ร้านยิงบั้งไฟ สัญญาณเตือนพญาแถน

การเล่นบั้งไฟ เป็นประเพณีของชาวอีสาน เลยไปถึงประเทศลาว

อย่างแขวงไชยบุรีก็มีเทศกาลบั้งไฟเช่นกัน ดังนั้น การจะบอกว่าประเพณีบั้งไฟเป็นของไทยหรือลาวก็ยาก เพราะมีเล่นกันทั้งสองฝั่งโขง ส่วนปัญหาว่า ใครเล่นก่อนเล่นหลังนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันอย่างรอบคอบ รอบด้านต่อไป

แน่นอนว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ยากจะฟันธง

หมู่เฮาชาวอีสาน เล่นบั้งไฟกันเนื่องในโอกาสใดบ้าง คำตอบคือ ช่วงเทศกาลงาน “บุญเดือนหก” หรือไม่ก็ช่วงขอฝนจากฟากฟ้า

ก่อนจะเล่นบั้งไฟได้นั้น เราชาวบ้านต้องทำบั้งไฟก่อน แล้วค่อยทำร้านยิงบั้งไฟ หรือจะเรียกว่าฐานยิงบั้งไฟก็น่าจะไม่ผิดกติกา

ร้านยิงบั้งไฟ เราชาวบ้านนำไม้ไผ่มาสร้าง เลือกไผ่ลำสวยๆ ตรงๆ ขนาดเล็กใหญ่เราไม่จำกัด แต่ทางที่ดี ควรหาลำขนาดใกล้เคียงกัน เมื่อมัดเข้าด้วยกันจะได้ไม่มีปัญหา ลองคิดเล่นๆ ดู ถ้าลำใดลำหนึ่งคด เวลามัดเข้าด้วยกันมันก็จะกระโดกกระเดก ร้านแทนจะมั่นคงแข็งแรงก็อาจจะเป็นอ่อนยวบยาบไป

ลักษณะของร้านยิงบั้งไฟคือ มีความเอียงราว 75 องศา มีเสาอาจจะทำจากลำไผ่หรือไม้จริงก็ได้ เลือกเอาที่แข็งแรงพอจะรับลำไผ่ที่ผูกไว้เป็นร้านได้ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็นำเอาบั้งไฟมาตั้งไว้บนร้าน เวลาจุดแรงระเบิดของบั้งไฟก็จะขับดันให้บั้งไฟพุ่งสู่ท้องฟ้า

แสงไฟจากบั้งไฟกลางคืนนั้นสวยงาม บางคนมองเหมือนผีพุ่งใต้ ขณะที่บางคนมองเหมือนไม้กวาดของแม่มด และบางคนก็จินตนาการไปถึงดวงดาวต่างๆ ในหนังสือเรียน เรื่องของจินตนาการเป็นเรื่องส่วนตัว อย่างไรก็ไม่ผิดกติกา

แต่การตั้งร้านบั้งไฟนั้น เราชาวบ้านมักทำเป็นร้านคู่ เวลาจุดอาจจุดทีละคู่หรือทีละกระบอกก็แล้วแต่ความต้องการของผู้จัดงาน

ส่วนหนึ่งของประเพณีเล่นบั้งไฟคือ การทำบุญ

ช่วงเทศกาลเล่นบั้งไฟ เราชาวบ้านได้แต่งตัวสวยๆ งามๆ ไปทำบุญที่วัด บรรดาชาวบ้านได้พบหน้ากัน ได้ปรึกษา ได้พูดคุยคลายทุกข์ และยังได้ทำบุญร่วมกัน เท่ากับว่าชาวบ้านเอาความเชื่อเรื่องแถนมาประสานเข้ากับพระพุทธศาสนาได้อย่างกลมกลืน

หลังบุญเดือนหก หากใครไปเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจได้เห็นร้านบั้งไฟ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การจุดบั้งไฟจะมีแค่งานบุญเดือนหกอย่างเดียว แต่เป็นฤดูกาลอื่นๆ ก็มีการจุดด้วยเหมือนกัน

ตัวอย่าง เช่น ช่วงชาวบ้านทำนา สมัยก่อนโน้นเราชาวบ้านทำนาปี เมื่อไถนาเสร็จแล้วปรากฏว่าฝนแล้งขึ้นมา เพื่อต้องการอ้อนวอนเทวดาให้โปรยเม็ดฝนลงมา หมู่เฮาชาวอีสานก็จะช่วยกันทำบั้งไฟ จุดส่งขึ้นไปให้เทวดาได้รับรู้ทุกข์ของชาวบ้าน

แสงจากบั้งไฟจะพุ่งไปถึงสรวงสวรรค์หรือไม่ก็ตาม หลังจากชาวบ้านจุดบั้งไฟแล้วก็มักมีฝนโปรยเม็ดลงมา แต่ถ้ายังไม่ตกก็อาจต้องใช้วิธีการอื่นๆ ต่อไป

การขอฝนนี้แปลก ถ้าเป็นชาวบ้านภาคกลาง ก็จะแห่นางแมว

การแห่นางแมว สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็ก เห็นพวกผู้ใหญ่รวมทั้งหนุ่มสาวพากันจับแมวใส่ตะข้อง แล้วก็แห่ไปตามบ้านต่างๆ ถึงบ้านไหนเจ้าของบ้านก็สาดน้ำโครมลงมา

เพลงที่คนแห่นางแมวร้อง ดูเหมือนจะร้องว่า “นางเอ๋ยนางแมว มาร้องแปวๆ ฝั่งขะโน้น ขอฟ้าขอฝน เทลงมา เอ้า…เทลงมา” สิ้นเสียงก็มักมีน้ำสาดโครมลงมาเปียกปอนไปตามๆ กัน

สำหรับชาวอีสาน ความเชื่อเรื่องการจุดบั้งไฟก็เพื่อบูชาพญาแถน เชื่อกันว่าพญาแถนเป็นเทพที่คอยดูแลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ปีไหนฝนไม่ค่อยจะตก จะด้วยท่านลืมหน้าที่ไป อย่างที่ คำพูน บุญทวี นักเขียนรางวัลซีไรต์ จากนวนิยายเรื่อง ลูกอีสาน ท่านเคยเขียนนิทานไว้ ชื่อ พญาแทนขี้ลืม ทำให้ชาวบ้านต้องส่งบั้งไฟไปเตือน เป็นต้น

ประเพณีการเล่นบั้งไฟ ชาวอีสานปฏิบัติสืบมายาวนาน ปัจจุบัน แม้จะไม่ได้พึ่งน้ำฝนทำนาเพียงอย่างเดียว แต่ชาวอีสานก็ยังคงประเพณีนี้ไว้อย่างมั่นคง เพราะว่าประโยชน์นั้น ไม่ได้เพียงแค่ขอน้ำพญาแถนทำนาเท่านั้น แต่หมายถึงการทำบุญตักบาตร การร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน อันก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี ในหมู่บ้าน

ประเพณีต่างๆ ของชาวบ้าน มักมี “นัย” แฝงอยู่เสมอ