ไร่พุทรา ที่บ้านซับน้อย

ผมคิดของผมเองว่า ต่อให้เราเป็นคนที่สนใจกับข้าวกับปลาอาหาร ขนมนมเนยต่างๆ ขนาดไหน เวลาไปเดินดูของตามตลาด เราก็มักเห็นแต่สิ่งที่เราสนใจ ซึ่งแม้ไม่น่าแปลก แต่ครั้นมีใครมาชี้ให้เห็น บางทีก็น่าประหลาดใจอยู่ ที่เราดันไม่เห็นมันมาได้ตั้งแสนนาน แต่เมื่อเห็นเข้าแล้ว ทีนี้จะเห็นตลอดไปทีเดียว

เช่นเมื่อเดือนที่แล้ว ผมชวนน้องสาวไปเดินตลาดเช้าวันศุกร์ ในวัดสว่างสามัคคี อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นนัดใหญ่ประจำสัปดาห์ของคน “บ้านกลาง” เมื่อเราซื้อข้าวของได้ครบ จนกลับมาถึงบ้าน น้องสาวจึงพูดขึ้นว่า ไม่ได้เห็นแผงขายพุทรากวนยิ่งใหญ่อลังการแบบที่เห็นเมื่อครู่นี้มานานแล้ว ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะผมเดินตลาดนี้มานับครั้งไม่ถ้วน ไม่เคยสังเกตเห็นแผงพุทราที่ว่าเลย

มันคงเป็นเพราะน้องสาวผมนั้นชอบกินพุทราทุกรูปแบบมาตั้งแต่เด็กๆ ส่วนผมไม่ชอบ เราจึงเห็นของไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี หลังจากวันนั้น ผมก็ได้อุดหนุนพุทรากวนแผงนั้นไปฝากคนนั้นคนนี้ ได้พูดคุยทั้งกับแม่ค้า ทั้งคนชอบพุทราระดับ “พุทราเลิฟเวอร์” ที่ต่างแวะเวียนมาถามซื้อที่แผง จนพลอยรู้สึกทึ่งกับเรื่องพุทราลูกเล็กๆ นี้เป็นอันมาก

แล้วพอชักเริ่มคุ้นเคยอัธยาศัยของ “คุณอี๊ด” แม่ค้าพุทราใจดีมากๆ คนนี้เข้า ผมเลยขออนุญาตตามไปดูที่ไร่พุทราเลยทีเดียว

“ได้เลยๆ ไปวันจันทร์ซี ฉันว่าง ไม่ได้ไปขายของที่ไหน” ผมเองคิดว่าไร่พุทราคงไม่ใหญ่โตมากนัก ไม่น่ารบกวนเวลาทำงานของคุณอี๊ดเท่าไหร่ จึงได้รีบนัดหมายกันในวันจันทร์ถัดไปนั้นเอง

ไร่พุทราอยู่เลยโรงเรียนบ้านคลองทรายไปราว 2 กิโลเมตร ในเขตบ้านซับน้อย ตำบลซับน้อย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์

ตอนสายๆ ของวันจันทร์ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมก็เลยไปยืนงงๆ กลางดงพุทราพันธุ์พื้นบ้านในพื้นที่กว่า 15 ไร่ พุทราโบราณเก่าแก่นับไม่ถ้วนยืนต้นเรียงรายเป็นระยะสุดหูสุดตา

“นั่นแม่นะคะ อายุจะ 80 ปีแล้ว” คุณอี๊ด หรือ คุณสุดใจ ทองหาญ ชี้ให้ดูหญิงสูงวัยท่าทางกระฉับกระเฉง ยืนๆ นั่งๆ คัดลูกพุทราแก่สีน้ำตาลเข้มอยู่ไกลๆ “แม่เป็นคนหนองหญ้าไซ สุพรรณบุรี พ่อคนนครสวรรค์ พุทรานี่ก็เอาพันธุ์จากนครสวรรค์มาปลูกตั้งแต่สมัยแม่น่ะ เขาทำพุทราขายมาตลอด สมัยก่อน แม่ทำไปขายในโรงเรียนคลองทราย ตำในครกไม้ เอาแต่เนื้อ ทำเป็นแผ่นกลมๆ เราเองก็กินมาตั้งแต่เด็กๆ”

นอกจากคุณอี๊ดจะทำพุทรา ขายพุทรา ยังทำนาข้าว ไร่อ้อย ปลูกพืชเกษตรผสมผสานหลายอย่างในพื้นที่ เช่น มะขามเทศ พ่อก็เลี้ยงวัว เผาถ่าน ทำน้ำส้มควันไม้ ทำทุกอย่างแบบปลอดสารเคมี ขนาดไร่อ้อยยังใส่ปุ๋ยขี้วัวหมักที่ทำเอง เธอว่าแถวย่านนี้ยังมีฉีดยาเคมีมาก แต่ที่บ้านจะไม่ใช้เลย เพราะทุกคนรู้เห็นถึงผลร้ายทั้งต่อดินและต่อสุขภาพคนทำเกษตรมานานแล้ว

“เก็บกินได้เลยนะ เราไม่ได้ฉีดยาอะไรเลย มันมีต้นอร่อยอยู่ นี่ไงต้นนี้” คุณอี๊ดพาเดินไปเก็บพุทราลูกเขื่องจากโคนต้นที่รองไว้ด้วยผืนผ้าใบโปร่ง “ต้นนี้อร่อยมาก ลูกมันใหญ่ เนื้อเหนียวๆ นุ่มๆ ไม่ฝาดมาก พุทราพวกนี้อายุเยอะแล้วนะ ดูสิ มันอยู่มาจนไม่มีหนามแล้ว จริงๆ คือเราน่ะเก็บไม่ทัน ไม่มีแรงเก็บหมดหรอก เพราะมันเยอะมาก ต้นที่ลูกเล็กๆ หรือไม่อร่อย ก็ปล่อยทิ้งเลย ทำกันแค่สองสามคนที่เห็นนี่แหละ เราเอาผ้าใบปู จะได้ตะล่อมเก็บได้ง่ายๆ สองสามวันมาเก็บครั้งหนึ่ง กว่าจะร่วงหมดแต่ละต้นก็ต้องมาคัดเก็บกันหลายครั้ง เราเลือกแต่ลูกที่เริ่มแก่ คัดเอาสวยๆ ไปตากรวมกันที่ลาน คอยเกลี่ย คอยคัดลูกเสียออก ต้องตากหลายวันจนมันแห้งเลยนะ ถึงเอาไปต้มไปเชื่อมได้”

ผมสงสัยว่า แล้วลูกร่วงสีเขียวๆ ถ้าไม่กินสด จะเอาไปทำอะไรได้ คุณอี๊ดบอกว่า พอเก็บไปตากรวมกันที่ลาน ลูกเขียวก็จะทยอยสุกเหมือนกันหมดไปเอง

“ต้นที่ลูกดกๆ ตอนที่มัน “เทครัว” คือร่วงทั้งต้นนี่ เราเหยียบไม่ถึงดินเลยนะ ก็ตั้งแต่ราวเดือนพฤศจิกายน คือพอเกี่ยวข้าวเสร็จ เราจะเริ่มทำพุทราได้พอดี เก็บไปเรื่อยๆ จนมีฝนลง ประมาณช่วงนี้แหละ ก็หมดรุ่นของปีนี้ เราต้องรีบตากให้แห้ง เอาใส่กระสอบ ปิดไว้ให้ดีเลยนะ เก็บในโรงไม้ ทยอยเอาออกมาทำได้ตลอดทั้งปี จนกว่าจะหมด เฉพาะปีนี้นี่เราขายดี เรียกว่าทำแทบไม่ทันเลย”

ผมสงสัยคำว่า “ทยอยทำ” นั้นคือทำยังไง ได้ความว่า การทำพุทราแปรรูปของคุณอี๊ดมี 4 แบบ คือแบบบดแล้วกวน ต้องเอาพุทราตากแห้งมาทุบด้วยค้อนปอนด์ทีละลูก ให้เม็ดในแตก บดด้วยเครื่องบด 1 ครั้ง ร่อนเอาชิ้นส่วนเม็ดใหญ่ๆ ออก แล้วกวนกับน้ำตาลมะพร้าวจากบ้านแพ้ว สมุทรสาคร เหตุที่เจาะจงใช้แหล่งนี้ เพราะลองใช้น้ำตาลที่อื่นแล้วจะ “ตกทราย” คือมีส่วนที่จับเป็นคราบแข็ง คนย่านนี้ไม่นิยมกิน

“ถ้าเชื่อมทั้งลูก เราก็เอาไอ้ที่ตากแห้งไว้ลงแช่น้ำ ให้กลับไปนิ่มอีกรอบ ต้องนวดน้ำ คอยเอามือนวดเบาๆ นานๆ ให้มันนิ่มทั่วถึงกัน นวดแค่น้ำเดียว แล้วน้ำต้องไม่มากนะ ไม่งั้นมันจะดึงรสชาติในลูกออกจนจืดหมด ไม่อร่อยสิทีนี้ พอได้ที่แล้ว ก็ซาวให้สะเด็ดน้ำ เอาใส่เชื่อมไปในกระทะที่เราเคี่ยวน้ำตาลไว้ จะมีแบบเปียกๆ ชุ่มๆ น้ำเชื่อมเยอะหน่อย แบบนี้คนชอบ อีกแบบคือกวนให้แห้งกว่าหน่อย ส่วนแบบลูกสีดำๆ นั่น คือกวนนาน รสชาติจะเป็นอีกแบบ”

ผมลองชิมแล้ว อย่างลูกสีดำๆ นั้นคือรสหวานของน้ำตาลจะซึมแทรกเข้าในเนื้อพุทราจนนุ่ม รสเปรี้ยวรสหวานกลมกลืนผสมกัน อร่อยดีครับ

ทำพุทราขายนับเป็นงานหนัก คุณอี๊ด บอกว่า บางวันต้มน้ำเชื่อมพุทราถึงเที่ยงคืน ตี 4 ต้องตื่น เตรียมไปขายแล้ว ช่วงที่พุทรายังมีให้เก็บนี้คือทำเกือบทุกวัน ทำไปขายไป

“ลูกดิบถ้ามีคนซื้อ เราขายถูกๆ เช่น กิโลกรัมละ 15 บาท แบบเชื่อมทั้งลูกขายกิโลกรัมละ 60 บาท ถ้าแบบกวน ก็ 80 บาท พุทรานี่กินแล้วมันช่วยระบายท้องดีนะ ลูกค้าบอกว่า พอกินประจำแล้วเขารู้สึกถ่ายง่ายขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยมีคนทำแล้วล่ะ”

คุณอี๊ดตระเวนขายพุทราเชื่อม พุทรากวน ตามตลาดละแวกอำเภอวิเชียรบุรีหลายแห่ง วันศุกร์ขายตลาดเช้าบ้านกลาง อำเภอศรีเทพ วันเสาร์ตลาดเช้าวังพิกุล อำเภอบึงสามพัน วันอาทิตย์ตลาดเช้าพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี วันอังคารตลาดเย็นวังพิกุล วันพุธตลาดหนองงูเหลือม อำเภอบึงสามพัน ส่วนถ้าใครต้องการสอบถามสั่งซื้ออย่างไหนเป็นพิเศษ ก็ติดต่อโดยตรงได้เลยที่โทรศัพท์ 087-803-3505 นะครับ

ยิ่งถ้าใครอยากแวะมาดูไร่พุทรา เธอบอกว่าจะดีใจ และยินดีมากๆ เลยแหละ

ผมเองไม่เคยชอบกินพุทรามาก่อน ตอนเด็กๆ เห็นเพื่อนกินกันเอร็ดอร่อยก็ออกจะไม่เข้าใจ แต่ครั้นมาเจอลูกเขียวๆ กรอบๆ รสหวานอมฝาดนิดๆ ที่ “ต้นอร่อย” ของพุทราไร่นี้เข้า ต่อไปคงเข้าใจซาบซึ้งแล้วล่ะครับ เพราะนอกจากรสเข้มๆ จัดๆ แล้ว มันมีกลิ่นหอม ที่พุทราลูกโตพันธุ์เนื้อมากไม่มีให้จริงๆ

แถมพอกลับจากไร่พุทราของคุณอี๊ด ผมลองเอาลูกพุทราเชื่อม และน้ำเชื่อมเหนียวๆ หวานๆ ของมันใส่หม้อ เติมน้ำ ต้มจนได้น้ำหวานรสพุทราอร่อยแบบทำง่ายๆ แค่เรากรองให้ใสเสียหน่อย แล้วดื่มแบบใส่น้ำแข็ง แหมมันชื่นใจดีแท้

เป็นวิธีกินพุทราเชื่อมอีกแบบหนึ่งครับ ยิ่งใครมีดอกกระเจี๊ยบแดงตากแห้ง หยิบใส่หม้อต้มรวมไปด้วย จะได้น้ำพุทรากระเจี๊ยบ เพิ่มสรรพคุณสมุนไพรขึ้นไปอีก นอกจากเสริมรสเปรี้ยวอร่อยและสีสันแดงสวยสดใส

ทำกินก็แสนง่าย ใครจะคิดทำขาย ก็คงไม่เลวนักหรอกครับ