วิสาหกิจชุมชนรักษ์เมืองหลวง ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เพิ่มมูลค่าหลากหลาย สินค้าผลิตไม่ทันขาย

ผ้าไหมเป็นอีกหนึ่งสินค้าขึ้นชื่อของไทย เพราะในหลายพื้นที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่แตกต่างกันไป ซึ่งเอกลักษณ์ของการทอผ้านั้นทำให้ผู้ทอเกิดเป็นรายได้ เพราะการทอผ้าผู้ทอค่อนข้างมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ม และสามารถสร้างสรรค์งานต่างๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเกิดเป็นรายได้ประจำให้กับชุมชน อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ยามว่างจากการทำงานทางด้านการเกษตรอื่นๆ

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษได้ผลักดันผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง เป็นผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง GI ศรีสะเกษ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียน GI เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2557

สีดำที่ได้จากการย้อมด้วยผลมะเกลือ

โดยผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง คือ ผ้าไหมทอมือด้วยกี่ทอผ้าแบบพื้นบ้านให้เกิดลวดลายจากผ้า เรียกว่า ลายลูกแก้ว ย้อมสีดำด้วยผลมะเกลือ อบด้วยสมุนไพร ทำให้ผ้าไหมมีกลิ่นหอมและมีการปักลวดลายด้วยเส้นไหมสีต่างๆ หรือมีการปักแซวให้มีความสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ซึ่งผลิตในพื้นที่ ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ

ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง ประกอบด้วย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า ย่าม ผลิตตามขนาด และรูปแบบที่ต้องการ โดยมีการปักลวดลายสวยงามสะท้อนให้เห็นถึงมรดกวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การสืบสานต่อไป

ผลมะเกลือ

คุณฉลวย ชูศรีสัตยา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์เมืองหลวง เปิดเผยว่า ผ้าไหมเก็บมีแหล่งกำเนิดที่บ้านเมืองหลวง พื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งฐานทัพปราบหัวเมืองในแถบอีสานใต้ ที่ว่า “เก็บ” ก็คือการเก็บลวดลายในเนื้อผ้าระหว่างทอ แล้วนำไปย้อมด้วยมะเกลือ และปักแซวด้วยไหมสีต่างๆ จนได้เป็น “เสื้ออาวเก๊บ” หรือเสื้อผ้าไหมย้อมมะเกลือสีดำทอลายลูกแก้ว ที่ “เทอแซว” ผ่านการเย็บหรือถักลายตะเข็บกว่าจะเป็น “ผ้าไหมเก็บ” ต้องผ่านร้อนผ่านน้ำนับไม่ถ้วน “เลาะไปรบ็อกลือ” คือภูมิปัญญาการย้อมผ้าไหมลายลูกแก้วด้วย

มะเกลือ กว่าจะได้แต่ละผืนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งกับคนทำและคนรอ (ซื้อ) เพราะผ้าไหมเก็บ 1 ผืน ต้องผ่านกรรมวิธี “300 จุ่ม 60 แดด” หรือประมาณ 2-3 เดือน จนมีคำพูดขำๆ ในกลุ่มคนรอว่า ถ้าย้อมสีเข้มไม่พอ ก็ต้องรอ หมักซ้ำย้อมซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ กระบวนการที่แสนยุ่งยากซับซ้อน ต้องเริ่มจากการเลี้ยงและสาวไหมจนได้เป็นเส้น เท่านั้นยังไม่พอ ต้องลอกโปรตีนไหมหรือเซริซินอันเป็นอุปสรรคต่อการย้อมสีออกด้วยการใช้ด่างจากกาบมะพร้าว

คุณฉลวย ชูศรีสัตยา

เสร็จแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการทอด้วยกี่ดั้งเดิม ใช้เส้นไหมไทยพื้นบ้านเป็นเส้นพุ่ง และไหมอุตสาหกรรมเป็นเส้นยืน เหตุที่ต้องผสมกันมาจากการประยุกต์ เพราะเส้นไหมบ้านมีขี้ไหมมาก ทำให้การทอนั้นยาก แต่ที่ไม่ใช้ไหมอุตสาหกรรมหมด เพราะต้องการส่งเสริมการเลี้ยงไหมในชุมชน และไหมบ้านมีคุณสมบัติทำให้ผ้าเงางามและนุ่ม น่าสวมใส่

จากนั้นพุ่งกระสวยและเหยียบลาย 4-5 ตะกอ เก็บลายระหว่างการทอจนได้เป็นลายยกบนผ้าเรียกว่า ลายลูกแก้ว ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาดเล็กอันเป็นเอกลักษณ์ การปักแซว เป็นภูมิปัญญาการนำเส้นไหมที่ควั่นเข้าด้วยกัน นำมาแซวตะเข็บหรือชายเสื้อด้วยมือเป็นลวดลายบนผืนผ้าซึ่งมีทั้งลวดลายโบราณและประยุกต์ เพราะสมัยก่อนไม่มีจักรเย็บผ้า ไทบ้านจึงต้องเย็บด้วยมือ และไม่มีกรรไกรไว้ใช้ตัดผ้าต้องตัดผ้าด้วยมีดโต้และเย็บตะเข็บผ้ากันรุ่ย เพิ่มลวดลายเข้าไปเพื่อความสวยงามลวดลายจะเกี่ยวกับการดำรงชีวิต ความเชื่อ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และธรรมชาติรอบตัว เช่น ลายตีนตะขาบ ตีนไก่ หางตะกวด ดอกมะเขือ เป็นต้น

สินค้าต่างๆ

“การย้อมผ้าด้วยผลมะเกลือ ทำให้ผ้าเงางาม ซึ่งการย้อมด้วยมะเกลือ ถือว่าใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน หรือประมาณ 2 เดือน จุ่มลงไปในน้ำมะเกลือ 300 ครั้ง หรือบางครั้งมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ความยากง่ายที่แตกต่างกันไป ด้วยระยะเวลาและเรื่องราวเหล่านี้เอง จึงทำให้การย้อมผ้าของที่นี่ มีความเป็นเอกลักษณ์ และมีเรื่องราวที่สามารถบอกต่อให้กับลูกค้าฟังได้” คุณฉลวย บอก

ปัจจุบัน เสื้อแซวมีการตัดเย็บใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งไทบ้านและผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษรวมทั้งกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ เพราะใส่แล้วดูดี ยิ่งแซวมากยิ่งงามหลาย ผู้สวมใส่จึงนิยมใส่ในโอกาสงานสำคัญ งานประเพณีประจำปี และมีการเย็บขายเป็นสินค้าหัตถกรรมของชุมชน จนมีการดัดแปลง แปรรูปเป็นกระเป๋า หรือพวงกุญแจ สร้างทางเลือกให้ผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นด้วยความซับซ้อน ประณีต และใช้ระยะเวลานานจึงทำให้เสื้อแซวไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยินดีและเต็มใจที่จะรอสินค้าจากกลุ่มทอผ้าแห่งนี้ เพราะเห็นถึงคุณค่างานทำมือทุกขั้นตอน ราคาของเสื้อแซว ราคาเริ่มต้นที่อยู่ที่ 3,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปักแซว ยิ่งปักมาก ปักละเอียด ก็ยิ่งมีราคาสูง แต่คุ้มค่าการรอคอย

“สมัยก่อนเราจะมีแต่การตัดเสื้อเป็นหลัก ต่อมาเราก็ได้มีการคุยกันภายในกลุ่มว่าควรมีการแปรรูปให้หลากหลาย ทั้งในเรื่องของการทำเป็นกระเป๋า พร้อมทั้งทำการปักลายร่วมสมัยมากขึ้น จึงทำให้สินค้าสามารถส่งออกจำหน่ายได้เรื่อยๆ นับว่าได้ผลตอบรับที่ดี เพราะฉะนั้นลูกค้ามั่นใจได้ว่า เราใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต เพราะฉะนั้นด้วยระยะเวลาการผลิตและสีจากธรรมดา สินค้าที่ได้คุ้มค่าคุ้มราคาแน่นอน” คุณฉลวย บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง ที่ผ่านการย้อมจากสีธรรมชาติ พร้อมทั้งมีการปักลวดลายที่สวยงาม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณฉลวย ชูศรีสัตยา หมายเลขโทรศัพท์ 085-763-4261