แหลมนาว เรื่องราวแห่งทะเลอันดามัน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน หลังจากบอกเล่าเรื่องราวของแหลมนาวไปฉบับที่แล้ว ก็มีสอบถามเข้ามาไม่น้อย ต้องขออภัยหากทางพื้นที่อาจรองรับได้ไม่ครบทุกท่านนะครับ เพราะข้อจำกัดต่างๆ ทั้งเรื่องที่พักและเรือที่มารับส่ง ที่นี่ทำกันในแบบชุมชนบริหารจัดการกันเอง ดังนั้น จึงต้องจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละรอบนะครับ

แต่รับรองว่าหากท่านใดจองไปแล้วจะดีต่อใจแน่นอนครับ

ในเช้าที่แสงแรกกำลังชำแรกก้อนเมฆขึ้นมา เสียงไก่ขันเริ่มซาลงแล้ว ควันกรุ่นลอยเอื่อยอยู่ในถ้วย ข้าวต้มทะเลหรือที่ในเมืองมักเรียกว่าซีฟู้ด เนื้อปลามงพร้าว และหมึกสดๆ ที่ตกได้เมื่อคืน ปรุงรสด้วยน้ำส้ม น้ำปลา พริกป่นสักหน่อย หรือคอกาแฟได้กาแฟร้อนสักแก้ว นั่งจิบพร้อมชมความงามแห่งธรรมชาติ ท้องฟ้าเริ่มระเรื่อเจือทองด้วยแสงอรุณ ลมทะเลพัดเบาๆ พลิ้วคลื่นเป็นระลอกน้อยๆ ยังมีเรือตกปลาเหลืออยู่สองลำ คะเนว่าคงได้ไม่น้อย เพราะที่นั่นเป็นร่องน้ำลึก มีปลาชุกชุมมาก เทียบกับเราตกอยู่บนบ้านก็ยังได้ไม่น้อย

ชุมชนเล็กๆ ที่แหลมนาว ปลูกบ้านหันหลังให้ทะเลเรียงรายไปตามโค้งหาดที่มีแต่หิน หันหน้าเข้าหาภูเขาลูกย่อมๆ กิจกรรมที่เป็นอาชีพหลักคือประมงโดยใช้เบ็ด พืชผักสวนครัวปลูกไว้บ้างเล็กน้อย ทั้งหมู่บ้านมีมะนาว 2 ต้น ซึ่งเราได้ปรึกษากันแล้ว เพื่อให้ชื่อแหลมนาว มีมะนาวไว้บริโภคอย่างเพียงพอ พี่วโรชา จันทโชติ เจ้าของสวนมะนาววโรชา รับปากจะส่งกิ่งตอนมะนาวไปให้ปลูกและขยายกันให้ทั่ว บางบ้านเลี้ยงแพะไว้บ้าง แต่มีหลายๆ บ้านเลี้ยงไก่ในกรง อาชีพอีกอย่างหนึ่งของชาวบ้านคือ นั่งเรือไปเก็บเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ในป่าอีกฟากหนึ่งของหมู่บ้านมากะเทาะเปลือกเพื่อจำหน่าย

สอบถามเมล็ดที่ยังไม่กะเทาะเปลือก ราคากิโลกรัมละ 50 บาท เป็นรายได้ที่ดีไม่น้อยเลย สำหรับชุมชนที่มีอาหารอันสมบูรณ์เช่นนี้ เรียกว่าในแต่ละวันแทบจะใช้เงินน้อยมากๆ ค่าใช้จ่ายส่วนมากก็จะเป็นข้าวสาร เครื่องอุปโภคบริโภคที่ผลิตเองไม่ได้เท่านั้น ที่นี่มีสะพานปลาเล็กๆ ไว้รอรับผลผลิตจากทะเลโดยพรานเบ็ดประจำหมู่บ้าน ปลา หมึก กุ้ง ปู สัตว์ทะเลที่ติดเบ็ดมาจำนวนมากน้อยตามแต่โอกาสจะอำนวย บางวันก็ได้แค่พอประกอบอาหารในบ้านเท่านั้น แต่มากน้อยก็มิได้ขาดสักครั้ง เรียกว่าที่นี่อาหารอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับคนชอบอาหารทะเลสดๆ ยิ่งนัก

ข้างๆ สะพานปลาจะมีกระชังอยู่เล็กน้อย ด้านหนึ่งเพื่อขังตัวที่ยังมีชีวิตเพื่อจำหน่ายสด (ได้ราคาดีกว่ากันมาก) อีกด้านเพื่ออนุบาลสัตว์น้ำตัวเล็กที่จับมาได้ พี่กิ๊กบอกว่า อีกไม่นานจะเริ่มทำธนาคารปู โดยรับบริจาคปูที่มีไข่มาอนุบาลเพื่อขยายลูกปูสู่ทะเลต่อไป ซึ่งในช่วงสายๆ เราจะได้ไปดูบ้านหรือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเล็กๆ เหล่านี้ ทริปนี้เราได้ชิมกุ้งมังกรที่ติดเบ็ดมา 3 ตัว ขนาดเขื่องประมาณแขน เมนูกุ้งมังกรสามรสเลอค่าต่อลิ้นและพุงยิ่งนัก ไม่นับกุ้งมังกรผัดพริกไทยดำ และใครๆ ก็บอกเสมอว่า กุ้งมังกรทำซูชิหวานอร่อยมาก เราก็บอกกันว่า จะหาโอกาสมาลองอีกสักครั้ง เรายังมีอีกหลายเมนูที่คิดไว้แต่ยังไม่ได้ทำเท่านั้น

ประมาณ 11.00 น. น้ำทะเลขึ้นมาเหมือนเมื่อวาน เราจึงโดยสารเรือไปเที่ยวป่าโกงกาง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญของแหลมนาว เรือหางยาวพาเราแล่นเข้าไปในดงของป่าโกงกาง ที่มีไม้อื่นๆ แทรกอยู่ด้วย เช่น เสม็ดขาว เห็นปูตัวเล็กๆ วิ่งไล่กัน มีปลาผุดอยู่ไม่ห่าง ในความร่มครึ้มของป่าที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ มองแล้วชื่นใจและอยากเห็นโครงการแบบนี้อยู่คู่ทะเลไทยทุกที่ เรือเทียบที่สะพานไม้ให้เราเดินชมป่าไปอีกระยะ หมดเขตป่า เราเดินผ่านทุ่งโล่งคะเนด้วยสายตาคร่าวๆ ไม่น้อยกว่าสามร้อยไร่ มีต้นไม้อยู่ประปราย มะพร้าวยืนต้นเหงาอยู่โดดเดี่ยว

ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านมาก่อน หลังจากสึนามิผ่านพ้นก็เลยย้ายไปอยู่ในที่ปัจจุบัน เราคุยกันเล่นๆ ว่าน่าจะทำนากันนะ พื้นที่ขนาดนี้ทำนาได้ข้าวเหลือกินทั้งหมู่บ้านเลย เดินตัดผ่านทุ่งหญ้าโล่งๆ พอได้เหงื่อเราก็มาโผล่อีกด้านของภูเขาน้อยๆ ลูกนี้ เสียงคลื่นที่สาดซัดเข้าหาฝั่ง ลมทะเลพัดใบสนดังวู่หวิว ภาพที่ปรากฏในสายตาของเราคือแนวชายหาด ที่เมล็ดทรายขาวละเอียดยาวไม่น้อยกว่าสองกิโลเมตร น้ำทะเลสีเขียวใส ริ้วคลื่นที่สาดซัดเป็นระลอกสวยงาม จนอดใจที่จะโผวิ่งลงไปสัมผัสในท่ามกลางแดดที่แผดจ้า น้ำทะเลใสๆ เย็นๆ สร้างความสดชื่นให้เราได้ไม่น้อย

เออหนอ! สถานที่สวยงามพิสุทธิ์เช่นนี้ ไฉนจึงร้างราผู้คน หรือว่าเป็นความต้องการของชุมชน แอบอิจฉาตัวเองมิได้ว่า เราช่างมีวาสนายิ่งนัก ได้มีโอกาสมาเจอสถานที่อันแสนสวยงาม สภาพอากาศที่บริสุทธิ์สดชื่น วัตถุดิบในเรื่องอาหารสดๆ จากทะเลก็มีมากมาย แถมแม่ครัวปรุงอาหารในแต่ละมื้อก็สุดแสนอร่อย

เสียดายมากที่วางกำหนดการไว้แค่คืนเดียว เพราะที่นี่ หากต้องการมาเที่ยวให้ได้เต็มที่ ทั้งได้เรียนรู้กิจกรรมจากชาวบ้าน เช่น การทำยาสีฟันสมุนไพร ที่เป็นสินค้าเด่นของที่นี่ จะต้องมีเวลามาอยู่อย่างน้อยสัก 2 คืน เหลือบมองเข็มนาฬิกา เราจำเป็นต้องตัดโปรแกรมหัดขับเรือหางยาวไปก่อน ด้วยว่าในช่วงเช้าน้ำทะเลลดลงอย่างมาก ไม่สะดวกในการเข็นเรือออกจากท่า จึงขอยกยอดไปในรอบหน้า จะมาที่นี่ให้เต็มสูตรอีกครั้ง

เรากลับมาที่บ้านพักเมื่อแดดบ่ายเวียนมาทักทาย อาหารมื้อหนักเช้าและเที่ยงยังอัดแน่นในอยู่ไม่น้อยกว่าครึ่ง จึงตกลงกันว่าจะไปหาอะไรกินกันระหว่างทางกลับดีกว่า โบกมืออำลาพี่น้องชาวแหลมนาว และสัญญากันไว้ว่ากลางปีนี้จะกลับมาพร้อมอุปกรณ์กีฬาที่จะนำมามอบให้เด็กๆ ที่โรงเรียนแหลมนาวแห่งนี้

สำหรับท่านที่สนใจไปสัมผัสความงามและอิ่มอร่อย มิตรภาพของผู้คน รวมถึงท่องเที่ยวทะเลอย่างสะดวกและไม่มีผู้คนพลุกพล่าน ขอแนะนำว่าให้ลองไปที่แหลมนาวสักครั้งครับ ติดต่อพี่กิ๊ก โทร. (087) 575-3555 บอกว่า อ่านจากทิดโส โม้ระเบิด ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน รับรองว่าที่กล่าวมาทั้งหมด ท่านจะได้สัมผัสเช่นนี้จริงๆ ครับ ขอบคุณครับ