ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม-กันยายน ของทุกปี นักท่องเที่ยวจะได้ชมความงดงามของดอกกระเจียวสีส้ม ชื่อพันธุ์ฉัตรทอง เป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่ในจังหวัดตากเพียงแห่งเดียว

น้ำตกพาเจริญ

น้ำตกป่าหวาย อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติพาเจริญ ประมาณ 20 กิโลเมตร เส้นทางพบพระ-อุ้มผาง เลี้ยวซ้ายก่อนถึงหลักกิโลเมตรที่ 42 เข้าไปอีกประมาณ 17 กิโลเมตร น้ำตกป่าหวาย เป็นน้ำตกหินปูนที่เกิดจากลำห้วยและน้ำผุดที่ขึ้นมาจากรูใต้ดินหรือน้ำซับ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำอุ้มเปี้ยม มีจำนวนชั้นมากกว่า 100 ชั้น ความสวยงามอยู่ที่กระแสน้ำตกไหลลงกระทบก้อนหินสีแดง ตัดกับสีเขียวของต้นไม้ ป่าไม้ธรรมชาติที่เขียวร่มรื่น จะมีต้นหวายขึ้นตามแต่ละชั้นของน้ำตก จึงเรียกน้ำตกป่าหวาย ภายในบริเวณน้ำตกแห่งนี้ยังมี น้ำตกพิศวง ที่มีลักษณะเป็นหลุมยุบลึกและมีน้ำตกไหลลงไป เสมือนกับน้ำไหลไปไม่มีที่สิ้นสุด

บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก บ่อที่ 1

บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก ตั้งอยู่ในบริเวณเชิงเขาดอยเกี๊ยะ ลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งน้ำพุร้อน พบน้ำร้อนแทรกดันขึ้นมาตามแนวหินแตกบนเนินเขาขนาดเล็ก ซึ่งขนาบด้วยภูเขาที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างอำเภอแม่สอดและอำเภอพบพระ พบตะกอนที่ยังไม่แข็งตัว เป็นตะกอนตะพักลำน้ำปิดทับอยู่บน น้ำร้อนที่ผุดขึ้นมาเป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ อุณหภูมิของน้ำ ประมาณ 60 องศาเซลเซียส

ห้องอาบน้ำร้อน

มีแร่ธาตุสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือดได้ น้ำร้อนแห่งนี้ไม่มีกลิ่นกำมะถัน ภาคเอกชนได้นำน้ำจากสายน้ำแห่งนี้ไปปรับปรุงเป็นน้ำแร่เพื่อการบริโภค ภายในบริเวณบ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก ได้มอบหมายให้ คุณสุวิทย์ บุญเลิศรักษ์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าไม้ เป็นผู้ดูแลปรับปรุงให้สถานที่มีความเหมาะสมและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เช่น สถานที่พักค้างคืน ที่พักแบบกางเต๊นท์ ห้องอาบน้ำร้อนแบบรวม ห้องอาบน้ำแบบส่วนบุคคล

ถ้ำเสือ ตั้งอยู่ที่ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด ทางหลวง หมายเลข 1090 สายแม่สอด-อุ้มผาง เลี้ยวซ้ายไปทางเหมืองผาแดง อินดัสทรี ประมาณ 8 กิโลเมตร ต่อไปหมู่บ้านถ้ำเสืออีกประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้ำเสือเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติใต้พื้นพิภพ เป็นถ้ำที่ค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ ลักษณะเป็นโพรงลึกลงไปใต้ดิน ภายในเป็นถ้ำที่มีขนาดกว้าง ประมาณ 30 เมตร สูง 20 เมตร ความยาวกว่า 100 เมตร ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยรูปแปลกๆ เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวหน้ายักษ์ ค้างคาวมงกุฎ และตุ๊กแกป่า

หัวหน้าอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ในด้านเกษตรกรที่ทำมาหากินพื้นที่ดั้งเดิม ทางอุทยานฯ ได้กำหนดพื้นที่แน่นอนและชัดเจน กำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนฯ ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน พื้นที่ทำกิน พื้นที่สาธารณะประจำหมู่บ้าน อีกทั้งได้จัดตั้งผู้แทนแต่ละหมู่บ้านร่วมกันรักษาป่า ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชที่ทำรายได้มากกว่าพืชที่มีอยู่เดิม เช่น ปลูกพืชผักในเรือนโรง ปลูกอะโวกาโด เสาวรสรับประทานผลสด ฯลฯ ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลายเท่าตัว

เกษตรกรผู้นำรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ปลูกเสาวรส 2 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท จัดสรรพื้นที่ให้ลูกหลานร่วมกันปลูกเพิ่มอีก โดยไม่ต้องบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ คาดว่าจะมีเกษตรกรอีกหลายรายจะให้ความร่วมมือและปลูกพืชที่มีรายได้มากกว่าปลูกข้าวโพด มะเขือเทศ มันฝรั่ง ในอนาคตได้มอบหมายให้ คุณพัฒนา ส่องแสง เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่สูง อำเภอพบพระ ส่งเสริมให้เกษตรกรตำบลแม่ละเมา ปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในพื้นที่ โดยใช้ชื่อเป็นเอกลักษณ์ว่า “กาแฟแม่ละเมา” เนื่องจากพื้นที่มีความสูงมากกว่า 1,500 เมตร เหมาะสมกับการผลิตกาแฟคุณภาพดี ส่งเสริมการเพาะเห็ด การปลูกผักปลอดสารพิษ ผลผลิตส่งจำหน่ายที่ร้านค้าของอุทยานฯ และตลาดในพื้นที่อำเภอพบพระ

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอรพิน อินต๊ะเสน เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โทร. (094) 827-8577 คุณสุรศักดิ์ คำปาแก้ว หัวหน้าอุทยานฯ โทร. (081) 887-4731